มีป้อมรักษาปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราชที่ปากพญา ? หรือจะเป็นอะไรที่อาจน่าสนใจไม่แพ้กัน การสำรวจซากโบราณสถานปริศนาที่บ้านศาลาสี่หน้า ริมคลองท่าซักใกล้ปากพญา “ข้อสังเกตจากภาคสนาม”
หมายเหตุ : ปรับปรุงโพสต์นี้จากบันทึกสนาม จะเป็นของยืดยาวอยู่ซักหน่อยครับ
หลายเดือนก่อนคุณโกมล พันธรังษี ผู้เชี่ยวชาญภาพเก่าเมืองนคร ทักผมมาว่าเจอซากโบราณสถานที่ปากพญา พี่โกมลกำลังตามรอยแผนที่เมืองนครสมัยเจ้าพระยานครน้อย ของเจมส์ โลว์ ซึ่งให้รายละเอียดหลาย ๆ จุดที่ยังคงปริศนาอยู่
ดูแผนที่ของเจมส์โลว์ที่ : http://www.gotonakhon.com/?p=12368
ตามแผนที่ของเจมส์ โลว์ ที่ปากพญานั้นมีของน่าสนใจสองสิ่ง คือป้อมรักษาปากน้ำอยู่ทางเหนือของปากพญา และอู่เรือหลวงอยู่ทางใต้ เรายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่สองแห่งนี้เลย พี่โกมลจึงเริ่มตามรอยและใช้งานเขียนของครูน้อม อุปรมัยเข้าประกอบจนกระทั่งตามมาถึงบ้านศาลาสี่หน้า
ชาวบ้านแถบนั้นซึ่งเป็นชุมชนมุสลิม แต่จะเป็นมุสลิมที่เพิ่งโยกย้ายจากทางสุพรรณ และเพชรบุรีเข้ามาใหม่เมื่อราว 80 ปีก่อน แนะนำให้พี่โกมลไปดูแนวอิฐริมคลองหลังบ้าน แนวอิฐดังกล่าวอยู่ในกอต้นจากค่อนข้างรกเรื้อ บางส่วนจมยื่นเข้าไปในคลองท่าซัก
แม้ว่าแนวอิฐดังกล่าวจะไม่ได้อยู่ทางทิศเหนือของคลอง มาอยู่ทางทิศใต้ แต่ด้วยสัณฐานที่ดูมั่นคง อิฐยังแกร่ง หนา และบางส่วนยื่นลงไปในน้ำ เราจึงกลับมาคิดกันว่านี่อาจจะเป็นป้อมรักษาปากน้ำเมืองนครที่แผนที่เจมส์ โลว์ ระบุไว้ ทั้งนี้เนื่องจากร้อยโทโลว์ อาศัยแอบจ้างวานคนอื่นให้เก็บข้อมูลภาคสนามให้ ตัวรอข้อมูลอยู่เมืองตรังเพราะเจ้านครไม่อนุญาตให้มา ในขั้นตอนนี้อาจทำให้ข้อมูลตำแหน่งป้อมปากน้ำสลับทิศกันได้
ผมกับพี่โกมลทิ้งประเด็นนี้ตกตะกอนไว้ราวเดือนเศษจนกระทั้งผมได้ไปเมืองนคร จึงมีอยู่วันหนึ่งนัดกันไปดูแนวอิฐที่บ้านศาลาสี่หน้านี้ โดยกราบเรียนพระครูเหมเจติยาภิบาล โสพิทร์ แซ่ภู่ ไปช่วยให้คำชี้แนะ กับให้ข้อสังเกตด้วย เนื่องจากโบราณสถานบางส่วนยื่นลงไปในคลอง เรานัดหมายกันโดยกำหนดให้ไปถึงเมื่อเวลาน้ำลง วันนั้นน้ำจะลงราว 10.30 น. เรื่องนี้ทำให้ต้องรบกวนอาจารย์พระครูอยู่ไม่น้อยเพราะต้องมาหาเพลเอาข้างหน้า
เรามาถึงบ้านศาลาสี่หน้าไม่คลาดจากเวลานัก ปราศรัยกับกลุ่มเจ้าที่แล้วก็ไปดูแนวอิฐกัน ดูโล่งเตียนว่าที่พี่โกมลถ่ายมาคราวก่อนมากทำให้สามารถดูแนวได้ง่าย อาศัยเดิรบก เดิรเลียบแนว และยืมเรือพายออกไปในคลองจนเห็นกรอบโครงสังเขปของแนวฐาน เป็นฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้าหนา 70 เซนติเมตร ไม่ใช่ห้าเหลี่ยมอย่างที่คิดกันตอนแรก ทั้ง 70 เซนต์นี้ยังเป็นของบางมากสำหรับจะเป็นผนังป้อม
