“หอยหลักไก่”จากหาดปลาไก่ ของหรอยปากเลสาบสงขลา

การได้เดินตลาดนัดเป็นความสุขอย่างหนึ่งของผู้เขียน หลายวันก่อนได้ไปเดินในพื้นที่บ้านท่าเสา ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ห่างจากวัดสถิตย์ประมาณ ๓๐๐ เมตร เป็นตลาดนัดที่มีสินค้าหลากหลายมาก โดยเฉพาะอาหารทะเลถือได้ว่ามีความสมบูรณ์และพิเศษ เพราะชาวประมงหามาได้จากทะเลสาบสงขลาตอนล่างกับทะเลอ่าวไทย สืบเนื่องจากบริเวณนี้ตั้งอยู่ใกล้กับปากทะเลสาบสงขลาตอนล่างที่เชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทยนั่นเอง

            ท่ามกลางความหลากหลายของอาหารทะเล ผู้เขียนได้พบบัง (“บัง”คือภาษามลายูแปลว่า “พี่ชาย” ) ท่านหนึ่ง เป็นพ่อค้าขายอาหารทะเลที่หาได้จากทะเลอ่าวไทย มีปลาหลายชนิดแต่ที่สะดุดตาผู้เขียนคือหอยชนิดหนึ่งสีดำสนิท เป็นหอยฝาเดียว ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นมานานมากแล้วที่บ้านของตนเอง จากการพูดคุยบังบอกว่า เป็นคนมุสลิมบ้านเล หมู่ ๑ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เด็ก ๆ ในหมู่บ้านไปหากันที่ทะเลหน้า “หาดปลาไก่” เดินลงไปหาได้ถึงเขื่อนที่กั้นทะเลของท่าเรือน้ำลึก ทำเมนูผัดเผ็ดหรือแกงคั่วก็ได้

ชื่อเรียก “หาดปลาไก่” เชื่อได้ว่า มาจากการที่บริเวณชายหาดแห่งนี้ในอดีตชาวประมงในพื้นที่นำสัตว์ทะเลที่หามาได้มาขึ้นฝั่งเพื่อทำการคัดแยก ผู้คนเรียกปลาเล็กปลาน้อยที่คัดออกมาเพื่อนำไปเป็นอาหารของสัตว์ว่า “ปลาไก่” นั่นเอง จากการสืบค้นพบภาพถ่ายบริเวณหาดปลาไก่ซึ่งชาวบ้านกำลังคัดแยกปลาอยู่มุมบนภาพเห็นเเนวท่าเรือน้ำลึกที่กั้นปากทะเลสาบให้เเคบลงกว่าที่เป็นมาตามธรรมชาติ… ภาพนี้ถ่ายโดย เป้ทอง.(๒๕๓๖).เที่ยวไปพักไปในเมืองสงขลา หาดใหญ่.อนุสาร อสท วารสารเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ธรรมชาติ ศิลปะวัฒนธรรม.๓๔.(๔).๕๑

คนมุสลิมบ้านเลเรียกว่า “หอยหลักไก่” แต่ที่บ้านผู้เขียนบ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อยู่เข้ามาด้านในของทะเลสาบสงขลาตอนล่างจะเรียกว่า “หอยหลักนก” และผู้เขียนสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ “ระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย” ให้ข้อมูลไว้ว่า “…หอยชนิดนี้มีชื่อภาษาไทยว่า “หอยเจดีย์ปากแหว่ง” ชื่อวิทยาศาสตร์แบบเต็ม: Faunus ater (Linnaeus, 1758) และมีชื่อสามัญว่า– Black Faunus…”[1]

สำหรับชื่อเรียก “หอยหลักไก่” หรือ “หอยหลักนก” นั้นผู้เขียนเชื่อว่า เพราะหอยชนิดนี้มีลักษณะเหมือนกับหลักที่ไว้ล่ามไก่หรือล่ามนกนั่นเอง ซึ่งคนทั้งสองหมู่บ้านเรียกตามชนิดของสัตว์ที่ตนเองใช้ล่าม หรืออาจจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า นำหอยชนิดนี้มาใช้เป็นหลักล่ามไก่หรือล่ามนกจึงเรียกด้วยชื่อดังกล่าว เป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของผู้เขียน ต้องหาหลักฐานมาสนับสนุนเพิ่มเติม ที่บ้านของท่านผู้อ่านเรียกว่าหอยอะไรกันบ้างครับ?

ทั้งนี้รายการ “ภัตคารบ้านทุ่ง” รายการอาหารที่ผู้เขียนชอบมากรายการหนึ่ง ติดตามมาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ได้นำเสนอเรื่องราวของหอยชนิดนี้ไว้เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2023 ในชื่อตอน ล่องเรือในลำคลอง ชมวิถีธรรมชาติ ตามหา “หอยถ่าน” ที่บ้านคลองเจ้า ตำบลเกาะกูด อำเภอเมืองเกาะกูด จังหวัดตราด พร้อมเข้าครัวปรุงเมนูพื้นบ้าน “แกงคั่วกะทิหอยถ่าน” และเมนู “แกงเลียงหอยถ่าน” และให้เกร็ดความรู้ไว้ว่า “หอยถ่าน” เป็นหอยฝาเดียวที่อาศัยอยู่ในน้ำกร่อย รูปทรงเรียวแหลมและม้วนเป็นเกลียวคล้ายมวนพลู เปลือกมีสีนํ้าตาลเข้มหรือสีดํา คล้ายสีของถ่าน จึงเรียกว่า “หอยถ่าน” ดั้งเดิมชาวบ้านบนเกาะกูด หรือคนเฒ่าคนแก่จะเรียกหอยชนิดนี้ว่า “หอยครั่ง” ชาวบ้านบนเกาะกูดนิยมนำหอยถ่านมาทำเมนูแกงคั่วกะทิมาตั้งแต่โบราณ[2]

