เรือใบประดิษฐ์จากต้นเตย : ของเล่นสะท้อนวิถีประมงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่บ้านควนปลายน้ำคลองอู่ตะเภา         

เรือใบประดิษฐ์จากต้นเตยหัวขาว ฝีมือวะ(ลุง) ของผู้เขียนนายหมัด บิลละ (เจะหวังสวา)

ของเล่นเด็กที่เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบันส่วนมากทำจากพลาสติกเพราะว่าใช้กระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่เน้นจำนวนครั้งละมาก ๆ  แต่ในสมัยก่อนของเล่นส่วนใหญ่นิยมใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ใกล้ตัวไม่ต้องซื้อหา อย่างกรณีของบ้านผู้เขียนที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ด้วยทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่บริเวณปลายน้ำคลองอู่ตะเภาเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา(เลใน) ซึ่งมีพืชท้องถิ่นอย่าง“ต้นเตย” ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ต้นเตยที่ว่านี้คนละชนิดกับต้นเตยหอมที่นำมาใช้ทำขนมซึ่งมีกลิ่นหอมและให้สีเขียว ต้นเตยในพื้นที่บ้านควนจากการพูดคุยเก็บข้อมูลพบว่ามีสองชนิดและเรียกด้วยชื่อท้องถิ่นว่า “เตยหัวขาว” กับ “เตยหัวดำ” เตยหัวขาวนั้นจะมีใบกว้างและยาวกว่าเตยหัวดำซึ่งมีใบสั้นเเคบและเเข็งกว่า

เตยหัวขาวที่บริเวณริมคลองอู่ตะเภาที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

คนในหมู่บ้านจึงนิยมนำเตยหัวขาวมาใช้สาน “สาด”(เสื่อ)มากกว่าแต่เตยหัวดำ แม้ว่าเตยทั้งสองชนิดจะสามารถนำมาสานสาดได้เหมือนกัน วิธีการนำใบเตยมาสานสาดของคนมุสลิมบ้านควนนั้นจะใช้วิธีการกระทุ้ง(ตัดมาทั้งกอ)ไม่ได้ตัดเอาเฉพาะใบ การตัดทั้งกอนี้ทำให้ได้มาทั้งใบแก่เเละใบอ่อนในคราวเดียวกัน โดยจะนำใบแก่มาสานเป็นสาดในขณะที่ใบอ่อนก็ไม่ได้ทิ้งขว้าง ผู้คนในหมู่บ้านมีการทำของเล่นจากภูมิปัญญาโดยการนำมาประดิษฐ์เป็น “เรือใบ” ซึ่งเป็นของเล่นที่สะท้อนวิถีชีวิตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้อย่างมีชีวิตชีวา

สมัยที่ผู้เขียนเด็ก ๆ เมื่อวะ(คุณป้า) กับ มะ(คุณเเม่) ไปหาเตยมาสานสาดก็มักจะขอติดตามไปด้วย  เพราะจะได้โอกาสไปรอเอาใบเตยอ่อน เพื่อนำมากลับมาให้วะ(คุณลุง) ทำเรือใบให้เล่น ของเล่นชนิดนี้ผู้เขียนมีความชอบเป็นพิเศษ ความสงสัยของผู้เขียนตอนวัยเด็กที่มีต่อของเล่นนี้ ก็คือทำไมจึงเรียกว่าเรือใบ? ทำไมจึงเป็นเรือที่ไม่เหมือนกับที่ใช้กันในหมู่บ้านที่มีเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน?

คำตอบที่ได้รับจากญาติ ๆ ได้ความว่า ในสมัยก่อน เรือที่ใช้ในบ้านเราเป็นเรือใบคือเป็นเรือแบบเดียวกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพียงแต่สมัยก่อนยังไม่มีเครื่องยนต์ ต้องใช้การถ่อหรือพายและใช้ใบเรือทำจากผ้าเป็นตัวช่วยในการให้เรือเคลื่อนที่ไปโดยอาศัยแรงลม ดังนั้นเรือใบของเล่นจึงไม่ใช่เพียงเเค่ของเล่นธรรมดาแต่ถือว่าเป็นการบันทึกความทรงจำว่าด้วยประวัติศาสตร์การใช้เรือของคนในหมู่บ้านหรือจะพูดในภาพกว้างก็คือการใช้เรือของคนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในอดีตเอาไว้

