เล่าเรื่องรากมลายูกลันตันนอกแผ่นดินเเม่ : ผ่านคำเรียกเครือญาติและขนมฆอเดาะปีแส หรือ สังหยากล้วย ที่บ้านหน้าศาล ต.หน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช

    บ้านหน้าศาล ตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ณ ชุมชนแห่งนี้เป็นถิ่นฐานของมุสลิมใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่ ด้วยทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่บนเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังสงขลา ผู้เขียนจึงใช้เส้นทางนี้เดินทางกลับบ้านอยู่เสมอ และจะแวะฝากท้องที่นี่เป็นประจำ เพราะมีร้านขายอาหาร ขนมพื้นบ้านจำนวนหลายร้านให้เลือกรับประทาน ด้วยความสนใจเรื่องอาหารการกิน ก็จะมีการเลือกรับประทานสลับร้านกันในแต่ละครั้งที่ผ่านไป

    เรื่องราวของมุสลิมก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อในความสนใจเมื่อได้มีโอกาสเดินทางแล้วพบหมู่บ้านมุสลิมก็จะไม่พลาดที่จะสอบถามประวัติความเป็นมา มีครั้งหนึ่งผู้เขียนได้ข้อมูลจาก “เวาะ” (คุณป้า) ท่านหนึ่งซึ่งเป็นแม่ค้าขายขนมครกอยู่ในขนำหน้าบ้าน สรุปได้ความว่า คนมุสลิมในหมู่บ้านนี้มีบรรพบุรุษเป็นชาวมลายูกลันตัน ปัจจุบันอยู่ในประเทศมาเลเซียมีพรมแดนติดต่อกับจังหวัดนราธิวาสของประเทศไทย  ซึ่งมุสลิมกลุ่มนี้ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้แทนที่ภาษามลายูสำเนียงกลันตันกันหมดแล้วทั้งหมู่บ้าน

    เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวผู้เขียนจึงมีความสนใจในการสืบหาร่องรอยวัฒนธรรมมลายูกลันตันที่ยังหลงเหลือว่ามีอะไรบ้าง ในเบื้องต้นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นลูกหลานมลายูกลันตันได้อย่างชัดเจนนั่นก็คือระบบคำเรียกเครือญาติ ซึ่งที่ผ่านมาผู้เขียนใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาถึงรากเหง้าความเป็นมาของมุสลิมที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้  

    และจากการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์คุณอดุล หวันสกุล(หวันอะหมัด) อายุ ๕๕ ปี บอกว่าที่หมู่บ้านนี้ผู้คนยังมีความทรงจำว่ามีบรรพบุรุษที่เป็นชาวมลายูกลันตันตอนสมัยเป็นเด็กคนรุ่นปู่ย่าตายายยังสามารถฟังภาษามลายูรู้เรื่องและยังมีคนพูดมลายูได้โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่สอนอัลกุรอ่าน(โต๊ะครู) และคนที่นี่มีความเกี่ยวข้องทางเครือญาติกับมุสลิมบ้านบ่อตรุ ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของผู้เขียนก่อนหน้านี้ในเรื่อง “…ร่องรอย มลายูกลันตัน นอกแผ่นดินกลันตัน กรณีศึกษามุสลิมบ้านบ่อตรุ ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา…”  พิมพ์ในวารสารรูสมิเเล ปีที่ 44 ฉบับที่ 1 มกราคม  – เมษายน 2566 ซึ่งพบหลักฐานว่ามุสลิมที่นี่มีเชื้อสายมจากบรรพบุรุษที่เป็นชาวมลายูกลันตันเช่นเดียวกัน[๑]

ผู้เขียนคนขวาถ่ายภาพกับบังหวันอะหมัด(คุณอดุล หวันสกุล)

