พ้นช่วงลากพระแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ไปแล้ว ผมเพิ่งจะค้นเจอไฟล์ที่เคยรีเสิร์ชไว้ชุดนี้เกี่ยวกับเรื่องลากพระเดือน ๕ ที่ลุ่มน้ำคลองพุมดวง อาจตกกระแสไปแล้วเผื่อสำหรับท่านที่เห็นว่าควันหลงยังไม่จางครับ
ย้อนไปเมื่อ ๔ ปีก่อน ผมเข้าไปสำรวจรังวัดอุโบสถวัดน้ำรอบแล้วเห็นว่ามีจารึกอยู่หลักหนึ่งในโบสถ์ จารึกนี้ระบุถึงการกัลปนาวัดหัววังน้ำรอบขึ้นใหม่จากที่สูญไปในสมัยอยุธยา กล่าวถึงพระลาก ๒ องค์พร้อมมณฑปที่ได้รับพระราชทานจากกรุงเทพ และการสร้างอุโบสถวัดน้ำรอบในปี ๒๓๙๑ เท่าที่พยายามอ่านตอนนั้นได้ความอย่างนี้ครับ
https://drive.google.com/…/1JW7n…/view…
ต่อมาซักหน่อยได้พบจากบันทึกของอาจารย์พุทธทาสว่าเรื่องกัลปนาวัดน้ำรอบนี้มันมีหนังสือบุดอยู่ด้วยยาวมาก อาจารย์พุทธทาสไปเห็นที่วัดถ้ำสิงขร ผมเคยไปถามที่วัดน้ำรอบพระอาจารย์ท่านว่าเคยเห็นคุ้น ๆ ตา จะช่วยค้นดูให้ แต่ไปอีกรอบท่านมรณะภาพไปก่อนแล้วยังระลึกถึงความเมตตาที่ท่านอนุเคราะห์ตอนไปเก็บข้อมูลที่วัดน้ำรอบอยู่เสมอ
ผมจนปัญญาจะหาบุดกัลปนาวัดน้ำรอบอยู่พักใหญ่ จนค้นจดหมายเหตุในหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ ได้เจอพิมพ์ดีดคัดลอกหนังสือบุดวัดน้ำรอบโดยอาจารย์พุทธทาสเอง เนื้อความลำดับมาเหมือนกับจารึก แต่พิศดารกว่าเพราะบอกรายชื่อข้าพระโยมสงฆ์ด้วย อยู่มาฮาร์ดดิสก์พังอีกพิมพ์ดีดคัดลอกหนังสือบุดที่ค้นเจอก็หายไป กลับไปค้นก็จำไม่ได้ว่าค้นจากหมวดไหน
อยู่มาซักปีหนึ่งถึงเจอข้อความคัดลอกหนังสือบุดกัลปนาวัดน้ำรอบอีกครั้งในหนังสืออาจารย์ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ แล้วเมื่อไปหอสมุดแห่งชาติพบว่าในทะเบียนมีเอกสารชื่อพงศาวดารเมืองไชยา เบิกมาดูปรากฏว่าเป็นการคัดหนังสือบุดกัลปนาวัดน้ำรอบลงบนกระดาษฝรั่ง สำนวนเดียวกับของอาจารย์ประทุม และอาจารย์พุทธทาส พงศาวดารเมืองไชยาซึ่งก็คือฉบับคัดลอกของหนังสือบุดกัลปนาวัดน้ำรอบนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก ภาค ๖ แล้ว
แต่ทั้งนี้เท่าที่ค้นจากทะเบียนหอสมุดแห่งชาติก็ไม่มีต้นฉบับหนังสือบุด หรือสมุดไทยของเรื่องกัลปนาวัดน้ำรอบอยู่ ทั้งตัวเล่มที่อยู่ที่วัดน้ำรอบ หรือวัดถ้ำสิงขรก็ยังไม่ได้ข่าวคราว เกือบจะหมดหวังแล้วจนวันหนึ่งไปค้นภาพในห้องภาพหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในแฟ้มภาพวัดถ้ำสิงขร