“ท่านร่ม” จากมือขวาของท่านปานผู้ซ่อมพระบรมธาตุเมืองนคร สู่บุคคลที่ได้รับการจดจำเพียงกองขี้

เอกสารลายมือพระครูพิศาลวิหารวัตร์ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

“ขยำขี้ท่านร่ม” เป็นสำนวนชาวนครทั่ว ๆ ไปใช้กับเหตุการณ์เมื่อคนที่เรามาดหมายฝากความหวังเอาไว้ทำให้ผิดหวัง ล่า ๆ มาความหมายกลายไปเป็นหลายทำนองเช่น ทิ้งสิ่งไม่ดีเอาไว้ให้คนอื่นรับผิดชอบ

ท่านร่ม หรือพระครูพิศาลวิหารวัตร์ เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่เมื่อร้อยปีเศษ ประวัติว่าเป็นชาวไทรบุรี (ด้วยเหตุนี้มังครับ ครูน้อม อุปรมัย ถึงตั้งชื่อซอยในชุมชนแขกไทรบุรีหลังพระธาตุว่าซอยท่านร่ม) ช่วงปฐมวัยจนกระทั่งอุปสมบทเป็นมาอย่างไรไม่แน่ชัด ท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการช่วยพระครูเทพมุนีปาน ตั้งแต่เมื่อยังเป็นพระภิกษุปานในปีพ.ศ.2436 ออกเรี่ยไรหาทุนทรัพย์มาซ่อมพระธาตุอย่างต่อเนื่อง เมื่อท่านปานสึกออกไปท่านก็มาเป็นแม่กองจับการซ่อมวิหารเขียน และกลีบบัวทองคำใต้ปลียอด

แต่เมื่อท่านเข้ามาจับการเป็นแม่กองซ่อมแล้ว พระภิกษุสงฆ์ และกรมการเมืองโจทย์ท่านว่าทำการไม่เรียบร้อย ทั้งยังดูเหมือนจะตุกติกเรื่องทองคำหุ้มกลีบบัวด้วย เป็นเหตุให้คณะสงฆ์กับฝ่ายบ้านเมืองต้องรีบเข้ามาเทคโอเวอร์การปฎิสังขรณ์พระธาตุแทน เรื่องซ่อมกลีบบัวนี้มีข้อเท็จจริงที่ควรทราบคือยอดทองคำของพระบรมธาตุนั้นจนกระทั่งมาถึงยุค ร.5 แล้วก็ยังไม่ใช่ทองคำแท้ทั้งหมด บางส่วนตอนล่างของปลีและบริเวณกลีบบัวคว่ำบัวหงายนั้นยังเป็นทองผสมเปอร์เซนต์ทองน้อย หรือเป็นโลหะกะไหล่ทอง

การซ่อมแซมพระบรมธาตุครั้งใหญ่ในสมัยท่านปานได้พยายามไรทองบริสุทธิ์เข้ามาแผ่หุ้มแทนที่โลหะส่วนนี้โดยเฉพาะบริเวณกลีบบัวคว่ำบัวหงาย แต่ยอดพระบรมธาตุก็ยังไม่ได้เป็นทองบริสุทธิ์ทั้งหมดจนกระทั่งถึงการซ่อมใหญ่ในระหว่างปี 2537 – 2538 เมื่อท่านร่มถูกกันออกจากการซ่อมสิ่งปลูกสร้างสำคัญไปรับผิดชอบการซ่อมเจดีย์บริวารต่าง ๆ แทน ฝ่ายบ้านเมืองก็เริ่มสืบสวนพฤติการณ์ของท่านเกี่ยวกับการเรี่ยไรเงินซ่อมพระธาตุที่ผ่าน ๆ มาย้อนไปตั้งแต่ครั้งท่านปาน

ในขณะที่ยังไม่มีข้อสรุปอะไรแน่ชัดท่านร่มก็ออกจากเมืองนครไปในปี พ.ศ.2453 หายสาปสูญไปจากการรับรู้อยู่ 4 ปี จึงมีคนไปพบท่านที่มะริดกำลังเรี่ยไรชาวบ้านแถบนั้นโดยอ้างว่าจะนำเงินมาสบทบการซ่อมพระธาตุเมืองนคร คณะสงฆ์สยามประสานฝ่ายบ้านเมืองให้จับกุมท่านร่มมาสอบสวน แต่ท่านก็หายตัวไปอีก จนมาพบท่านมรณะภาพอยู่ที่กระบี่ในปี พ.ศ.2458 มีทรัพย์สินติดตัวอยู่ทั้งหมด 4,621 บาท มีการหารือกันว่าทรัพย์ส่วนนี้ควรมอบมายังเมืองนครเพื่อปฎิสังขรณ์พระธาตุตามเจตนารมณ์ผู้บริจาคให้ท่านร่ม

