ว่าด้วยคำเรียก “โต๊ะหุม” กับเรื่องเล่ามุขปาฐะของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา

ชุมชนมุสลิมที่บ้านหัวเขา สิงหนคร สงขลา ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่ตั้งถิ่นฐานสืบมาจากยุคสุลต่านแห่งสงขลา

    สุลต่านสุไลมาน บุตรของท่านดาโต๊ะโมกอล เจ้าผู้ครองเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงร่วมสมัยกับพระเจ้าปราสาททองของกรุงศรีอยุธยา หรือที่คนเเขกเรียกท่านว่า โต๊ะหุม , โต๊ะบาหุม, บาหุม ส่วนคนไทย คนจีน เรียกว่า #ทวดหุม อย่างไรก็ดียังพบว่า ท่านฟารีซี เจ้าเมืองพัทลุงที่เขาไชยบุรีท่านเเรก มีศักดิ์เป็นน้องชายของท่านสุลต่านสุไลมาน ปัจจุบันสุสาน (กูโบร์) ของท่าน อยู่ที่บ้านซรัด ตำบลชะรัด อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ถูกเรียกกันว่า #โต๊ะโหม เช่นกัน หรือเเม้เเต่สุลต่านมุสตาฟา บุตรสุลต่านสุไลมาน สุลต่านเมืองสงขลาที่หัวเขาเเดง เเละภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองไชยาก็ถูกเรียกว่า #พาหม , #พาหุง ปัจจุบันกูโบร์ของท่านอยู่ที่บ้านโต๊ะเจ้า ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎรธานี

    ทั้งนี้ผู้เขียนพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าด้วยเรื่องของการเรียกชนชั้นปกครองที่ล่วงลับไปแล้วโดยใช้คำดังกล่าวเหมือนกันในพื้นที่ของเมืองปตานีซึ่งมีเขตแดนติดต่อกับเมืองสงขลา มีข้อมูลอยู่ในงานเขียนเรื่อง “เล่าเรื่องเมืองใต้” ของ วัน มะโรหบุตร ปราชญ์ท้องถิ่นผู้รู้เรื่องราวมลายูปัตตานีและภาคใต้ ได้แปลเอกสาร ฮิกายัตปัตตานี (Hikayat patani : Story of patani) เป็นภาษาไทย [๑] ได้ให้ข้อมูลการเรียกไว้ดังนี้

    รายาฮีเยา (Raya Hijau) ได้รับสมญานามว่า “#บาโฮมตึมางัน” เนื่องจากได้เสด็จไปเปิดคลองที่บ้านตึมางันก่อนที่จะสิ้นพระชน และสุลต่าลมุตาฟาร์นั้นได้รับสมญานามว่า “#มาร์โอมเกอสยาม” (มูซอฟฟัร?) เพราะพระองค์สิ้นพระชนม์ในสยาม และสุลต่านมันซูร์ชะฮ์นั้นเป็นโอรสองค์สุดท้ายจึงเรียกว่า “#มาร์โฮม_บงสู” [๒]

    รายาบีรูนั้นเมื่อสิ้นพระชนม์ ราษฎรก็เรียกว่า “#มาร์โฮม_ตึเงาะฮ์” และรายาอูงู เมื่อสิ้นพระชนม์ชาวเมืองเรียกว่า “#มาร์โฮม_ปาหัง” เพราะพระองค์ทรงมีสวามีที่เมืองปาหัง [๓]