เมื่อเข้ามาดูใกล้ ๆ จึงเห็นว่าที่ฐานนั้นมีองค์ประกอบของบัวคว่ำ บัวคว่ำนี้มีตั้งแต่ชั้นเตี้ย ๆ นี่เป็นของผิดปกติอยู่สำหรับป้อมปราการ เราจึงเริ่มพัฒนาข้อสังเกตใหม่จากป้อมมาเป็นฐานของอาคารบางอย่างจากบัวนี้ อีกทั้งที่แนวฐานนั้นเรายังพบเสาไม้แก่นเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร ปักขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ดูมีระเบียบมาก
ผมก็เลยเริ่มกระสวนระยะ พอได้กรอบโครงแล้ว ป้า ๆ ลุง ๆ ตะโกนมาว่าในน้ำก็มีอิฐอีก เรือขุดลอกคลองเคยกวักโคลนเลนแล้วชนกับแนวอิฐดังตึง ผมใช้เท้าคลำทางดูจึงพบแนวตอม่อ และเสาไม้อีกชุดหนึ่งด้านหน้ากรอบโครงอาคารนี้ ป้า ๆ ว่าเลยลงไปในคลองยังจะมีอีก ก่ออิฐเป็นคันเขื่อนยาว ๆ แล้วมีคล้าย ๆ บันไดลงไปอีกเป็นสเตป เนื่องจากผมว่ายน้ำไม่เป็น จึงออกไปหยั่ง ๆ ดูพอรู้ระยะคร่าว ๆ เท่านั้น ในระหว่างได้เหยียบกระเบื้องมุงที่เป็นกระเบื้องแผ่นเรียบอยู่บ้าง
เสร็จแล้วกลับมานั่งคุยกับลุง ๆ ป้า ๆ พี่โกมลพาอาจารย์พระครูไปเพล ระหว่างสอบถามได้เรื่องเพิ่มอีกสองอย่างคือ แถว ๆ ในบริเวณนี้ ไม่ได้มีแต่อาคารก่ออิฐนี้หลังเดียว แต่ยังมีที่ก่ออิฐเป็นบ่อ ก่อเป็นอย่างทิมยาว ๆ อีก ประมาณ 2 หลัง ได้ถูกกลบไปใน้บ้านแล้ว จึงได้เดิรไปหาดูเศษอิฐ กระสวนขนาดอิฐมาไว้เป็นของเทียบ จำไม่ถนัดว่าอาจารย์พระครูได้ตัวอย่างอิฐมาด้วยรึเปล่า
ผมนั่งเคลียแบบที่กระสวนมาให้ถูกระยะด้วยสเกล ทีแรกผมมีแต่กรอบอาคาร กับระยะไม้ที่ปักอยู่กลางแนวกรอบ ยังคิดว่าจะขึ้นหลังคายากหน่อย เพราะสแปนกว้าง อาจจะเป็นปั้นหยา พาดจันทันยาว ๆ เอา เอาผังให้ลุง ๆ ป้า ๆ ดู แกบอกว่ามีแนวข้างในอีก ก็เลยต้องวิ่งกลับเจอแนวเสาร่วมในอีกจึงได้เสาอีกชุดหนึ่งมาใส่ในผัง
มีของน่าแปลกอยู่อีกหน่อย ลุง ๆ ป้าเรียกตรงนี้ว่าบ่อ เล่าว่าก่อนจะเป็นดินเลน ดินตะก่อนนี้ แต่ก่อนในบ่อ คือในคันคลองรากอาคารนั้นเป็นทราย มีน้ำใส แกใช้เลี้ยงปลาอยู่หลายปี ทรายนี้คงเป็นของถมอัดปรับระดับพื้น ผมนั่งเคลียแบบใหม่ ทำไว้ให้ลุง ๆ ป้า ๆ แผ่นหนึ่งเผื่อใครแวะมาดู ได้ความว่ามีคนจากเชียงใหม่เคยมาถามหา คุยกับพี่โกมลว่ามาหายังไงถึงเจอ เอาแบบกระสวนที่เคลียระยะแล้วมานั่งคุยกัน ปรับทิศทางจากที่คาดว่าจะเป็นป้อมปากน้ำมาสู่ศาลาท่าน้ำ การที่เป็นศาลานี้ก็ตรงกับชื่อบ้านศาลาสี่หน้าพอดี และยังตรงกับอู่เรือหลวงตามแผนที่มิสเตอร์โลว์ เนื่องจากชาวบ้านแถบนี้เพิ่งย้ายมาไม่ถึงร้อยปี จึงมีความทรงจำย้อนไปไม่เก่านักสืบถามเรื่องตำนานคติชนอะไรจะไม่ได้เรื่องเก่าลงไป
