ถนนพัฒนาการ-คูขวาง ตัดขึ้นเลียบคูขวาง ที่ชาวนครขุดเพื่อรับมือกับศึกทางทะเลในสมัยอยุธยา

ภาพถ่ายทางอากาศชุด vap รหัส 50210004725009 ได้รับความอนุเคราะห์จากเพจ มิตรเอิร์ธ – Mitrearth

    หลายปีก่อนคุณ Komol Mangsee เขียนเรื่องคูขวางลงในเว็บ gotonakhon ไปตามรอยที่เหลืออยู่ของคูขวาง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถนนพัฒนาการ-คูขวาง เพราะถนนได้ตัดเลียบตามแนวคูโบราณนี้ ปัจจุบันตามแนวได้ตลอดค่อนข้างยาก พอดีได้ภาพถ่ายทางอากาศกรมแผนที่ทหารชุด Vap ที่ถ่ายในปลายทศวรรษที่ 2510 มา ชุด vap อาจไม่ละเอียดมากเท่าชุด NS3 แต่เก่ากว่าและเห็นระบบของโครงข่ายทางน้ำที่ชัดกว่า ทำให้เห็นแนวชุ่มน้ำเป็นสีเข้มซึ่งช่วยให้ตามแนวคูขวางของเดิมได้

    เอกสารตำนานเมืองนครระบุถึงศึกทางทะเลสำคัญที่มาประชิดเมืองนครในสมัยอยุธยา 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2141 (เลข 2141 มาจากฉบับปริวรรตตีพิมพ์ ถ้าดูจากเล่มสมุดไทยจะเขียนเป็น 2041) เมื่อ “พระศรีธรรมราชเดชะ” มาเป็นเจ้าเมืองนคร “อุชงตนะ” โดยมีลักษมาณาเป็นแม่ทัพ ยกทัพเรือมาเข้าทางปากพญา ทัพนครยกออกไปต้านที่ รอปากพญา ผมคิดว่าชายฝั่งคงอยู่ไม่ไกลจาก “บ้านศาลาสี่หน้า” นัก ดูจากแผนที่เดอลามา ปากน้ำเมืองนครเข้ามาค่อนข้างลึกกว่าปัจจุบัน ที่ตรงศาลาสี่หน้านั้นยังเป็นด่านรักษาปากน้ำมีซากสิ่งปลูกสร้างเหลือมาจนเดี๋ยวนี้ ขุนคำแหงปลัดเมืองเสียชีวิตที่รอปากพญาในศึกนี้

    ทัพนครต้านไว้ไม่ได้ ทำให้ข้าศึกยกเข้ามาถึงตีนเมืองทางทิศเหนือ ซึ่งคงหมายถึงแถวท่าวังที่ผมนั่งอยู่นี้ ทัพหลวงของเมืองนครเอาช้างวิ่งเข้าใส่ข้าศึก ทำให้อุชงตนะถอนกำลังไป เสร็จศึกแล้วราชสำนักอยุธยาเรียกเจ้านครกลับเข้ากรุง

    ในปี 2144 อยุธยาส่ง “พระยารามราชท้ายน้ำ” ลงมาเป็นเจ้าเมืองนคร มีข่าวกรองว่าอุชงตนะจะยกมาอีกจึงสั่งให้ขุดคูน้ำทางทิศตะวันออก “แต่ลำน้ำท่าวังมาออกท่าลำน้ำฝ่ายทักษิณ” ลำน้ำฝ่ายทักษิณนี้ผมคิดว่าคือคลองป่าเหล้า จะได้คูคลองยาวต่อเนื่อง 4 กิโลเมตรเศษ ๆ ซึ่งคือคูขวางนี้เอง

พระยารามราชขุดคูขวางเสร็จแล้วถูกเรียกตัวกลับอยุธยา

    ในปี 2179 (เลข 2179 มาจากฉบับปริวรรตตีพิมพ์ ถ้าดูจากเล่มสมุดไทยจะเขียนเป็น 2079) อยุธยาส่ง “พระยารามราชท้ายน้ำ” ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นคนเดียวกับที่เคยให้ขุดคูขวางเมื่อ 2144 อาจเป็นคนละคนเพราะเวลาห่างกันนาน ลงมาเป็นเจ้าเมืองนคร ไม่นานอุชงตนะยกมา เอกสารบอกว่าทัพนครตั้งค่ายรับศึกที่ฝ่ายอุดรเมือง ซึ่งเหลือเป็นความทรงจำมาถึงรุ่นรัตนโกสินทร์ว่าที่ตั้งค่ายนั้นอยู่บริเวณ “วัดหัวหมรอ” ปัจจุบันคือ “วัดบูรณาราม”

    อุชงตนะรุกเข้ามาถึงท่าโพธิ์ ทัพนครเข้ารบที่นั่นเป็นสมรภูมิใหญ่ พระยารามราชท้ายน้ำเจ้าเมืองนครเสียชีวิต ข้าศึกเผาวัดท่าโพธิ์เก่าแล้วถอยกลับไป ชาวนครจัดงานปลงศพเจ้านครที่หน้าพระลานใหญ่ข้างวิหารหลวงที่เป็นสังฆาวาสคณะใต้ของวัดพระธาตุเดี๋ยวนี้

    เหตุการณ์ศึกอุชงตนะนี้มีผู้วิเคราะห์ไว้มากแล้วว่าไม่ใช่โจรสลัด แต่เป็นทัพหลวงจากรัฐมลายู-ชวา รัฐใดรัฐหนึ่งเพราะระบุชื่อแม่ทัพเป็น “ลักษมาณา” ซึ่งเป็นตำแหน่งแม่ทัพเรือของบรรดารัฐมลายู-ชวา ทำนอง “ราชบังสัน” แต่ปีที่เกิดศึกยังไม่ค่อยได้พูดกัน เพราะฉบับที่ปริวรรติตีพิมพ์นั้นระบุเหตุกรณ์ในพุทธศตวรรษที่ 22 (พ.ศ.2100-2199) ขณะที่พอมาดูสมุดไทยที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติไม่พบต้นฉบับที่ถูกนำมาปริวรรติ แต่พบต้นฉบับสมุดไทยดำอีกสำนวนหนึ่งที่เนื้อหาละเอียดกว่า ระบุว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 21 (พ.ศ.2000-2099) ยังไม่รีบสรุปก่อนว่าอะไรเป็นอะไร

    แนวคูขวางนี้ขุดไว้แล้วไม่รู้แน่ชัดว่าตั้งใจให้มีประโยชน์จริงในทางไหน เพราะสุดท้ายข้าศึกก็ต้องยกเข้ามาตามคลองท่าซัก-ท่าวัง ซึ่งท่าโพธิ์-ท่าวังเป็นจุดยุทธศาสตร์ อาจจะช่วยเรื่องลำเลียงกำลัง และเป็นคลองลัดในระยะใกล้เป็นหลักก็ได้ ที่ตรงปากคูขวางต่อกับคลองท่าซัก-ท่าวัง เป็นจุดที่เรียกว่า สามอู ในตำรา 12 เดือนพูดถึงว่าเจ้านครสมัยธนบุรีเคยตั้งทำเนียบที่นั่น อาจมีเค้าว่าตรงนั้นก็คงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการป้องกันเมืองที่ต่อมาเมื่อคลองท่าซัก-ท่าวัง แคบเล็กลงก็เสื่อมความสำคัญลงไป

ใส่ความเห็น