    #อัลมัรฮูม” เป็นคำร่วมราก และการใช้คำว่า หุม บาหุม โหม พาหม เป็นการเรียกด้วยสำเนียงภาษาไทยถิ่นใต้ ส่วน บาร์โฮม หรือมาร์โฮม ในฮิกายัตนั้นเป็นการเรียกด้วยสำเนียงภาษามลายู เป็นคำที่มีรากมาจากคำเดียวกันคือคำว่า “…อัลมัรฮูม (المرحوم) เป็นคำนาม แปลว่าผู้ที่ได้รับความปราณี มีรากมาจาก รอฮามา ในภาษาอาหรับที่เราคุ้นเคยในความหมายว่า เราะห์มัต (ความเมตตา) …” [๔] หรือผู้ที่ได้รับความเมตตาจากพระเจ้า(ตูฮัน)นั่นเองแต่เป็นการเรียกเพี้ยนไปตามภาษา และสำเนียงของแต่ละพื้นที่ ในอดีตจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าในทั้งสองพื้นที่ คำดังกล่าวถูกสงวนไว้ใช้กับชนชั้นปกครองเท่านั้น เพราะในกรณีของสุลต่านสุไลมาน กฤษ พิทักษ์คุมพล คนเเขกที่บ้านหัวเขาหมู่บ้านที่อยู่สืบต่อมาตั้งแต่เมืองเก่าสมัยสุลต่านสุไลมาน ให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่าในพื้นที่แต่เดิมคำว่า “อัลมัรฮูม” ถูกสงวนไว้ใช้เรียกท่านสุลต่านสุไลมานเท่านั้น ส่วนชาวบ้านทั่วไปที่ล่วงลับจะใช้คำว่า “#ศรีกูโบร์” ทั้งนี้ผู้เขียนพบแลสัน (สัญลักษณ์บนหลุมศพ) ที่กูโบร์บ้านหัวเขาปรากฏคำว่า อัลมัรฮูม นำหน้าชื่อของโต๊ะครูท่านหนึ่งแต่ไม่มีการจารึกศักราชไว้จึงไม่รู้ช่วงเวลาที่ทำขึ้น

    (อย่างไรก็ตามในประเด็นข้างต้นผู้เขียนได้รับคำแนะนำจากคุณ อาเนาะ ปันตัย (นามแฝง) ที่ให้ข้อมูลต่างออกไปว่า อัลมัรฮูม ใช้สำหรับเพศชาย ส่วนเพศหญิงใช้คำว่า อัลมัรฮูมะห์ เป็นคำคุณศัพท์ มีรากศัพท์มาจาก รอฮีมา (กริยาอดีตกาล) หรือ เราะห์มะห์ (คล้ายกับ Absract noun ในภาษาอังกฤษ) แปลว่าผู้ได้รับการเมตตาจากอัลลอฮ์ มักจะใช้นำหน้าชื่อคนตาย อีกทั้งจากการสังเกตุ คนอาหรับจะเขียน ดุอา (ขอพร) ให้คนตายจะเขียนว่า رَحِمَهُ الله หรือ رَحِمَها الله )

สุสานเจ้าเมืองไชยา เชื้อสายสุลต่านสุลัยมานจากสงขลา ซึ่งคนไชยาเรียกมรหุ่ม หรือพาหุง , พาหุม

    จากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนพบว่าคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาในหลายพื้นที่ยังมีการใช้คำเรียกนำหน้าชื่อผู้ล่วงลับอีกคำคือคำว่า “มูหละ” เช่น มูหละปะแก่ชาย ใช้เรียกเมื่อพูดถึงตาหรือปู่ของตนผู้ล่วงลับ ซึ่งคำนี้พบว่าคนนายูใช้ว่า “มูเลาะ” อาจารย์โชคชัย วงค์ตานี ให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่าคำ มูเลาะ มีความหมายว่า (สมัย)ที่เขา/ผู้จากไปยังมีชีวิตอยู่ เช่น มูเลาะเปาะจิ = สมัยที่เปาะจิยังมีชีวิตอยู่

Abu Gibrel Jacob ชาวมาเลเซียในรัฐกลันตันซึ่งสามารถพูดภาษาไทยได้ดีให้ข้อมูลว่า

“…เอาเฉพาะในมาเลเซียน่ะ อัลมัรฮูม (المرحوم) ใช้กับเจ้า ผู้มีเชื้อเจ้า อัลลอห ยัรฮัม ( الله يرحم) ใช้กับคนทั่วๆไป ทั้งหมดมาจากรากศัพท์ รอฮามา ในภาษาอาหรับที่เราคุ้นเคยในความหมายว่า เราะห์มัต อัลลอห ยัรฮัม ( الله يرحم) เป็นรูปประโยค แปลว่าอัลลอหได้ทรงปราณี

