หีบพระธรรม หรือ หีบศพเจ้าเมืองนคร

หีบพระธรรม หรือหีบศพเจ้าเมืองนคร

เทคนิคไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก

กำหนดอายุในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 24

เก็บรักษาอยู่ภายในวิหารโพธิลังกา

—————————————–

ทะเบียนระบุว่าถูกมอบโดยสกุล ณ นคร

เดิมอธิบายกันมาว่าเป็นหีบศพของเจ้าพระยานคร แต่ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าเป็นหีบศพของเจ้านครคนไหน หีบลักษณะแบบนี้สัมพันธ์กับหีบศพชนิดที่เรียกว่า โลงสามส่วน ศพจะถูกจัดวางลงในหีบในลักษณะกึ่งนั่งชันเข่า กึ่งนอน เป็นลักษณะหีบที่พบนิยมใช้กับสรีระของพระเถระอาวุโสมีตัวอย่างอยู่ทั่วไป และเป็นหีบที่มีรูปทรงคล้ายกับหีบศพของเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ในรัชกาลที่ 3 และมารดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พร้อม) ซึ่งปรากฏในภาพถ่ายเก่า

.

จากการตรวจสอบเบื้องต้น มีความเป็นไปได้ที่หีบนี้จะเป็นหีบพระธรรม โดยมีลักษณะสอดคล้องกับหีบพระธรรมฝาคลุ่มมีเชิงหีบ หากสมบูรณ์ส่วนฐานหรือเชิงของหีบจะเป็นชุดฐานสิงห์หากแต่ส่วนของขาสิงห์หักหายไป มีตัวอย่างเปรียบเทียบกับหีบพระธรรมบางใบที่เก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์วัดศาลาปูน

.

อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตบางประการที่ผู้เขียนเห็นว่าหีบนี้มีน้ำหนักไปทางหีบพระธรรมมากกว่า คือ

.

1.กายภาพของหีบ มีการแกะสลักตกแต่ง และองค์ประกอบซับซ้อน แสดงถึงความตั้งใจจะสร้างเป็นของถาวร ขณะที่หีบศพตามธรรมเนียมในภาคใต้นั้นยังไม่พบตัวอย่างการทำหีบบรรดาศักดิ์ หรือหีบถาวร รวมทั้งปรากฏว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) นั้นได้พระราชทานโกศโถฝาทรงมงกุฎใส่ศพ เป็นไปได้ว่าขุนนางระดับเจ้าเมืองนครท่านอื่นอาจได้โกศบรรดาศักดิ์เช่นนี้ ไม่น่ามีเหตุให้ทำหีบถาวรขึ้น

.

2.ไม่พบช่องเจาะระบายน้ำเหลืองที่ก้นหีบ

3.รูปแบบของหีบมีตัวอย่างเทียบได้กับหีบพระธรรมฝาคลุ่มมีเชิงหีบอีกมากที่พบในภาคกลาง

.

หีบใบนี้จึงเป็นไปได้ว่าจะเป็นหีบพระธรรม และน่าจะเป็นหีบพระธรรมที่สร้างขึ้นด้วยความตั้งใจพิเศษซึ่งเรายังไม่ทราบแน่ชัด จากกระบวนลายซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างงานช่างอยุธยาในยุคท้าย ถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หากหีบนี้เป็นหีบพระธรรมจริง มีวาระพิเศษอยู่สามวาระที่น่านึกถึงคือ

.

1.เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีนำพระไตรปิฎกจากวัดหอไตรขึ้นไปยังธนบุรี ได้สร้างพระไตรปิฎกชุดใหม่กลับคืนมายังเมืองนคร

.

2.จากคลังใบลานของวัดจันทาราม ท่าวัง เมืองนครศรีธรรมราช พบหน้าปกลานพระไตรปิฎกที่ระบุว่าเจ้าพญานครศรีธรรมาโศกราช (พัฒน์) สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2345 ในสมัยที่เจ้านครพัฒน์ปกครองเมืองนคร มีหลักฐานของการคัดลอกพระไตรปิฎกส่งไปยังอารามสำคัญในเมืองนคร อาจมีการทำหีบพระธรรมขึ้นบรรจุพระไตรปิฎกชุดพิเศษเหล่านี้

.

หรือ ฯลฯ

.

บันทึกภาพและรีเสิร์ชโดย นายสุรเชษฐ์ แก้วสกุล นายสามารถ สาเร็ม ในโครงการร่วมระหว่าง The Library At Nakorn กับคณะกรรมการฝ่ายวิชาการเพื่อขึ้นทะเบียนวัดพระมหาธาตุฯ สู่มรดกโลก เพื่อจัดทำหนังสือเครื่องพุทธบูชาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช

เผยเเพร่ครั้งเเรกใน – https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02B74wXZbh1GjXeaqUvVD7j5vrizGFsoYbLvKDpHEYr9qTy16UXVhgYrnrV1TnEFoul&id=100081258420936

ใส่ความเห็น