รอยต่อของยุคสมัยในงานสถาปัตยกรรมเมืองนคร ?

    ฟังคลิปบรรยาย อ ชาตรีเดือนก่อน พูดถึงอาร์ทนูโว – อาร์ทเดโค ในฐานะรูปแบบอย่างใหม่ของยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และในฐานะรูปแบบอันเสื่อมทรามตามทัศนะของ มรว.คึกฤทธิ์ เลยนึกถึงงานกลุ่มหนึ่งในเมืองนครที่เคยผ่านอยู่ทุกวัน ๆ แบบอือ ๆ งานกลุ่มที่ว่าผมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือกลุ่มอาคารศาสนา ได้แก่ซุ้มประตูวัด เท่าที่คุ้น ๆ กลับไปส่องกูเกิลดูคือที่ วัดสวนหลวง วัดท้าวโคตร วัดบูรณาราม อาคารคลุมซากวัดร้าง ได้แก่อาคารคลุมโบสถ์วัดเสมาทอง กับคลุมโบสถ์หน้าเจดีย์ยักษ์ อาคารราชการได้แก่ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างขึ้นแทนศาลากลางหลังเดิมที่ถูกไฟไหม้ในปี 2504 (?) อาคารสำนักงานเทศบาลนครศรีธรรมราช ไม่ทราบปีที่สร้าง

    จากการสอบถามผู้รู้บางท่านทราบว่าอาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างในช่วงที่นายสันต์ เอกมหาชัย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช (2503 – 2512) โดยกลุ่มซุ้มประตูวัด สร้างจากเงินบริจาคในงานเดือนสิบ โดยผู้ว่าสันต์ได้นำเงินบริจาคปีแรกทะยอยสร้างซุ้มประตูวัด (สัมภาษณ์หมอบัญชา) และที่ประตูวัดท้าวโคตรก็ยังมีชื่อท่านติดอยู่ กลุ่มอาคารคลุมซากวัดร้างนั้นไม่ทราบปี และงบประมาณที่สร้าง แต่จากที่นั่งดูภาพถ่ายเก่า ๆ ที่คุณโกมล พันธรังษี รวบรวมจากเจ้าของภาพในเมืองนครผมคิดว่าอาคารสองหลังนี้คงถูกสร้างขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน ศาลากลางนั้นสร้างในสมัยผู้ว่าสันต์อย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนเทศบาลนครนั้นผมยังไม่ได้สืบถามเนื่องจากงานเหล่านี้มีสไตล์ใกล้กันมากจึงอาจถูกสร้างโดยช่าง / ผู้รับเหมา กลุ่มเดียวกัน และอยู่ในห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ระยะเวลาที่งานเหล่านี้ถูกสร้างจะครอบคลุมไปไกลกว่าสมัยของผู้ว่าสันต์เท่าไหร่ และกระจายไปกว้างกว่าที่ผมนึกออกแค่ไหน อาจจะต้องทะยอยสังเกต งานเหล่านี้สัมพันธ์กับ อาร์ทนูโว – อาร์ทเดโค และศิลปะอันเสื่อมทรามอย่างไร นี้เป็นแค่ไอเดียที่นึกขึ้นได้หลังจากฟังบรรยายของ อ ชาตรีจบ โดยที่มีฐานของข้อสงสัยมาก่อนเรื่องนึงที่ได้นำมาคิดต่อคือ

    ทำไมอาคาร คสล. เลียนไทยประเพณีบ้านเราในยุคยี่สิบสามสิบปีก่อนย้อนกลับไปมันถึงไม่สวย ลายโปน ๆ สัดส่วนก็ผิด ๆ เพี้ยน ๆ ถ้ามองด้วยมาตรฐานของงานไทยก็จะใช้งานพวกนี้เป็นครูในทางดีแทบไม่ได้ ได้แต่เป็นครูในทางร้ายว่าอย่าหาทำ รสนิยมคน รสนิยมช่างท้องถิ่นมันได้ถูกเทคนิคการก่อสร้างอย่างใหม่ แทนที่จากปั้นปูน สลักไม้ เป็นหล่อคอนกรีตทำให้บิดเบี้ยวไปได้ขนาดนั้นเลยเหรอ

    ไอ้งานที่ยกมาในโพสต์นี้มันคงตอบประเด็นนี้ไม่ได้ หรืออธิบายปรากฏการณ์ในที่อื่นไม่ได้ แต่ด้วยตัวของมันเองก็อาจบอกบริบทภายในเมืองนครที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ของสถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎรในบางส่วน จาก 2475 – 2500 เวลา 25 ปี ภายใต้การนำสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ เส้นสายอย่างใหม่ สุนทรียะอย่างใหม่เข้ามาใช้แทนงานไทยที่ทรงฐานานุศักดิ์นี่อาจเป็นเวลาที่นานพอที่จะทำให้ช่างรุ่นเก่าอ่อนกำลังลง และช่างรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาภายใต้แนวคิดใหม่ และความเข้าใจแบบใหม่