ส่วนมูเลาะห์ ใช้กับคนทั่วไป นิยมใช้กันแพร่หลายในกลุ่มมลายูฝั่งตะวันออก ตัดทอนมาจาก เต็มๆคือ ฆือมูลาห์ ( gemulah ) ใช้นำหน้าผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เช่น ฆือมูลาห์ ( มูเลาะห์ ) ดาวูด ก็เหมือนกับฝรั่งใช้ the late david เมื่อกล่าวถึงดาวูดหรือเดวิดที่ตายไปแล้ว มลายูส่วนอื่นจะใช้ อัรวะห์ แทนอัรวะห์เป็นรูปพหุพจน์ของโรหฺ ที่แปลว่าวิญญาณ…”[๕]

“อัลมัรฮูม” ในจารึกและ “มรหุม” ในเอกสารฝั่งไทย

    อัลมัรฮูมนั้นหลักฐานเท่าที่มีขณะนี้พบว่าเป็นคำที่ปรากฏอยู่ในจารึกซึ่งเป็นการเขียนด้วยภาษามลายูอักษรยาวีเป็นการเขียนทับศัพท์มาจากภาษาอาหรับมีอยู่หลักฐานคือ

๑. “อัลมัรฮูม” ที่จารึกอยู่ที่บริเวณของด้านบนของสุสานสุลต่านสุไลมานที่ก่ออิฐถือปูน ด้านยาวฝั่งทิศตะวันออกนั้นมีจารึกภาษามลายู อักษรยาวี ปรากฏอยู่ คือ

المرحوم سلطان سليمان

ممرينته نݢري ملايو سوڠݢورا

“อัลมัรฮูม สุลฎอน สุไลมาน เมอเมอรินตะ เนอเฆอรี มลายู ซูงฆูรา”

Al-Marhum Sultan Sulaiman Memerintah negeri Melayu Sunggura

มีความหมายว่า

“ผู้กลับไปสู่ความเมตราของพระผู้เป็นเจ้า สุลฎอนสุไลมาน มีอำนาจ ผู้บังคับบัญชา (?) นครรัฐมลายูสงขลา”

    จารึกนี้ทางกรมศิลปากรได้มีการคัดลอกใส่แผ่นป้ายที่ทำจากปูนซีเมนรูปทรงคล้ายใบเสมาปักอยู่ประตูทางเข้าสุสานสุลต่านสุไลมานซึ่งมีสองป้ายป้ายขวาเขียนด้วยภาษามลายูอักษรยาวี ส่วนป้ายซ้ายเขียนเป็นคำอ่านจารึกตามภาษามลายูแต่ใช้ตัวอักษรไทยในการเขียน

    ๒. แผนป้ายที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการระบุว่าจารึกที่มรหุ่ม ซึ่งปัจจุบันที่สุสานของสุลต่านไม่ปรากฏว่ามีแผ่นป้ายชิ้นนี้อยู่ และไม่มีข้อมูลว่าทางเจ้าหน้าที่นำไปเก็บรักษาไว้ที่ใด มีข้อความว่า

مقام المرحوم سلطان سليمان بن سلطان مقل

“มากอม อัลมัรฮุม สุลฎอนสุไลมาน บิน สุลฎอนโมกอล”

“Maqom Al-Marhum Sultan Sulaiman Bin Sultan Moghul”

มีความหมายว่า

สุสาน สุลต่านสุไลมาน บุตร สุลต่านโมกุล

ส่วนคำว่า ”มรหุม” นั้นพบว่าปรากฏอยู่ในเอกสารราชการของฝั่งไทยเสียส่วนใหญ่ผู้เขียนจะยกมานำเสนอดังนี้

