๑๒ สิงหาคมวันแม่แห่งชาติ ขอนำท่านผู้สนใจมาเรียนรู้วัฒนธรรมการใช้คำเรียกอันเกี่ยวข้องกับ”แม่” ของคนมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่ เรียกตนเองว่า “#คนแขก” หมายถึงคนนับถือศาสนาสอิสลาม มีระบบคำเรียกเครือญาติที่มีร่องรอยของความเป็นมลายูในขณะเดียวกันก็มีคำไทยถิ่นใต้ใช้ผสมอยู่ด้วยบางคำ ผู้เขียนปรับมาจากบทความเรื่อง คนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา วารสารเมืองโบราณฉบับสงขลาหัวเขาแดงเมืองสุลต่านสุไลมานปีพ.ศ.๒๕๖๑
จากข้อมูลในงานศึกษาดังกล่าวและเก็บข้อมูลภาคสนามเพิ่มเติมในภายหลังผู้เขียนพบว่าคนมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ใช้คำเรียกแม่ว่า “#มะ” กันโดยทั่วไป ซึ่งเป็นคำมลายู ในภาษามลายูกลางใช้ว่า “#Mak” หรือ “#Emak” อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่ามุสลิมที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ รวมถึงมุสลิมในภาคกลางบางหมู่บ้านต่างก็ใช้คำว่า “#มะ” หมายถึง “#แม่” เช่นกัน
ทั้งนี้ในภาษามลายูถิ่นปตานี (แกแจะนายู) เรียกตนเองว่า “#ออแรนายู” อันเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเรียกว่า “#แมะ” (Mek) คำดังกล่าวพบว่ามุสลิมที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่เรียกตัวเองว่า “#คนแขก” ที่บ้านลำหยัง ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีก็ใช้คำนี้เช่นกัน และ #คนมลายูกลันตัน ถือได้ว่ามีวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับคนมลายูปตานีก็เรียก “แม่” ว่า “แมะ” เช่นเดียวกัน
และจากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนพบว่ามุสลิมมลายูเคอเดาะห์(จากัปมลายู) ซึ่งเรียกตนเองว่า “#อูรังมลายู” ที่บ้านไสเจริญ ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชจะเรียก”แม่” ว่า “#เมาะ” #มุสลิมจากัปมลายูที่บ้านป่ากัน อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาก็เรียกด้วยคำว่า “เมาะ” เช่นเดียวกัน
“#มะ–#แมะ–#เมาะ” จึงเป็นคำร่วมรากมลายู “Mak” หรือ “Emak” แต่ใช้แตกต่างกันไปในแต่กลุ่มวัฒนธรรมอันมีพื้นเพหรือพื้นที่อยู่อาศัยต่างพื้นที่กัน ทั้งนี้ในภาษาอาหรับเรียกแม่ว่า “#อุมมี”
แล้วที่บ้านของท่านผู้อ่าน มีคำเรียกเรียก “แม่” ว่าอย่างไรกันบ้างครับ ?
ขอขอบคุณ
คุณศุกรีย์ สะเร็ม ผู้ให้ข้อมูลคำเรียกของมุสลิมภาคกลาง
คุณอัคตัรมีซี อาหามะ ผู้ให้ข้อมูลคำเรียกของมุสลิมมลายูปตานี
คุณAdi Asuari ผู้ให้ข้อมูลคำเรียกของคนมลายูกลันตัน
คุณชาฮีรอน สาอิ ผู้ให้ข้อมูลคำเรียกของคนแขกบ้านลำหยัง
คุณสาปีเก๊าะ ตำพู ผู้ให้ข้อมูลคำเรียกของมุสลิมบ้านป่ากัน
คุณอาอีฉ๊ะ ดารากัย ผู้ให้ข้อมูลคำเรียกของมุสลิมบ้ายไสเจริญ