คำเรียกเครือญาติคนมลายูมุสลิม (อูรังมลายู) ที่บ้านไสเจริญ ต.นาเคียน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

นางวรรณา ดารากัย อายุ 63 ปี คนมลายูที่บ้านไสเจริญ ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ให้สัมภาษณ์ข้อมูล

จากการสำรวจข้อมูลภาคสนามของผู้เขียน พบว่ามุสลิมบางพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น พูดภาษามลายู(จากัปมลายู) ซึ่งมีสำเนียงเหมือนกับภาษามลายูในรัฐเคดะห์ของประเทศมาเลเซีย และภาษามลายูในจังหวัดสตูลของประเทศไทย เป็นภาษามลายูคนละสำเนียงกับคนนายู(มุสลิมมลายู)ในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เรียกว่า “แกแจะนายู”

ผู้เขียนมีโอกาสได้รู้จัก “เมาะฉ๊ะ” หรือ “นางวรรณา ดารากัย” อายุ 63 ปี เมื่อสีปีก่อนและไปมาหาสู่กันตลอดมา มีความรักไคร่เหมือนเเม่ลูกก็น่าจะเรียกว่าไม่ผิดนัก ท่านเกิดที่บ้านไสเจริญ ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช พูดมลายู(จากัปมลายู)เป็นภาษาแม่ และแหลงไทยถิ่นใต้ได้ด้วย ตอนเกิดมาคนในครอบครัวจากัปมลายูจึงพูดมลายูเป็นภาษาแรก เมื่ออายุได้ 7 ขวบเข้าเรียนที่โรงเรียนของรัฐจึงเริ่มแหลงไทยถิ่นใต้ได้เพราะว่าครูสมัยนั้นสอนหนังสือด้วยภาษาไทยถิ่นใต้เป็นหลักและอีกปัจจัยคือเพื่อนที่โรงเรียนส่วนใหญ่คือคนไทยที่แหลงไทยถิ่นใต้ ทำให้ได้เรียนรู้ภาษาจากเพื่อน ๆ ไปด้วย
เมาะฉ๊ะบอกว่าตอนเด็ก ๆ พ่อกับเเม่พอจะเเหลงไทยใต้ได้บ้างแต่ไม่ชัด ส่วนคนรุ่นปู่ย่าตายายขึ้นไปนั้นพูดมลายูได้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแหลงไทยถิ่นใต้ได้เลย และปัจจุบันเด็ก ๆ ในหมู่บ้านส่วนใหญ่พูดมลายูไม่ได้แล้ว แหลงไทยถิ่นใต้ได้เพียงอย่างเดียว ผู้เขียนจึงข้อสัมภาษณ์เรื่องระบบคำเรียกเครือญาติ เพื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง มีข้อมูลดังนี้
คำเรียกเครือญาติของคนมลายูนั้นจะเเตกต่างกับการเรียกของคนไทยอยู่บ้างเช่น คนไทยมีการใช้คำเรียกที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายพ่อกับฝ่ายเเม่ซึ่งคนมลายูใช้คำเรียกเหมือนกันทั้งสองฝ่าย อีกทั้งคำเรียกพี่น้องของพ่อหรือแม่ตนเองนั้นจะมีการใช้คำเรียกที่แตกกันขึ้นอยู่กับลำดับการเกิด มีคำเรียกดังนี้

คำว่า “ปะ” ใช้เรียกผู้ชาย ส่วนคำว่า “มะ” ใช้เรียกผู้หญิง เช่น ลูกคนแรกของปู่ย่าตายายตนเองที่เป็นผู้ชายเรียกว่า “ปะหวอ” ถ้าเป็นผู้หญิงเรียกว่า “มะหวอ” ซึ่งมีความหมายว่า ลุง หรือ ป้า นั่นเอง คล้ายคนไทยนครศรีธรรมราชบางพื้นที่มีคำว่า “พ่อลุง” ใช้เรียกพี่ชายของเเม่หรือพ่อตนเอง
คำเรียกว่า “ปะหวอ” “มะหวอ” ใช้เรียกเฉพาะลูกคนแรกของปู่ย่าตายายเท่านั้น
คำว่าว่า “ปะงะ” “มะงะ” ก็ใช้เรียกเจาะลงเฉพาะลูกคนที่สองของปู่ย่าตายายเท่านั้นไม่นำไปใช้เรียกลูกลำดับอื่นๆเด็ดขาด
ในขณะที่คำว่า “ปะหลาง” “มะหลาง” , “ปะจิ” “มะจิ”, “ปะเตะ” “มะเตะ”, “ปะตาม” “มะตาม”, คำเหล่านี้สามารถใช้สลับกันได้ขึ้นอยู่กับเเต่ละครอบครัวว่าจะใช้คำไหนเรียกลูกคนที่เท่าไหร่
และคำว่า “ปะซู” “ปะฉู” หรือ “มะซู” “มะฉู” จะใช้เรียกเฉพาะลูกคนสุดท้องเท่านั้น

ทั้งนี้คนรุ่นหลังเมื่อแหลงไทยถิ่นใต้เเทนภาษามลายูจึงเรียกพ่อว่า “ปะ” เรียก แม่ ว่า “มะ” แทน
และคำเรียกเครือญาติตามลำดับการเกิดนั้นไม่เป็นที่นิยมเรียกกันแล้ว จะเรียกโดยยึดพ่อแม่ตนเองเป็นหลัก พี่ทุกคนของพ่อแม่ไม่ว่าชายหรือหญิงจะเรียกว่า “หวอ” ทั้งหมด ส่วนน้องของพ่อแม่ตนเองไม่ว่าชายหรือหญิงเรียก “ฉู” ทั้งหมด และคำว่า “โต๊ะซาก” ก็ใช้คำว่า “โต๊ะชาย” , “โต๊ะ” ก็เรียกว่า “โต๊ะหญิง” และคำว่า “เก๊าะ” ใช้เป็น “ก๊ะ”

เผยเเพร่ครั้งแรกใน – https://www.facebook.com/photo/?fbid=8138005956294297&set=a.7068378049923765

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น