๑.ปรากฎอยู่ในพระราชพงษาวดารย่อลำดับกษัตริย์แลเสด็จพระราชดำเนินไปเมืองนครฯสงขลา มีข้อความดังนี้

“…เขามรหุ่ม เรียกว่าสงขลาเก่า น่าเขามรหุ่มเรียกว่าเขาแดง ติดบ์ากน้ำเมืองสงขลา บนเขาแดงมีป้อมๆหนึ่ง มีปืนใหญ่ ๔ กระบอก เชิงเขาที่พื้นดินมี สาลา บ่อน้ำ มีป้อมๆ หนึ่ง สิลาที่เขาเเดง คูกค้าบันทุกเข้ามาขายลับมีดโกน บนยอดเขามรหุ่มว่าเป็นที่นั่งของมรหุ่ม สมเด็จพระยาองค์ใหญ่สร้างพระเจดีย์ไว้ที่นั่นองค์หนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้องสร้างไว้องค์หนึ่ง…”[๖]

แผนที่เมืองสงขลา และบริบท เขียนโดยวิศวกรฝรั่งเศสที่สมเด็จพระนารายณ์ส่งลงมาวางแฝนฟื้นฟูเมืองหลังการพิชิตของอยุธยา

    ๒.ปรากฏอยู่ในบันทึกของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ขณะทรงดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ในพระนิพนธ์เรื่อง “ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่างๆภาค ๗” พระองค์ออกเดินทางจากพระนครเมื่อวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ พ.ศ.๒๔๒๗ วันที่ ๑๑ ของการเดินทางได้มายังสุสานสุลต่านสุไลมาน เป็นวันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ บันทึกกล่าวว่า

    “…พื้นทรายถนนยาวเข้าไป ๔-๕เส้น ถึงที่เรียกว่า “มรหุ่ม” เป็นที่ฝั่งศพของเจ้าเเขก ซึ่งมาตั้งอยู่ ณ เมืองสงขลาแต่ก่อนนั้น ที่นั่นมีศาลามุงกระเบื้องไทยอยู่ ๒ หลัง หลังหนึ่งใหญ่กว้างประมาณ ๔ วา ในศาลานั้นเป็นที่ฝั่งศพเจ้าเเขกก่ออิฐถือปูนสูงประมาณ ศอกคืบ กว้างประมาณศอกคืบ ยาวประมาณ ๔ศอก ข้างบนเป็นรางลึกลงไปมีทรายถมเต็ม บนนั้นมีหลักภาษาเเขกเรียกว่า #อาซัน ปักอยู่หัวท้าย ๒ ข้าง #ที่ด้านกว้างฝั่งศพ ทิศเหนือมีศาลาแดงจารึกอักษรเเขกเป็นชื่อ…”[๗]

๓.ปรากฎอยู่ในบันทึกจดหมายเหตุรายวัน ของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เขียนขึ้นเมื่อวันอังคาร วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๑ มีข้อความดังนี้

    “…บ่ายสี่โมงเราได้ตามเสด็จไปขึ้นที่หาดแก้ว เสด็จไปทอดพระเนตรมรหุ่มที่ฝังศพแขกแต่โบราณ มีจารึกด้วย มีหลังคาอยู่สองศพ ศพหนึ่งเป็นเจ้า ศพหนึ่งอาจารย์ ได้ยินว่าชาวเมืองถึงไม่ได้เป็นแขกก็นับถือ เสด็จกลับมาถึงเรืออุบล เรือออกจากเมืองสงขลาเกือบทุ่ม…[๘]

๔.ปรากฎอยู่ในพระราชหัตถเลขา เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายู คราว ร, ศ, ๑๐๘ มีข้อความดังนี้

