แลสัน และตาหนา : สัญลักษณ์เหนือหลุมฝังศพคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา

    มุสลิมในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลานั้นจะเรียกตัวเองว่า “คนแขก” จากการศึกษาของผู้เขียนในบทความเรื่องคนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ “สงขลาหัวเขาแดงเมืองสุลต่านสุไลมาน” ปีที่ 44 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2561 พบว่ามุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นกลุ่มคนมุสลิมที่แหลงใต้นั้น มีชีวิตวัฒนธรรมที่นอกจากจะดำเนินอยู่ในกรอบของศาสนาแล้วยังมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยถิ่นใต้กับวัฒนธรรมที่มีร่องรอยของมลายู ไม่ว่าจะเป็นในด้านศิลปวัฒนธรรมหรือภาษา จนกลายเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตนเองที่อาจถือเป็นต้นทุนสำคัญของสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ (สามารถ สาเร็ม,2561) [1]

    เรื่องราวเกี่ยวกับความตายของคนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตามหลักการศาสนาอิสลามเมื่อมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นญาติพี่น้องรวมทั้งคนในหมู่บ้านจะต้องจัดการให้กับผู้เสียชีวิต ๔ อย่างด้วยกันคือ

    ๑.อาบน้ำในกับผู้เสียชีวิต

    ๒.ห่อด้วยผ้าขาว ผู้ชายสามชั้น ผู้หญิงห้าชั้น

    ๓.ละหมาดให้กับเสียชีวิตและ

    ๔.นำไปฝังที่สุสานหรือที่เรียกว่า กูโบร์ การฝั่งศพของมุสลิมนั้นจะฝังให้ผินหน้าไปที่ทิศกิบลัต (หันไปที่บัยตุลเลาะในเมืองมักกะของประเทศซาอุดิอารเบีย)

    เราจะพบว่าหลุมสุสานของชาวมุสลิมโดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นสี่เหลียมผืนผ้าด้านกว้างทั้งสองด้านมักจะมีเครื่องหมายปักไว้โดยปักในตำแหน่งศีรษะและปลายเท้าของผู้ล่วงลับ วัสดุที่นำมาใช้มีทั้ง ก้อนหิน ไม้ หรืออาจจะทำจากปูนซีเมน นอกจากวัสดุที่แตกต่างกันภาษาที่ใช้เรียกเครื่องหมายบนหลุมสานก็มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมีคำที่มีรากมาจากภาษามลายูปตานี มลายูเคดะห์ และในภาษาไทยถิ่นใต้ผสมกัน จึงทำให้เกิดเป็นคำเรียกของคนในพื้นที่เอง

ภายในกุโบร์สุลต่านสุลัยมาน

คำเรียกเครื่องหมายบนหลุมสุสาน มีดังนี้

    1.แลสัน ไม้แลสัน ไม้สัน หัวแลสัน หัวแม่สัน คำนี้พบว่ามีความใกล้เคียงทั้งภาษามลายูปตานีและมลายูเคดะห์เพราะมลายูปตานีใช้ว่า แนแซ ส่วนมลายูเคดะห์ใช้ว่า นีซาน (Nisan) จะเห็นได้ว่าเสียง นั้นเพี้ยนเป็นเสียง และออกเสียงเหมือนคำว่า แน ส่วน สัน นั้นกลับออกเสียงเหมือนมลายูเคดะห์คือ ซาน คำที่มีรากเป็นเสียง แต่คนแขกเพี้ยนเป็นเสียง ตัวอย่างอื่น ๆ อาทิ คำ นิกะฮ์ เพี้ยนเป็น ลีกะฮ์ คำ แซตัน คำนี้ในภาษามลายูปตานีเรียกว่า แซแต มลายูเคดะย์ (มลายูสตูล) เรียกว่า Syaitan ชัยตัน ,แซตัน ซึ่งมีรากมาจากคำอาหรับว่า ชัยฎอน หมายถึงซาตาน อย่างไรก็ดีจากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนพบว่าคำนี้มักใช้ในบริบทของคนแขกที่อาศัยอยู่แถบชายทะเลเป็นส่วนใหญ่

    2.ตาหนา ไม้ตาหนา หัวตาหนา หินตาหนา คำว่าตาหนานี้ภาษามลายูปตานีเรียกว่า ตานอ ส่วนมลายูเคดะห์เรียกว่า ตานา,ตาหนา (มลายูกลาง Tanda) จะเห็นได้ว่า ตาหนา มีความใกล้เคียงกับการเรียกของภาษามลายูเคดะห์ อย่างไรก็ดีจากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนพบว่าคำนี้มักใช้ในบริบทของคนแขกที่อาศัยอยู่ตอนในใกล้เขาบรรทัดในขณะที่พื้นที่แถบชายทะเลมีพบบ้าง

