
ภาพแสดงธงหางไก่หลายขนาดตั้งบูชาอยู่หน้าพระนอนในถ้ำคูหาจังหวัดยะลา จากหนังสือ ถ่ายโดย Nelson Annandale ช่างภาพในคณะสำรวจของ Walter William Skeat ระบุว่าถ่ายในปี 2442 นานเกือบสิบปีก่อนกระแสการสร้างเครื่องพุทธบูชาองค์พระบรมธาตุเมืองนครจะเกิดขึ้น P.46062.SKT Museum of Archaeology and Anthropology
มีการทำ “ธงหางไก่” ขนาดเล็กเป็นเครื่องบูชามาก่อนแล้วในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และเมื่อชุมชนต่าง ๆ ในภาคใต้เกิดความนิยมในการสร้างเครื่องบูชาถวายพระบรมธาตุเมืองนครซึ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในระหว่าง 2450 – 2500 เครื่องพุทธบูชาแบบท้องถิ่นก็ได้ถูกนำมาใช้
ปัจจุบันมี “ธงหางไก่” จำนวนประมาณ 70 รายการเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จากการศึกษาจารึกซึ่งปรากฏอยู่บนธงเหล่านี้บางรายการ ชี้ให้เห็นว่าถูกสร้างขึ้นและนำมาจากปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของสงขลา อาจกล่าวได้ว่า “ธงหางไก่” รายการอื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏจารึกก็เป็นไปได้ว่าสร้างสรรค์ขึ้นในพื้นที่แถบนั้น
ในขณะที่เครื่องพุทธบูชาประเภทเสาธงและเสาหงษ์ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยชาวพุทธกลุ่มอื่น ๆ เท่าที่มีจารึกให้ศึกษา ไม่พบ “ธงหางไก่” ประกอบอยู่เลย แม้จะมีร่องรอยว่าธงหางไก่นี้เป็นที่รู้จักในชาวพุทธกลุ่มอื่น ๆ เช่นในกรณีนครศรีธรรมราชพุทธบริษัทวัดพัทธเสมา ลานสกา ยังใช้ “ธงหางไก่” ประดับพนมพระเมื่อนำออกชักไปตามคลองท่าดี อีกทั้งยังมีเรื่องเล่าว่าเคยตั้งเสาธงหางไก่ในระหว่างพรรษาภายในหุบเขาที่คีรีวงก็ตาม

เรือพระวัดพัธเสมา
ตอนที่เขียนหนังสือมหัคฆภัณฑ์วัณณนา ได้ความรู้เรื่องธงหางไก่ในพื้นที่สามจังหวัดจากอาจารย์ปอย (นายธวัชชัย มหาชัย) กับคุณวิเชียร รัตนบุญโน ซึ่งช่วยให้ภาพว่าการใช้ธงหางไก่ยังคงอยู่ในวิถีชีวิตทั่วไปของชาวพุทธแถบภาคใต้ตอนล่าง ยังมีการตั้งเสาธงหางไก่ขนาดใหญ่ และยังพบเสาธงหางไก่ทำด้วยโลหะมีค่าตั้งบูชาในพระอุโบสถบางวัดในแถบนั้น
ช้อมูลจากท้องถิ่นประกอบการการศึกษาภาพจิตรกรรมชี้ให้เห็นว่า “ธงหางไก่” เป็นเครื่องบูชาที่เกี่ยวข้องสวรรค์ เทวดา และพระจุฬามณีเจดีย์ สอดคล้องกับการพบคติที่ถือว่าพระบรมธาตุเมืองนครมีสถานะเทียบได้กับพระจุฬามณีเจดีย์ และการได้สักการะพระบรมธาตุองค์นี้ก็เทียบได้กับการสักการะพระจุฬามณีเจดีย์ตั้งแต่ยังมีชีวิต
ภาพถ่ายเก่าในโพสต์นี้มาพบในสองสามปีหลังเขียนหนังสือ ถ่ายโดย Nelson Annandale ช่างภาพในคณะสำรวจของ Walter William Skeat มีความสำคัญมากเพราะระบุว่าถ่ายในปี 2442 นานเกือบสิบปีก่อนกระแสการสร้างเครื่องพุทธบูชาองค์พระบรมธาตุเมืองนครจะเกิดขึ้น
ภาพแสดงธงหางไก่หลายขนาดตั้งบูชาอยู่หน้าพระนอนในถ้ำคูหาจังหวัดยะลา บรรดาภาพต่าง ๆ ของถ้ำคูหาที่มีในหอจดหมายเหตุแห่งชาติของไทย ธงเหล่านี้จะไม่ปรากฏอยู่แล้ว สันนิษฐานว่าคงโยกย้ายหลบออกไปด้านข้างเพื่อเปิดมุมมองพระนอน ในการจัดการสถานที่รับเสด็จชนชั้นนำสยามพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในคราวเดียวกับที่มีการฉายภาพเหล่านั้น
——————
P.46062.SKT
Museum of Archaeology and Anthropology