    ”…วันที่ ๒๒ เกือบโมงเช้าจึงได้ออกเรือ เพราะต้องกาหลกันในการที่จะพ่วงเรือไป เรือกลไฟน้ำตื้นที่จะไปในทเลสาปได้มีสามลำ คือเรือทอนิครอฟต์ลากเรือที่นั่งทรงที่นั่งรองผ้านุ่งห่มรวม ๔ ลำ เรือเซนต์ยอชลากเรือเจ้านายและเรือผ้านุ่งห่ม เรือครัวรวม ๕ ลำ เรือยาโรลากจูงเรือเครื่องเปนเรือหัวเมืองลำใหญ่ ๆ ๓ ลำ ต้องเดิรตามร่องน้ำลึกไปจนถึงน่ามะระหุ่ม จึงเลี้ยวกลับเข้าปากช่องแหลมทรายเสียเวลาชั่วโมงหนึ่ง ได้เห็นป้อมเขาแดงและป้อมค่ายม่วงที่เขาแหลมสน…”[๙]

๕.ปรากฏอยู่ในสาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๗๘ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เขียนถึงกรมดำรงชารานุภาพ เมื่อวันที่ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ มีข้อความดังนี้

“…พูดถึงเมืองไทร นึกขึ้นมาได้ เขาลงข่าวในหนังสือพิมพ์ เรื่องเจ้าพระยาไทรทำการฉลองอายุ เขาออกชื่ออย่างแขกยืดยาว มีคำ “บรฮุม” อยู่ในนั้น ทำให้นึกถึงที่ฝังศพแขกที่สงขลา ซึ่งเรียกว่า “มรหุ่ม” จะเปนคำเดียวกันดอกกระมัง แปลว่ากะไรไม่ทราบ…”[๑๐]

๖.ปรากฏอยู่ในสาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๘๔ กรมดำรงชารานุภาพทูลสนองลายพระหัตถ์รัชกาลที่ ๕ พิมพ์ขึ้นเมื่อวันที่วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ มีข้อความดังนี้

“…ที่ตั้งเมืองสงขลานั้น เดิมตั้งอยู่ที่แหลมสนทางฟากเหนือของปากน้ำยังเรียกกันว่าเมืองเก่า เพิ่งย้ายไปตั้งทางฟากใต้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ดูเหมือนจะเป็นตอนต้นรัชกาลที่ ๓ และคำที่เรียกว่า “มรหุ่ม” นั้น เรียกเพิ่มเข้าหน้าชื่อต่อเมื่อตัวล่วงลับไปแล้ว ขัวลายังมีชีวิตอยู่หาเรียกว่ามรหุ่มไม่…”[๑๑]

“โต๊ะหุม” ในมุขปาถะ คนแขกบ้านควน ปลายน้ำคลองอู่ตะเภา

    จากข้อมูลข้างต้นว่าด้วยเรื่องการใช้ “อัลมัรฮูม” และเราใช้คำนี้เรียกสุลต่านสุไลมานว่าโต๊ะหุม ที่ผ่านมางานเขียนต่าง ๆ นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับเมืองสงขลาสมัยสุลต่านสุไลมานในมิติของการเมือง การค้า แต่ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าจะหยิบยกมานำเสนอนั้นก็คือเรื่องเล่าท้องถิ่นของผู้คนในพื้นที่ที่เล่าสืบต่อกันมามีเนื้อหาคล้ายกับนิทาน ข้อมูลนี้ผู้เขียนได้รับฟังมาจากวะ (ลุง) ของผู้เขียนอาศัยอยู่ที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาที่เล่าให้ฟัง โดยมีเนื้อหาดังนี้

