มีเอกสารโบราณเล่มหนึ่งพบที่พัทลุง ระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีกุน เอกศก ไม่ระบุศักราช (มีที่เป็นไปได้ 2 ปีคือ พ.ศ.2202 และ 2262) กล่าวถึงกษัตริย์อยุธยาพระองค์หนึ่งมีพระบรมราชโองการให้ชำระบัญชีวัดที่กษัตริย์ในอดีตเคยทรงพระบรมราชูทิศกัลปนาที่ดิน และข้าโปรดคนทานพระกัลปนาเอาไว้เป็นพระตำรา ซึ่งให้หลังมาพระตำราสูญหายบ้าง เจ้าเมืองกรมการเอาที่ดินเอาคนของวัดมาใช้ประโยชน์เองบ้าง
โดยให้ตรวจสอบวัดที่เคยมีพระตำราเหล่านั้น แล้วชำระให้คืนคงไว้ตามเดิม เอกสารนี้ปรากฏรายนามวัดเท่าที่ผมเช็คได้คือจากไชยา ลงไปถึงลุ่มทะเลสาบสงขลา แต่ตัวเอกสารนั้นชำรุด และข้อความขาดหายไปจำนวนมาก ได้ความบางส่วนมาเพียงกระท่อนกระแท่นเท่านั้น แต่ในความกระท่อนกระแท่นนี้ผมคิดว่าเป็นข้อมูลที่น่าตื่นเต้นทีเดียว เพราะพื้นที่อ่าวบ้านดอนในสมัยอยุธยานั้นค่อนข้างอัตคัดหลักฐานที่เป็นเอกสารโบราณ
เรารู้ว่ากระบวนการปรับแปลงปราสาทอิฐองค์เล็ก ๆ ในคติมหายานนอกสันทรายหลักของเมืองไชยาเก่า ให้กลายเป็นศูนย์กลางปริมณฑลของพุทธสถานเถรวาทนั้นน่าจะเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ราว ๆ พุทธศตวรรษที่ 20 – 21 จากรูปแบบผังที่ท้ายวิหารยื่นเข้าไปในแนวระเบียงคด ร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดีอื่น ๆ ที่สะท้อนให้เห็นกิจกรรมการฟื้นฟูเมืองไชยาขนานใหญ่ในยุคสมัยเดียวกัน
แต่หลังจากนั้น วัดพระบรมธาตุไชยาได้รับการดูแลอย่างไร ? แล้วผ่านการเวลามาจนถึงการบูรณะใหญ่โดยพระชยาภิวัฒน์ หนู ในทศวรรษที่ 2440 อย่างไร ตอนที่ผมเริ่มศึกษาความเป็นมาของวัดพระบรมธาตุไชยาใหม่ ๆ เมื่อ 7 ปีก่อน ความเข้าใจส่วนใหญ่ที่ปรากฏในงานวิชาการคือวัดอยู่ในสภาพรกร้างมาช้านาน บางงานชี้ว่าเกิดขึ้นในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา
แต่ข้อมูลที่เก็บจากความทรงจำในท้องถิ่นภายหลังสะท้อนว่าอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการตัดถนนจากพุมเรียงตรงมายังวัด โดยเข้าสู่วัดทางด้านทิศตะวันออก ถนนเส้นนี้ปัจจุบันเหลือสภาพอยู่เพียงบางตอน บริเวณมุขโถงที่เชื่อมระหว่างศาลานีลวัฒนานนท์ กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไชยา ซึ่งปัจจุบันรื้อไปแล้ว ตั้งทับแนวถนนที่ตรงมายังประตูด้านทิศตะวันออกของวัดพอดี
ในปี 2418 รัชกาลที่ 5 ทรงส่งคณะสำรวจเล็ก ๆ มาศึกษาความเป็นไปได้ที่จะวางแนวเสาโทรเลขเชื่อมต่อกรุงเทพกับปีนัง แผนที่โดยคณะสำรวจระบุถึง “วัดพระธาตุ” เอาไว้ด้วย
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์บันทึกคำบอกเล่าของชาววัดเอาไว้ในปี 2445 ว่ามีการปรับปรุงวิหารหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนหน้าการดำเนินงานโดยพระชยาภิวัฒน์ เพื่อใช้เป็นที่สำหรับถือน้ำ ในปี 2448 ท่านพระปลัดวัดพระประสพ ได้ร่วมกับพุทธบริษัทซ่อมแซมพระลากนมทองของวัดพระบรมธาตุ ซึ่งมีมาก่อนอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ให้คงสภาพดีดังเดิม
อย่างน้อยแม้ว่าพระบรมธาตุไชยาจะอยู่ในจอมปลวกอยู่ก่อนที่ปะขาวนุ้ยชาวบ้านหัวเขา พุนพินจะเริ่มจับงานซ่อมแซมพระบรมธาตุไชยาจริง และวางมือให้คณะพุทธบริษัทจากพุมเรียงเป็นแกนนำในการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อ แต่ตัววัดพระบรมธาตุน่าจะยังคงสภาพบางส่วนอยู่ และมีการใช้งานอยู่เรื่อย ๆ
