งานชิ้นนี้ผู้เขียนทำไว้เมื่อ ๘ ปีที่แล้วยังเป็นเด็กน้อยมาก มีโอกาสปรับนิดหน่อยเมื่อ ๒ ปีก่อนโดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ พัฒนาการขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ ช่วงที่สำคัญ ๆ คือ
สมัยที่ ๑ ในราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๔
สมัยที่ ๒ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ ที่อิทธิพลจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแผ่ลงมาถึงไชยา เกิดการสร้างสถูปทั้ง ๔ บนฐานไพที ให้หลังจากนั้นเล็กน้อย น่าจะมีการเดิมฐานที่บริเวณบันไดทางขึ้นให้ยื่นออกมาด้านหน้าเพื่อรับสถูปบริวารอีก ๒ องค์
สมัยที่ ๓ หลังการบูรณะในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยคณะสงฆ์ และประชาชนในอ่าวบ้านดอน มีการซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุที่เล่ากันมาว่าถูกปกคลุมด้วยจอมปลวก จุดเปลี่ยนที่สำคัญของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมคือการเติมยอดใหม่แบบไทยขึ้นไปแทนที่ยอดเก่าที่หักพังลงมา
สมัยที่ ๑ ในราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๔
เราไม่มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่บอกถึงการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ การกำหนดอายุ และช่วงเวลาที่สร้างจึงอาศัยการประเมินจากรูปแบบศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมของตัวพระบรมธาตุในการสันนิษฐาน
องค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นปราสาทที่มีลักษณะผสมระหว่างปราสาทในศิลปะจาม และเจดีย์แบบจันทิของชวา มีความเก่าแก่ที่สุดและเป็นประธานของวัด ซึ่งน่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ โดยจุดประสงค์เริ่มแรกสำหรับประดิษฐานรูปเคารพในคติมหายาน ตั้งอยู่บนสันทราย ห่างจากสันทรายไชยามาทางทิศตะวันตกประมาณ ๗๐๐ เมตร จัดว่าเป็นศาสนสถานที่อยู่นอกเมืองไชยาโบราณที่ตั้งอยู่บนสันทรายไชยาดังกล่าวข้างต้น
อาคารประกอบอื่นๆสร้างด้วยไม้ หรืออิฐนั้นไม่เหลือร่องรอยหลักฐานอยู่แล้ว จึงไม่สามารถทราบลักษณะแผนผังของศาสนสถานแห่งนี้ในสมัยเริ่มแรกได้ อย่างไรก็ตามควรจะมีวิหารสำหรับประกอบพิธีกรรม และที่พักของนักบวชกระจายตัวอยู่รอบๆด้วย
ลักษณะดั้งเดิมของพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้มีการกล่าวถึงกันค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นข้อสันนิษฐานเปรียบเทียบกับรูปแบบสถาปัตยกรรมชวา และบทบรรยายมากกว่า นอกจากรูปแบบสันนิษฐานของพระบรมธาตุไชยาเดิมที่สร้างจำลอง ณ เมืองโบราณสมุทรปราการ ก็ยังไม่เคยมีใครทำการศึกษา และจำลองแบบดั้งเดิมของพระบรมธาตุไชยาเป็นภาพที่มองเห็นได้อีก การสันนิษฐานรูปแบบดั้งเดิมของพระบรมธาตุเจดีย์สมัยปราสาทอิฐ และยอดเดิมจากการประมวลข้อมูลเท่าที่ค้นหาได้ โดยเน้นหลักฐานซึ่งยังหลงเหลือตกค้างอยู่ในเมืองไชยาเป็นหลักพบว่า
