ภาพประกอบ – A Ship on the High Seas Caught by Willem van de Velde (II), c. 1680
ราชาแห่งสมุยผู้ลึกลับ
ย้อนไปในปี ค.ศ. 1679 (พ.ศ.2222) บริษัทอีสอินเดียอังกฤษ ที่เมืองบันตัม (บันเต็น) บนเกาะชวา ได้ส่งเรือฟลายอิ้งอีเกิล เรือสำเภาขนาดเล็ก ระวางขับน้ำ 120 ตัน (1) มายังสยาม ควบคุมเรือโดยกัปตัน John Shaw (2) เจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้เพิ่งกลับจากปฎิบัติการในใต้หวัน และเซี๊ยะเหมิน (Amoy) ในระหว่างปี ค.ศ.1675 – 1678 (3)
เรือฟลายอิ้งอีเกิ้ลออกจากบันตัม เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1679 (4) ในวันที่ทะเลสงบ และกระแสลมเป็นใจ ท้องเรือเพียบด้วยบรรณาการที่จะถวายต่อพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งเป็นการอำพรางภารกิจที่แท้จริงคือ การทวงหนี้ที่ราชสำนักสยามติดค้างกับบริษัทและเหนียวหนี้ไม่ยอมจ่าย ด้วยวิธีละมุนละม่อม และประเมินอนาคตของบริษัทอีสอินเดียอังกฤษในกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมานานหลายปี
หลังจากเรือแล่นจากบันตัมมาเป็นเวลา 39 วัน ผ่านปัตตานี สงขลา นคร และมาถึงขนอมในวันจันทร์ ที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1679 ก็ประสบปัญหาไม่สามารถแล่นต่อไปได้เนื่องจากกระแสลม และน้ำไม่อำนวย เรือทอดสมอรอกระแสลมอยู่ 3 วัน ที่ช่องแคบระหว่างแผ่นดินกับเกาะใหญ่ (รู้จักกันในหมู่นักเดิรเรือตะวันตกว่าช่องขนอม) และในวันพุธที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1679 ราชาแห่งสมุยและข้าราชบริพารก็ปรากฏตัวขึ้น และแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชาวเรือ ตามที่ปรากฏในบันทึกดังนี้
บันทึกชาวเรือ เล่ม 74 – จดหมายเหตุรายวัน เล่าเรื่องการเดิรทางจากบันตัมไปสู่กรุงสยาม ด้วยเรือของบริษัทอีสต์อินเดียอังกฤษ ชื่อ ฟลายอิงอีเกิล – ปีคริสตศักราช 1679 (5)
วันจันทร์ ที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1679 ตลอด 24 ชั่วโมงวันนี้เรือยังคงจอดทอดสมออยู่ห่างออกไปจากเกาะสองเกาะอยู่ในทิศทางองศาเหนือ หัวเกาะอยู่ห่างไปไกลสุด ระยะทางใกล้สุดประมาณ 5 ลีค… ตอนใต้สุดของเกาะเป็นเนินสูงในแนวตะวันตกเฉียงใต้ ตะวันตกระยะทางด้านตะวันตกอยู่ห่างประมาณ 5 ลีคครึ่ง จุดไตรเตียมอยู่ในแนวตะวันตกเฉียงใต้ ตะวันตก ระยะทางประมาณ 6 ลีคครึ่ง แผ่นดินตอนใต้สุดที่มองเห็นได้อยู่ในแนวทิศใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ ระยะทางประมาณ 9 หรือ 10 ลีค ความลึก 10 ฟาธอม ดินอ่อน เส้นรุ้งโดยการคะเนเอาประมาณ 9 – 29^m เลขที่…
วันพุธที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1979 ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงได้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ แต่ปรากฏว่าลมกระแสน้ำพัดไปทางทิศตรงกันข้าม และกลับหยุดนิ่ง พวกเราจึงไม่อาจทำอะไรต่อไปได้ในวันนี้
พระเจ้าแผ่นดิน และอำมาตย์ผู้ใหญ่สองท่านที่ปกครองเกาะ พร้อมด้วยข้าราชบริพารตามเสด็จได้เดิรทางมาด้วยเรือสองลำมาขึ้นเรือ ผู้ที่เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่สุดในหมู่พวกที่มานั้นไม่ได้พกอาวุธเข้ามา ศีรษะเปล่า ส่วนคนอื่นนั้นมีศาสตราวุธติดมาด้วยเต็มกำลัง มีหอกและทวน พระเจ้าแผ่นดิน และอำมาตย์ผู้ใหญ่สองนายได้พระราชทานของกำนัลแก่ข้าพเจ้า ประกอบด้วย ข้าวหนักครึ่งหาบ กับไก่เล็ก ๆ 3 ตัว และเพื่อเป็นการตอบแทนข้าพเจ้าจึงได้จัดการต้อนรับเป็นอย่างดี และได้นำของกำนัลไปมอบให้เป็นราคาสองเท่าของที่นำมาพระราชทาน
