“ตรงไปทางเหนือปลายน้ำตลอดถึงแดนเมืองไทรบุรี”
จากพระนิพนธ์ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช รายงานเสด็จหัวเมืองในแหลมมลายูฝั่งตะวันออกสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ เมื่อกว่า ๑๓๖ ปีมาแล้ว เมื่อครั้งเดินทางมาเมืองสงขลา และได้เดินทางมาที่วัดคูเต่าผ่านทางคลองอู่ตะเภา พระองค์ท่านได้บันทึกไว้ดังนี้
“ท้ายเกาะยอทางตะวันตกเฉียงใต้ มีคลองแห่งหนึ่งชื่อ คลองอู่ตะเภา ปากคลองกว้างประมาณ ๔ วา น้ำลึกประมาณ ๒ ศอก ในลำคลอง ๒ ฟาก มีต้นไม้ชายเฟือย ต้นเหงือกปลาหมอ ปลงไข่เป็นต้น ในลำคลองน้ำลึกประมาณ ๕ – ๖ ศอก คลองลดเลี้ยวไปประมาณ ๑๐๐ เส้นเศษ มีสวนมะพร้าว สวนผลไม้ต่าง ๆ มีสวนส้มเป็นสวนวิเศษตลอดไปทั้ง ๒ ฟากคลองประมาณ ๒๐ สวนเศษ เป็นส้มจุก ซึ่งชาวกรุงเรียกว่า #ส้มการังตานู สวนเหล่านี้เป็นสวนไทยสักส่วนหนึ่ง สวนจีนทั้ง ๒ ส่วน มีบ้านเรือนตั้งประจำอยู่ที่สวนเป็นอันมาก ในคลองระหว่างสวนส้มนั้น มีวัดอยู่แห่งหนึ่งชื่อ #วัดสระเต่า มีศาลาที่พัก ๒ หลัง มีพระสงฆ์ ๑๗ รูป ที่ตรงมุมวัดนั้น มีคลองแยกไปทางตะวันตก ไปออกทะเลสาบอีกทางหนึ่ง เรียกว่า #คลองเกาะนก เป็นคลองกว้างออกไปทุกทีไปจนถึงกว้าง ๒๐ วา แต่ในตัวลำคลองอู่ตะเภานั้น ตรงไปทางเหนือปลายน้ำตลอดถึงแดนเมืองไทรบุรี”
ต้นเหงือกปลาหมอ คือ ต้นหนามหมอ ยังคงพบได้ที่ปากคลองอู่ตะเภาทั้งสองฝั่ง
ปลงไข่ คือต้นหน่อปง ในพื้นที่นิยมนำมากินกับน้ำชุบ(พริก)
สวนไทย สักส่วนหนึ่ง สวนจีนทั้ง ๒ ส่วน มีบ้านเรือนตั้งประจำอยู่ที่สวนเป็นอันมาก คือ บ้านจีน(บ้านคูเต่า) ม.6 ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับวัดคูเต่า ต.แม่ทอม อ.บางกล่ำ จ.สงขลาในปัจจุบัน
ศาลาภายในวัดคูเต่า
หลาย ๆ ท่านที่เคยได้ไปเยือนวัดคูเต่า คงมีโอกาสได้ชมภาพวาดจิตกรรมฝาผนังที่สวยงามภายในโบสถ์ หรือในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีจะมีตลาดนัด และจุดที่ไม่น่าพลาดนั่นคือสะพานแขวนที่ใช้ข้ามจากฝั่งวัดไปฝั่งตรงข้ามอันเป็นที่ตั้งของโรงพักคูเต่าหลังเก่า ซึ่งบริเวณสะพานเราจะพบว่าคลองอู่ตะเภาได้แยกออกเป็นสองเส้นทาง ทั้งสองเส้นทางสามารถออกสู่ทะเลสาบสงขลาได้ ทางที่ไหลไปทางทิศตะวันตกนั้นจะไหลไปออกทะเลสาบที่บ้านเกาะนก ม.4 ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาในปัจจุบันเส้นทางนี้ไม่มีบ้านคนอาศัยอยู่มากนัก ส่วนเส้นทางที่ไหลไปทางทิศตะวันออกนั้นมีการตั้งบ้านเรือนของผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งบ้านจีน บ้านควนเหนือ บ้านควนหัวสะพาน บ้านควน บ้านคตหม้อ (หมู่ที่ 7 ต.คูเต่า อ.หาใหญ่ จ.สงขลา) บ้านหัวทุ่งซึ่งปากคลองจะไปออกทะเลสาบสงขลาที่บ้านหัวทุ่ง ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
เมื่อคลองสามารถเดินทางจากทะเลสาบเข้ามาได้สองเส้นทางแล้ว เส้นทางใดกันที่มีความเป็นไปได้ว่าสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ฯ ใช้เดินทางมายังวัดคูเต่า จากบันทึกมีการระบุว่า #คลองลดเลี้ยวไปประมาณ ๑๐๐ เส้นเศษ หากใช้มาตราส่วนมาตรฐาน ๑ เส้นจะเท่ากับ ๔๐ เมตร ดังนั้นข้อความที่ระบุว่าจากปากทะเลสาบมาถึงวัดคูเต่ามีระยะประมาณ ๑๐๐ เส้น เมื่อเทียบกับมาตราส่วนแล้วจะได้ระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร
ผู้เขียนได้ทำการวัดระยะทางโดยใช้โปรแกรม Google Earth พบว่าคลองที่ไหลไปทางทิศตะวันออกมีระยะทางประมาณ 4.5 กิโลเมตร ส่วนคลองที่ไหลไปทางทิศตะวันตกมีระยะทางประมาณ 5.30 กิโลเมตร ดังนั้นพระองค์ท่านจึงน่าจะใช้เส้นทางทางฝั่งตะวันออกเนื่องจากระยะทางมีความใกล้เคียงกับที่ระบุไว้ในเอกสาร อีกทั้งเส้นทางนี้ยังอยู่ใกล้กับเกาะยอมากกว่าเส้นทางตะวันตก ตรงตามข้อความที่ระบุว่า #ท้ายเกาะยอทางตะวันตกเฉียงใต้ มีคลองแห่งหนึ่งชื่อคลองอู่ตะเภา แต่เมื่อเดินทางกลับนั้น น่าจะใช้เส้นทางกลับทางฝั่งตะวันตก ดังบันทึก มีคลองแยกไปทางตะวันตก ไปออกทะเลสาบอีกทางหนึ่ง เรียกว่าคลองเกาะนก เป็นคลองกว้างออกไปทุกทีไปจนถึงกว้าง ๒๐ วา
ชีวิวัฒน์เล่ม ๗ พระนิพนธ์ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช นับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่มีการกล่าวถึงคลองอู่ตะเภาว่าสามารถเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทย-มาเลย์ จากสงขลาไปยังไทรบุรี (เคดาห์) ได้
.