ทำไมจึงมีศาลาตรงนี้ ทั้งยังเป็นศาลาที่สร้างแข็งแรงมั่นคง อันนี้เป็นโจทย์ที่ยังมองไม่แตกในวันภาคสนาม เนื่องจากเราสนใจที่ตัวอาคาร กับแผนที่มิสเตอร์โลว์มากไป จนลืมดูบริบทในละแวก เรารู้กันดีว่าคลองท่าซัก คลองปากพญา คือปากน้ำที่สำคัญของเมืองนครก่อนจะขยับไปใช้คลองท่าแพ ตลอดคลองท่าซักเจอหลักฐานของอู่ต่อเรือ ซากเรือจมมากมายหลายสิบหลายร้อยลำ มากจนขนาดเอาไม้จากเรือจมมาทำบ้านได้ ปืนใหญ่ที่งมได้จากคลองท่าซักยังเก็บอยู่ตามวัดหลายแหล่งตลอดลำคลอง แต่ถ้าจะหาดูง่าย ๆ ก็ต้องไปดูที่วัดศรีทวี
ศาลานี้จะต้องสัมพันธ์กับบริบทของเรือ อู่ต่อเรือ เรือหลวง ของเมืองนครไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อันนี้คิดขยายไปถึงว่าศาลานี้มีอาคารบริบทอื่น ๆ กระจายตัวอยู่โดยรอบจากปากคำชาวบ้านด้วย แต่แล้วทำไมศาลาต้องมาตั้งอยู่ตำแหน่งนี้ เราจำได้ว่าตอนจะถอยรถกลับ ชาวบ้านบอกว่าต้องกลับตรงนี้เพราะเลยไปเป็นคลองขุด เราเพิ่งมาเห็นในแผนที่ภายหลังว่า ศาลานี้มันตั้งอยู่ตรงปากคลองลัดเชื่อมระหว่างคลองท่าซัก กับคลองปากนครพอดี คลองนี้ดูจะเรียกกันสองชื่อคือคลองโคกอิฐ กับคลองขุด การมีศาลาอยู่ตรงนี้จึงเป็นของที่สัมพันธ์กับปากคลองลัดนี้ สิ่งที่น่าจะสำรวจเพิ่มคือ ปากคลองฝั่งคลองปากนครนั้นจะมีศาลาอยู่ด้วยหรือไม่ ซึ่งเรายังไม่มีเวลาสำรวจ หากมีก็จะน่าสนใจยิ่งขึ้น
โดยสรุป
ซากโบราณสถานศาลาสี่หน้าไม่ใช่ป้อม แต่เป็นศาลาท่าน้ำ ซึ่งยังมีอาคารบริวารกระจายตัวอยู่โดยรอบอีก ศาลานี้น่าจะเกี่ยวกับอู่เรือหลวง? หรืออุตสาหกรรมการต่อเรือของเมืองนคร ก่อนจะย้ายไปตั้งอู่ต่อเรือใหม่ที่ท่าทองใหม่ หรือก็คือเมืองบ้านดอน สุราษฎร์ธานีในปัจจุบันนี้ ศาลานี้สัมพันธ์กับคลองลัดเชื่อมระหว่างปากนคร กับปากพญา เป็นของที่น่าจะมีบทบาทในการคุมเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญ การกำหนดอายุ ผมยังไม่มีไอเดียที่แน่ชัดเรื่องการกำหนดอายุ เพราะอิฐที่ใช้ทำฐานนี้เป็นอิฐพิเศษ ไม่เหมือนอิฐที่ใช้ทำกำแพงเมือง อิฐแบนกว่า เนื้อดินละเอียดกว่า และแกร่งกว่า อายุของศาลาควรจะต้องสัมพันธ์กับยุคที่มีการขุดคลองลัด หากพิจารณาจากบริบทของการใช้พื้นที่ ศาลานี้น่าจะสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 2 ลงไปถึงสมัยธนุบรี จะเก่าถึงอยุธยาหรือไม่อาจจะตอบจากของที่เห็นบนพื้นไม่ได้ ที่จริงผมมีไอเดียอยู่ว่ามันอาจเป็นของใหม่ไปเลย คือเป็นช่วงรัชกาลที่ 5 – 6 เมื่อเจ้าพระยายมราช ปรับปรุงระบบคูคลองหลายแห่งในเมืองนคร แต่หากมีกรมพระยานริศน่าจะได้กล่าวถึงไว้ในบันทึกปี 2445 แล้วครับ