ของคุณระบิล บุนนาค มีภาพถ่ายหนังสือบุดอยู่ด้วย ๔ ภาพ ตรวจดูแล้วก็คือหนังสือบุดกัลปนาวัดน้ำรอบนี้เอง และน่าจะเป็นต้นฉบับให้กับฉบับพิมพ์ดีดของอาจารย์พุทธทาส และฉบับคัดลอกของอาจารย์ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ ผมคิดว่าฉบับลายมือกระดาษฝรั่งที่อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติก็น่าจะคัดไปจากเล่มนี้เอง เพราะอักขระวิธีตรงกันทั้งหมด
ยังโชคดีที่แม้ว่าไม่ทราบสถานะของตัวเอกสารต้นฉบับ แต่ภาพถ่ายบางส่วน และตัวคัดลอกก็ยังอยู่ ทั้งนี้ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าภาพหนังสือบุด หรือหนังสือบุดที่เป็นต้นฉบับของการคัดลอกทั้งหลายนี้ อาจจะไม่ใช่พระตำรากัลปนาดั้งเดิม เพราะไม่ปรากฏตราประทับรับรองใด ๆ บนเอกสารเลย ต้นฉบับพระกัลปนาประทับตราอาจสูญไปก่อนแล้วก็ได้ นี้สงสัยไว้ก่อนจนกว่าจะได้พบตัวเอกสารเพิ่ม
หนังสือบุดนี้บอกอะไร ท่านที่สนใจได้อ่านเนื้อความเองโดยตลอดน่าจะเป็นการสนุกกว่า ผมจะโคว๊ทมาเฉพาะแต่เรื่องที่เกี่ยวกับพระลากดังนี้ครับ
…แล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระพุทธรูปหล่อทรงเครื่ององค์ ๑ สูง ๒ ศอก คือพระพุทธรูปเงินหล่อหนักห้าชั่งสูง ๒ ศอกคืบ พระโมคลานหล่อองค์ ๑ สูง ๒ ศอกคืบ
กับพระมรฎป ๒ ยอด #สำหรับชักพระดำเนินลินลาตามถนนกว้าง ๖ วา ๒ ศอก ยาว ๔๐ เส้น ข้าพระโยมสงฆ์ทำไว้แต่ก่อน
เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำชักพระลินลาสรงน้ำ… มีที่นาไว้สำหรับพระพุทธรูป สำหรับพระอารามลินลาลงสรงน้ำ เรียกว่านาข้าวเปียก นาประชุม นาศรัทธาดอกไม้…
ทุกวันนี้วัดน้ำรอบยังใช้กำหนด ๘ ค่ำเดือน ๕ ชักพระอยู่ มณฑป ๒ ยอดผมเข้าใจว่าไม่อยู่แล้ว แต่ตัวเรือพระยังใช้ตะเฆ่ลากอย่างเก่าไม่มีล้อ พระตามพระกัลปนานั้นดูเหมือนยังอยู่ องค์หนึ่งได้ยินว่าเก็บรักษาอยู่ที่วัดใกล้ ๆ เรื่องนี้คนใกล้วัดใกล้วาอาจรู้ความเป็นไปมากกว่าผมมาก หนังสือบุดยังบอกขนาดของถนน และระยะทางที่ลากไปยาว ๔๐ เส้น ถ้ากะว่าเส้นหนึ่ง ๔๐ เมตร ก็เท่ากับลากไปกลับถึง ๓ กิโลทีเดียว
พิมพ์มายาวแล้ว กลัวคนอ่านจะเบื่อ ผมขออนุญาตจบลงตรงนี้ เรื่องกัลปนาวัด ๓ วัด และเกร็ดเกี่ยวกับวัดน้ำรอบ เขาพระอานนท์ ถ้ำสิงขร ยังมีให้นำมาคุยกันอีกมาก ผมขอยกไว้โอกาศหน้านะครับ
เผยแพร่ครั้งแรกใน - https://web.facebook.com/groups/menamluang/permalink/1749509575224111/