ยอดเดิมของพระบรมธาตุไชยาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ส่วนที่เหลืออยู่คือส่วนบัวกลม และส่วนปลายยอดทำเป็นดอกบัวตูม ยอดที่เห็นปัจจุบันนี้ที่จริงแล้วเป็น ๒ ชิ้นแยกจากกันได้ ภายในบัวกลมนั้นกลวงเป็นช่อง สำหรับเดือยของยอดส่วนบนเสียบเข้ามายึดได้มั่นคง เป็นไปได้ว่าส่วนยอดที่เป็นดอกบัวตูมนั้นจะมีความสูงขึ้นไปมากกว่านี้ แต่ได้ผุกร่อนลงหลังจากยอดพระบรมธาตุเจดีย์พังลงมา เพราะที่เหลืออยู่ข้างจะสั้นไม่สมส่วนกันเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของสถูปิกะประดับชั้นวิมานอื่นๆ ใต้บัวกลมกลวงนั้นเป็นหน้ากระดานแปดเหลี่ยมแคบๆ เป็นจุดต่อของชิ้นส่วนยอดกับส่วนบัลลังก์ บัวคว่ำ และองค์ระฆัง เพื่อให้ไวยากรณ์ขององค์ระฆังกับยอดสอดคล้องกันนั้น แสดงว่าส่วนบัลลังก์บัวคว่ำ และองค์ระฆังย่อมจะต้องเป็นแปดเหลี่ยม มิใช่กลม เป็นแปดเหลี่ยมต่อลงมาถึงแปดเหลี่ยมเหนือชั้นวิมานชั้นที่ ๒ และยังกลับไปพ้องกับยอดเจดีย์วัดแก้วซึ่งพบหลังการขุดค้นทางโบราณคดี ก็เป็นองค์ระฆังแปดเหลี่ยมเช่นเดียวกัน
และยอดเดิมของพระบรมธาตุทั้งหมดก็น่าจะมีองค์ประกอบที่เหมือนกันกับสถูปิกะ และเจดีย์ประจำทิศบนฐานไพทีด้วยเช่นกัน และตัวองค์ระฆังควรจะเป็นแปดเหลี่ยมตามร่องรอยที่ปรากฏบนยอดพระบรมธาตุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาดังกล่าวมาแล้ว ประมวลทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นรูปแบบสันนิษฐานดังปรากฏนี้
สมัยที่ ๒ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐
ที่อิทธิพลจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแผ่ลงมาถึงไชยา เกิดการสร้างสถูปทั้ง ๔ บนฐานไพที ให้หลังจากนั้นเล็กน้อย น่าจะมีการเดิมฐานที่บริเวณบันไดทางขึ้นให้ยื่นออกมาด้านหน้าเพื่อรับสถูปบริวารอีก ๒ องค์
หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมในพื้นที่ไชยาในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมาได้แก่ จารึกพระพุทธรูปนาคปรกจากวัดเวียง ระบุศักราช ๑๗๒๖ กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปโดยเจ้าเมืองครหิ พระพุทธรูปดังกล่าวมีพุทธศิลป์ที่คล้ายกับพระพุทธรูปหินทรายแดงจำนวนมากที่พบในไชยาสมัยหลัง จึงถูกจัดให้เป็นต้นแบบของพระพุทธรูปสกุลช่างไชยา การค้นพบจารึกวัดตะพาน ซึ่งเป็นจารึกภาษาไทยที่เก่าแก่ที่สุดในภาคใต้ ซึ่งกล่าวถึงกิจกรรมทางพุทธศาสนาได้แก่การร่วมกันสร้างวิหาร การถวายที่ดินแก่วัด และอธิษฐานขอไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ การขุดค้นทางโบราณคดีที่ปราสาทวัดหลง ปราสาทวัดแก้ว ก็แสดงให้เห็นร่องรอยของการบูรณะต่อเติมตัวอาคารในช่วงเวลาสมัยอยุธยาตอนต้นหลังการทรุดโทรมในสมัยก่อนหน้า เหล่านี้ล้วนบอกเล่าถึงการฟื้นฟูเมืองไชยา และเชื่อมโยงไปสู่การสร้างวิหารหลวงและพระระเบียง ล้อมพระบรมธาตุเจดีย์ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกันองค์พระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งเป็นปราสาทอิฐในคติมหายานถูกซ่อมแซมฉาบปูนปิดทองเสียใหม่ และถูกดัดแปลงเป็นสถูปประธานของวัด เจดีย์สี่องค์บนฐานไพที อาทิองค์ที่มียอดเป็นพรหมพักตร์น่าจะเป็นการก่อสร้างต่อเติมในช่วงเวลานี้ มีการต่อเติมชุดฐานด้านหน้าฐานไพทีเป็นซุ้มพระพุทธรูปขนาบข้างบันไดทางขึ้นไปบนเรือนธาตุ
