สีสันวันรายามุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : ขนมเทียนห่อใบยางพารา (ตอน ๓)

ขนมเทียน สูตรมุสลิมท่าเสา(บ้านใหม่) ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ทำจากแป้งข้าวเหนียว มะพร้าวทึนทึกและน้ำตาลทราย ห่อด้วยใบยางพาราเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำให้สุกด้วยการนึ่ง ซึ่งขนมเทียนสูตรนี้แอดมินพบว่ามุสลิมรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลานิยมทำกันแต่มักจะห่อด้วยใบกล้วยหรือใบตองโดยส่วนใหญ่ วันนี้มารายาที่บ้านญาติจึงได้พบกับขนมเทียนที่ห่อด้วยใบยางพารา รู้สึกว่าแปลกตามากทีเดียว เรื่องรสชาตินั้นไม่เเตกต่างกับที่ห่อด้วยใบกล้วยหรือใบตอง

แอดมินเคยเขียนเรื่องราวของขนมเทียนไว้ขอนำมาให้อ่านกันอีกรอบครับ “ขนมเทียน” “ขนมค่อม” : สูตรมุสลิมสงขลาที่บ้านควน ขนมร่วมรากผู้คนบนคาบสมุทร โดย สามารถ สาเร็ม | ก.พ. 8, 2024 | หุงข้าวทำกับ

บทความพร้อมภาพจุใจ : https://savesingora.com/…/%e0%b8%82%e0%b8%99%e0%b8%a1…/

“ขนมเทียน” ขนมท้องถิ่นของมุสลิมที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บ้านเกิดผู้เขียนซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมที่ใช้ภาษาถิ่นใต้เป็นภาษาแม่ เรียกตนเองว่า “คนแขก” มีระบบคำเรียกเครือญาติแบบวัฒนธรรมชวาผสมมลายูและมีคำไทยผสมอยู่ด้วย เป็นขนมนึ่งทำจาก แป้งข้าวเหนียว มะพร้าวทึนทึกหรือมะพร้าวอ่อน น้ำตาลทรายหรือน้ำตาลโตนด เกลือเล็กน้อยนวดให้เข้ากัน ห่อด้วยใบตองที่ทาด้วยน้ำมันพืช

วิธีการห่อ ตักแป้งวางลงตรงกลางใบตองแล้วใช้ใบตองคลึงแป้งให้เป็นรูปทรงยาวมีลักษณะคล้ายหมอนหรือจะคลึงให้เป็นแท่งกลมยาวคล้ายเทียนก็ได้ จากนั้นพับทบใบตองด้านข้างไปทางซ้ายและทางขวาและด้านบนด้านล่างพับทบปิดอีกชั้นหนึ่ง ถึงขั้นตอนนี้เนื้อขนมจะถูกห่ออยู่ในใบตองอย่างมิดชิด ทำการห่อขนมต่อไปจนหมดแป้งที่เตรียมไว้ นำขนมที่ห่อไว้ใส่เรียงลงในหม้อนึ่ง หลังจากนั้นนำไปนึ่งให้สุกใช้เวลาประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนขนม การนึ่งนี้บ้านของผู้เขียนมีเคล็ดลับความเชื่อว่าห้ามนำบุหรี่ไปจุดในเตาที่นึ่งขนมเทียนเด็ดขาดเพราะจะทำให้ขนมนึ่งไม่สุก

ข้อมูลข้างต้นคือ “ขนมเทียน” ที่ผู้เขียนรู้จักมาตั้งแต่จำความได้ สอบถามผู้สูงอายุในหมู่บ้านก็ให้ข้อมูลว่าทำกันมาแบบนี้ตั้งเเต่ไหนแต่ไรมา โดยไม่สามารถระบุช่วงเวลาได้ว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อใด สำหรับในพื้นที่สงขลานั้นพบว่าในฐานข้อมูลของ Musée du quai Branly – Jacques Chirac (สืบค้นจาก : https://quaibranly.fr/) ประเทศฝรั่งเศสโดยนักวิชาการชื่อ Christine Hemmet เป็นผู้เก็บรวบรวมขนมเดือนสิบของสงขลาไว้ โดยได้จำลองขนมเทียนและถ่ายภาพไว้ ในฐานข้อมูลระบุชื่อสามัญของขนมว่า “Thien” ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า “เทียน” รูปแบบการห่อที่ปรากฎในฐานข้อมูลนี้เหมือนกับการห่อขนมเทียนที่บ้านผู้เขียนดังที่นำเสนอข้างต้น แต่จะต่างกันที่มีการนำมาประกบเป็นคู่ แล้วมัดเข้าด้วยกันเหมือนกับ “เหนียวห่อกล้วย” (ข้าวต้มมัด)

