บุญเดือนสิบ : คนคอนที่บ้านโคกข่อย ตำบลปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

“บุญเดือนสิบ” หรือ “บุญสาทรเดือนสิบ” เทศกาลงานบุญใหญ่ประจำปีของคนไทย(นับถือศาสนาพุทธ) ในภาคใต้ เชื่อกันว่าวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับ จะได้รับการปลดปล่อยให้กลับมาเยี่ยมลูกหลานระหว่างวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๐ ถึงวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ เป็นระยะเวลา ๑๕ วัน ในวันแรม ๑ ค่ำ มีการทำบุญรับตายและในวันแรม ๑๕ ค่ำจะทำบุญส่งตายาย ทั้งการรับและการส่งนั้นจะมีอาหาร ขนมต่าง ๆ พืช ผลไม้ ที่จะขาดเสียไม่ได้สำหรับใช้ทำบุญอุทิศ โดยเชื่อกันว่าเป็นเสบียงให้กับบรรพบุรุษนำกลับไปใช้ยังปรโลก สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้เล่ม ๒ ให้ข้อมูลขนมงานบุญเดือนสิบไว้ว่า 

“ขนมเดือนสิบ คือขนมที่ใช้สำหรับทำบุญสารทเดือนสิบหรือที่เรียกว่าประเพณีตั้งเปรตหรือชิงเปรต มีอยู่หลายอย่างแต่ละท้องถิ่นอาจต่างกันบ้าง แต่ที่จำเป็นอย่างยิ่งขาดไม่ได้มี ๔ อย่างคือ ขนมลา ขนมเมซ่า(หรือดีซำ) ขนมพอง และ ขนมบ้า บางท้องถิ่น เช่น นครศรีธรรมราช มีขนมกง หรือขนมไข่ปลาอีกชนิดหนึ่ง ขนมแต่ละชนิดดังกล่าวนี้ ล้วนทำขึ้นตามคติความเชื่อและอาจมีความเชื่อผิดแปลกกันไป เช่น ขนมลาเชื่อกันว่าทำขึ้นสำหรับเปรตจำพวกที่มีปากเล็กเท่ารูเข็ม เพื่อจะได้ดึงกินทีละเส้นเพราะปากเล็กกินของชิ้นใหญ่ ๆ เป็นคำ ๆ ไม่ได้แต่บางท้องถิ่นเชื่อกันว่าขนมลานี้ ทำสำหรับให้เปรตใช้แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ส่วนขนมเมซำหรือขนมดีซำเชื่อกันว่าเพื่อให้เปรตใช้แทนเบี้ย บางท้องถิ่นเชื่อกันว่าเพื่อให้ใช้เป็นตุ้มหู ขนมพองบางท้องถิ่นเชื่อกันว่าให้ใช้เป็นแพสำหรับบุรพชนหรือเปรตใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ตามคติพุทธศาสนา ขนมบ้าสำหรับให้บุรพชนใช้เล่นสะบ้าต้อนรับสงกรานต์ ส่วนขนมกงหรือขนมไข่ปลาให้ใช้เป็นเครื่องประดับ เป็นต้น”[๑]

บทความชิ้นนี้ผู้เขียนได้สำรวจข้อมูลภาคสนามที่ บ้านโคกข่อย ตำบลปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๗ เป็นวันทำบุญส่งตายาย(วันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐) ได้สัมภาษณ์ข้อมูลจาก “คุณยายบุญเทิ่ม จุลมาศ” (หนูวารี นามสกุลเดิม) อายุ ๖๖ ปี และได้ติดตามคุณยายไปเก็บข้อมูลการทำบุญเดือนสิบที่ “วัดท่านคร” เป็นจุดนัดหมายที่คนในหมู่บ้านมาทำบุญร่วมกัน

วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณปากคลองคูเมืองนครศรีธรรมราชเชื่อมต่อกับ “คลองปากนคร” คุณสุรเชษฐ์ แก้วสกุล นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราชให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่า คลองคูเมืองสายนี้ขุดเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ มาแล้วเรียกว่า “คลองหน้าเมือง” เนื่องจากขุดต่อไปจากคลองคูเมืองทางทิศเหนือขุดไปทางทศตะวันออก

ขนมบุญเดือนสิบที่บ้านโคกข่อย มีดังนี้

๑. “ขนมลา” ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำตาลนำมาทอดเป็นแผ่นบาง ใช้เป็นสัญลักษณ์แทน “เครื่องนุ่งห่ม”