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงตั้งข้อสังเกตเรื่องการต่อเติมฐานส่วนนี้ไว้ดังนี้
“ฐานที่ยื่นออกมาเป็นก่อฝากแลบัวไม่กินกัน ยังซ้ำเห็นบัวเดิมแพลมที่บันได ให้รู้ว่าฐานเก่าเปน ๔ เหลี่ยม ด้านหน้าตัดช่องบันไดขึ้นเท่านั้น”
สมัยที่ ๓ หลังการบูรณะในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยคณะสงฆ์ และประชาชนในอ่าวบ้านดอน มีการซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุที่เล่ากันมาว่าถูกปกคลุมด้วยจอมปลวก จุดเปลี่ยนที่สำคัญของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมคือการเติมยอดใหม่แบบไทยขึ้นไปแทนที่ยอดเก่าที่หักพังลงมา
สิ่งที่ควรสังเกตอีกประการคือ ระดับดินปัจจุบันกับระดับดินของวัดพระบรมธาตุในสมัยอยุธยานั้นมีความแตกต่างกัน โดยที่ระดับดินในปัจจุบันนั้นเพิ่มสูงจากระดับดินในสมัยอยุธยาประมาณ ๑.๒๐ เมตร จึงเห็นว่าฐานไพทีองค์พระบรมธาตุจมอยู่ต่ำกว่าระดับลานภายในพระระเบียง และทำขุดเป็นสระล้อมไว้ โดยตั้งใจที่เปิดให้เห็นชุดฐานทั้งหมดของพระบรมธาตุ ดังปรากฏกล่าวถึงใน จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (๒๔๔๕) ว่า
“ฐานรององค์พระธาตุจมใต้ชลาสองศอก ท่านพระครูคิดขุด แต่พื้นเตี้ยเสมอด้วยทุ่งนา น้ำไหลเข้ามาท่วม จึงต้องแก้ไขทำรางลึกให้เห็นฐานพระธาตุอย่างนี้… ทำรางอย่างนี้เป็นการฉลาดมาก…”
และใน รายงานการปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเมืองไชยาฯ
“พื้นฐานของเจดีย์ที่จมดินอยู่ได้ขุดเป็นสระโดยรอบถึงเชิงดินลึก ๒ ศอก กว้างศอก เศษ ๆ แล้วก่อด้วยอิฐโบกปูน”
การที่ชั้นดินมีความต่างระดับกันนี้ยังส่งผลต่อระดับความสูงของตัวอาคารเมื่อบูรณะใหม่ที่จะต้องยกสูงขึ้นตามระดับดินที่ยกสูงขึ้น เป็นเหตุให้ตัวพระบรมธาตุเจดีย์ดูเหมือนจะถูกความสูงของอาคารกดให้เตี้ยลงมาตามที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงวิเคราะห์ไว้ว่า
“…ต้องก่อผนังเสริมขึ้นแลก่อเสาหน้า ยกหลักคาสูงกว่าเก่าทำให้องค์พระธาตุทรุดไปมาก”
และความเปลี่ยนแปลงในชั้นหลังสุดคือการแก้ยอดใหม่ในคราวบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งรัชกาลที่ ๕ ทำให้พระบรมธาตุเจดีย์ความสูงที่ยอดเดิมประมาณ ๑๘ เมตร เพิ่มขึ้นเป็นถึง ๒๔ เมตร พระบรมธาตุเจดีย์ดูเพรียวโปร่งขึ้น และเป็นภาพที่คุ้นตาของคนทั่วไปในปัจจุบัน
องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมในระยะนี้ที่เด่นชัดที่สุดคือ วิหารหลวงและพระระเบียงซึ่งตัววิหารยื่นล้ำเข้าไป และโบสถ์ซึ่งจากการศึกษาเสมาหินทรายแดงรอบอุโบสถ อาคารบริวารอื่นๆเช่นวิหารปาก วิหารเขียน ด้านหน้าของวิหารหลวงทั้งซ้ายและขวา วิหารหอไตร เจดีย์บริวารต่างๆ ซึ่งบางหลังถูกบันทึกไว้ได้ในแผนผังจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (๒๔๔๕) ก่อนที่จะหายไปแล้วในปัจจุบัน ก็แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในวัดพระบรมธาตุไชยาเรื่อยมาตลอดสมัยอยุธยา
พอยต์คลาวองค์พระบรมธาตุไชยา
พอยต์คลาวองค์พระบรมธาตุไชยา
รูปแบบการก่อโครงสร้างส่วนเรือนยอดขององค์พระบรรมธาตุ
แผนผัง และภาพตัดขวาง แสดงครรภคฤหะ และระบบโครงสร้างขององค์พระบรมธาตุไชยา
รูปด้าน และภาพตัดขวาง แสดงระยะสัมพันธ์ระหว่างรูปด้าน กับโครงสร้างภายในองค์พระบรมธาตุไชยา
อาคารสำคัญในเขตสังฆาวาสช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๕ หลังการบูรณะใหญ่ โดยคณะสงฆ์ และประชาชนรอบอ่าวบ้านดอน
ในการบูรณะครั้งนี้มีการซ่อมแปลงยอดพระบรมธาตุจากสถูปอิฐเอวคอด เป็นยอดทรงระฆังอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน ทำให้พระบรมธาตุจากเดิมที่มีความสูงอยู่ที่ประมาณ ๑๘ เมตร เพิ่มขึ้นเป็น ๒๔ เมตร ตามที่ปรากฏในรายงานการปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเมืองไชยาฯ ความว่า
“พระเจดีย์ซึ่งบรรจุพระสารีริกธาตุนั้น ได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นตามเค้าเดิมของเก่าบ้าง ได้ดัดแปลงไปให้แปลกไปบ้าง ได้เพิ่มเติมขึ้นใหม่บ้าง ที่เพิ่มเติมจากของเก่าบ้างนั้นคือ ได้ต่อบัวคอระฆัง และขยับยอดให้สูงขึ้นไป ๑ แห่ง กับได้ทำฉัตรใส่ยอด คือทำเป็น ๓ ชั้น ก้านและใบฉัตรภายในรองด้วยเงินแล้วหุ้มด้วยทองคำ”
พร้อมทั้งได้สร้างวิหารหลวง และพระระเบียงขึ้นใหม่บนฐานเดิมซึ่งมีรากมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างเจดีย์ ๘ เหลี่ยมขึ้นครอบพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่บริเวณที่เคยเป็นวิหารปากขวามือของวิหารหลวง ส่วนอุโบสถหลังเดิมนั้นชำรุดหักพังจนไม่เหลือเค้าเดิมต่างจากวิหารที่ยังพอเห็นฐานราก อุโบสถจึงเป็นของทำขึ้นใหม่โดยไม่สัมพันธ์กับเค้าโครงของอุโบสถหลังเดิมเลย
ประกอบด้วย
วิหารหลวง ซึ่งบูรณะขึ้นตามแนววิหารหลวงสมัยอยุธยาที่ชำรุด มีลักษณะเป็น วิหาร ๕ ห้อง ผนังหน้า ๑ เมตร ไม่มีเสาร่วมใน ท้ายวิหารยื่นล้ำเข้าไปในระเบียงคด เป็นห้องขนาดเล็กซึ่งนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้
อุโบสถ เมื่อมีการบูรณะวัดพระบรมธาตุไชยาครั้งใหญ่ในระหว่างปี ๒๔๓๙ – ๒๔๕๓ ได้มีการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น ในตำแหน่งที่เป็นซากของอุโบสถหลังเดิมซึ่งพังทลายอย่างไม่เหลือรูปทรง
อาคารสำคัญในเขตสังฆาวาสปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาปรับปรุงในสมัยที่พระอริยนันทมุนี (พุทธทาสภิกขุ) เป็นเจ้าอาวาส