ตาหนา หรือแลสันแบบต่าง ๆ ในลุ่มทะเลสาบสงขลา

    3.เขื่อน ก่อรอ (รอ) คือหลุมสุสานที่นำหิน อิฐ หรือปูน มาก่อบนหลุมมักจะเป็นหลุมของบุคคลสำคัญในสังคมได้แก่ผู้รู้ทางศาสนาเช่นโต๊ะครู โต๊ะอีหม่าม อาจจะมีการสร้างหลังคาคลุมหลุมให้มีลักษณะเหมือนศาลาเรียกว่า “เขื่อนโต๊ะชาย” หรือ “เขื่อนโต๊ะเย๊าะ” ส่วนสุสานของชนชั้นปกครองได้แก่ กูโบร์โต๊ะหุม หรือสุสานสุลต่านสุไลมาน เจ้าผู้ครองเมืองสงขลาร่วมสมัยกับพระเจ้าปราสาททองของอยุธยาที่บ้านเล ตำบลหัวเขาอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และกูโบร์โต๊ะโหม ที่บ้านซรัด (ชะรัด) ตำบลชะรัด อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง เจ้าเมืองพัทลุงท่านแรกที่เขาไชยบุรี มีศักดิ์เป็นน้องชายของท่านสุลต่านสุไลมาน

เขื่อน หรือรอที่กุโบร์ปากพยูน

    รูปแบบของเขื่อนก็มีความน่าสนใจทั้งลักษณะที่เหมือนกับฐานบัวมีทั้งบัวคว่ำและบัวหาย ลวดลายใบไม้และมักจะมีรูปดอกบัวอยู่เสมอๆ ทั้งนี้คำว่า “เขื่อน” ในภาษาไทยถิ่นใต้นั้นมีหลายความหมาย ในพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ (๒๕๒๕) ได้ให้ความหมายของคำว่าเขื่อนไว้ความหมายหนึ่งที่น่าสนใจว่า “เจดีย์ที่เก็บอัฐิ” หรือที่เรียกกันในภาษาไทยถิ่นใต้อีกอย่างว่า “บัว” ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เรียกสถูปที่เก็บอัฐิของพระสงฆ์ที่มีผู้คนให้ความเคารพนับถือศรัทธากันอย่างแพร่หลาย ในบริเวณภาคใต้ตอนล่างนั้นสถูปที่มักได้ยินการเรียกขานกันว่า “เขื่อน” เห็นจะมีปรากฏเด่นชัดอยู่ที่วัดช้างให้ (หรือชื่อวัดอย่างเป็นทางการว่าวัดราษฎร์บูรณะ) อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งผู้คนในท้องถิ่นเรียกขานสถูปท่านกันว่า “เขื่อนหลวงพ่อทวด” บ้างก็เรียกว่า “เขื่อนท่านช้างให้” โดยเขื่อนหลวงพ่อทวดนี้ตั้งอยู่ริมทางรถไฟ บริเวณข้างวิหารหลวงพ่อทวด นอกจากนี้พบว่าในบางพื้นที่ของ อ.เทพา จ.สงขลามีการเรียกสถูปของฆราวาสผู้อาวุโสที่เป็นที่นับหน้าถือตาของลูกหลานในครอบครัวหรือคนในชุมชนว่าเขื่อนด้วยเช่นกัน[2]

    ส่วนคำว่า “รอ” นั้นพบว่าในพื้นที่คนไทยมีการใช้เรียกเช่นเดียวกันในความหมายของกำแพงหินที่ก่อขึ้นเพื่อกั้นการพังทลายของดิน ส่วนคนแขกใช้เรียกการก่อด้วยอิฐหรือปูนหรือหินบนหลุมสุสานของผู้เสียชีวิต คนแขกยังใช้คำว่า “มะกอม” เรียกกุโบร์ที่มีการก่อบนหลุมหรือสร้างหลังคาครอบอีกด้วยมะกอมคือคำภาษาอาหรับและเป็นคำที่น่าจะเพิ่งถูกใช้ในภายหลังเมื่อมีการดาวะห์เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการฟื้นฟูศาสนาให้มีความถูกต้องตามหลักศาสนาเพื่อให้คนในพื้นที่ได้ปรับเปลี่ยนและนำมาปฏิบัติ

    ดังนั้นทั้งคำว่า เขื่อน และ รอ ต่างสะท้อนร่องรอยที่ทำให้เห็นการใช้คำร่วมกันของทั้งคนแขก และคนไทยพุทธที่อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลากหลายของผู้คน แต่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของตนเอง ลักษณะการใช้ก็มีความคล้ายคลึงกันเพราะทั้งคนไทยพุทธและคนแขกใช้เรียกหมายถึงสถูปและหลุมศพและยังใช้เรียกจำเพาะสำหรับบุคคลที่มีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าคนทั่วไปเป็นบุคคลสำคัญทางศาสนา