ซึ่งในฐานข้อมูลระบุว่าขนมเทียนสูตรนี้เป็นขนมที่ทำจากข้าวเหนียวห่อด้วยใบตองประกอบเข้าด้วยกันเป็นคู่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทน “หมอน” ในขณะที่ขนมเทียนสูตรมุสลิมบ้านควนที่ผู้เขียนนำเสนอนั้นทำจากแป้งข้าวเหนียว โดยนำข้าวสารเหนียวมาบด(โม่)เป็นแป้ง ดังนั้นในทัศนะของผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า ขนมเทียนที่ปรากฎในฐานข้อมูลข้างต้นคือขนมเทียนอีกสูตรหนึ่งซึ่งทำขึ้นในพื้นที่สงขลาในอดีต หรืออาจจะยังมีการทำอยู่จนถึงปัจจุบันซึ่งผู้เขียนยังสำรวจไม่พบ

ขนมเทียน ในวิถีคนแขก คนไทย

จากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนพบว่าคนมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (พัทลุง – สงขลา) มีวัฒนธรรมการทำขนมเทียนแบบนี้หลายหมู่บ้านเช่น มุสลิมบ้านท่าเสา ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มุสลิมบ้านหาดไข่เต่า ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง บ้านคลองกั่ว ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลาแต่เรียกว่า “ขนมห่อ”

ทั้งนี้คนไทยพุทธในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาก็มีการทำขนมเทียนแบบนี้เช่นเดียวกัน เช่นที่บ้านดอน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งคุณน้าวัฒนา มากนคร ให้ข้อมูลว่า ขนมเทียนของคนไทยพุทธบ้านดอนนั้นจะทำในงานบุญเดือนสิบใช้เป็นขนม “ดับหฺมฺรับ” (สำรับ)เพื่ออุทิศผลบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ และคุณทยาธร นิมิตสุวรรณ เพื่อนของผู้เขียนเป็นคนไทยพุทธที่บ้านทำนบ ตำบลทำนบ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่าที่บ้านทำนบก็มีขนมเทียนที่ห่อเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยจะทำในงานบุญเดือนสิบเพื่อใช้ดับหฺมฺรับเช่นกัน มีสองแบบคือแบบมีไส้กับไม่มีไส้ แบบไม่มีไส้นั้นทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมมะพร้าวทึนทึกหรือฟักทอง น้ำตาลโตนดและเกลือ ส่วนแบบมีไส้นั้นทำจากแป้งข้าวเหนียวเช่นกันแต่ไม่ผสมมะพร้าวทึนทึกหรือฟักทอง ตัวไส้ทำจากถั่วเขียวผัดกับน้ำตาลปั้นให้เป็นแท่งยาว ๆ ตามลักษณะของตัวแป้ง

สำหรับมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาก็มีวัฒนธรรมการทำขนมเทียนที่เกี่ยวข้องกับงานบุญเพื่ออุทิศให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับเช่นเดียวกันคือ งาน “บุญกุโบร์” หรือ “นูหรีกุโบร์” จะทำช่วงเดือนห้า เดือนหก ตามปฎิทินจันทรคติและมีการนำขนมมาประดับใส่ภาชนะเรียกว่า “ดับจาด” เป็นคติเดียวกับคนไทยพุทธ ที่ “ดับหฺมฺรับ” ในงานบุญเดือนสิบนั่นเอง

อย่างไรก็ดีพบว่าคนไทยพุทธในจังหวัดนครศรีธรรมราชก็มีวัฒนธรรมการทำขนมเทียนห่อแบบนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากเมื่อสองปีที่แล้วผู้เขียนมีโอกาสไปเก็บข้อมูลภาคสนามที่บ้าน คุณน้าสุชา ชูแก้ว เพื่อนร่วมงานของผู้เขียน (ผู้เขียนทำงานประจำที่นครศรีธรรมราช) ซึ่งเป็นคนไทยพุทธที่บ้านห้วยรากไม้ ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในงานทำบุญครบร้อยวันการเสียชีวิตของคุณพ่อของน้าสุชา ชูแก้ว พบว่าที่นี่มีการทำขนมเทียนที่ห่อแบบเดียวกับบ้านผู้เขียนเช่นเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันในตัววัตถุดิบเพราะทำจากหัวมันสำปะหลังนำมาขูดบีบน้ำออกแล้วผสมน้ำตาล แทนที่จะใช้แป้งข้าวเหนียวผสมกับมะพร้าวทึนทึกแบบบ้านผู้เขียน ซึ่งที่นี่เรียกว่า ขนมเทียน เช่นกัน คุณน้าสุชา ชูแก้วให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในอดีตนั้นขนมเทียนของที่นี่ยังมีอีกสูตรคือใช้แป้งสาคู เป็นแป้งที่ได้จากต้นสาคูพืชที่ขึ้นอยู่จำนวนมากในหมู่บ้านนำมาผสมกับน้ำตาลห่อแบบเดียวกันแล้วนึ่งให้สุก แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันไม่มีใครทำสูตรนี้กันแล้วเพราะการทำแป้งสาคูจากต้นสาคูนั้นมีความยุ่งยากหลายขั้นตอน ใช้หัวมันสำปะหลังนั้นสะดวกกว่าเยอะ

นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสก็พบว่ามีการทำขนมเทียนซึ่งห่อแบบนี้เช่นเดียวกันในกลุ่มคนไทยพุทธ โดยคุณวิเชียร รัตนบุญโน คนไทยพุทธที่จังหวัดนราธิวาส ให้ข้อมูลว่า

“…แถบสุไหงปาดีขนมเทียนวิธีการห่อเช่นเดียวกันแต่มีหลายสูตร ตัวแป้งนอกจากใช้แป้งข้าวเหนียวแล้วแม่ผมเคยใช้แป้งกลอย ได้ขนมสีเหลือง กลิ่นสัมผัสน่ากินไปอีกแบบ มีใส่มะพร้าวอ่อนขูด ตัวน้ำตาลมีหลากหลาย เช่นน้ำตาลทรายเคี่ยว น้ำตาลเเว่นเคี่ยวแป้งกลอยเป็นการบริหารจัดการกลอยที่เหลือกินครับ เมื่อเเช่กลอยจนได้กลอยจืดแล้ว ก็นำไปนึ่งกินกับข้าวเหนียว กลอยที่เหลือนึ่งหลายวันไปจะเปื่อยยุ่ยจนมีลักษณะเหมือนแป้ง นำมาผสมกับแป้งข้าวเหนียวเติมน้ำตาลเคี่ยว ห่อนึ่งได้ขนุมเทียนกลอย ได้เนื้อสัมผัสเนื้อกลอยด้วย…”

และผู้เขียนพบว่าคนไทยพุทธที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการทำขนมเทียนที่ห่อแบบนี้เช่นเดียวกันแต่ลักษณะที่ยาวเหมือนเทียนที่ใช้จุดให้แสงสว่าง ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าขนมเทียนที่ผู้เขียนนำเสนอนี้ บรรพชนของเราตั้งใจทำให้มีลักษณะเหมือนเทียนแล้วตอนหลังมีการลดขนาดให้มีลักษณะเหมือนหมอนแต่ยังเรียกว่าขนมเทียนกันอยู่ หรือเป็นความตั้งใจในการทำขนมชนิดนี้แทนเทียนเพราะเราจะพบว่าเป็นขนมที่ใช้ในงานบุญที่เกี่ยวข้องกับคติศาสนาท้องถิ่นคือทำเพื่ออุทิศให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว คนไทยพุทธทำในงานบุญเดือนสิบ ในขณะที่คนมุสลิมน้ำทะเลสาบสงขลาทำในบุญกุโบร์หรือนูหรีกุโบร์ซึ่งมีคติเดียวกัน

ขนมค่อมสงขลาในมิติขนมเทียนคนพื้นที่อื่น ๆ

ดังที่ผู้เขียนกล่าวไปแล้วว่าปัจจุบันผู้เขียนทำงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ทำงานของผู้เขียนนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง เป็นย่านเศรษฐกิจของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนจีนเป็นหลัก ช่วงนี้ใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีน ผู้เขียนพบว่า แม่ค้าขายขนมในย่านนี้มีการทำขนมประจำเทศกาลตรุษจีนออกมาจำหน่ายกัน ซึ่งเป็นขนมที่คนจีนใช้ทำบุญไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ มีหลายร้านที่ทำขนมที่เรียกว่า “ขนมเทียน” ออกมาจำหน่ายเจ้าขนมเทียนที่ว่านี้มีหน้าตาการห่อที่ต่างจากขนมเทียนของคนไทย คนแขก ดังข้อมูลข้างต้น ทำจากแป้งข้าวเหนียว แต่มีไส้หวานทำจากมะพร้าวผัดกับน้ำตาลและไส้เค็มทำจากถั่วเหลือง หน้าตาของขนมเทียนนี้จะห่อเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายพีรามิด

อันที่จริงแล้วขนมเทียนของคนจีนท่าวังนี้ที่บ้านของผู้เขียน(สงขลา) จะเรียกว่า “ขนมค่อม” ซึ่งที่หมู่บ้านของผู้เขียนนั้นมีขนมค่อมสามแบบด้วยกันคือ