เราไม่รู้แน่ชัดว่าสำนวน หยำขี้ท่านร่ม เกิดตั้งแต่เมื่อท่านร่มออกจากเมืองนคร หรือเกิดทีหลังเมื่ออะไร ๆ กระจ่างแล้ว อย่างไรก็ตามชื่อท่านร่มผู้เคยได้รับการหมายมั่นปั้นมือจากคนจำนวนมากว่า คือมือขวาท่านปานที่จะสานต่อการปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุให้เป็นไปโดยเรียบร้อยนั้น การณ์ปรากฏว่าไม่ได้เป็นดังหวัง ชื่อของท่านก็มัวหมองอยู่มาจนเดี๋ยวนี้ด้วยข้อหาหลายประการที่เมื่อยิ่งพิจารณาพฤติการณ์ของท่านในวาระท้าย ๆ ของชีวิต ก็ทำให้ดูเหมือนจะมีความจริงอยู่ในข้อหาเหล่านั้น

แต่ท่านร่มมีอะไรดีกว่า “ขี้” ไหม นอกจากปัญหาเรื่องการทุจริต การปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุไม่เรียบร้อย จากเอกสารจดหมายเหตุอันเกี่ยวเนื่องกับการสอบสวนพฤติกรรมท่านร่ม มีเอกสารอยู่ชุดหนึ่งจำนวน 22 แผ่น เป็นรายงานเขียนโดยลายมือของท่านร่มเองเพื่อรายงานต่อกระทรวงธรรมการ ว่าด้วยการเรี่ยไรเงินของท่านตั้งแต่ปี 2436-2450 ว่าแต่ละปีในจำนวน 14 ปีนี้ได้ไปที่ใดบ้าง ได้รับบริจาคจากใครบ้างจำนวนเท่าไหร่ ควบคู่ไปกับเอกสารอีกชุดหนึ่งที่แจกแจงว่าได้นำเงินไปใช้สอยทำอะไร เช่นไปสั่งกระจกจากปีนัง ซึ่งน่าจะคือกระจกจืนที่ใช้ประดับภายในวิหารพระม้าทุกวันนี้

รายงานของท่านร่มฉบับนี้มีคำถามจากผู้เกี่ยวข้องในยุคนั้นเหมือนกันว่าระบุตรงตามข้อเท็จจริงแค่ไหน อย่างไรก็ตามความผิดของบุคคลคนหนึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราพยายามจะมองในที่นี้ ผมกับสามารถ สาเร็ม ตามรอยเส้นทางของท่านร่มในแต่ละปี พิกัดลงบนแผนที่ รวมทั้งพยายามสืบหาสถานที่ที่ท่านร่มระบุแต่ชื่อดูเหมือนจะเปลี่ยนไปแล้วอยู่หลายเดือน ผลที่ได้นั้นผมคิดว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะพระภิกษุที่เราจำได้แต่ขี้ของท่านนั้นดูเหมือนจะทิ้งหลักฐานที่แสดงร่องรอยของศรัทธาไร้พรมแดนของผู้คนที่มีต่อพระบรมธาตุเมืองนครเมื่อร้อยกว่าปีก่อนเอาไว้

แผนที่เส้นทางเรี่ยไรของท่านร่มนำมาจากรายงานการศึกษาเรื่อง พระครูพิศาลวิหารวัตร (พระอธิการร่ม) กับเส้นทางนำศรัทธามาสู้พระบรมธาตุ โดยสุรเชษฐ์ แก้วสกุล และสามารถ สาเร็ม The Library At Nakorn เสนอต่อคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ เพื่อนำเสนอพระบรมธาตุสู่มรดกโลกฯ

เรารู้ว่าท่านร่มเป็นชาวไทรบุรี ซึ่งเมื่อท่านเกิดนั้นไทรบุรียังอยู่ในอาณัติสยาม และเมื่อท่านเริ่มงานเรี่ยไรของท่านในปีแรกท่านก็ลงไปยังไทรบุรี และไปอย่างต่อเนื่องบ้างเว้นไปบ้างรวมกัน 5 ครั้ง มีอยู่ปีหนึ่งลงไปไกลถึงเปรักในเวลาที่เปรักรุ่งเรืองและมั่งคั่งจากอุตสาหกรรมดีบุกถึงขีดสุด เรายังพบว่าเส้นทางที่ท่านใช้เดินทางไปยังเมืองไทรบุรีนั้น ได้อาศัยคลองอู่ตะเภาจากลุ่มทะเลสาบสงขลาย้อนลงมา รายงานของท่านระบุชื่อชุมชนบนสองฝั่งคลองนี้สมัยที่ยังเป็นทางสัญจรหลักระหว่างบ้านเมืองมลายูฝั่งอันดามันกับลุ่มทะเลสาบสงขลาอย่างน่าสนใจ