เขื่อน ก่อรอ (รอ) นี้พบว่าในสังคมของคนนายูมุสลิมพูดมลายูปตานีเรียกว่า “แจปอฆี” ในงานเขียนเรื่องตานอ-เครื่องหมายเหนือหลุมศพของประมูล (ประมูล อุทัยพันธุ์,๒๕๓๑) กล่าวว่า

“หล่อด้วยปูนซีเมนต์ออกจำหน่าย แจปอฆีมีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมคล้ายโลงศพเปิดส่วนบนและส่วนล่าง สำหรับว่างเป็นเครื่องหมายเหนือหลุมศพ”(หน้า ๒๐๓)[3]

    ทั้งนี้จากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนพบว่า เขื่อน หรือก่อรอ (รอ) ที่ก่อด้วยปูนซีเมนที่พบในหลาย ๆ กูโบร์ของหมู่บ้านคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลามักจะมีลวดลายที่เหมือนกัน จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าถูกนำเข้ามาจากพื้นที่ปตานี ซึ่งน่าจะได้มีการศึกษาในเชิงลึกต่อไป

สรุป

    คำเรียกเครื่องหมายบนหลุมศพของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาเป็นสิ่งสะท้อนถึงทำเลที่ตั้งของลุ่มทะเลสาบสงขลาอันพื้นที่ต่อแดนทางวัฒนธรรมระหว่างความเป็นไทยปักษ์ใต้กับความเป็นมลายูทั้งมลายูปตานี และมลายูเคดะห์ จึงทำให้คนแขกในพื้นที่มีร่องรอยจากทั้งสองวัฒนธรรมปรากฎอยู่ในวิถีชีวิต ส่วนหนึ่งที่สะท้อนการผสมผสานนี้คือคำเรียกชื่อสัญลักษณ์เหนือหลุมฝังศพนี้เอง

เครื่องหมายบนหลุ่มศพที่มีการจารึกว่า “ตาหนา” จารึกทั้งหมดเขียนด้วยภาษามลายูอักษรยาวี อ่านได้ว่า

عبد الرحيم انيله تنا

อีนีละ ตาหนา อับดุลเราะห์ฮีม

(inilah tana abdulrahim )

ความหมายคือ นี้คือเครื่องหมายบนหลุมฝังศพของอับดุลเราะห์ฮีม ถ่ายจากภายในสุสานสุลต่านสุไลมาน สุลต่านเมืองสงขลาที่บ้านเล ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

เขื่อนโต๊ะชาย ที่กูโบร์ใหญ่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลามีรูปแบบบัวคว่ำ ผัวหงายหรือที่เรียกว่าบัวลูกแก้วอกไก่

เขื่อน หรือรอทำจากปูนลวดลายดอกบัว ผู้เขียนพบในหลายพื้นที่เช่นที่กูโบร์ใหญ่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา กูโบร์ในบ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาและที่กูโบร์คลองต่ำ (หลังวัดหาดใหญ่ใน) ตำบลควนลัง อำเภอหาใหญ่ จังหวัดสงขลา

สุสานสุลต่านสุไลมาน (โต๊ะหุม) เจ้าผู้คลองเมืองสงขลาหัวเขาแดงร่วมสมัยกับพระเจ้าปราสาททองของอยุธยา (หลังขวา) บนหลุมมีการก่ออิฐมีลักษณะเหมือนโล่งศพ

สุสานของท่านฟารีซี (โต๊ะโหม) เจ้าเมืองพัทลุงที่เขาไชบุรี น้องชายสุลต่านสุไลหมาน ที่บ้านซรัด(ชะรัด) ตำบลชะรัด อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง

[1]สามารถ สาเร็ม. (2561). คนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา.วารสารเมืองโบราณ “สงขลาหัวเขาแดงเมืองสุลต่านสุไลหมาน,44(4),109. [2]อาจารย์ ด.ร. เอกลักษณ์ รัตนโชติ (ผู้ให้สัมภาษณ์) ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ [3]ประมูล อุทัยพันธุ์.(๒๕๓๑).ตานอ-เครื่องหมายเหนือหลุมศพในประพนธ์ เรืองนรงณ์(บรรณาธิการ),เรื่องเล่าชาวใต้ชุด ที่๒”(หน้า๒๐๓).กรุงเทพ ฯ : มิตรสยาม

เผยแพร่ครั้งแรกใน - https://kyproject19.wixsite.com/kidyang/post/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น