1.ทำจากแป้งข้าวเหนียวใส่ไส้มะพร้าวหรือถั่วเขียวผัดกับน้ำตาล

2.ใช้สาคู (สาคูสำเร็จรูปที่ผลิตจากมันสำปะหลัง) นำมาละลายกับน้ำร้อนให้สาคูติดกันเหมือนแป้งใส่ใส้แบบเดียวกับข้อแรก ทั้งนี้ผู้เขียนพบว่ามุสลิมบ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดวงขลามีขนมค่อมสูตรนี้เช่นกัน

3.ขนมค่อมแบบเดียวกับที่ภาคกลางเรียกว่า “ขนมใส่ไส้” ใช้แป้งข้าวเหนียวห่อใส้มะพร้าวหรือถั่วเขียวผัดกับน้ำตาลแล้วราดแป้งข้าวเจ้าที่กวนกับกะทิลงไปด้วย ตอนห่อนิยมทำสายรัดโดยใช้ใบมะพร้าว ที่ตำบลคูเต่าจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ขนมค่อมปากไก่” เพราะส่วนปลายของสายรัดมีลักษณะกางออกเหมือนปากของไก่และอาจเพราะมีขนมค่อมหลายแบบจึงต้องเรียกชื่อเฉพาะให้แตกต่างกันโดยการใช้รายละเอียดการห่อที่ต่างกัน

สำหรับขนมแบบที่สามนี้ผู้เขียนพบว่าคนนครแถบอำเภอเมืองจะเรียกว่า “ขนมค่อม” เช่นกัน ซึ่งในพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นใต้ พุทธศักราช ๒๕๒๕ จัดพิมพ์โดยสถาบันทักษิณคดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณ) หน้าที่ ๖๘ ให้ข้อมูลคำว่า ค่อม ไว้ว่า เป็นคำนาม ขนมสอดไส้เรียก “หนมค่อม” “ค่อมญวน” ก็ว่า

สรุป

จากข้อมูลที่ยกมานำเสนอนี้จะพบว่าขนมเทียนของคนไทยพุทธในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้ และคนมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จะมีการห่อแบบสี่เหลี่ยมพื้นผ้าหรือห่อแบบแท่งยาว ซึ่งมีความร่วมในมิติของคติความเชื่อ กล่าวคือเป็นขนมที่ใช้ทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับเหมือนกัน แต่มีหลากหลายสูตร แตกต่างกันไปตามวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นนั้น ๆ ในขณะเดียวกันคนจีนในประเทศไทยก็มีวัฒนธรรมการทำ“ขนมเทียน” ที่มีรูปลักษณ์ต่างจากขนมเทียนข้างต้นและถูกใช้เป็นขนมอุทิศผลบุญให้บรรพบุรุษเช่นเดียวกัน

ซึ่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภา อ้างอิงข้อมูลจากบทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 7.00 – 7.30 น. นำเสนอข้อมูลไว้ว่า

“…เหตุที่เรียกว่าขนมเทียนสันนิษฐานว่าเป็นเพราะเนื้อแป้งของขนมเทียนมีลักษณะเนียนเป็นมันคล้ายเนื้อของเทียน. ในภาษาจีนกลางไม่มีคำเรียกขนมเทียน ส่วนในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกด้วยคำภาษาไทยว่า หนุมเทียน สันนิษฐานว่าคนจีนในประเทศไทยคงผสมผสานวัฒนธรรมนำขนมซึ่งเป็นขนมในงานบุญของไทยมาใช้เป็นขนมไหว้ผีไร้ญาติในเทศกาลสารทจีนและตรุษจีน จนขนมเทียนกลายมาเป็นขนมประจำเทศกาลทั้งสองนี้คู่กับขนมเข่งซึ่งเป็นขนมประจำเทศกาลตรุษจีนมาแต่เดิม…”[1]

ทั้งนี้ “ขนมค่อม” ที่บ้านผู้เขียนในข้อหนึ่งนั้นซึ่งเป็นขนมที่คนจีนในพื้นที่ต่าง ๆ เรียกว่า “ขนมเทียน” ถูกใช้ในงานบุญเช่นกัน

.

อ้างอิง

[1] : สำนักงานราชบัณฑิตยสภาอ้างใน“รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 7.00 – 7.30 น. สืบค้นจาก : http://legacy.orst.go.th/…

.

ขอขอบคุณ

คุณน้าวัฒนา มากนคร

คุณน้าสุชา ชูแก้ว

คุณทยาธร นิมิตรสุวรรณ

คุณวิเชียร รัตนบุญโน

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น