    สำหรับตัวอย่างเรื่องคำเรียกเครือญาติซึ่งบ่งบอกรากเหง้าความเป็นมลายูกลันตันเช่น การเรียกพ่อ ว่า “แว” (สำเนียงพูดอ่านว่าแหว)  หรือ “เจ๊ะ” และเรียกลุงกับป้าว่า “เวาะ” เรียกพี่สาวว่า “นิ” เป็นต้น ในขณะที่มุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่สืบมาจากยุคนครรัฐสุลต่านสงขลาสมัยอยุธยารอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจะเรียก พ่อ ว่า “ปะ” เรียกลุงกับป้าว่า “วะ” และเรียกพี่สาวว่า “พี่”[๒]

    ทั้งนี้คุณอดุล หวันสกุลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ครอบครัวของตนจะเรียกพ่อโดยใช้คำว่า “หวัน” ซึ่งคนส่วนน้อยของหมู่บ้านจะใช้เรียกเนื่องจากเป็นคำเรียกที่ใช้สำหรับครอบครัวที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้ามลายู

    นอกจากระบบคำเรียกเครือญาติที่บ่งบอกรากเหง้าที่มาของบรรพชนในหมู่บ้านนี้ ผู้เขียนพบว่าอาหารหรือขนมบางอย่างที่ยังทำกินทำขายกันก็สามารถบ่งบอกถึงความเป็นมา อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ได้อย่างชัดเจนเช่นกัน ในครั้งนี้ขอนำเสนอขนมหวานที่มีชื่อว่า “สังหยากล้วย” หรือที่เรียกด้วยสำเนียงมลายูปตานี  – กลันตันว่า “ฆอเดาะปีแส” ซึ่งทำจากกล้วยไข่ ไข่ น้ำตาล เกลือ นำมาขยำรวมกันแล้วนำไปนึ่งให้สุก สำหรับรสชาติของขนมนั้นพบว่า เหมือนเรากินสังขยาแต่ใส่กล้วยลงไปผสมด้วย มีรสชาติหวานและหอมกลิ่นกล้วยเจืออยู่ สำหรับผู้เขียนนั้นนี่คือครั้งแรกที่ได้กินขนมชนิด “เวาะ” คุณป้าเจ้าของขนมบอกว่า ปกติมุสลิมบ้านหน้าศาลจะนิยมทำกินกันในช่วงเดือนถือศีลอด เป็นขนมโบราณของหมู่บ้านที่ทำกินมาตั้งแต่ครั้งอดีต

    ขนม “ฆอเดาะปีแส” นี้เมื่อสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ พบว่าเป็นขนมซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนมลายูในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มคนในวัฒนธรรมเดียวกับมลายูกลันตัน ทั้งนี้จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เติบโตมาในวัฒนธรรมของมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาไม่เคยพบเห็นว่ามีหมู่บ้านไหนทำขนมหวานชนิดนี้รับประทานกัน แต่กับพบว่ามีการทำขนมฆอเดาะปีเเซที่บ้านหน้าศาลแห่งนี้ ซึ่งมีบรรพบุรุษมาจากกลันตันดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมการกินนั้นติดตัวมากับผู้คน ดังกรณีของฆอเดาะปีเเสซึ่งแม้ว่าจะถูกเรียกด้วยชื่อภาษาไทยว่า “สังหยากล้วย” แทนที่ชื่อมลายูในกลุ่มลูกหลานแต่ขนมหวานชนิดนี้ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันและแสดงให้เห็นร่องรอยรากเหง้าความเป็นมาได้อย่างแช่มชัด

เชิงอรรถ

[๑] : “…ร่องรอย #มลายูกลันตัน นอกแผ่นดินกลันตัน กรณีศึกษามุสลิมบ้านบ่อตรุ ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา…” https://shorturl.asia/Rj6Od พิมพ์ในวารสารรูสมิเเล ปีที่ 44 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2566

[๒] : พี่ กับ นิ อ่านเพิ่มในบทความเรื่อง “พี่” คำเรียก “พี่สาว” ของมุสลิมที่สืบรากเหง้าจากยุคนครรัฐสุลต่านสงขลาสมัยอยุธยา สืบค้นได้ใน : https://savesingora.com/2023/12/07/%e0%b8%9e%e0%b8%b5%e0%b9%88-%e0%b8%84%e0%b8%b3%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%81-%e0%b8%9e%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a7-%e0%b8%82/

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น