หอพระสิหิงค์หลังเก่า – ความทรงจำที่หายไปของเมืองนครศรีธรรมราช

    หอพระสิหิงค์ เป็นหอพระที่ตั้งอยู่ในเขตจวนวัง ของเจ้าผู้ครองเมืองนครมาแต่เดิม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ หน้าตัก 32 ซม. สูง 42 ซม. พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัยซึ่งมีความสำคัญในตำนาน และพิธีกรรมต่าง ๆ ของเมืองนคร รวมถึงพระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ หลายองค์

    หอพระสิหิงค์หลังเก่านั้น “ตำรา 12 เดือน” ฉบับขุนทิพย์มณเฑียร อันเป็นคู่มือสำหรับเจ้าผู้ครองเมืองนครใช้ในการบริหารและจัดการปกครองเมืองนคร ระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ในปี พ.ศ.2329 ขึ้นแทนหอพระสิหิงค์หลังเดิมสมัยอยุธยาที่ถูกเผาทำลายไปครั้งพม่าตีเมืองนคร โดยเกณฑ์เอาแรงงาน และวัสดุก่อสร้างจาก

    “ที่ปราญ” (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ติดต่อระหว่างอาเภอท่าศาลา กับสิชล) และ “ที่อลอง” (ปัจจุบันเป็นตาบลฉลอง อำเภอสิชล) อันเป็นชุมชนบริวารของเมืองนครมาทำการก่อสร้าง มีการทำนุบำรุงซ่อมแซมสืบมาแต่ไม่ปรากฏเอกสารท้องถิ่นกล่าวถึง

    จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2427 เมื่อ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จตรวจราชการเมืองนคร ได้เสด็จยังหอพระสิหิงค์นี้ และบันทึกรายละเอียดทั้งรูปทรง และบรรดาพระพุทธรูปต่าง ๆ อันประดิษฐานอยู่ภายใน เนื้อหาว่าดังนี้

    “…ถัดโรงพิธีไปข้างมุมบ้านตะวันตกเฉียงใต้มีหอพระสยิง เปนตึกมุงกระเบื้อง หลังคามีช่อฟ้าใบระกา ๓ ห้องเฉลียงรอบขื่อ ๘ ศอก องค์พระสยิงนั้นประดิษฐานอยู่ในตู้ไม้เปนพระทองประสมหน้าตัก ๑๖ นิ้วขัดสมาธิ์เพ็ชร์ แลมีพระจำลองพระสยิงเล็ก ๆ ๒ องค์ หน้าตักประมาณ ๑๐ นิ้ว ๑๒ นิ้ว

    แลมีพระทองเหลืองโบราณนั่งขัดสมาธิ์เพ็ชร์อีก ๒ องค์ หน้าตักประมาณ ๑๒ น้ว ๑๔ นิ้ว หลังตู้พระสยิงนั้นมีพระทรงเครื่องยืนห้ามสมุทรหุ้มทองคาประดับพลอย เครื่องทองลงยาเปนพระเท่าตัวสาหรับเจ้าพระยานคร เฒ่า(เจ้าพระยานคร พัฒน์)

    แลมีพระพุทธรูปยืนหุ้มทอง ๑ องค์ หุ้มเงิน ๑ องค์ อยู่สองข้าง พระทรงเครื่องนั้นเปนของเจ้าพระยานครเฒ่าสร้างไว้ ที่หน้าตู้พระสยิงมีพระพุทธรูปยืนปิดทอง ๒ องค์เปนพระเท่าตัวพระยานคร (กลาง) กับภรรยา (ภรรยาเจ้าพระยานคร น้อยกลาง เปนหม่อมราชวงศ์ในเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศร ชื่อหญิง)

    แลมีพระยืนเท่าตัวของพี่น้องวงศ์ญาติอิก ๕ องค์ แลมีพระเงินนั่งมีฉัตรเล็ก ๆ หน้าตักประมาณ ๕ นิ้ว ตั้งอยู่บนม้า ๔ เหลี่ยมอีก ๔๐ องค์ ทำนองเหมือนพระชนม์พรรษา แต่ว่าถามไม่ได้ความ ที่มุมโบสถ์หลังพระสยิงมีพระนั่งเป็นพระศิลาขาว ๒ องค์ ใหญ่ ๑ เล็ก ๑ แลมีตู้ไม้ใส่เทวรูปนารายณ์ทองเหลือง รูปประมาณคืบเศษสำหรับเชิญไปทำพิธีไสยสาตรต่าง ๆ ที่เทวสถาน ข้างหลังหอพระสยิงมีเรือนมุงจากหลัง ๑ สำหรับพวกข้าพระอีกหลัง ๑ …” (จอมพล สมเด็จพระปิตุลาบรมพงษาภิมุข เจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช, ชีวิวัฒน์ 2551, หน้า 94-95)

    ถัดมาในปี พ.ศ. 2445 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ก็ได้เสด็จยังหอพระสิหิงค์ และพรรณาลักษณะต่าง ๆ ไว้โดยสังเขป เมื่อพระยานคร (หนูพร้อม) ถูกเรียกตัวขึ้นไปกักไว้ในกรุงเทพฯ ครั้งนั้นบรรดาหอพระ จวนวัง ของเจ้าผู้ครองเมืองนครที่สร้างมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ขาดผู้ดูแลรักษา เป็นเหตุให้ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก

    ครั้นเมื่อพระยานคร (หนูพร้อม) ได้คืนกลับมายังเมืองนคร (ครั้งนั้นได้เป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม)) ก็ได้ซ่อมแซมจวนวังขึ้นใหม่พอให้คงรูปได้ ส่วนหอพระสิหิงค์นั้น ได้ปรึกษากับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารก่่อิฐถือปูน คือหอพระสิหิงค์หลังปัจจุบันนี้ ซึ่งตั้งอยู่ข้างศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จปักษ์ใต้ในปี พ.ศ. 2458 ทรงบันทึกว่ามีหอพระสิหิงค์สองหลัง คือหลังใหม่ตั้งเคียงกับหลังเก่า หอพระสิหิงค์หลังเก่าน่าจะถูกรื้อลงหลังจากปี พ.ศ. 2458 ไม่นาน เพราะในบันทึกของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ที่เสด็จเมืองนครอีกครั้งในปี พศ. 2476 ก็ปรากฏว่าไม่มีหอพระสิหิงค์หลังเก่าอยู่อีกต่อไปแล้ว

ภาพสามมิติจำลองหอพระสิหิงค์หลังเก่านี้อาศัยข้อมูลจาก ภาพถ่ายเก่า และบันทึกที่กล่าวถึงหอพระสิหิงค์เมืองนครหลังเก่า เนื่องจากข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่สามารถระบุลักษณะแน่ชัดได้ จึงทำเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือ ไม่มีการยกตับของชายคาปีกนอก กล่าวคือ ชายคาปีกนอกวิ่งรอบอาคารในระดับเดียวกัน และแนวทางที่สองคือ มีการยกระดับชายคาปีกนก คล้ายกับหอพระสิหิงค์หลังใหม่

เก็บความจากบทความ : ตามหาหอพระสิหิงค์หลังเก่า – ความทรงจำที่หายไปของเมืองนคร : การศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์ และการสันนิษฐานรูปแบบสถาปัตยกรรม

ใส่ความเห็น