น้ำชุบส้มมวง จากริมคลองท่าดี

เหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดนครศรีธรรมราช ณ ขณะนี้ชื่อ “คลองท่าดี” น่าจะเป็นที่รู้จักกันไปทั่วประเทศ สืบเนื่องจากน้ำในคลองแห่งนี้ไหลผ่านตัวเทศบาลนครศรีธรรมราช เป็นต้นเหตุหนึ่งของมวลน้ำที่ไหลท่วมในเขตเมือง ผมเองก็ประสบภัยครั้งนี้เช่นกัน ได้อพยพมาพักพิงชั่วคราวที่อาคารเรียนของโรงเรียนในวัดพระนคร ข้างหลังพื้นที่นี้คลองท่าดีไหลผ่านเช่นกัน

 ห่างจากที่ผมพักพิงนี้ประมาณสองกิโลเมตร เมื่อปีที่แล้ว(2567) เคยขับรถไปเที่ยวสำรวจกับพี่จันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์ ขับไปเรื่อย ๆ เจอร้านก๋วยเตี๋ยวบริเวณบ้านในฉาง ตำบลมะม่วงสองต้น เป็นร้านคนมุสลิมเที่ยงพอดีก็แวะกินเสียเลย กล่าวกันว่ามุสลิมที่นี่ถูกเทครัวมาจากเคดะห์(เมืองไทรบุรี) เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันแหลงไทยถิ่นใต้ไม่ได้พูดภาษามลายู (จากัปมลายู) แต่ที่ยังคงเด่นชัดบอกรากเหง้าคือ ยังใช้คำเรียกเครือญาติแบบเดียวด้วยคำมลายูเหมือนกับคน(มุสลิม)มลายูเคดะห์

กินก๋วยเตี๋ยวเสร็จได้เวลาสะมะหยัง(ละหมาด)พอดีผมจึงขอตัว แยกจากพี่ผู้ร่วมทริป เมื่อประกอบศาสนกิจเสร็จ พบว่าพี่จันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์ นั่งอยู่ริมคลองห่างจากมัสยิดประมาณ ๑๐๐ เมตร มีเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน มานั่งเเช่เท้าอยู่หลายคน น้องบอกว่าคลองนี้เรียกว่า “คลองท่าดี” ใกล้กับจุดที่เรานั่งมีบ้านของ “หวอ” (ลุง – ป้า) กำลังตากผลไม้บางอย่างดูแปลกตา น่าสนใจ

พวกเราเข้าไปพูดคุยและขอบันทึกภาพ ได้ข้อมูลว่าที่ตากอยู่คือเปลือก “ลูกส้มมวง” (ชะมวง) ตากให้แห้ง เก็บไว้ได้เป็นปี คนที่นี่นิยมใช้ “แกงส้ม”   ถือเป็นความรู้ใหม่ของผมเพราะที่บ้านจะนิยมนำ “ใบส้มมวง” มาใช้ต้มกับเนื้อวัวเป็นเพียงอย่างเดียว ซึ่งร้านข้าวแกง “มุสลิมนคร” ที่บ้านสวนมะพร้าว ก็ทำเมนูนี้เช่นกัน และเคยได้รับข้อมูลจากป้าสไภ้ คนบ้านใหม่ ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา สมัยก่อนที่บ้านของท่าน เมื่อไปทำสวนในป่าเขาจะนำใบส้มมวงมาทำน้ำชุบกินกัน (ผุ้เขียนจะเขียนถึงในโอกาสต่อไปครับ

หวอ” ใจดีมาก พาพวกเราไปดูต้นส้มมวงที่อยู่ใกล้บ้าน ปลูกไว้ริมคลองท่าดี บนต้นมีผลสุกอยู่ด้วย ลูกกลมมีลักษณะเป็นกลีบ ๆ ท่านเก็บผลสุกมีสีส้มอ่อน ๆ ลงมาให้พวกเรา เนื้อข้างในนั้นมีลักษณะเป็นกลีบคล้ายมังคุดเป็นอย่างมาก

หวอ” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนมุสลิมบ้านในฉางนิยมนำเนื้อของผลสุกมาทำ “น้ำชุบ” (น้ำพริก) เป็นความรู้ใหม่อีกแล้ว วันนี้เท่ากับว่าได้สูตรอาหารสองอย่าง ที่มาจากผลของลูกส้มมวง ท่านให้เป็นของฝากกับพวกเราให้ลองมาทำกินดู ส่วนผลแห้งที่ตากอยู่หน้าบ้านนั้นพวกเราช่วยอุดหนุนกลับมาด้วย

 ในหลุมเดียวกันกับ “ต้นส้มมวง” นั้นยังมี “ต้นส้มม่าว” ขึ้นอยู่ด้วย ต้นสูงเทียมกัน (ขนาดต้นสูงเท่ากัน) เป็นผลไม้บ้าน ๆ ที่คุ้นเคยมาตั้งเเต่เด็ก ผลแก่สีเขียวมีรสเปรี้ยว ผลสุกสีดำมีรสหวาน คนคอนนิยมนำใบอ่อนมากินเป็นผักเหนาะขนมจีนหรือใช้ “แกงเลียงส้ม” ครับ

การขับรถไปที่บ้านในฉางวันนั้นพวกเราได้วัตถุดิบจากลูกส้มมวงมาไว้ทำอาหาร ผลแห้งผมนำมาลองแกงส้มกับปลาแป้น รสส้ม(เปรี้ยว) ของเปลือกลูกส้มมวงนี้ ถือว่าแปลกใหม่สำหรับผม มีความคล้ายกับส้มแขกอยู่เหมือนกัน

ส่วนลูกส้มมวงสุกนั้น ผมลองทำน้ำชุบกินดู วัตถุดิบ พริกสดที่บ้านผมเรียก “ลีปปลี” หอมแดง กระเทียม เกลือหวาน(ฆาแรมานิ) จากปัตตานี น้ำผึ้งแว่น(น้ำตาลโตนด) จากคาบสมุทรสทิงพระสงขลา เคยกุ้งจากแม่ค้ามุสลิมคนท่าศาลา เจ้านี้จะมีเคยกุ้งสามแบบคือ ๑.เคยน้ำชุบ ๒.เคยแกง และ ๓. เคยที่ทำได้ทั้งแกงและน้ำชุบ ที่ขาดไม่ได้คือเนื้อของลูกส้มมวง ผมชิมดูไม่ได้มีรสส้ม(เปรี้ยว)โดดนัก มีความหวานเจืออยู่ด้วย

วิธีทำ ตำพริกสด หอมแดง กระเทียม เกลือ น้ำผึ้งแว่น ให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วใส่เคยกุ้งที่ใช้สำหรับทำน้ำชุบโดยเฉพาะลงไป หลังจากนั้นใส่เนื้อลูกส้มมวงผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทำไม่นานได้น้ำชุบส้มมวงน่ากินเพราะรสมือตัวเอง กินกับผักต้มจุ้มคือ ถั่วเมือก(กระเจียบเขียว)กับผักบุ้ง และมีปลาลังนึ่งทอดซาวข้าวสวยร้อน ๆ  ถือว่าเป็นน้ำชุบที่อร่อยแปลกลิ้นดี เพราะเป็น ครั้งแรกที่ได้กินครับ ต้องขอขอบคุณความรู้ของหวอคนบ้านในฉาง หมู่บ้านริมคลองท่าดี – นครศรีธรรมราช

สามารถ สาเร็ม 17 ธันวาคม 2567 / คืนที่สามในที่พักพิงหนีน้ำท่วม

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น