๒. “ขนมพอง” ทำจากแป้งข้าวเหนียว นำข้าวสารเหนียวไปแช่น้ำไว้หนึ่งคืนแล้วนำไปนึ่งให้สุกหลังจากนั้นนำมาใส่ในพิมพ์รูปวงกลม นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วทอดให้สุก ใช้เป็นสัญลักษณ์แทน “แพ”

๓. “ขนมบ้า” ทำจากแป้งเหนียวผสมหัวมันเทศ และน้ำตาลปั้นให้กลม กดให้แบนคลุกด้วยงา แล้วนำไปทอดให้สุกเป็นสัญลักษณ์แทน “ลูกสะบ้า”

๔. “ขนมดีซำ” ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำตาล ทอดปั้นเป็นลูกกลมเจาะรูตรงกลางเหมือนโดนัท หรือปั้นเป็นลูกกลมไม่เจาะรูก็ได้ ทอดให้สุก สำหรับชื่อเรียกว่า “ดีซำ” นั้นผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อพิจารณาจากชื่อและส่วนผสม ขนมดีซำมีต้นทางมาจากขนมของชาวทมิฬในอินเดียใต้ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “anthirasam…”[๒]

๕. “ขนมไข่ปลา” ทำจากถั่วเขียวหรือถั่วเหลือง ต้มแล้วนำมาผัดกับน้ำตาลเป็น ปั้นให้มีลักษณะกลมยาว นำสองชิ้นมาติดกัน ชุบแป้งแล้วนำไปทอด ได้ขนมที่มีลักษณะเหมือนกับฝักของไข่ปลา จึงเรียกว่าขนมไข่ปลานั่นเอง

ขนมทั้ง ๕ อย่างนี้จะนำมาใช้จัดเป็นสำรับเรียกด้วยคำท้องถิ่นว่า “ดับหฺมฺรับ” (อ่านว่า ดับ – หมับ) คุณยายบุญเทิ่ม จุลมาศ ให้ข้อมูลว่า สมัยก่อนขนมทั้งห้าชนิดนี้นิยมทำกันเองเป็นหลัก ปัจจุบันไม่นิยมทำแล้ว เพราะในตลาดมีคนทำขาย สะดวกกว่าทำเองอีกทั้งยังลดจำนวนเงินที่ใช้ลงไปได้เยอะจึงนิยมซื้อมาเป็นหลัก

ในวันรับตายายนั้นจะทำง่าย ๆ เพียงแค่นำขนมทั้งห้าอย่าง ผลไม้ตามฤดูกาลกับ อาหารใส่ปิ่นโตไปที่วัด แต่ในวันส่งตายายนั้นจะมีความพิเศษกว่า ซึ่งชาวบ้านจะนำไปรวมกันที่โรงธรรมของวัด โดยมีรายละเอียดดังนี้

๑. “ยกชั้น” คือ การหุงข้าว ทำอาหารแล้วจัดใส่ปิ่นโตไปทำบุญที่วัด โดยไม่ได้มีคติว่าต้องทำเมนูไหนเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละครอบครัว วันนี้บ้านคุณยายทำ กุ้งผัดสะตอ หมูทอด ขนมหวานที่ซื้อมาจากตลาด เมื่อมาถึงวัดชาวบ้านจะนำมาตั้งไว้บริเวณด้านหน้า ที่พระสงฆ์นั่งทำพิธีสวดมนต์

