ในเดือนกุมภาพันธ์ปี ๒๔๓๘ พระยานครศรีธรรมราช (ท่านชื่อหนู แต่เอกสารส่วนใหญ่เรียก พร้อม) ที่ภายหลังจะได้รับสถาปนาเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีกลับคืนเมืองนคร หลังถูกนำขึ้นไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ประมาณ ๑๕ ปี จากข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่นา ทั้งยังมีคดีเรื่องใช้อิทธิพลเบียดเบียนจีนเจ้าภาษี และจีนทำเหมืองดีบุกพ่วงอยู่ด้วย
แต่คดีต่าง ๆ ไม่เคยถูกนำขึ้นไต่สวนชำระความเลย เมื่อพระยานครยื่นฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานฯ กลับคืนเมืองนั้น กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาทำความเห็นถวายว่าที่จริงแล้วคดีความนั้นไม่ใช่ความผิดร้ายแรงอะไร แต่ขอให้ชะลอการอนุมัติการกลับคืนเมืองไปก่อนจนกว่าจะได้ทรงฟังความเห็นจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า
การกลับคืนเมืองของเจ้านคร จะกระทบกับการจัดการปกครองหัวเมืองภาคใต้ ที่มหาดไทยกำลังดำเนินอยู่หรือไม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงทรงให้เจ้านครรั้งรออยู่จนกระทั่งได้รับความเห็นจากสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ในปลายเดือนนั้นว่าไม่เป็นการขัดข้องอะไร ที่จริงถ้าดูสาส์นสมเด็จจะพบว่ากรมพระยาดำรงฯ น่าจะมีบทบาทสนับสนุนการอนุญาตให้เจ้านครคืนเมืองอย่างแข็งขัน
เอกสารจดหมายเหตุเท่าที่เหลือมาแสดงบรรยากาศที่ตึงเครียดเล็กน้อยระหว่างพระยานคร กับพระยาสุขุมนัยวินิจ ผู้สำเร็จราชการมณฑล แต่เป็นในทางที่เจ้านครในฐานะของผู้นำฝ่ายท้องถิ่นนั้นดูจะเกรงใจพระยาสุขุมฯในฐานะผู้แทนอำนาจจากส่วนกลางมากจนวางตัวลำบาก ในระหว่างราว ๑๕ ปีที่เจ้านครถูกกักตัวที่กรุงเทพฯ ขั้วอำนาจต่าง ๆ ในภาคใต้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล พลังอำนาจของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเดิมที่เคยขึ้นถึงจุดสูงสุดในสมัยเจ้านครน้อยลดต่ำลงถึงขนาดที่ว่า พระยานครต้องขอร้องเป็นการส่วนตัวต่อพระยาสุขุมไม่ให้กระทำอะไรที่จะทำให้เกียรติยศของท่านตกต่ำมากกว่านี้ เป็นต้นว่าอย่ายกเรื่องที่ท่านเคยเกณฑ์แรงงานขุนหมื่นมาใช้โดยมิชอบ เพราะหากเรื่องแดงคนที่ยังยอมให้ท่านใช้สอยอยู่ก็จะพากันหายหน้าไปเนื่องจากหาช่องอยู่แล้วแต่ที่มาอยู่เพราะยังเกรงบารมีเก่า อีกทั้งส่วนตัวเจ้านครเองเมื่อกลับมาแล้วก็แทบไม่มีทาศเหลืออยู่เลย