จากเส้นทางจาริกเรี่ยไรของท่าน ผมเชื่อว่าท่านร่มน่าจะเป็นคีย์แมนสำคัญทีเดียวในยุคการปฎิสังขรณ์พระธาตุนำโดยท่านปาน ที่สร้างความตระหนักรู้ของผู้คนในแถบบ้านเมืองมลายูฝั่งอันดามันตอนบนต่อปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นที่นครศรีธรรมราช และมีส่วนช่วยต่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนแถบนั้นกับพระบรมธาตุเมืองนครที่เคยมีมาแต่เดิมและจืดจางลงตามกาลเวลาให้ชัดเจนขึ้น เป็นฐานต่อการแสวงบุญและถวายเครื่องพุทธบูชาแด่พระบรมธาตุที่จะเกิดขึ้นต่อมาจนปัจจุบันไม่มากก็น้อย

ท่านร่มยังดูเหมือนจะเป็นชาวไทรบุรีที่เพียงคนเดียวที่ยังฝากรอยประทับเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชอย่างโดดเด่นจนปัจจุบัน แม้ว่าโดยมากจะไม่รู้แล้วว่า ท่านร่มนี้ร่มไหน แต่ชื่อก็ยังอยู่ เรื่องนี้ชวนให้ย้อนกลับมามองช่องว่างที่ขาดหายไปจากการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองนครซึ่งไม่เคยถูกเติมเต็มเลยคือ ประวัติศาสตร์ของผู้คนโดยเฉพาะชาวไทรบุรี ที่มีทั้งไทรบุรีพลัดถิ่นถูกเทครัวมาในสงครามเมืองไทรซึ่งมีจำนวนมหาศาล โดยมากเป็นชาวมุสลิม การมาของชาวไทรบุรีกลุ่มนี้มีส่วนอย่างมากต่อการเชฟความเป็นนครศรีธรรมราชที่เรารู้จักขึ้นมา เครื่องเงินเอย ผ้ายกเอย เครื่องถมเอย ฯลฯ หรือบทบาทของพระภิกษุจากบ้านเมืองต่าง ๆ นอกจากไทรบุรีที่ยังปรากฏนามอย่างโดดเด่น เช่นหลวงพ่อโบวัดศิลาชลเขต พระครูกาเดิมทองวัดจันทาราม ที่ต่างมาจากกลันตันและกลายเป็นพระสังฆาธิการสำคัญในประวัติศาสตร์การพระศาสนาเมืองนคร เป็นต้น

โดยผ่านกองขี้ของท่านร่มเราอาจเห็นกระบวนการที่นครศรีธรรมราชที่เรารู้จัก และเป็นอยู่ก่อรูปขึ้นมา เห็นความเคลื่อนไหวของผู้เล่นจากทั่วทุกสารทิศที่มายังนครศรีธรรมราชและก่อให้เกิดพลวัตรทางสังคมวัฒนธรรมในหลายระดับ

ที่สุดแล้วในปีเดียวกันกับมรณะกรรมของท่านร่มให้หลังไปไม่กี่เดือนกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ จะได้อาราธนาพระวินัยธรนุ่น จากวัดเพชรจริกมาครองพระบรมธาตุ และจะได้เปลี่ยนพระบรมธาตุกับทั้งเสนาสนะบริวารจากพุทธาวาสกลางของคณะสงฆ์ทั้ง 4 ทิศ มาเป็นวัดที่มีสังฆาวาส มีพระสงฆ์จำพรรษา

ระบบการอภิบาลบำรุงพระบรมธาตุแบบโบราณโดยผ่านพระครูกาทั้ง 4 และคณะสงฆ์จำนวนมากจะค่อย ๆ แปรสภาพมาสู่การจัดการผ่านรูปแบบของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ในแง่นี้ท่านร่มดูเหมือนจะหนึ่งในตัวแสดงที่โลดแล่นอยู่ในรอยต่อของยุคที่พระบรมธาตุเสื่อมโทรมถึงขีดสุด และสิ้นลมไปเกือบจะพร้อม ๆ กับรุ่งอรุณของการเปลี่ยนผ่านมาสู่การอภิบาลพระบรมธาตุแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าเอามาเขียนเป็นนิยาย หรือมีข้อมูลกว่านี้ชีวิตของท่านร่มคงเป็นหนังสืออัตตชีวประวัติที่สนุกมากเล่มหนึ่งทีเดียวครับ

.

เรื่องการซ่อมพระธาตุสมัยท่านปาน กับรอยต่อการเปลี่ยนผ่านการดูแลพระบรมธาตุนี้มีผู้เขียนไว้ดีมาก 😀 ในหนังสือ มหัฆภัณฑ์วัณณนา ซื่อตอนนี้น่าจะหาซื้อได้ยากแล้ว แต่มี PDF แจกครับ

https://drive.google.com/…/1LVMS8lltVWpMp5DXhSo…/view…

ใส่ความเห็น