กลับมาที่ตัวเอกสารโบราณต้นเรื่อง ซึ่งอยู่ในรูปสารบาญชีวัด ลักษณะของข้อความบรรยายจะกล่าวถึงชื่อวัด ตำแหน่งหัววัดหรือเจ้าอาวาส อาคารสถานในวัดที่สำคัญ (บางวัดไม่ระบุ) และชื่อผู้เกี่ยวข้องในการดูแลวัดตามพระตำรา เป็นรายการสั้น ๆ โดยมากอ่านไม่ค่อยได้ความเพราะฉบับชำรุด อาทิ #วัดเวียงสระสองอาราม มหาเถรพุทธมหารัตนวังพยาบาลมีข้าพระสองหัวงาร…
#วัดตระพังยาง เจ้ามรีราชพยาบาล มีข้าพระหัวงาร เหมินเครื่องพลเอาใจ…
กรณีของวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นโชคดีที่รายละเอียดเหลือมาค่อนข้างมากกว่าวัดอื่นหน่อย เอกสารว่า
“…ในเมืองไชยาคือ #พระศรีรัตนมหาธาตุ มีพระระเบียงทั้งสี่ด้าน มีพระธรรมศุกขา มีพระพิหารอุโบสถแลศีลบาลคนโปรดคนทาน ฯ พระกัลปนาขยุมพระสมประเพณี แลมีตำราพระราชโองการ พระธรรมนูญ แลบาญชีบูรพกษัตริย์อุทิศว่าในนี้ ว่าเพื่อพระพรหมพยาบาล… ญชิแทน … ขุนอินทรปรีชา … จันพิม หมื่นอินทร์ … เจ้าสารีบุตร เจ้าโสม … กุมารธิดาชีทองอินองอามรัด ในประเพณี พระสารีบุตร …”
เอกสารนี้เรียกพระบรมธาตุไชยาว่า พระศรีรัตนมหาธาตุ ชื่อนี้เป็นชื่อทางการตามขนบในเอกสารอยุธยา ที่ใช้เรียกสถาปัตยกรรมแบบใดก็ตามที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน
มีระเบียงล้อมรอบพระศรีรัตนมหาธาตุ มี #พระธรรมศุกขา ซึ่งไม่มีความทรงจำอยู่ในพื้นที่แล้วว่าหมายถึงสิ่งใด หากใช้คติเมืองนคร พระองค์ใดที่ทำเป็นพระใหญ่โตพิเศษจะนิยมเรียก #พระศรีธรรมาโศก ที่พระประธานในโบสถ์บนสันทรายเมืองนครได้ชื่อพระธรรมาโศก พระศรีธรรมาโศกซ้ำ ๆ กันมาก เพราะถือเอาเคล็ดแบบนี้ พระหินทรายแดงองค์ใหญ่ที่อยู่ในเจดีย์มณฑปหน้าวัดจะหมายถึงพระธรรมศุขาได้หรือไม่ ?
มีวิหาร และอุโบสถ มีข้าพระตามประเพณี
พระพรหมพยาบาล… คือว่า พยาบาล นี้ทั่ว ๆ ไปหมายถึงหัวหน้าผู้ดูแล ถ้าเจ้าอาวาสจะนิยมใช้ หัววัด แต่เอกสารนี้ไม่ปรากฏการใช้หัววัดเลย ใช้แต่คำว่า พยาบาลต่อท้ายชื่อ อาจเป็นไปได้ว่า พระพรหม… เป็นตำแหน่งของเจ้าอาวาสวัดในยุคนั้นก็ได้
ช่วงท้ายเป็นรายชื่อผู้ดูแล ซึ่งส่วนใหญ่กระท่อนกระแท่น
ขุนอินทรปรีชา …จันพิมหมื่นอินทร์ …เจ้าสารีบุตรเจ้าโสม …กุมารธิดาชีทองอินองอามรัด ในประเพณี
เอกสารส่วนที่กล่าวถึงพระบรมธาตุไชยาจบเท่านี้ เนื่องจากเอกสารเป็นเพียงบาญชี ที่ให้รายละเอียดเพียงคร่าว ๆ ไม่ใช่ตัวพระตำรากัลปนาจริง ๆ ที่มีรายละเอียดเต็ม มีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องยืดยาว เราจึงได้รู้ข้อมูลเพียงไม่มาก และตัวพระตำรากัลปนาวัดพระบรมธาตุไชยานั้นก็ไม่เคยถูกกล่าวถึง หรือปรากฏต่อแวดวงวิชาการเลย มีเพียงคำบอกเล่าเรื่องที่นากัลปนาของวัดที่ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คน.
แม้เอกสารนี้จะให้ข้อมูลเพียงน้อยนิดก็ตาม แต่ก็ทำให้เห็นชีวิตชีวา และช่วยให้เราเติมข้อมูลในส่วนที่ยังว่างเปล่าอยู่ให้เต็มขึ้น วันนึงเราอาจจะเจอพระตำรากัลปนาวัดพระบรมธาตุไชยาสมัยอยุธยาพลัดตกอยู่ในเอกสารโบราณที่ถูกเก็บลืมไว้ซักที่หนึ่งก็ได้ครับ
รายละเอียดเต็ม ๆ เกี่ยวกับเอกสารนี้ และส่วนที่กล่าวถึงวัดอื่น ๆ น่าจะมีโอกาสนำมาปรับปรุงเขียนจริงจังอีกทีช่วงท้าย ๆ ปีครับ ช่วงนี้บางอย่างอาจจะกั๊ก ๆ ไว้ก่อน
เผยแพร่ครั้งเเรกใน - https://web.facebook.com/photo/?fbid=10215079465858764&set=gm.2042516229256776