ปลาขี้เกะ ที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จับได้จากทะเลสาบสงขลาตอนล่าง
กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์ “ลุ่มเลสาบกับรากมลายูในชื่อปลา” บทความชิ้นนี้ขอนำท่านผู้สนใจมารู้จักกับ “ปลาขี้เกะ” ชื่อเรียกท้องถิ่นบ้านผู้เขียน ที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจากการสำรวจภาคสนามบางหมู่บ้านในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาพบว่าปลาชนิดนี้ มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันอยู่บ้างเช่น คนแขก(มุสลิม) บ้านท่าเสา ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาเรียกว่า “ปลาบุตรี” คนไทย(พุทธ)ที่บ้านเขาใน ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลาเรียกว่า “ปลาขี้เจ” และในภาษาไทยภาคกลางจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า “ปลาแป้น”
หนังสือปลาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จัดทำโดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสุมทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดทำข้อมูลปลาแป้นที่พบในทะเลสาบสงขลาไว้ดังนี้
๑.ปลาแป้นกระโดงยาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Equulites leuciscus วงศ์ Leiognathidae
๒. ปลาแป้นกระโดงจุด ชื่อวิทยาศาสตร์ Eubleekeria jonesi (James, 1971) วงศ์ Leiognathidae
๓. ปลาแป้นกระสวย,ปลาแป้นเมือก ชื่อวิทยาศาสตร์ Eubleekeria splendens (Cuvier, 1829) วงศ์: Leiognathidae
๔. ปลาแป้นเล็ก Leiognathus brevirostris (Valenciennes, 1835) วงศ์ Leiognathidae
๕. ปลาแป้นใหญ่ ปลาแป้นยักษ์ ปลาลาปัง(ใต้) ชื่อวิทยาศาสตร์ Leiognathus equulus (Forssk?l, 1775) วงศ์ Leiognathidae
๖.ปลาแป้นจมูกสั้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Nuchequula gerreoides (Bleeker, 1851) วงศ์: Leiognathidae
๗.ปลาแป้นหน้าหมู,ปลาแป้นหมู ชื่อวิทยาศาสตร์ Secutor insidiator (Bloch, 1787) วงศ์: Leiognathidae
๘.ปลาแป้นป้อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Secutor megalolepis Mochizuki & Hayashi,1989 วงศ์ Leiognathidae
ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าปลาแป้นขนาดเล็ก จะพบได้ทั่วไปซึ่งแต่ละพื้นที่จะเรียกแตกต่างกันไปคือ “ปลาขี้เก๊ะ” “ปลาบุตรี” และ “ปลาขี้เจ” และอีกชนิดที่พบคือปลาแป้นใหญ่ ที่บ้านผู้เขียนและหลายหมู่บ้านจะเรียกว่า “ปลาลาปัง”
บน คือ ปลาขี้เกะ ล่างคือ ปลาลาปัง ตามการเรียกของคนแขกบ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
รากของชื่อเรียก
๑.ปลาขี้เกะ คำว่า ขี้เกะ มาจากชื่อเรียกในภาษามลายูกลางคือ “Kekek” หรือ “Kikek” [1] พจนานุกรมภาษาไทยถิ่นใต้ พุทธศักราช ๒๕๒๕ จัดทำโดยสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณคดีศึกษา) หน้าที่ ๕๐ ให้ความหมายคำว่าขี้เกะ ไว้สองความหมายดังนี้ น.๑ ผ้าสี่เหลี่ยมชิ้นเล็ก ๆ เย็บติดใต้รักแร้ของเสื้อผ้าชายสมัยก่อน ๒.ชื่อปลาชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายปลาขี้ตัง
คุณอัคตัรมีซี อาหามะ หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า “แบซี”(แบหมายถึงพี่ชาย) รุ่นพี่ที่มีความรู้ด้านภาษามลายูให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่า ปลา “Kekek” หรือ “Kikek” ในภาษามลายูมีสำนวนว่าด้วยเรื่องคุณลักษณะของปลาชนิดนี้ โดยนำมาเปรียบเทียบกับสตรี ในสังคมคนมลายูมีการแต่งเพลงพื้นบ้านชื่อเพลงว่า “Ikan Kikek” กันด้วย สามารถรับฟังได้ใน