การกลับคืนเมืองนครของพระยานครศรีธรรมราช (พร้อม) ดูเหมือนจะไม่ได้นำมาซึ่งปัญหาสำคัญอะไรเลยที่กระทบต่อความพยายามปฎิรูปการปกครองของชนชั้นนำสยามสมัยนั้น มันราบรื่นอย่างน่าประหลาดใจ เมืองตรัง เมืองท่าทอง กับอีกหลายเมืองแถบลุ่มทะเลสาบและภาคใต้ตอนล่างถูกแบ่งออกไปเป็นหน่วยการปกครองใหม่ที่ขึ้นตรงต่อราชสำนักสยามไปก่อนแล้ว
แต่กระนั้นเองในปี ๒๔๓๘ ขอบเขตอำนาจการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชก็ยังคงมีขนาดใหญ่อยู่มากในแฟ้มเอกสารจดหมายเหตุเรื่อง การปกครองท้องที่เมืองนครศรีธรรมราช ร.ศ.114-115 มีกระดาษลายมือเขียนอยู่ 2 แผ่นให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพื้นที่ปกครองเมืองนครที่เหลืออยู่ขณะนั้นความว่าดังนี้
“…เขตรแขวงเมืองนครศรีธรรมราชแบ่งเป็น ๕๐ อำเภอ คนพื้นเมืองเรียกอำเภอว่า “ที่” อำเภอเหล่านี้ใหญ่บ้างเล็กบ้างมาแต่โบราณตามพลเมืองมากแลน้อย
ขึ้นสัสดีขวา ๑๙ อำเภอ คือ
๑ อำเภอหรือ “ที่” #ท่าชี
2 อำเภอหรือ “ที่” #ฉวาง
3 อำเภอหรือ “ที่” #เวียงสะ
4 อำเภอหรือ “ที่” #เบียด
5 อำเภอหรือ “ที่” #ละอาย
6 อำเภอหรือ “ที่” #ท่องสง
7 อำเภอหรือ “ที่” #ถ้ำ
8 อำเภอหรือ “ที่” #กุแระ
9 อำเภอหรือ “ที่” #แก้ว
10 อำเภอหรือ “ที่” #ช้างกลาง
11 อำเภอหรือ “ที่” #ขนอม
12 อำเภอหรือ “ที่” #นบผีตาย
13 อำเภอหรือ “ที่” #อินคีรี
14 อำเภอหรือ “ที่” #เบียดสัด
15 อำเภอหรือ “ที่” #สง
16 อำเภอหรือ “ที่” #พิเชียร
17 อำเภอหรือ “ที่” #พนัง
18 อำเภอหรือ “ที่” #กะเตา
19 อำเภอหรือ “ที่” #ปราน
.
ขึ้นสัสดีซ้าย 28 อำเภอ คือ
๑ อำเภอหรือ “ที่” #พนม
2 อำเภอหรือ “ที่” #พะแสง
3 อำเภอหรือ “ที่” #ลำพูน
4 อำเภอหรือ “ที่” #อีปัน
5 อำเภอหรือ “ที่” #ชะมาย
6 อำเภอหรือ “ที่” #ชายคราม
7 อำเภอหรือ “ที่” #สมุย
8 อำเภอหรือ “ที่” #สุชล
9 อำเภอหรือ “ที่” #อะลอง
10 อำเภอหรือ “ที่” #ปลาย
11 อำเภอหรือ “ที่” #รอ
12 อำเภอหรือ “ที่” #ไทยบูรี
13 อำเภอหรือ “ที่” #โมกคะราม
14 อำเภอหรือ “ที่” #พรหมโลก
15 อำเภอหรือ “ที่” #ท้ายวัง
16 อำเภอหรือ “ที่” #ไชยมนตรี
17 อำเภอหรือ “ที่” #ช่างซ้าย
18 อำเภอหรือ “ที่” #กำลน
19 อำเภอหรือ “ที่” #ร่อนดินหม้อ
20 อำเภอหรือ “ที่” #ท้ายวังท่าดี
21 อำเภอหรือ “ที่” #ร่อนพิบูน
22 อำเภอหรือ “ที่” #สามตำบล
23 อำเภอหรือ “ที่” #ควนตะพัง
24 อำเภอหรือ “ที่” #ท้ายวังบางจาก
25 อำเภอหรือ “ที่” #ท้ายวังพังใคร
26 อำเภอหรือ “ที่” #เก้าระวาง
27 อำเภอหรือ “ที่” #พะนางตุง
28 อำเภอหรือ “ที่” #เคร็ง
ยังมีอำเภอในเมืองอีกสามอำเภอขึ้นแก่พนักงานเมือง 1 คลัง 1 นา 1
อำเภอหรือ “ที่” ขึ้นกับพนักกงานเมืองชื่อ ที่ #เมือง
อำเภอหรือ “ที่” ขึ้นกับพนักกงานคลังชื่อ ที่ #ท่าวัง
อำเภอหรือ “ที่” ขึ้นกับพนักกงานนาชื่อ ที่ #วัดสบ