เดี๋ยวนี้เราเรียกฉากมหาภิเนษกรมณ์กันอย่างรวม ๆ ว่าพระม้า แต่ในเอกสารเก่านั้น ชาวนครยังเรียกรูปเจ้าชายสิทธัตถะที่ประทับบนหลังม้านี้ว่า “#พระศรีธาตุ” อีกด้วย รูปพระศรีธาตุทรงม้านี้เป็นงานอยุธยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ไม่มีบันทึกการสร้างที่ชัดเจน และไม่ได้ถูกกล่าวถึงในกระบวนพระศรีรัตนมหาธาตุ แต่ถูกกล่าวถึงอยู่ในลักษณะตำนานปรากฎอยู่ใน #พระนิพพานโสตร (ตำนานพระบรมธาตุนครฉบับร้อยกรอง ไม่ปรากฏเรื่องนี้ในตำนานเวอร์ชันร้อยแก้ว) ความว่า
เจ้าหมุดกับเจ้าหมู ลูกชายของเศรษฐีลังกา (ชื่อพลิติ กับพลิมุ่ย) ที่ติดตามบิดามาช่วยสร้างพระบรมธาตุนครตามคำสั่งของกษัตริย์ลังกานั้น วันหนึ่งได้ไปชนไก่กันที่ทำนบใหญ่ (ทำนบฝรั่ง) เกิดทะเลาะกันจนฆ่ากันตาย เศรษฐีทั้งสองได้ปลงศพเจ้าหมุดเจ้าหมูลูกชายแล้ว เอาเถ้าอัฐิมาผสมปูนปั้นเป็นรูปพระศรีธาตุทรงม้า ปั้นพระพุทธรูปยืนหันเข้าหาบันได แล้วปั้นรูปสิงห์ สำหรับไว้เป็นที่ระลึก
.
๐ เอาศพทั้งสองรา เผาเสียมิช้า
เอาอัฐิมาทั้งมูล
๐ ทิ่มตำทำเคล้าเข้าปูน ไม่ให้สาปสูญ
นุกูลปั้นรูปพระบาท
๐ #เมื่อครั้งเป็นพระศรีธาตุ ปางหนีนางนารถ
มเหษีวรราชพิมพา
๐ แล้วปั้นเป็นรูปอาชา ปั้นรูปเทวา
ทั้งรูปนายฉันทามาตย์
๐ ปั้นรูปพิมพานุชนาฎ กอดราหุลราช
บุตรเศรษฐีชายสองฝ่าย…
ใน “#รายงานการปฎิสังขรณ์วัดพระบรมธาตุของพระอธิการร่ม วัดหน้าพระธาตุ ต่อพระยาวุฒิการบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒” รายงานว่าได้ซ่อม
…พระศรีธาตุยืน ๒ องค์ ทรงม้า ๒ องค์สูง ๓ ศอก ใช้ทองไปทั้งสิ้น ๔ พันแผ่น ค่าจ้าง ๒๔ บาท…
ใน “#บาญชีรายจ่ายเงินและรายการที่ได้กระทำในวัดพระบรมธาตุ ตั้งแต่ศก ๑๑๑ ถึง ๑๒๖” ของพระอุปัชชาหวานระบุว่า
รศ ๑๒๒ ได้ทำพระพุทธรูปในพระม้าพระสีธาตุสูง ๓ ศอก
ได้ลงทอง ๑๐๐๐ ค่าจ้างทำ ๑๐ บาท
– พระสีธาตุที่ทรงม้าสูง ๓ ศอก
ได้ลงทอง ๑๐๐๐ หนึ่ง ค่าจ้างทำ ๑๐ บาท
– ม้าที่ทรงนั้นยาว ๔ ศอก สูง ๓ ศอก
ได้ลงทอง ๑๐๐๐ หนึ่ง ค่าจ้างทำ ๑๐ บาท
– นางพิมพายาว ๒ ศอก
ได้ลงทอง ๑๐๐๐ หนึ่ง ค่าจ้างให้ช่างทำ ๗ บาท ๕๖ อัฐ
– นางกำนัล ๔ คน
ได้ลงทองค่าจ้างทำ ๗ บาท ๕๖ อัฐ
– พระยามารสูง ๒ ศอก
ได้ลงทอง ๑ พัน ค่าทำ ๕ บาท
– เทวดาที่ชูตีนม้า ๑๗ องค์ สูง ๒ ศอก
ได้ลงทอง ๑๓๖๐๐ ค่าจ้างช่างทำ ๗๕ บาท
– พระพิมพาด้านปัจจิมยาว ๒ ศอก
ได้ลงทอง ๑๐๐๐ หนึ่ง ค่าจ้างทำ ๗ บาท ๕๖ อัฐ
– นางกำนัล ๓ คน
ได้ลงทอง ๖๐๐ ค่าจ้างให้ทำ ๖ บาท
ใน #สมุดภาพไตรภูมิ เลขที่ ๑๐/ก ซึ่งเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) มอบให้กับหอสมุดวชิรญาณ สัญนิษฐานว่าเป็นฉบับคัดลอกจากฉบับหลวงสมัยธนบุรี และเป็นของประจำเมืองนครมาแต่เดิมนั้น ในภาพแสดงพุทธประวัติตอนพบเทวทูตสี่ มีข้อความกำกับว่า
“พระสีธาตุออกชมสวรอุทิยานเหนคนแก่แลผีตายพระสงฆก่สังเวด”
สมุดภาพไตรภูมินี้แม้จะคัดลอกจากฉบับหลวง แต่ก็มีผู้เสนอว่าเป็นงานคัดลอกในสมัยรัชกาลที่ ๓ ลงมาในสมัยเจ้าพระยานครน้อย อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจดู #สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงเบอร์ลิน ที่เชื่อกันว่าเป็นฉบับหลวงครั้งกรุงธนบุรี ในฉากเจ้าชายสิทธัตถะพบเทวทูตสี่นั้นก็มีข้อความกำกับเหมือนกันต่างกันเพียงอักขระวิธีว่า
“พระศรีธาตออกชมสวนอุทยานเหนคนแกแลผีตายพระสงฆกสังเวด”
ด้วยเหตุนี้ ดูเหมือนว่า การเรียกเจ้าชายสิทธัตถะว่า พระศรีธาตุ นั้นมีมาแล้วตั้งแต่สมัยธนบุรีเป็นอย่างน้อย และคงไม่ได้มีแต่ชาวนครโบราณที่เรียกเช่นนี้ หากมีอยู่ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงครั้งธนบุรี ก็อาจจะมีการเรียกเจ้าชายสิทธัตถะว่า พระศรีธาตุ อยู่ในภาคกลางยุคหนึ่งด้วย
พระศรีธาตุ ซึ่งน่าเป็นการกร่อนเสียงของคำพระสิตธัตถะนี้ (หรือมาจาก สิทฺธารฺถ ออกเสียงว่า สิดทาด ตามรูปสันสกฤต ก็ดูใกล้เคียงไม่น้อย) จะเริ่มใช้เมื่อไหร่ เลิกความนิยมใช้ไปเมื่อไหร่ผมคิดว่าอาจจะต้องตามต่อไปครับ
เผยแพร่ครั้งแรกใน - https://web.facebook.com/photo/?fbid=10210966390114441&set=a.10210866069806496