ถ้ำเขาขุนพนม เป็นหนึ่งในเดสติเนชั่นของสายมูเมื่อมายังเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากไปวัดเจดีย์ไอ้ไข่แล้วก็ต้องมาไหว้พระเจ้าตากที่นี่ เพราะเกิดตำนานลือกันว่าเป็นที่ที่ท่านหนีมาบวชอยู่จนนิพพาน (ใช่แล้วนี่คือศูนย์กลางของตำนานการหนีมาบวชที่เมืองนคร) ก่อนจะเชิญศพไปปลงที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วเอาอัฐิประดิษฐานไว้ในเก๋งจีนวัดประดู่ ตำนานที่คนเล่าลือกันในปัจจุบันว่าเช่นนี้ แต่วัดเขาขุนพนมเดิมทีมีตำนานที่เก่ากว่า
ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชมีบันทึกอยู่ในสมุดไทยหลายเล่ม กล่าวว่าในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชผู้สร้างพระบรมธาตุ พระมหาเถรสัจจานุเทพ พระเถระที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกให้ความนับถือได้สร้างวัดพระเดิม (ปัจจุบันคือเขตสังฆาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร) แล้วสร้างวัดหว้าทยาน (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) เมื่อขัดเคืองกับพระเจ้าศรีธรรมาโศก มหาเถรท่านได้ออกไปสร้างวัดที่เขาน้อย เมื่อมหาเถรสัจจานุเทพมรณภาพแล้วพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเสด็จไปปลงศพท่านที่นั่นแล้วตรัสเรียกอารามที่เขาน้อยว่า เขาน้อยคุมพนม ปัจจุบันเรียกว่าวัดเขาขุนพนม
บนเขาขุนพนมมีวิหารถ้ำ สูงจากพื้นดินราว ๆ 50 – 80 เมตร เกิดจากการก่อผนังขึ้นกั้นเพิงผาที่หันไปทางทิศตะวันออกจนเกิดเป็นห้องเล็ก ๆ กว้างยาวราว 4.5 * 5.5 เมตร เพดานสูงราว ๆ 1.70 ซม. ปัจจุบันเรียกถ้ำนี้ว่าถ้ำพระนอน เพราะมีพระนอนองค์ย่อม ๆ อยู่ภายใน
วิธีการก่อผนังกั้นเพิงผาจนเกิดเป็นวิหารถ้ำนี้เป็นวิธีที่พบทั่วไปในลังกา การที่พบโกลนซุ้มมกรโตรณะด้านหน้าทางเข้านี้ และตัวหินกรอบประตูซุ้มใช้หินแกรนิตแบบเดียวกับที่นิยมในยุคตามพรลิงค์ ผมคิดว่ามันสะท้อนว่าถ้ำนี้น่าจะสร้างขึ้นโดยคนที่เคยเห็นวิหารถ้ำแบบนี้ในลังกาแล้วพยายามเอารูปแบบกลับมาทำตามที่พอจะจำได้ เพราะปกติแล้วในภาคใต้เรานิยมใช้ถ้ำจริง ๆ ปรับเป็นวิหาร หรือพุทธคูหามากกว่าจะมากั้นห้องให้เกิดถ้ำจำลองขึ้น
เพดานถ้ำพระนอนนี้มีร่องรอยของการฉาบไล้ด้วยปูนขาว และน่าจะเคยเขียนจิตรกรรมจนเต็มที่ทั้งเพดานถ้ำแบบเดียวกับวิหารถ้ำหลายแห่งในศรีลังกา ปัจจุบันเหลือจิตรกรรมอยู่ขอบผนังทางด้านทิศใต้เท่านั้นคิดเป็นราว ๆ 5 เปอร์เซ็นของพื้นที่ที่น่าจะเคยมีจิตรกรรมทั้งหมด
มีจิตรกรรมที่ยังปรากฏชัดอยู่ 2 จุด คือจุดบริเวณด้านล่างฐานพระนอน เขียนภาพคนนั่งกระโหย่งไหว้ คนตรงกลางเขียนนั่งหันหลังซึ่งเหลือให้เห็นไม่มากในงานจิตรกรรมไทย ปัจจุบันเหลืออยู่ที่วัดปราสาท วัดเกาะเมืองเพชร ฯ
อีกจุดหนึ่งอยู่ถัดลึกเข้าไปในถ้ำเขียนเป็นนาค 7 ศีรษะ
จิตรกรรมที่ปรากฏอยู่นี้น่าจะเป็นรุ่นอยุธยาผมคิดว่าอาจจะอยู่ในราว ๆ พศว.21 – 22 ต้น ๆ อาจจะก่อนหน้านี้แต่ไม่หลังจากนี้ หรือจิตรกรรมที่เพดานซึ่งเขียนรูปนาคอาจจะเก่ากว่าจิตรกรรมรูปคนนั่งกระโหย่งไหว้เพราะการใช้เส้นคนละแบบ จริงอยากจะเสนอว่าจิตรกรรส่วนบนเพดานอาจจะเก่าถึงยุคศรีธรรมาโศกราชก็ได้แต่ก็ยังยากจะพูดตอนนี้
การเป็นวิหารถ้ำที่เคยมีจิตรกรรมเต็มตลอดทั้งเพดาน และจากร่องรอยที่เหลืออยู่ก็แสดงถึงฝีมือการเขียนในระดับสูง แสดงถึงความสำคัญของถ้ำและวัดเขาขุนพนมแห่งนี้ที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์เมืองนครมาตั้งแต่ยุคตำนาน ที่จริงแล้วตำนานพระบรมธาตุ และตำนานพระธาตุเมืองนครกล่าวถึงวัดสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกอยู่ไม่กี่วัด
ได้แก่พระธาตุ พระเดิม หว้าทยาน ท่าช้าง เสมาทอง เวียงสระ และวัดเขาขุนพนม นอกจากพระธาตุซึ่งอยู่กลางสันทรายแก้วแล้ว มีเพียงวัดเขาขุนพนมที่คงสภาพและปรากฏวัตถุสถานเหลืออยู่ ที่เหลือนั้นได้อันตรธานและสิ้นสภาพไปแล้ว วัดเวียงสระก็เหลือร่องรอยของเก่าไม่มากนัก
ทุกวันนี้ไปเขาขุนพนมทุกคนคิดถึงแต่เรื่องพระเจ้าตาก ซึ่งที่มาที่ไปซับซ้อนและคลุมเครือ น้อยคนจะรู้ว่ามันมีสิ่งที่มีมาเก่าก่อนและมีความสำคัญมาก ๆ พำนักอยู่ด้วยอย่างเงียบเชียบ
.
—————
ปัจจุบันถ้ำพระนอนไม่สามารถเข้าไปด้านในได้แต่สามารถส่องไฟสองกล้องผ่านประตูเหล็กดัดเข้าไปได้ ภาพจิตรกรรมสองภาพนี้ผู้เขียนได้รับอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ที่นับถือกันมานาน ถ่ายมานานหลายปีตั้งแต่สมัยยังเข้าไปในด้านในได้ ถ้าได้สำรวจโดยละเอียด อาจพบจิตรกรรมเหลืออยู่มากกว่าเพียง 2 จุดนี้ก็ได้ครับ