ชุมชนมุสลิมที่บ้านควน ปลายน้ำคลองอู่ตะเภาเชื่อมกับทะเลสาบสงขลา

    เรื่องแรก อยู่มาวันหนึ่ง คนไทย (หมายถึงคนนับถือพุทธ) ทำนูหรี (ทำบุญเลี้ยง) ได้เชิญโต๊ะหุมไปกินนูหรีดังกล่าวโดยคนไทยนั้นได้แกงหมูให้กิน โดยส่วนหัวนั้นไม่ได้แกงแอบนำไปซ่อนไว้ เมื่อไปถึงโต๊ะหุมก็ทำพิธีนูหรี รับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อย คนไทยจึงบอกว่าเนื้อที่กินไปนั้นคือเนื้อหมูโต๊ะหุมถูกหลอกแล้ว โต๊ะหุมจึงใช้ให้คนไทยไปดูหัวหมูที่ซ่อนไว้ปรากฏว่าหัวหมูนั้นกลายเป็นหัวแพะ ซึ่งวะบอกเสริมว่าเพราะ โต๊ะหุม นั้นนอกจากเป็นเจ้าเมืองแล้วยังเป็นผู้รู้ทางศาสนาที่มีความรู้เป็นอยากมากเรียกกันว่า คนวาลี ที่หัวหมูกลายเป็นหัวแพะเพราะท่านใช้คาถาในการเสกนั้นเอง อีกทั้งผู้เขียนเคยได้ข้อมูลจากผู้สูงอายุที่ท่าเสาบ้านล่าง ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาซึ่งท่านให้ข้อมูลเช่นเดียวกันว่า “โต๊ะหุม” นั้นเป็นคนวาลี คือคนมีความรู้ทางศาสนา

ชุมชนมุสลิมที่บ้านควน ปลายน้ำคลองอู่ตะเภาเชื่อมกับทะเลสาบสงขลา

    เรื่องที่สอง อยู่มาวันหนึ่งโต๊ะหุม ชี้ไปที่ลูกมะพร้าวแล้วบอกกับคนติดตามว่าข้างในมีปลาขี้หลิม (ปลากริม)อยู่ข้างใน ทหารไม่เชื่อโต๊ะหุมจึงให้ขึ้นไปนำลงมาเมื่อเอาลงมาผ่าซีกพบว่าข้างในมีปลาขี้หลิมกัดกันอยู่สองตัว

    อย่างไรก็ดีเรื่องเล่าทั้งสองยังพบว่าบ้างครั้งจะมีเรื่องเล่าที่ใกล้เคียงกันแต่ตัวละครหลักในเหตุการณ์จะเป็นโต๊ะครูแทน เล่าเรื่องคล้าย ๆ กันอีกด้วย

    สำนวนท้องถิ่นเช่น แลกบาหุมกินเต่า, แลกบาหุมกินแกลบ, ไม่รู้แลกบาหุมไหน, (แลก คือ แรก ในความหมายว่า แต่แรก สมัยแรก) มีความหมายประมาณว่า นานมากแล้วจนจำไม่ได้ คล้าย ๆ กับที่สำนวนไทยมีคำว่าสมัยพระเจ้าเหา

– สรุป –

    คนมุสลิมที่อาศัยอยู่บนคาบสมุทรไทย-มาเลย์ ในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นมุสลิมที่เรียกตนเองว่าคนแขก พูดไทยถิ่นใต้ มุสลิมปตานีซึ่งเรียกตนเองว่าคนนายู ทั้งสองเป็นพลเมืองของประเทศไทยและชาวมุสลิมมาเลย์ในประเทศมาเลเซียนั้นมีวัฒนธรรมการใช้คำเรียกนำหน้าชื่อผู้ล่วงลับที่เหมือนกันคือ อัลมัรฮูม ถูกสงวนไว้ใช้กับชนชั้นปกครอง และมีคำเรียกที่ใช้กับคนธรรมดาที่แตกต่างออกไป คือมูละ ตามสำเนียงไทยถิ่นใต้คนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา มูเลาะห์ ตามการใช้ของคนนายู ซึ่งกร่อนมาจาก ฆือมูลาห์ (gemulah) นิยมใช้กันแพร่หลายในกลุ่มมลายูฝั่งตะวันออกซึ่งสงขลาก็อยู่ทางตะวันออกด้วยเช่นกัน จะเห็นว่าเขตแดนรัฐชาติซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่งมีทำหน้าที่แบ่งแยกผู้คนออกเป็นพลเมืองตามรัฐชาติที่มีเส้นเขตแดน แต่วัฒนธรรมนั้นไม่มีเส้นเขตแดนผู้คนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันต่อแดนกันมีศาสนาเหมือนกันแต่มีภาษาที่ต่างกันในปัจจุบัน ใช่ว่าในอดีตจะเป็นเช่นนี้ก็เป็นได้