จากการแลกเปลี่ยน และนำของไปแลกกับคนพวกนี้ ปรากฏว่าเราได้ข้าวสารมา 9 ถึง 10 หาบ อย่างง่ายดาย กับไก่อีก 4 ตัว และของกระจุกกระจิกอีกมีมูลค่าประมาณ 1 ดอลลาร์ ส่วนฝ่ายเราต้องจ่ายไปคิดเป็นเงิน 19.45
พระเจ้าแผ่นดินทรงเรียกตัวเองว่า ราชาซามมอย (Sammoy) และขนานนามเกาะตามพระนามพระองค์ พระองค์รับสั่งว่า เกาะที่อยู่ใกล้เคียงนั้นอยู่ใต้ปกครองของพระองค์ด้วย แต่พระองค์ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงสยาม แต่เมื่อสันนิษฐานจากขนาดความกว้างใหญ่ และตำแหน่งของเส้นรุ้งแล้วเข้าใจว่าจะเป็นปุเลาขนอม (Pulis Carnom – นักเดิรทางตะวันตกรู้จักเกาะสมุยในชื่อเกาะขนอมจนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19) ตามที่มีระบุไว้ในแผนที่อ่าว
ในเบื้องต้นคิดอย่างได้ลองค้นต้นฉบับภาษาอังกฤษที่หนังสือเล่มนี้ใช้แปล เพื่อตรวจสอบคำที่ละเอียดอ่อนอย่าง ราชา – raja – king ก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะเข้าใจสิ่งที่นักเดิรเรือบันทึกไว้ได้อย่างคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด ตามที่คัดมาด้านล่างนี้ คิดอย่างตัดเหตุการณ์ในวันที่ 20 ตุลาคมออก เนื่องจากไม่มีความจำเป็นพิเศษที่จะต้องใช้เปรียบเทียบ
———————————————-
Marine Records, vol. LXXIV – Journal of a passage from Bantam to Siam in the Horourable English East India Company’s Ship Flying Eagle, which God direct and prosper : Anno Domini 1679 (6)
———————————————-
OCTOBER THE 22D, Wednesday, 1679. This 24 hours have used all diligence but small contrary winds, steams, and calms let us do nothing. This day the king and the other two chief men of the island with their retinue came aboard with two small boats, the chiefest of them had but small presence being all bareheaded ; the others all double armed, vizt., with a small Cotan and a Creese. The king with the other two great men gave me as a present about 1(1/2) piculs of Rice and 3 small Chickens ; in retaliation I made them very welcome and gave them presents to about double the value.
By bartering and presenting of these people what we could conveniently we got of them about 9 or 10 piculs of rice, 4 hens and a dollar’s worth of other small refreshing, our charge amounting to 18:45.
The King calls himself (Roger) [Rāja] Sammoy and calls the Island after his own name, he says the other neighbouring islands are under him, he is tributary to the King of Siam. But by latitude and largeness of the island I take it for Pullo Carnom as in the description of the Bay.
ราชา หรือความเข้าใจผิด ?
ดูเหมือนว่าฉบับภาษาไทยจะไม่ได้แปลผิด กรณีนี้นักเดิรเรือรายงานว่า บุคคลที่พวกเขาพบคือ King – Rāja จริง ๆ และมีชื่อว่า Sammoy จึงพยายามจะค้นดูต้นฉบับลายมือที่เป็นบันทึกการเดิรเรือฉบับเต็มที่ลำดับตั้งแต่วันที่ออกจากบันตัมต่อไป บันทึกเดิรเรือฉบับนี้เก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ เลขที่อ้างอิง IOR/L/MAR/A/LXXIV pp.52-123 แต่เอกสารฉบับนี้ยังไม่ถูกให้บริการเป็นดิจิตอล จึงทำให้การสืบค้นต้องยุติลงเท่านี้
เป็นไปได้หรือที่เกาะสมุยจะเคยมีราชาปกครอง หรือราชาที่ว่านี้ที่จริงแล้วคือเจ้าเมืองธรรมดาที่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา และปัญหาจากการสื่อสาร ทำให้ลูกเรือฟลายอิ้งอีเกิ้ลเข้าใจผิด หรือจะเคยมีบุคคลผู้หนึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นราชาแห่งสมุยจริง ๆ ในช่วงเวลาที่อำนาจต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย – ทะเลจีนใต้ กำลังเคลื่อนไปอย่างกระฉับกระเฉงด้วยลมแห่งการค้า เช่นที่ ดาโต๊ะโมกอลผู้มาจากเมืองสาลัย ได้สร้างป้อมค่ายขึ้นรอบหัวเขาแดง ประทับปืนใหญ่ขึ้นบนป้อมเหล่านั้น และประกาศตัวเป็นสุลต่านท้าทายอำนาจของราชอาณาจักรอยุธยาอยู่ ณ ปากทะเลสาบ ในยุคนี้ใคร ๆ ก็ปรารถนาจะเป็นราชาแห่งเมืองท่ากันทั้งนั้น
