ดีเก : ลำนำชาวซิงฆูราที่บ้านควน ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ขบวนขันหมาก (ทูนบายศรีมลายู/บายศรีพลู) ของมุสลิมซิงฆูราบ้านควน – สงขลาเมื่อ พ.ศ.2515 ภาพวาหนัดวาราด

“…ดีเกคำนี้เคยได้ยินหรือเปล่า หาที่สงขลาดูว่ามีหรือเปล่า มาจากไหน เดิมที่บ้านสงขลามีปัจจุบันคนเก่าคนแก่เอากลับบ้านไปหมดแล้วครับ…เวลามีงานประจำหมู่บ้านมีการร้องแข่งขันกันนะครับ…” คำถามจากคุณครูสะอาด ร่าหมาน ลูกหลานมุสลิมซิงฆูราพลัดถิ่นที่บ้านสงขลา อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี บรรพบุรุษของท่านถูกเทครัวไปจากซิงฆูรา ( สงขลาหัวเขาแดง) เมื่อ ๓๔๔ ปีล่วงมาเเล้ว

จากคำถามนี้ โดยส่วนตัวมีคำตอบอยู่แล้วบ้างว่าหมู่บ้านของชาวซิงฆอราในลุ่มทะเลสาบสงขลาบ้านใดบ้างที่ยังมีหรือเคยมีดีเก หนึ่งในนั้นคือ บ้านเกิดของผู้เขียนบ้านควน ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาชุมชนปลายน้ำคลองอู่ตะเภา ริมทะเลสาบสงขลา แต่เดิมบ้านควนก็มีการแสดงดีเก

ทั้งนี้คนบ้านควนมีจารีตคำเรียกเครือญาติและคำเรียกเครื่องหมายบนหลุมฝังศพแบบเดียวกับชาวซิงฆูราพลัดถิ่นที่บ้านสงขลา ซึ่งต่างจากมุสลิมกลุ่มอื่นที่อยู่รอบ ๆ ทั้งในปตานี สตูล และนคร สะท้อนนัยยะบอกให้รู้ว่าคนบ้านควนคือคนบังสาเดียวกันกับชาวซิงฆูราพลัดถิ่นที่บ้านสงขลานั้นเอง ( อ่านเพิ่มเติม :“อักษรชวาในป้ายหลุมศพโบราณที่สงขลา กับจารีตคำเรียกเครือญาติที่มีรากมาจากคำชวาของคนมุสลิมลุ่มทะเลสาบ” https://kyproject19.wixsite.com/…/%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0…)

อีกทั้งมีการเเสดงมรดกทางวัฒนธรรมดีเกเหมือนกัน เครื่องดนตรีที่ใช้ก็มีเหมือนกันอีกด้วยคือใช้รำนาใหญ่ ๑ รำนาเล็ก ๑ และฉิ่ง ๑ แม้แต่รำมะนาก็ยังเรียกว่า รำนาเหมือนกันเช่นกัน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง ดีเก : ลำนำชาวซิงฆูราที่บ้านหัวเขา (อ่านเพิ่มเติม www.savesingora.com )

บทร้องดีเกที่บ้านควน

จึงขอยกดีเกลำนำชาวซิงฆอราที่บ้านควน มาให้ท่านที่สนใจ ณ โอกาสนี้ครับ ดีเกบทนี้ผมได้สำภาษณ์พร้อมบันทึกเสียงวาสูเด็น บิลไบ ไว้เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓ ในอดีตนั้นบ้านของท่านจะเป็นสถานที่สำหรับฝึกซ้อม รำเรียนดีเกให้กับคนในชุมชนโดยมีปะแก่และปะของท่านเป็นศิลปินครูผู้สอนดีเก เป็นบทดีเกที่ใช้ขับร้องนำขบวนขันหมากสมัยก่อนของหมู่บ้าน

เพลงที่ ๑

“…ไปเหนือละไปซื้อละกล้วยเถือน ชมดอกไม้เดือน ชมเดือนและลอยดาว

หนุ่มหนุ่มชมกล้วยและหนุ่มสาว ไอเด็กบ่าวบ่าวมันชมดาวล้อมเดือน

นกเปล้าและมันยามและเข้าคู่ โอแม่นุมนู๋เนื้อคู่ละอยู่ไหน…” ฟังได้ที่ : https://bit.ly/3Jx2sZr ) อาจารย์สมเจตนา มุนีโมไน เจตส์ ตรังเค กวีชาวตรังให้ข้อมูลว่าเพลงบทนี้

“…เป็นเพลงรองแง็ง ลิเกป่ามีบทนี้เป็นอมตะ…ว่าดอกกล้วยเถื่อน ชมดาวล้อมเดือน ชมเกลื้อนล้อมนมสาว เอย.. บทชมโฉมสาวงาม วัยแตกเนื้อสาว ว่ามีดอกเกลื้อนประแต้มแก้ม นม นี้ ถือเป็นสำนวนsignature ประจำยุคสมัยเลยแหละ … เป็นกลองแง็ง เปลี่ยนทำนองร้องไปได้หลายละฮู ร้องเป็นลิเกป่า ตอน”ว่าดอก” ก็ได้ ใช้เป็นกลอนร้องทำนองเพลงกล่อมเด็ก ก็ได้ได้เพ …น่าสังเกตว่า กลอนทำนองนี้ ร้องเล่นในหมู่แขกเล(ฝั่งอันดามัน)..ส่วนกลอนแปด กลอนหก …หมู่หนังลุง-โนรา เขาขับร้องกัน และมีในหมู่คนไทยบ้านทุ่ง ,นา ,ควนเขา ,…”

เพลงที่ ๒

“…ได้กันแล้วและอยู่กันให้ละดีดี อย่าทุบอย่าตีบังงันละอย่าแช่งอย่าด่า…”

“…โต๊ะกังเป็นคนช่างเเต่ง อาบน้ำทาแป้งใส่เสื้อแดงอ่อน…”

หมาายเหตุ มุสลิมบ้านควนเรียกผู้หญิงที่แต่งตัวให้เจ้าสาวว่าโต๊ะกัง (ภาษามลายูตูกัง tukang มีความหมายว่า ช่างฝีมือ)

สรุป

ดีเกนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมหนึ่งของคนในวัฒนธรรมซิงฆูราที่ทำให้เห็นร่องรอยของความสัมพันธุ์ของผู้คนที่เป็นชนกลุ่มเดียวกันถึงแม้ว่าชนกลุ่มหนึ่งได้ถูกเทครัวออกไปจากพื้นที่เมื่อสามร้อยกว่าปีก่อนกับกลุ่มคนที่ยังอยู่สืบมาในพื้นที่

เผยแพร่ครั้งเเรกใน – https://web.facebook.com/photo/?fbid=4926506267444298&set=a.4927282690699989

ซิงฆูรานำมาจากจารึกบนปืนใหญ่ของเมืองสงขลาหัวเขาแดงปัจจุบันอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น