ถ้าคุณจะดูพระพุทธรูปสมัยจันทรภานุ คุณดูองค์นี้

    ศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ บอกกับผมตอนท่านพาคณะมาเที่ยวดูที่เมืองนครเมื่อหลายเดือนก่อน เมื่อมานึกถึงข้อเสนอของคุณภูมิเรื่องพระพุทธรูปที่จันทรภานุศรีธรรมาโศกราชสร้างไว้ แม้ในเขตเมืองนครจะไม่เหลือพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่คงเค้าพระพักตร์เก่าแก่ไปถึงสมัยนั้นให้เราพอรู้เค้า แต่ในพระสำริดเท่าที่นึกออกแล้วพอจะเป็นไปได้ก็มีพระพุทธรูปองค์นี้ที่น่าจะร่วมสมัย

    พระพุทธรูปสำริดพบจากกรุเจดีย์วัดนางตรา ท่าศาลา วัดนางตราเดี๋ยวนี้คนไปพูดถึงตำนานพระนางสนทรา ซึ่งเป็นมุขปาฐะที่ไม่เก่ามากนัก อย่างน้อยไม่ใช่ตำนานที่เล่ากันมา 100 ปี++ (แม้ว่าจะมีชื่อนางสนทราอยู่ในเอกสารตำนานจริง แต่บทบาทหน้าที่นั้นไม่เกี่ยวกับวัดเลย) วัดนางตรานี้มีชื่อในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า วัดพนังตรา ข้อความว่า “ให้นายอายเจาปาเอาคนไปสร้างป่าเป็นนา อยู่รักษาพระในวัดพนังตรา” ตำนานให้ข้อมูลที่แสดงว่าวัดนี้เป็นวัดที่มีความสำคัญมากทีเดียวในยุคที่พระพนมวัง นางเสดียงทอง ฟื้นเมืองนครที่ล่มสลายลงหลังสิ้นสุดวงศ์ศรีธรรมาโศกราช อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙

    ในสารบาญชีวัดหลวงในภาคใต้สมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ระบุถึงวัดพนังตรา ว่าเป็นวัดมีข้าพระหัวงานดูแลรักษา ในทำเนียบข้าราชการเมืองนคร วัดนางตราก็ยังคงมีสถานะเป็นวัดมีที่กัลปนาสำคัญในเขตท่าศาลาอยู่ อย่างน้อยวัดนี้สืบความสำคัญมาอย่างยาวนาน คำว่า พนังตรา นี้ ถามมิตรสหายชาวสงขลา มีข้อเสนอว่า มีคำเก่าที่คนพูดกันว่า “มันตราเสียแล้ว” ใช้กับพนังกั้นน้ำ ใช้กับคลองขุด ที่เกิดการอุดตัน หรือตื้นเขินจนน้ำไหลต่อไม่ได้ “พนังมันตราเสียแล้ว” ก็ยังพูดกันบ้างในคนเก่า ๆ แถบสงขลา ผมรู้สึกว่าข้อเสนอนี้ไปกับใจผมได้มากกว่าตำนานสตรีสูงศักดิ์ แต่คงไม่สรุปว่า พนังตรา จะแปลว่าดังนี้เพราะคงไม่เป็นประโยชน์อะไรในสังคมที่มีความคิดหลากหลาย

    นักวิชาการกำหนดอายุพระพุทธรูปองค์นี้ในราว พศว ๑๘ ถึงต้น ๑๙ ถ้าการกำหนดอายุแม่นยำ และข้อเสนอของ อ พิริยะว่านี่เป็นพุทธศิลป์ในยุคปลายของราชวงศ์ศรีธรรมาโศก วัดพนังตรา หรือที่ตั้งวัด คงมีความสำคัญสืบเนื่องมาอย่างยาวนานทีเดียวครับ

ใส่ความเห็น