แม้ว่าทำเนียบตำแหน่งนาเมืองนครศรีธรรมราชชำระในปี พ.ศ. 2357 สมัยรัชกาลที่ 2 จะระบุว่าเกาะสมุยขึ้นกับเมืองนคร แต่การชำระตำแหน่งนาเมืองนครครั้งนั้น ก็ห่างจากรายงานการพบราชาแห่งสมุย นานถึง 135 ปี หากเคยมีราชาสถาปนาตนที่เกาะสมุยจริง คิดอย่างคิดว่าชะตากรรมของพระองค์คงจะไม่รุ่งโรจน์นัก ในที่สุดเกาะสมุยก็ถูกรวมมาอยู่ในโครงสร้างอำนาจของเมืองนครศรีธรรมราชในที่สุด และทิ้งปริศนาหลาย ๆ ประการเอาไว้ เช่น Sammoy เป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร ราชาผู้นี้เป็นชาติพันธุ์อะไร มาจากไหน และหายไปไหน เรื่องของราชาผู้นี้ยังถูกรักษาอยู่ในรูปนิทานท้องถิ่นหรือไม่ ?
ข้อถกเถียงเรื่องความหมายของ “สมุย”
เคยมีผู้เสนอคำอธิบายความหมายของคำ “สมุย” ในเกาะสมุยหลายทฤษฎี ซึ่งในปัจจุบันยังไม่เป็นข้อยุติ คิดอย่างสรุปข้อเสนอจาก – http://www.kohsamuitourism.org/history/ และจาก http://www.museum-press.com/content–4-5600-103960-1.html ผู้สนใจอ่านเนื้อหาเต็มได้จากลิงค์ดังกล่าวครับ
1. สมุยมาจาก – สมอย ภาษาทมิฬ แปลว่า คลื่นลม
2. สมุยมาจาก – ต้นหมุย ชื่อพืชพื้นเมืองชนิดหนึ่ง พบทั่วไปในภาคใต้นิยมกินเป็นผักเหนาะกินแกล้มกับขนมจีน
3. สมุยมาจาก – เซ่าหมวย ภาษาจีนไหหลำ แปลว่า เกาะแรก หรือด่านแรก เนื่องจากชาวจีนไหหลำได้เดิรทางผ่าน และแวะพักขาไป และกลับจากการค้าขายที่กรุงเทพ
4. สมุยมาจาก – ซาวบ่วย ภาษาจีนไหหลำ แปลว่า หาดที่สวยงาม
5. สมุยมาจาก – ซูเป้ย ภาษาจีน หรือออกเสียงในสำเนียงไหหลำว่า ซาวโบ๋ย แปลว่า หอยหนา จากหอยที่มีอยู่มากบนเกาะ
อย่างไรก็ตาม หากรายงานของกัปตันเรือฟลายอิ้งอีเกิลถูกต้อง ชื่อที่ราชาแห่งสมุยจะใช้เรียกตัวเอง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นมงคล หรือมีความหมายเหมาะสมสำหรับการเป็นชื่อคน
และแม้เราจะยังไม่ทราบความหมายแน่ชัดของคำ “สมุย” จนบัดนี้ แต่ก็ช่วยให้เราสามารถกำหนดอายุที่คำ “สมุย” ปรากฏใช้เรียกเกาะ ว่าอย่างน้อยได้ปรากฏแล้วตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา
อ้างอิง
1. http://discovery.nationalarchives.gov.uk/…/45d0ff73…
2. List of marine records of the late East India Company And Of Subsequent Date, Preserved in the Record department of the India Office, London, 1896 – pages 5
3. http://discovery.nationalarchives.gov.uk/…/45d0ff73…
4. List of marine records of the late East India Company And Of Subsequent Date, Preserved in the Record department of the India Office, London, 1896 – pages 5
5. บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ ในศตวรรษที่ 17 เล่ม 2 – กรมศิลปากร พ.ศ. 2513 – หน้า 325 – 326
6. Records of the relations between siam and foreign countries in the 17th century. Vol II 1634 – 1680. India office – Journal of a passage from Bantam to Siam in the Honourable English , East India Company’s ship Flying Eagle. – Journal – Marine Records, vol. 74 – Bantam 1679. Page 243 – 244
ภาพประกอบ – A Ship on the High Seas Caught by Willem van de Velde (II), c. 1680
https://www.rijksmuseum.nl/en/search/objects?q=SK-A-1848…