สมัยพุทธทาสภิกขุเป็นเจ้าอาวาสนั้นเป็นช่วงเวลาที่วัดพระบรมธาตุไชยาได้ถูกยกความสำคัญ เป็นที่รู้จักกว้างขวางมาก และเป็นช่วงที่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ตลอดจน ก่อสร้างอาคารใหม่มากที่สุด ซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงประเภทจดหมายเหตุ และเอกสารร่วมสมัย รวมทั้งปากคำของผู้ที่ยังทันเหตุการณ์ต่างๆหลงเหลือให้ค้นคว้าอยู่มาก อาจกล่าวได้ว่าวัดพระบรมธาตุไชยาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เป็นผลจากพัฒนาการในช่วงนี้อย่างมากก็ว่าได้
พัฒนาการที่สำคัญในระยะนี้ได้แก่
๑ การรื้อสร้าง วิหารหลวง และอุโบสถใหม่ แทนที่ อาคารเดิมที่สร้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมและมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการประกอบ
ศาสนพิธี
๒ ก่อสร้างรั้วรอบเขตพุทธาวาส และวัด
๓ สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา เพื่อเป็นที่จัดแสดง และเก็บรักษาโบราณวัตถุแทนวิหารหลวง
อาคารสำคัญประกอบด้วย
วิหารหลวง มี ๑๑ ช่วงเสา กว้าง ๙ เมตร ยาว ๓๒ เมตร
เป็นงานออกแบบของ พระครูถาวรวัติวิมล (พ่อท่านแก้ว วัดดอนพด) สร้างด้วยด้วยเงินงบประมาณฉลองกึ่งพุทธกาล เริ่มสร้างเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฏาคม ๒๕๐๓ ส่งมอบงานตามสัญญาในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๐๕ โดยมีนายสำเริง ศึกเสือ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
ท้ายวิหารยื่นเข้าไปในระเบียงคดซึ่งเป็นการรักษาผังของวิหารหลวงหลังเดิม และได้แก้จากห้องทึบด้านหลังเป็นมุขโปร่ง การแก้ห้องทึบเป็นโปร่งนี้เป็นการแก้ปัญหาด้านการใช้งานที่พบในวิหารหลวงหลังเก่า เนื่องมาจากระยะระหว่างผนังท้ายจระนำถึงขอบสระน้ำรอบพระบรมธาตุมีระยะเพียง ๑ เมตร ทำให้ไม่เป็นการสะดวกที่จะขึ้นไปนมัสการภายในพระบรมธาตุ ซึ่งในสมัยนั้นยังอนุญาตให้ผู้ชายสามารถขึ้นไปสักการะภายในได้ การซ่อมแปลงนี้ทำให้ได้พื้นที่สำหรับการสักการะพระบรมธาตุเพิ่มขึ้น และเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้นอีกด้วย
อุโบสถ
การก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ก่อนหน้าการก่อสร้างวิหารหลวงหลังใหม่ ๒ ปีโดยมีแนวคิดที่จะจำลองรูปแบบของวิหารหลวงเอาไว้ ทั้งนี้ก็น่าจะเป็นด้วยความตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของวิหารหลวง ซึ่งจะต้องรื้อสร้างใหม่เช่นกันในเวลาอันใกล้
อุโบสถหลังใหม่ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ต่อมุขโถงด้านหน้าคลุมประตูทางเข้า ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการแก้ปัญหาเรื่องฝนสาด และเป็นพื้นที่เตรียมก่อนเข้าสู่อาคารที่รับมาจากการต่อมุขกันสาดที่ทำกับวิหารหลวง
แนวคิดการปรับปรุงเขตพุทธาวาส โดยพระอริยนันทมุนี (พุทธทาสภิกขุ) ซึ่งไม่ได้ทำ อ้างอิงจากเอกสารจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ, โครงการบูรณะวัด ลงวันที่ ๔ กรกฏาคม ๒๔๙๔, BIA1.2.3/3 [BIA01020301-030-0017_00-0000] – [BIA01020301-030-0020_00-0000].