    การพยายามกลับมาสู่โฉมหน้าแบบไทย ๆ อีกครั้งในสมัยสฤษดิ์ได้เข้ามายุติกระบวนการนี้ และพยายามผลักดันกระแสของงานสถาปัตยกรรมกลับไปในทิศทางก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมากขึ้น แต่เวลา 25 ปีของคณะราษฎร + จอมพล ป จะไม่ทิ้งอะไรบางอย่างไว้ในหัวของช่าง / ผู้รับเหมาเหรอ ผู้รับเหมาที่ทำงานสมัย งคณะราษฎร + จอมพล ป ก็ย่อมจะไม่ทิ้งอาชีพผู้รับเหมาในยุคสฤษดิ์แน่ ๆ

งานกลุ่มในโพสต์นี้ที่สร้างในราว ๆ 2500 – 2510 (+5) อาจจะเป็นกรณีศึกษาของปรากฏการณ์ในห้วงเวลานี้ได้ ทำไมผมคิดงี้ ?

    เพราะว่าเส้นสายของเครื่องลำยอง บัวหัวเสาที่อยู่ในงานเหล่านี้แม้ดูผิวเผินเป็นความพยายามทำงานไทยประเพณีแบบเครื่องคอนกรีต แต่ก็ยังติดเส้นพุ่งแบบงานอาร์ทเดโคอยู่มาก การใช้เส้นสายตรง ๆ ทื่อ ๆ พยายามมีลูกเล่นบ้างนี้ เดิมเราอธิบายกันว่า มันเป็นการพยายามปรับลายไทยประเพณีให้มีความร่วมสมัย แต่ผมคิดว่าเราน่าจะมองมันในอีกมุมหนึ่ง คืองานชุดนี้มันไม่ใช่ความพยายามจะปรับลายไทยให้ร่วมสมัย แต่เป็นงานของคนที่คิดแบบร่วมสมัย อาจผ่านงานหรือคิดแบบอาร์ทเดโคมาก่อน ที่พยายามจะปรับทิศทางของงานตัวเองให้ใกล้กับไทยประเพณีมากขึ้นตามพลวัตรของสังคม

    มันไม่ได้ถูกคิดด้วยสุนทรียะแบบไทยประเพณี แต่ถูกคิดด้วยสุนทรียแบบอาร์ทเดโคสมัย คณะราษฎร + จอมพล ป ซึ่งช่างคุ้นเคยมาตลอด 25 ปี มันจึงออกมาเป็นงานที่คาบเกี่ยวอยู่กลาง 5 แยกลาดพร้าว เมื่อคนขับซึ่งขับมาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พยายามจะหาช่องเลี้ยวเข้าถนนลาดพร้าว พร้อม ๆ กับต้องระวังไม่ให้หลงเข้าสวนรถไฟถึงสวนโมกข์กรุงเทพฯ หรือไม่ให้เข้าวิภาวดีรังสิตเพราะกลัวจะเลยไปแยกหลักสี่ที่ฟังชื่อแล้วสะเทือนใจ

    หากมองแบบนี้มันน่าจะเข้าใจได้อีกว่าทำไมงานไทยที่พยายามทำให้เรียบนี้มันหายไป เพราะว่ามันไม่ใช่การเปลี่ยนจากไทยเป็นโมเดิร์น แต่คือภาวะที่โมเดิร์นกำลังจะเปลี่ยนกลับไปเป็นไทย หลังจากราว 2515 เราก็จะไม่เห็นงานแบบนี้อีก แต่จะเกิดงานไทยคอนกรีตโปน ๆ แปลก ๆ ที่มองด้วยมาตรฐานไทยประเพณีแล้วได้แต่รำพึงในใจว่าอย่าหาทำอีก

    หากมองด้วยเซนส์ของการถอยหลังกลับมาจากความคิด จิตวิญญาณแบบโมเดิร์น และอาร์ตนูโว นี่ก็อาจเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าเหตุใดงานทั้งหลายเหล่านั้นจึงไม่สวยเอาเสียเลย เพราะรากฐานของมันมาจากต้นไม้คนละชนิดในห้วงเวลาคนละแบบ ที่ถูกพลวัตรทางสังคมพยายามทำให้มันเป็นต้นไม้อีกชนิดหนึ่ง อันนี้เป็นสมมติฐานที่นั่งนึกเลา ๆ ตอนขับรถ จะใช่หรือไม่ใช่อาจจะต้องลองสืบเพิ่มอีกหน่อยครับ ถ้าหาช่าง / ผู้รับเหมา หรือทายาทเจอได้สัมภาษณ์คงดีมากเลย ส่วนงานในปัจจุบันแทบจะเป็นคนละบริบทกันเลยหลังจากเกิดการผลิตองค์ความรู้ทางวิชาการ และทางการช่างมากมายครับ

ใส่ความเห็น