(https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=a4DIO-yTilI&ab_channel=BenedictJCLO)
หมู่บ้านที่เรียก “ปลาขี้เกะ” ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่างเช่น มุสลิมบ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มุสลิมบ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา(สัมภาษณ์ข้อมูลจากคุณยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ) และในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนกลางเช่น มุสลิมปากพะยูน ตำบลปากพะยูน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง (สัมภาษณ์ข้อมูลจากคุณยุวดี หีมสุหรี)
๒. “ปลาบุตรี” คำว่า บุตรี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า [บุดตฺรี] น. ลูกผู้หญิง. (ส. ปุตฺรี). ขยายความไว้ว่าเป็นคำที่ภาษาไทยรับมาจากภาษาสันสกฤตคือคำว่า ปุตรี คนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่นำมาเรียกเป็นชื่อของปลา หมู่บ้านที่เรียกปลาบุตรี เช่นคนแขก(มุสลิม) บ้านท่าเสา คำเรียกรวมมุสลิมหลายหมู่บ้านในตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งหากินในพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง
๓. “ปลาขี้เจ” คำว่า ขี้เจ ซึ่งผู้เขียน นำมาจากการเรียกของคนไทยบ้านเขาใน ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลาอยู่ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนบน (สัมภาษณ์ข้อมูลจากคุณรุ่งวารี สังขจินดา) ซึ่งพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นใต้ พุทธศักราช ๒๕๒๕ จัดทำโดยสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณคดีศึกษา) หน้าที่ ๕๑ มีการบันทึกชื่อเรียกที่ใกล้เคียงกันคือ “ปลาขี้เจะ” น. ปลาชนิดหนึ่งคล้ายปลาแป้นแต่เล็กกว่า ; ขี้เตระ ก็ว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่คำว่า ขี้เจ ขี้เจะ และ ขี้เตระ กร่อนมาจากคำว่า ขี้เกะ หรือ Kikek หรือ Kekek (ต้องอาศัยผู้รู้ทางภาษาชี้แนะเพิ่มเติม)
ของหรอยจากปลาขี้เกะ
ในหัวข้อนี้ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลของบ้านตนเองเป็นหลักคือที่บ้านควน ปลาขี้เกะเราสามารถจับได้ตลอดทั้งปี มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล เป็นปลาที่ไม่ค่อยนิยมนำมารับประทานกันนักเนื่องจากมีขนาดตัวที่เล็กมาก เมื่อชาวประมงกลับจากทะเลจะมีการคัดแยกสัตว์น้ำออกเป็นชนิดต่าง ๆ ปลาขี้เกะถูกแยกออกมา รวมกับปลาขนาดเล็กอื่น ๆ ส่วนมากจะมีปลาขี้เกะเป็นหลักจะเรียกว่า “ปลาลูกเคย” หรือ “ลูกเคย” พจนานุกรมภาษาไทยถิ่นใต้ พุทธศักราช ๒๕๒๕ จัดทำโดยสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณคดีศึกษา) หน้าที่ ๒๗๙ มีการเก็บความหมายคำว่าลูกเคย ไว้ว่า น.กุ้ง ปลา ที่เอามาทำกะปิ มะ(แม่)ของผู้เขียนให้ข้อมูลว่าคนบ้านควนในอดีตก็นิยมนำปลาขี้เกะมาทำเป็นเคยปลากันเป็นหลักใช้เป็นอาหารเลี้ยงเป็ดก็ได้ หรือ “แกงส้ม” “ต้มหวาน” “ต้มส้ม” หรือใช้เป็นปลาทำนำแกงขนมจีนก็ได้ หรือนำมาถนอมอาหารก็ได้ มีข้อมูลดังนี้