เสาธงหางไก่เลขทะเบียน ๙๔/..๔๗๔ สูง 47.50 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางฐาน 7.5 เซนติเมตร น้ำหนัก 459 กรัม เก็บรักษาอยู่ในวิหารเขียน ธงหางไก่ เป็นธงในฟอร์มสามเหลี่ยมมีจงอยแหลม ใช้แพร่หลายในคาบสมุทรไทย-มาเลย์ และในหมู่เกาะชวา สำหรับพิธีทางศาสนา ในพื้นที่ปัตตานีบางส่วนมีธรรมเนียมการยกเสาธงหางไก่ในเขตวัด ในพื้นที่ลานสกา นครศรีธรรมราช มีการประดับธงหางไก่บนพนมพระเมื่อนำออกชักลาก การทำเสาธงหางไก่มาบูชาพระบรมธาตุเมืองนครเป็นธรรมเนียมที่นิยมกันในหมู่ชาวพุทธปัตตานี เสาธงหางไก่ต้นนี้ตัวธงทำด้วยแผ่นทอง มีการประดับเครื่องประดับละเอียดปราณีต สันนิษฐานว่าคงนำเอาเครื่องประดับของผู้เป็นเจ้าของมาประกอบ มีจารึกแผ่นเงินติดกับตัวเสามีข้อความว่า “ปัตตานี, นางกิมแอ็กอายุ ๖๐ ปี กับนางฮวดเลี่ยน, สร้างไว้ที่พระบรมธาตุ นครศรีธรรรมราช วันศุกร์ เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะแม ๙ l ๗ l ๒๔๙๔

เสาธงหางไก่เงิน จากวัดตรัง มายอ ปัตตานี เลขทะเบียน วพธ.29405 น้ำหนัก 515 กรัม ขนาดฐานกว้าง 6.2 เซ็นติเมตร ยาว 20 เซ็นติเมตร สูง 60 เซ็นติเมตร เก็บรักษาอยู่ในวิหารเขียน มีจารึกที่ธงว่า “วัดตรัง มายอ ปัตตานี” มีป้ายทะเบียนเก่าของศรีธรรมราชพิพิธภัณฑ์ระบุว่า “ที่ ๗๓/๒๔๘๓ คณะพระเคลื่อม” คือเป็นของที่ถวายโดย คณะของพระเคลื่อม เป็นวัตถุถวายเป็นพุทธบูชาในศรีธรรมราชพิพิธภัณฑ์ลำดับ ๗๓ ในปี ๒๔๘๓ วัด(บ้าน)ตรัง (ไม้สูง) ปัจจุบันมีชื่อทางการว่า วัดประเวศน์ภูผา ตั้งอยู่ใน ต.ตรัง อ.มายอ จ.ปัตตานี พระเคลื่อม ธีรธมฺโม เป็นบุตรของ ขุนพรหมศึกษากรร อุปสมบทเมื่อปี ๒๔๘๑ ต่อมาพระเคลื่อม ธีรธมฺโม เป็นผู้มีบทบาทส่งเสริมการศึกษาในตำบลตรังอย่างสูงในอดีต ยังเป็นที่รู้จักเคารพนับถือมาจนปัจจุบัน ขอบพระคุณข้อมูลจาก Tawatchat Marchat

เสาหงส์ทองจากระแงะ ในบรรดาเครื่องบูชาพระบรมธาตุเมืองนครมีเสาหงส์หลายสิบต้น ทั้งใหญ่ย่อมต่างกันไปจากหลายแหล่งที่มา เสาหงส์ เลขทะเบียน วพธ.20786 สูง 45.60 เซนติเมตร หนัก 100 กรัม เก็บรักษาอยู่ในวิหารเขียน ไม่ทราบปีที่นำมาถวายยังพระบรมธาตุ แต่ทราบว่ามาจากระแงะตามที่มีจารึกระบุ เพียงแต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากส่วนไหนของระแงะในสมัยนั้น ในข้อนี้ผู้รู้จักที่ทางของชุมชนพุทธแถบนั้นอาจให้ความกระจ่างได้มาก เสาหงส์นี้มีจารึกที่ธงสองตำแหน่งความว่า “ระแงะ” และ “ขอจงทรงพระเจริญ”