พระบรมธาตุยอดดีบุก – Tin in The top

    กลับมาจากทริปมรดกอุตสาหกรรมดีบุกในคาบสมุทรมลายู ที่อาจารย์รังสิมา กุลพัฒน์จัดร่วมกับทีมซัพพอร์ตจากโคราช ได้ย้อนกลับมาคิดถึงเมืองนครที่เรารู้ว่าเคยเป็นฮับของดีบุกจากเทือกเขาหลวงและอันดามันอันเป็นที่ปรารถนาของพ่อค้าตะวันตก เมื่อมีการค้นพบดีบุกที่หุบเขาคินตา และเปรักได้กลายมาเป็นแหล่งขุดดีบุกที่ใหญ่ที่สุดในโลกในครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๑๙ – ครึ่งแรกของศตวรรษที่ ๒๐ ปีนังได้ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการถลุง และส่งออกดีบุกที่สำคัญที่สุดของมหาสมุทรอินเดีย มรดกจากยุคดีบุกเฟื่องฟูยังทิ้งร่องรอยตกค้างอยู่มหาศาลในมาเลเซียทั้งที่เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงศตวรรษเดียวเท่านั้น

    เมืองนครศรีธรรมราชที่ชาวเหมืองมาเลเซียกล่าวว่าคือต้นกำเนิดการของทำเหมืองดีบุกแบบดั้งเดิม หรือสยามลอมบอง ขุดและถลุงดีบุกส่งออกในรูปอินกอทมายาวนานยิ่งกว่าศตวรรษแห่งดีบุกอันมั่งคั่งของมาเลเซียมาก แต่ดูเหมือนประวัติศาสตร์เรื่องดีบุกของเมืองนครนั้นไม่เป็นที่จดจำ หรือมีพื้นที่มากนัก

    ทั้งที่ในความจริงแล้วด้วยระยะเวลาอันยาวนาน การผลิตและส่งออกดีบุกอย่างต่อเนื่องของนครศรีธรรมราชน่าจะต้องทิ้งร่องรอยเอาไว้ไม่น้อย และการออกสัมปทานเหมืองดีบุกของราชสำนักสยามให้แก่กลุ่มทุนจีนในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ร่อนพิบูลย์ยังเป็นจุดเริ่มต้นของคอนฟลิกซ์ที่จะขยายผลไปสู่การลดทอนอำนาจของสกุล ณ นครในภาคใต้ลงจนต่อมาแทบไม่เหลืออำนาจราชศักดิ์เลย เรื่องนี้น่าจะลองทบทวนวรรณกรรมดูว่ามีอะไรที่ใครทำไว้แล้ว มีอะไรที่น่าจะประมวลและทำขึ้นเพิ่มเติม

    กลับมาที่มรดกของดีบุกเมืองนคร สิ่งที่ควรจะพูดถึง หรือทบทวนให้เห็นชัดเจนเป็นลำดับแรก ๆ น่าจะคือเรื่องดีบุกที่ยอดพระบรมธาตุ ที่สถาปัตยกรรมอันเป็นหัวใจของอาณาจักร และนครที่เคยทรงอำนาจมากที่สุดนครหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู ชาวเมืองนี้ได้นำดีบุกที่เป็นผลิตผลจากเทือกเขาหลวงไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมนั้นด้วย

    บริเวณปลียอดเหนือบัวคว่ำบัวหงายสูงราว ๘ เมตรไม่รวมยอดสุดที่เป็นสำริดนั้น ดีบุกได้ถูกตีแผ่เป็นแผ่นบาง ๆ ขนาดใหญ่ บุหุ้มแกนปลีก่ออิฐถือปูนแล้วใช้ตะปูเงินยวง หรือเรียกกันอีกชื่อว่าสังควานรตรึงเอาไว้ คำว่าเงินยวง ในยุคหลังเอกสารหลายชิ้นอธิบายว่าตะปูเงิน แต่ในหลายท้องถิ่นเงินยวงก็คือดีบุก เพราะดีบุกที่เพิ่งเย็นตัวจากการหลอมเหลว ยังไม่ได้สัมผัสอากาศอย่างต่อเนื่องนั้นมีผิวมันวาวสุกปลั่งเหมือนเงิน เป็นเวลานับพันปีแล้วที่มนุษย์ค้นพบวิธีจะรักษาความเงางามของดีบุกด้วยการนำโลหะชนิดอื่น ๆ มาผสมจนเกิดเป็นพิวเตอร์

    ปลียอดที่ถูกหุ้มด้วยแผ่นดีบุก ซึ่ง ณ ห้วงเวลาที่เพิ่งหุ้มเสร็จใหม่ ๆ จะแวววาวเหมือนเงิน ได้ถูกหุ้มด้วยแผ่นทองอีกชั้นหนึ่งดังที่ปรากฏในปัจจุบัน เรารู้ผ่านจารึกว่าแผ่นทองที่หุ้มปลียอดพระบรมธาตุนั้นไม่ได้ถูกนำขึ้นไปพร้อม ๆ กันในครั้งเดียว แต่ค่อย ๆ ถูกนำขึ้นไปหุ้มอย่างต่อเนื่องหลายยุคหลายสมัย จนกระทั่งถึงอยุธยาตอนปลาย ชั้นบัวคว่ำบัวหงายใต้ปลียอดนั้นยังไม่ได้ถูกหุ้มด้วยแผ่นทอง การบูรณะในทศวรรษที่ ๒๕๓๐ นักอนุรักษ์พบว่าชั้นบัวคว่ำบัวหงายก็ยังไม่ได้ถูกหุ้มด้วยทองคำบริสุทธิ์ทั้งหมด ยังมีทองที่มีองค์ประกอบของทองแดงปะปนอยู่มากเป็นวัสดุหุ้มหลัก การบูรณะในครั้งล่าสุดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ทองบริสุทธิ์เปอร์เซ็นสูงจึงเข้ามาแทนที่ทั้งหมด

    อาจเป็นไปได้ว่าในยุคแรกที่ยอดพระบรมธาตุสร้างเสร็จนั้น ก่อนที่แผ่นทองจะถูกนำมาหุ้มทั้งหมด ปลียอดที่ถูกหุ้มด้วยดีบุกคงเคยถูกปิดทองมาก่อน แล้วตลอดเวลาร่วมร้อยปี ชาวคาบสมุทรภาคใต้ได้ทะยอยสะสมความมั่งคั่งและศรัทธา ผ่านการแผ่แผ่นทองขึ้นไปหุ้มยอดดีบุกลงมาเรื่อย ๆ หรือทดแทนแผ่นทองเปอร์เซ็นต่ำด้วยทองเปอร์เซ็นสูงกว่า ไม่ใช่การหุ้มทั้งปลียอดด้วยทองบริสุทธิ์ในครั้งเดียว

    นี่อาจเป็นมรดกที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของประวัติศาสตร์ดีบุกเมืองนคร ซึ่งเป็นเมืองที่ดีบุกจากเทือกเขาหลวงได้มอบคุณูปการไม่น้อยให้และเรายังไม่เคยทบทวนคุณูปการของดีบุกต่อเมืองนครอย่างกว้างขวางพอ ? เวลานึกถึงคำขวัญเมืองนคร “เมืองประวัติศาสตร์ พระธาตุทองคำ…” ใต้ทองคำนั้นมีดีบุกอยู่ด้วยครับ เขียนโน็ตไว้เลา ๆ สำหรับปรับเพิ่มเรื่องนี้ในหนังสือเครื่องบูชาพระธาตุพิมพ์ครั้งที่ ๒

ภาพถ่ายเก่า – หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา

ใส่ความเห็น