๑.“ปลาแห้ง” มีวิธีทำหลายแบบ จะตัดหัวออกเอาขี้ปลาออกหรือนำมาผ่าหลังได้ปลาที่มีลักษณะเหมือนพัด เอาขี้ปลาออก ล้างให้สะอาด แช่ในน้ำเกลือแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง อาจจะตากเป็นตัวแยกกัน หรือหากใครขยันหน่อยก็จะตากให้ปลาขี้เกะสี่ตัวเรียงต่อกันเป็นวงกลม จะได้ปลาขี้เกะแห้งที่สวยเหมือนดอกไม้ นำมาทอดกินกินกับข้าวสวยหรือข้าวเปียก(ข้าวทำต้มกับน้ำจนเละ) ก็อร่อย ถ้าให้ดีมีน้ำชุบ(น้ำพริก)ด้วยก็จะเข้ากันครับ
ปลาขี้เกะ ตากแห้งเป็นให้ติดกันสี่ตัว มีลักษณะที่สวยงามเหมือนดอกไม้
๒. “เคยน้ำ” นำปลาขี้เกะสด ล้างให้สะอาดโดยไม่ต้องผ่าท้องเอาขี้ปลาออกแต่อย่างใด นำมาคลุคเคล้ากับเกลือ แล้วใส่ไหงหรือโอ่งปิดฝาให้มิดชิด ตั้งไว้ประมาณครึ่งปีถึงหนึ่งปีเป็นอย่างน้อย ที่บ้านควนนิยมนำเคยน้ำมาใช้เป็นวัตถุดิบ ต้มกับ ใบมะกรูด ตะไคร้ ข่าเล็ก หอมแดง อ้อย และน้ำตาลโตนด น้ำที่ได้ออกมาเรียกว่า “น้ำเคย” ใช้รับประทานเป็นน้ำราดข้าวยำ ผู้เขียนจึงเติบโตมาในวัฒนธรรมของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่กิน “ข้าวยำน้ำเคย” และหากกินกับข้าวสวยร้อน ๆ เราสามารถนำน้ำเคยดังกล่าวมาทำเป็นเมนู “ยำน้ำเคย” ก็ได้ มีขั้นตอนการทำง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แค่ซอยหอมแดง พริกสดและพืชรสเปรี้ยวใส่ลงไปเช่น น้ำมะนาว มะม่วงเบา หรือ มะขามอ่อน ใส่ลงไปด้วย
“ปลาขี้เกะ” สดคลุกเคล้ากับเกลือใส่ในไหงปิดไว้ให้มิดชิด ได้วัตถุดิบอาหารที่เกิดจากภูมิปัญญาคือ “เคยน้ำ” นำมาต้มกับพืชสมุนไพรได้ “น้ำเคย” ไว้กินกับข้าวยำ สองภาพนี้ผู้เขียนกับมะช่วยกันทำเมื่อหลายเดือนก่อน เพื่อนมาเคี้ยวไว้กินกับข้าวยำในช่วงเดือนบวชหรือเดือนถือศีลอดในปีหน้า
๓. “เคยปลา” นำปลาขี้เกะสด ล้างให้สะอาดโดยไม่ต้องผ่าเอาขี้ปลาออก คลุกเคล้าด้วยเกลือ แล้วนำไปตากแดดให้พอหมาด ๆ คนบ้านควนเรียกว่า “ตากพอหม่าง” หลังจากนั้นนำมาทิ่ม(ตำ)ในครกไม้ให้ละเอียด ปั้นเป็นก้อนกลมแบนนำไปตากแดดอีกรอบ แล้วเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด มะของผู้เขียนให้ข้อมูลว่า ดั้งเดิมคนบ้านควนจะกินเคยปลาเป็นหลักไม่ได้กินเคยกุ้งเหมือนในปัจจุบัน ไม่ว่าแกงส้ม แกงคั่วใช้เคยปลาทั้งหมด ท่านบอกว่าเปลี่ยนมากินเคยกุ้งก่อนผมเกิดประมาณ ๕ ปี ปัจจุบันผู้เขียนอายุ ๓๐ ปี แต่การใช้เคยปลามาแกงนั้น มีขั้นตอนยุ่งยากกว่าการใช้เคยกุ้ง เพราะต้องนำเคยปลามาต้มกับน้ำเปล่าก่อน แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำมาใช้แกง ถ้าจะทำน้ำชุบ(น้ำพริก) ก็ต้องนำเคยปลาไปจีกับไฟถ่านให้สุกเสียก่อน จะกินกับข้าวสวยร้อน ๆ ก็อร่อย
ขั้นตอนการทำ “เคยปลา” ที่ผู้เขียนเป็นลูกมือช่วยมะทำไว้กินกันในครอบครัว
ปลาขี้เกะจึงเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่ผู้คนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาบางหมู่บ้าน ยังเรียกด้วยชื่อที่มีรากมาจากภาษามลายูคือคำว่า ปลาขี้เกะ ในขณะเดียวกันบางหมู่บ้านก็เรียกด้วยชื่อ “บุตรี” หรือ “ปลาขี้เจ” สะท้อนถึงความหลากหลายของผู้คนในพื้นที่บ้านเราได้เป็นอย่างดี และจะเห็นได้ว่าแม้ปลาชนิดนี้มีขนาดตัวที่เล็กมากเมื่อเทียบกับปลาชนิดอื่น ๆ แต่เราก็สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายมากดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พื้นที่ไหนเรียกปลาชนิดนี้ว่าชื่ออะไรกันบ้างครับ
[1] ปลาขี้เกะ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องชื่อเรียกในภาษามลายูของปลาชนิดนี้ได้ใน : https://www.talkaboutfish.com/red-fishes-basses-congers-etc/ponyfish/