ก่อนจะทำหนังสือมหัคฆภัณฑ์วัณณนา เคยได้ยินตำนานเรื่องต้นไม้ทอง-เงินของวัดควนชะลิก ว่าได้ทำมายังพระบรมธาตุคู่หนึ่ง ทองเงินที่เหลือจากต้นไม้เอาประจุในกรุเจดีย์บนเขา ต้นไม้คู่นี้เป็นความทรงจำเลือน ๆ ที่คนจำไม่ค่อยได้แล้ว แล้วก็ไม่รู้ว่าเก็บอยู่ตรงไหนในพระบรมธาตุ ทำงานกันมา 14 วันถึงเจอต้นไม้ทองชำรุดมากต้นหนึ่งอัดอยู่ลึกในตู้ อาจเพราะดูค่อนข้างชำรุดผู้จัดพิพิธภัณฑ์ในอดีตจึงจัดไว้ข้างใน ได้พบจารึกว่าท่านเลื่ยน เจ้าคณะหมวดวัดควนชะลิกกับญาติโยมทำมาเมื่อ 2476
ต้นไม้ทองนี้งอกขึ้นจากกระถางเงิน 8 เหลี่ยม โลหะทำต้นไม้เหมือนเป็นเงินกะไหล่ทอง มีโครงก้านแข็ง ปลายก้านเป็นสปริง เมื่อต้นไม้ขยับสปริงก็จะขยับให้ใบดอกพลิ้วเล่นแสง ลักษณะใบเป็นใบหยักเหมือนใบตั้งโอ๋ ซึ่งจะคล้ายกับกลุ่มต้นไม้จากลุ่มน้ำปากพนังที่นิยมใบสไตล์นี้
ในวันที่ 32 ของการทำงานเกือบจะหมดเวลาเก็บข้อมูลแล้วจึงได้พบว่าต้นไม้เงินในตู้กระจกที่เปิดไม่ออกในวิหารโพธิลังกานั้นมาจากวัดควนชะลิกในคราวเดียวกัน และเป็นคู่กันอย่างที่ตำนานกล่าวถึง
ต้นไม้เงินนี้ขนาดเท่ากันกับต้นทอง กลไกก็ดุจกันคือโครงก้านแข็งปลายเป็นสปริงให้ใบดอกพลิ้วเล่นแสงได้เมื่อขยับ ลักษณะดอกก็อย่างเดียวกันแต่ใบทำเป็นใบเรียบ การที่ต้นเงินอยู่ในตู้นี้ ต้นทองในอดีตก็คงอยู่ในตู้เหมือนกัน ตู้อาจชำรุด หรือการจัดการพิพิธภัณฑ์พระบรมธาตุในอดีตมีที่จำกัดจึงได้เอาบางต้นออกจากตู้ ทุกวันนี้ในคลังพระบรมธาตุมีตู้โบราณที่เคยบรรจุเครื่องพุทธบูชาน้อยใหญ่วางซ้อนอยู่หลายสิบใบ บรรยากาศในคลังคล้ายห้องต้องประสงค์
ยังมีต้นไม้เงินขนาดใหญ่อีกต้นหนึ่งซึ่งจารึกระบุว่า พระอธิการเลี่ยน ติสฺสโร ชวนญาติโยมร่วมกันสร้างเมื่อเป็นเจ้าอาวาสวัดกาหรำ ขนาดใหญ่กว่าคู่ของควนชลิก แต่ระบบพื้นฐานเหมือนกันจนคิดว่าอาจใช้ช่างชุดเดียวกันทำ คือใบเป็นใบเรียบคล้ายต้นเงินของควนชะลิกแต่เพิ่มแฉกง่าย ๆ ให้เป็นใบสามแฉก โครงเป็นก้านแข็งปลายสปริง ดอกก็มีวิธีซ้อนกลีบใกล้เคียงกันสันฐานโดยรวมอย่างเดียวกัน
ต้นไม้ของวัดกาหรำนี้ยังสมบูรณ์มาก และเป็นตัวอย่างสำคัญมากสำหรับการเข้าใจผลสัมฤทธิ์ของกลไกการสั่นไหวที่ช่างสร้างสรรค์เอาไว้ เพราะเมื่อยกจากตู้มาบันทึกข้อมูล แม้เราจะทำอย่างเบามือ แต่กลไกเหล่านี้ถูกออกแบบให้อ่อนไหวต่อแรงสั้นสะเทือน ทั้งใบและดอกจึงสะบัดพราวไปเหมือนแสงดาวระยิบระยับ เห็นแล้วเกิดความอิ่มใจ
ผมหาประวัติของพระอธิการเลี่ยน ติสฺสโร ไม่ได้มาก ดูจากร่องรอยที่ฝากไว้ในพระบรมธาตุแล้วคงเป็นพระที่ยิ่งใหญ่มากรูปหนึ่ง หวังว่าจะมีผู้รู้ช่วยชี้แนะครับ
ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงินจากวัดควนชะลิก (ซ) ต้นไม้ทอง เลขทะเบียน วพธ.๓๕๙๖๘ สูง ๗๕ ซม. หนัก ๓๙๓๒ กรัม เส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม ๔๘ ซม.เก็บรักษาอยู่ในวิหารเขียน มีจารึก “ท่านเลียนเจ้าคะณะหมวดวัดควนชลิก ได้คิดอ่านพร้อมด้วยญาตโยมทำต้นเงินและทอง พาไปสักการบูชาไนปรมธาต ทำเมื่อพ.ศ.๒๔๗๖” (สามารถ สาเร็ม ผู้บันทึกข้อมูล) ต้นไม้เงิน จัดเก็บอยู่ในตู้กระจกปิดตาย ตรวจสอบไม่พบเลขทะเบียน มีขนาดโดยรวมเท่ากับต้นไม้ทองเก็บรักษาอยู่ในวิหารโพธิ์ลังกา มีจารึกที่ฐานว่า “ท่านเลียนเจ้าคะนะหม้วดวัดค้สนชลีกได้คิดอ่านพร้อมด้วยญาติสร้างต้นไม้เงินเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖” (สามารถ สาเร็ม ผู้บันทึกข้อมูล)
ต้นไม้เงินวัดกาหรำ เลขทะเบียน วพธ.๒๙๔๗๑ สูง๗๒ ซม. หนัก ๖๐๐๐ กรัมเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม ๕๔ ซม.เก็บรักษาอยู่ในวิหารโพธิ์ลังกา มีจารึกที่ฐานว่า “พระอธิการเลี่ยนติสฺสโร รวมด้วยผู้ศรัทธา วัดกาหรำ ตำบลโรง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา” (สามารถ สาเร็ม ผู้บันทึกข้อมูล)
วัดกาหรำ ปัจจุบันตั้งอยู่ในอำเภอกระเเสสินธุ์ จังหวัดสงขลา เป็นวัดเก่าแก่ที่มีปรากฎในแผนที่แสดงเขตการปกครองคณะสงฆ์สทิงพระในสมัยอยุธยา ภายในวัดยังหลงเหลือร่องรอยของงานศิลปกรรมสมัยอยุธยาหลายชิิ้น พระประธานภายในอุโบสถวัดกาหรำ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยาตอนปลาย มีการปั้นลายทรงเครื่องอย่างเครื่องทรงโนรา เป็นงานศิลปกรรมที่สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองของวัดแห่งนี้ในสมัยโบราณเป็นอย่างมาก