๒. “หฺมฺรับ” ในแต่ละตระกูลจะนัดหมายกันที่บ้านญาติซึ่งอาวุโสที่สุด เพื่อช่วยกันดับหฺมฺรับคือการนำขนมทั้งห้าอย่าง เครื่องปรุงแต่คนโคกข่อยเรียกว่า “เครื่องครัว” หมากพลู เงิน ขี้ไต้ และผลไม้ต่าง ๆ มาจัดใส่ภาชนะขนาดใหญ่ โดยนำต้นกล้วยหรือต้นข้าวโพด ทำเป็นแกนตรงกลาง ใส่เครื่องครัวไว้ล่างสุด เช่น หอม กระเทียม ขมิ้น กะปิ เกลือ น้ำตาลทราย ข้าวสาร พืชและผลไม้ต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด กล้วย ขนมทั้งห้าอย่างใส่ลงไป แล้วใช้ขนมลาห่อปิดสิ่งของเหล่านั้นให้มิดชิด บนยอดต้นข้าวโพดหรือต้นกล้วยเสียบเงิน ดอกไม้และเทียนไว้ บางบ้านจะนำขนมมาประดับไว้ข้างนอก แผ่นขนมลาที่หุ้มไว้หรือนำต้นข้าวโพด ขี้ไตมาเสียบประดับรอบ ๆ ก็มีเช่นกัน แล้วแต่การคิดประดิษฐ์ของแต่ละตระกูล ทั้งนี้ เพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ก็สามารถนำมาจัดรวมกันได้เช่นกัน หฺมฺรับพิเศษนี้ทำขึ้นเพื่ออุทิศผลบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับโดยเฉพาะ

๓. “ของใส่ศีล” คือขนมทั้งห้าอย่าง ผลไม้ต่าง ๆ แต่ละครอบครัวจะนำไปใส่รวมกันในภาชนะที่ทางวัดตั้งไว้ให้แล้ว โดยไม่ได้มีการดับเป็นหฺมฺรับแต่อย่างใด เป็นของที่ใช้ถวายให้พระสงฆ์

๔. “ห่อขนม” นำขนมสี่อย่างข้างต้นห่อด้วยขนมลา แต่ละคนที่ไปร่วมทำบุญจะทำมาคนละหนึ่งห่อ ครอบครัวคุณยายบุญเทิ่ม จุลมาศ มากันสี่คน แต่เนื่องจากคุณตาสามีคุณยายเดินไม่สะดวก จึงทำมาแค่สามห่อ ขนมที่ห่อมานี้จะนำไปตั้งนอกวัดเพื่ออุทิศผลบุญให้กับบรรพบุรุษที่ไม่สามารถเข้ามาบริเวณวัดได้ บางครอบครัวจะตั้งอาหาร ผลไม้ น้ำ ด้วยก็ได้

บรรยากาศภายในวัด ประมาณ ๐๗ . ๐๐ น. คนในหมู่บ้านต่างทยอยเข้ามาในวัดท่านคร ผู้หญิงสูงอายุยังนุ่งผ้าทอ สวมเสื้อลายลูกไม้ ในขณะที่ลูกหลานรุ่นใหม่ แต่งตัวแบบสมัยใหม่กันเป็นหลัก ผู้หญิงถือปิ่นโต และตระกร้าใส่สิ่งของต่าง ๆ บางท่านนำโกศใส่อัฐิ รูปถ่ายของผู้เป็นที่รักซึ่งล่วงลับไปแล้วมาด้วย ต่างมารวมตัวกันที่โรงธรรมของวัด

บางครอบครัวมีการนำขนมทั้งห้าอย่าง อาหารคาวหวานมาตั้งเซ่นไหว้ ให้บรรพบุรุษที่บัว(เจดีย์เก็บอัฐิ) ซึ่งอยู่ภายในวัดก็มีเช่นกัน มีการจดรายชื่อบรรพบุรุษของตนเองที่ล่วงลับไปแล้ว ใส่ในกระดาษ เพื่อใช้สวดบังสุกุลอุทิศผลบุญไปให้

เมื่อถึงเวลาสิบโมงตามกำหนดการที่นัดหมายไว้ พระสงฆ์เริ่มทำพิธี มีการ “เทศนา” “สวดหลองหฺมฺรับ” “สวดบังสุกุล” “กรวดน้ำ” แล้วถวายอาหารเพลแด่พระสงฆ์ ขณะที่พระสงฆ์กำลังฉันข้าวปลา ชาวบ้านต่างลุกออกจากศาลาโรงธรรมเดินออกไปนอกวัด เพื่อนำห่อขนมไปตั้งเพื่ออุทิศให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับซึ่งไม่สามารถเข้ามาบริเวณวัดได้ แต่ละตระกูลจะนั่งล้อมลงเป็นวงกลม ปูผ้าขาวหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือใบตอง ไว้ตรงกลางวง