ของหรอยจากหอยหลักไก่

ต้องขอบอกก่อน แม้ว่าที่บ้านผู้เขียนจะมีหอยชนิดนี้ แต่คนบ้านควนเราไม่นิยมนำมารับประทาน จะใช้เป็นเหยื่อเกี่ยวเบ็ดราว ที่ใช้จับปลามีหลัง(ปลาดุกทะเล) เท่านั้น ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้นำมาแกงกิน บังคนขายบอกว่า ล้างให้สะอาด แล้วสับตูดหอยออก ทำแบบเดียวกับหอยขมนั่นแหละครับ สับตูดเสร็จไม่ได้แกงทันที แต่ต้องขังในน้ำสะอาดตั้งไว้สักสองชั่วโมง เพื่อให้หอยคายขี้ออกมาก่อน ผู้เขียนทำตามวิธีของบังดังที่กล่าวมา แต่ต้องขอบอกเลยว่า หอยหลักไก่นี้เปลือกแข็งกว่าหอยขมมาก จึงต้องใช้แรงและมีดที่มีควาหนาหน่อย หอยแค่หนึ่งกิโลกรัมผู้เขียนใช้เวลาเกือบสองชั่วโมง และใช้อุปกรณ์เสริมคือซากกระเบือมาช่วยด้วย แอบถอดใจอยู่เหมือนกันระหว่างสับตูดเจ้าหอยชนิดนี้ แต่ความอยากกินหอย ก็ทำให้ตัดตูดจนหมด

เมนูหรอยที่ทำวันนี้คือแกงคั่ว ที่บ้านผู้เขียนใช้เรียกแกงกะทิ โดยใช้เครื่องแกงที่มีส่วนผสมดังนี้ ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม พริกแห้ง ขมิ้น หัวข่า เกลือ กะปิ ตำรวมกันให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน นำกะทิใส่หม้อตั้งไฟพอเริ่มเดือด ตักเครื่องแกงใส่ลงไป คนให้เครื่องแกงสุกส่งกลิ่นหอม แล้วใส่เจ้าหอยหลักไก่ลงไปเต้นระบำในน้ำแกง รอจนเดือดอีกครั้งชิมรสดู เมื่อสังเกตว่าหอยน่าจะสุกแล้วจึงตักขึ้นมาหนึ่งตัว ตั้งไว้ให้เย็น แล้วจุ๊บดู ตัวแรกที่ผู้เขียนตักขึ้นมานี้ จุ๊บออกมาได้ง่าย ๆ เป็นอันว่าหอยสุกแล้ว ซอยใบชะพลู พืชสมุนไพรพื้นบ้านที่มีรสชาติร้อนแรง พร้อมกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เป็นผักที่นิยมใส่ในแกงคั่วหอยหลายชนิด ทำการปิดเตาแก๊ส

ตักข้าวสวยร้อน ๆ กินกับ “แกงคั่วหอยหลักไก่” เนื้อหอยมีความสดหวานกินเข้ากันดีกับน้ำแกงที่มันกะทิมีกลิ่นใบชะพลูเจืออยู่ เป็นหอยหลักไก่ที่หามาได้จากทะเลหน้าหาดปลาไก่ บริเวณที่เป็นรอยต่อของทะเลสาบสงขลากับทะเลอ่าวไทย มีน้ำทะเลที่ผสมกัน ส่งผลให้รสชาติหอยมีความอร่อยไปด้วย ทั้งนี้บริเวณหาดปลาไก่หาดสาธารณะสมบัติของคนไทยทุกคนนี้ นับว่าตั้งอยู่ในทำเลทองที่หนึ่งของจังหวัดสงขลา ยังพอมีหาดทรายให้นั่งเล่น มีเรือประมงจอดเรียงรายหน้าหาด สามารถมองดูกิจกรรมของผู้คนในหลากหลายวิถี  ใครได้มาเยือนสงขลาก็เชิญชวนให้มาเที่ยวชมกันครับ ถ้าเจอเด็ก ๆ หาหอยหลักไก่อยู่ ก็อย่างลืมอุดหนุนกลับไปทำเมนูแกงคั่วกันดูนะครับ


[1] อ่านเพิ่มเติมเรื่องราวของหอยเจดีย์ปากแหว่งได้ใน : https://thbif.onep.go.th/taxons/detail/16634

[2] ติดตามชมสารคดีตอน ล่องเรือในลำคลอง ชมวิถีธรรมชาติ ตามหา “หอยถ่าน” ที่บ้านคลองเจ้า ตำบลเกาะกูด อำเภอเมืองเกาะกูด จังหวัดตราด พร้อมเข้าครัวปรุงเมนูพื้นบ้าน “แกงคั่วกะทิหอยถ่าน” และเมนู “แกงเลียงหอยถ่าน” ของรายการภัตคารบ้านทุ่งได้ใน : https://www.youtube.com/watch?v=wUefczfXqFM&ab_channel=ThaiPBS

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น