มรดกแห่งลุ่มทะเลสาบที่ถูกโจรกรรม และหายสาปสูญแผ่นรัตนจงกรมของสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่(?)วัดสูงเกาะใหญ่ ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ สงขลา

ภาพถ่ายได้รับความอนุเคราะห์จาก กลุ่มโบราณ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา ขอขอบพระคุณในความอนุเคราะห์เป็นอย่างสูงครับ

แผ่น ดินเผาหรือสำริด จำนวน ๑๐ แผ่น มีสันฐานเป็นรูปวงกลม ๙ แผ่น รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๑ แผ่น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๐ – ๕๐ เซนติเมตร เป็นของวัดสูงเกาะใหญ่ จากการสัมภาษณ์บุคคลหลายคนให้ข้อมูลกับผมว่า คนเกาะใหญ่รับรู้กันว่าของชุดนี้เป็นของที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ พระเถระในตำนานอันเป็นที่เคารพนับถืออย่างมากในคาบสมุทรสทิงพระโดยเฉพาะสำหรับคนเกาะใหญ่ และกระแสสินธุ์ เนื่องจากไม่มีใครทันรู้เห็นการใช้ ได้แต่ฟังและสันนิษฐานต่อมาว่ามีการใช้ประโยชน์ ๓ ทางคือ
๑ สิ่งนี้เป็นที่เหยียบรองก้าวเดิรจงกรมของสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่
๒ สิ่งนี้เป็นที่หมายนิมิตสำหรับทำกรรมฐานของสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ โดยว่าแผ่นวงกลมไว้โดยรอบ มีแผ่นสี่เหลี่ยมอยู่ตรงกลาง
๓ เป็นชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรม
จากที่รับฟังมา ผมคิดว่าคำอธิบายเรื่องแผ่นจงกรมนั้นน่าสนใจ ชวนให้นึกถึงการทำรัตนจงกรมเจดีย์ ในการจำลองเหตุการณ์เสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ที่ ๓ ทรงนิรมิตลานจงกลมแก้ว มีการทำแผ่นรองจงกลมในรูปวงกลมรองรับด้วยดอกบัวนี้ที่พุทธคยาในลักษณะใกล้เคียงกัน
ชุดแผ่นวงกลมทั้ง ๑๐ นี้อาจไม่ใช่แผ่นรองเดิรจงกรมของสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่โดยตรง แต่เป็นรัตนจงกรมเจดีย์ ซึ่งทำขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายบางอย่าง
ผมพิจารณาคร่าว ๆ จากกระบวนลาย และไส้ลาย น่าจะกำหนดอายุอย่างกว้าง ๆ ได้ในช่วงราวครึ่งหลังของ พศว ๒๒ และไม่เกินครึ่งแรกของพศว ๒๓ (๒๑๕๐ – ๒๒๕๐) ประเด็นนี้หากพิจาณาร่วมกับตำนานของสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ที่ว่า ท่านอพยพพร้อมผู้คนจากพื้นที่เมืองปัตตานีโบราณ หนีโจรสลัดเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะใหญ่ และน้องชายของท่านมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบวัดกาหรำ อีกทั้งท่านยังเป็นสหายธรรมกับสมเด็จเจ้าพะโคะ การจะอธิบายจากตำนานว่าวัตถุนี้เป็นของสมัยสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ก็ยังไม่มีข้อขัดแย้งเท่าไหร่ เพราะยุคสมัยของหลวงปู่ทวด และศึกโจรสลัดก็คาบเกี่ยวอยู่ในห้วงเวลานี้
แผ่นรองจงกรม หรือรัตนจงกรมเจดีย์นี้ เมื่อวัดสูงเกาะใหญ่ร้างลง ยังคงเก็ยรักษาอยู่ที่วัดจนกระทั่งในสมัยของพระครูสังวราภิราม เจ้าอาวาสวัดเกาะใหญ่ (ล่าง) ได้เชิญลงมารักษาไว้ที่วัดเกาะใหญ่ (ล่าง) พร้อมวัตถุมีค่าอีกหลายชิ้น
ภาพนี้ถูกบันทึกไว้ในคราวที่สำนักศิลปากร สงขลา ลงพื้นที่สำรวจตามคำแนะนำของคุณเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ไม่มีปีกำกับว่าลงมาปีใด แต่จากการเปรียบเทียบรายละเอียดในภาพถ่ายชุดเดียวกัน น่าจะถ่ายในราว ๆ ๒๕๑๐ เพราะบุคคลที่ปราฏในภาพถ่ายบางภาพที่ตอนนี้อายุประมาณ ๖๐ กว่าปียังเด็กอยู่
วัตถุชิ้นนี้ถูกโจรกรรมไปจากกุฎิเจ้าอาวาสหลังพระครูสังวราภิรามมรณภาพ พร้อมโบราณวัตถุอื่น ๆ อาทิ พระแม่ธรณีบีบมวยผมสมัยอยุธยา เมื่อหลายสิบปีก่อน ปัจจุบันยังไม่ทราบสถานะและการเก็บรักษา เนื่องจากเป็นของพิเศษทั้งวิธีประดิษฐคิดสรร และลวดลาย ไปอยู่ที่ไหนหากได้เห็นซักแว๊บเดียวก็น่าจะจำได้ หรือนึกได้ว่าเป็นของวัดสูงเกาะใหญ่ครับ
เมื่อช่วงต้นปีผมแวะไปพิพิธภัณฑ์วัดบางทีง พบแผ่นดินเผาทรงกลมลักษณะนี้หลายแผ่น วัสดุเป็นดินเผา เส้นผ่านศูนย์กลางราว ๆ ๓๕ เซนติเมตร ตรงกลางทำเป็นรูปนักษัตรกลางดอกบัว ถามเจ้าอาวาสว่าเป็นแผ่นนักษัตร ๑๒ แผ่นไม่รู้ใช้ทำอะไร นึกดูก็อาจจะทำคติคล้าย ๆ กับของที่สูญไปจากวัดสูงเกาะใหญ่ก็ได้ อาจจะมีคติทำรัตนจงกรมแบบนี้แพร่หลายรอบลุ่มทะเลสาบสงขลามาก่อน แต่ได้ถูกลืมเลือนไปแล้ว หรือจริง ๆ แล้วมันถูกสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์อื่น ๆ ยังไม่รู้แน่ชัดครับ

เผยแพร่ครั้งแรกใน – https://www.facebook.com/photo/?fbid=122131700966027338&set=a.122109112190027338

ใส่ความเห็น