ผู้สูงอายุในตระกูลทำหน้าที่เป็นตัวแทนจุดธูปเทียนแล้วกล่าวเชื้อเชิญอุทิศให้บรรพบุรุษมารับของเซ่นไหว้ ซึ่งคุณยายบุญเทิ่ม จุลมาศเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ด้วย แต่ละคนจะนำขนมที่ตนเองห่อมาจากบ้าน ตั้งรวมกันไว้บนผ้าขาว บางคนนำเงินมาออกมาตั้งไว้ด้วย หลังจากทำพิธีเสร็จ เด็ก ๆ ทั้งที่เป็นลูกหลานของตนเองหรือเด็กในหมู่บ้านที่มาร่วมงานบุญ จะแย่งกันเก็บเงินและขนมอย่างสนุกสนานเป็นอันเสร็จพิธี ผู้เขียนสังเกตว่าทุกวงผู้ใหญ่เสียสละให้เด็ก ๆ เก็บเงินกันก่อนส่วนขนมที่เหลือผู้ใหญ่ถึงจะเก็บกลับบ้านกัน

หลังจากนั้นชาวบ้านจะเดินกลับเข้ามาที่โรงธรรมเพื่อมานำปิ่นโตของตนเองกลับบ้าน บางตระกูลจะนำอาหารดังกล่าวมานั่งล้อมวงรับประทานร่วมกัน บางท่านนำกลับไปรับประทานที่บ้านแล้วแต่ความสะดวก

ส่วนหฺมฺรับที่ดับมาอย่างพิเศษ เจ้าหน้าที่ของวัดจะนำออกมายังอาคารอีกหลัง เพื่อให้ชาวบ้านที่มา สามารถเลือกของเหล่านี้กลับไปรับประทานต่อที่บ้านได้ ซึ่งจะมีการมอบเงินให้กับทางวัดด้วยเรียกว่า  “ทอน” ส่วนเงินที่ปักไว้อยู่ในหฺมฺรับนั้นชาวบ้านจะนำมานับรวมกันเพื่อถวายให้กับทางวัดทั้งหมด

                งานบุญเดือนสิบ ประเพณีทำบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับของคนไทยบ้านโคกข่อย รวมถึงคนไทยพุทธปักษ์ใต้ในพื้นที่ต่าง ๆ นั้น ถือได้ว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีที่ทำให้คนตาย โดยคนเป็นได้มาพบปะกัน สร้างความสัมพันธ์กันและกันทั้งในระดับเครือญาติและหมู่บ้าน ได้เห็นความเป็นชุมชนของผู้คนอย่างมีสีสันและชีวิตชีวาที่เเฝงฝังคติชนความเชื่อ อันหลากหลายเข้าด้วยกัน

พระสงฆ์กำลังเทศนา

คุณลุงคนบ้านโคกข่อย กำลังนำหฺมฺรับที่ดับอย่างพิเศษที่สุดไปยังโรงธรรมของวัดโคกข่อย เพื่ออุทิศผลบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ

คุณยายบุญเทิ่ม จุลมาศ และลูกหลานกำลังล้อมวงทำพิธี บริเวณนอกวัดเพื่ออุทิศผลบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับที่ไม่สามารถเข้ามาในบริเวณวัดได้

ชาวบ้านเดินออกจากบริเวณวัดเพื่อมาตั้งสิ่งของอุทิศผลบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับที่ไม่สามารถเข้าวัดได้

หนุ่มน้อย กับขนมและเงิน ได้จากที่ชาวบ้านนำมาตั้งนอกวัด

ชาวบ้านกำลังกำลังทอนขนมต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่วัด ผู้เขียนสังเกตว่าขนมลาเป็นที่ต้องการทอนกัน กิโลกรัมละ ๖๐ บาท ราคาถูกกว่าที่ซื้อในท้องตลาด

ชาวบ้านกำลังทอนของต่าง ๆ ที่ดับมาในหฺมฺรับ

คุณยายบุญเทิ่ม จุลมาศ ใส่เสื้อลูกไม้สีชมพู กำลังนั่งล้อมวงกับเครือญาติเพื่อรับประทานอาหารร่วมกันภายในวันโคกข่อย

อาหารบางส่วนที่ลูกหลานคุณยายบุญเทิ่ม จุลมาศ นำมาทำบุญวันนี้

ที่มา

[1] : “ขนมเดือนสิบ.” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 613-619. ฉบับออนไลน์ : https://db.sac.or.th/thailand-cultural-encyclopedia/detail.php?id=17856

[๒] : ขนมดีซำ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน :  https://recipes.timesofindia.com/…/athir…/rs60055377.cms

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น