ที่มาของข้อมูล :

[๑] วัน มะโรหบุตร .ฮิกายัต ปัตตานี Hikayat patani เล่าเรื่องเมืองใต้,เอกสารประกอบสัมนาวิชาการเรื่อง “โลกของอิสลามและมุสลิมในอุษาคเนย์” The Islamac Worli Muslims in Southeast Asia,เมื่อวันที่ ๒๘ –๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ :หน้าที่ ๕

[๒] : วัน มะโรหบุตร .ฮิกายัต ปัตตานี Hikayat patani เล่าเรื่องเมืองใต้,เอกสารประกอบสัมนาวิชาการเรื่อง “โลกของอิสลามและมุสลิมในอุษาคเนย์” The Islamac Worli Muslims in Southeast Asia,เมื่อวันที่ ๒๘ –๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ :หน้าที่ ๑๖

[๓] : วัน มะโรหบุตร .ฮิกายัต ปัตตานี Hikayat patani เล่าเรื่องเมืองใต้,เอกสารประกอบสัมนาวิชาการเรื่อง “โลกของอิสลามและมุสลิมในอุษาคเนย์” The Islamac Worli Muslims in Southeast Asia,เมื่อวันที่ ๒๘ –๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ :หน้าที่ ๔๕

[๔]: Abu Gibrel Jacob ( สัมภาษณ์ ) ๑๖ มกราคม ๒๕๖๔

[๕] : Abu Gibrel Jacob ( สัมภาษณ์ ) ๑๖ มกราคม ๒๕๖๔

[๖] : คัดมาบางส่วนจากเอกสารหัวเมืองปักษ์ใต้ ,พระราชพงษาวดารย่อลำดับกษัตริย์แลเสด็จพระราชดำเนินไปเมืองนครฯสงขลา,ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา จัดพิมพ์,สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์:ผู้อ่าน (หน้า ๒๑).พิมพ์ที่โรงพิมพ์เมืองสงขลา

[๗] : เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ขณะทรงดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ในพระนิพนธ์เรื่อง “ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่างๆภาค ๗” สืบค้นจาก http://www.finearts.go.th/…/2-2013-01-26-21-11-08.html

[๘] : จดหมายเหตุรายวัน ของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ.เอกสารออนไลน์ ,วชิรญาณ สืบค้นจาก : https://vajirayana.org

[๙] : พระราชหัดถเลขา เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายู คราว ร, ศ, ๑๐๘ .พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๒ เอกสารออนไลน์ ,วชิรญาณ สืบค้นจาก : https://vajirayana.org (วันที่ ๙ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔)

[๑๐] : สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๗๘.กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. เอกสารออนไลน์ :วชิรญาณ สืบค้นจาก : https://vajirayana.org (วันที่ ๙ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔)

[๑๑]: สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๘๔.กรมดำรงราชานุภาพ . เอกสารออนไลน์ :วชิรญาณ สืบค้นจาก : https://vajirayana.org (วันที่ ๙ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔)

ขอขอบคุณ

อาจารย์โชคชัย วงษ์ตานี , กฤช พิทักษ์คุมพล( นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา) , ธีร์ธนิน ตุกังหัน , Abu Gibrel Jacob , สวาท บิลละ

สืบค้น และเรียบเรียงโดย สามารถ สาเร็ม วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

เผยแพร่ครั้งแรกใน – https://kyproject19.wixsite.com/kidyang/post/%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%AB-%E0%B8%A1

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น