ภาพถ่ายเรือในทะเลสาบสงขลายังใช้ใบเรือเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปี + โดย Evans, Ivor Hugh Norman ในฐานข้อมูลMuseum Archeology and Anthropology มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษสืบค้นจาก : https://collections.maa.cam.ac.uk/photographs/380286

สาดลายฝีมือมุสลิมบ้านควน ใช้เตยหัวขาวที่หาได้ในหมู่บ้านมาสาน ดูภาพเพิ่มเติ่มใน : https://web.facebook.com/groups/250904708948593/permalink/873150623390662/

การทำเรือของเล่นยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันแต่มีความเปลี่ยนเเปลงที่สะท้อนผ่านการประดิษฐ์รูปแบบเรือมาเป็นแบบเรือจำลองที่มีเครื่องยนต์ เป็นการทำตามรูปแบบเรือที่ใช้กันในปัจจุบัน อาทิ ที่บ้านควนในยุคของผู้เขียนจะใช้โฟมมาทำเรือ ไม่มีใบเรือเเต่ใส่มอเตอร์รถของเล่นนำมาดัดแปลงให้เรือสามารถแล่นไปได้ โดยนำเพลาเรือที่ทำจากไส้ปากกาเพิ่มใบจักรทำจากพลาสติกเสียบเข้ากับมอเตอร์ที่ดัดแปลงให้มีสายไฟสองเส้นเพื่อเชื่อมต่อกับถ่าน

อีกที่หนึ่งคือบ้านชุมพลชายทะเล ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้เรือท้ายตัดและเป็นเรือที่มีเครื่องยนต์เช่นเดียวกัน ผู้เขียนพบว่าการทำเรือของเล่นในหมู่บ้านแห่งนี้ มีลักษณะเเบบเดียวกับเรือท้ายตัดที่มีเครื่องยนต์

เรือของเล่นของลูกหลานมุสลิมชุมพลชายทะเล

เรือท้ายตัดหรือเรือหัวสิงห์ เรือประมงที่ใช้ออกทะเลของคนมุสลิมชุมพลชายทะเล

หรืออีกกรณีเช่นที่บ้านในถุ้ง ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันมีการใช้เรือสองแบบได่แก่ “เรือท้ายตัด” กับ “เรือหัวไก่” ในการออกทะเลพบว่าลูกหลานในหมู่บ้านก็ประดิษฐ์เรือของเล่นเหมือนกับเรือทั้งสองแบบที่ใช้กันในหมู่บ้าน

ซ) เรือของเล่นทำจากต้นสาคูฝีมือเด็กชายดัสกร พงพันธ์ ที่บ้านในถุ้ง ข) เรือหัวไก่ที่บ้านในถุ้ง

กลับมาทีเรือใบประดิษฐ์จากใบเตยที่บ้านควน เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๗ ที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสกลับไปบ้านควน จึงได้ชักชวนวะ นายหมัด บินละ มีศักดิ์เป็นลุงของผู้เขียน เป็นผู้ที่ทำเรือใบให้ผู้เขียนเล่นเมื่อตอนเด็ก ๆ จึงชักชวนท่านให้ช่วยทำให้อีกครั้งเพื่อรื้อฟืนความทรงจำในวัยเด็ก แต่วัตถุประสงค์หลักจริง ๆ คือการบันทึกเรื่องราวว่าด้วยภูมิปัญญาเรื่องนี้ไว้ โดยท่านก็ยินดีจะถ่ายทอดให้

นายหมัด บิลละ(เจะหวังสวา) วะของผู้เขียน

หัวรุ่ง(เช้าตรู่)ของวันนัดหมายผมกับวะจึงได้เดินทางไปยังป่าเตยอยู่ริมคลองอู่ตะเภาในหมู่บ้าน ระหว่างทางมีโอกาสสัมภาษณ์ข้อมูลไปด้วย โดยวะเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนตอนที่วะยังเด็ก ๆ นั้นเรือใบของเล่นนี้ จะนิยมเล่นกันในช่วงเดือนอ้ายคือเดือนที่หนึ่งตามปฏิทินจันทรคติ เนื่องจากช่วงเวลานี้คลองอู่ตะเภามีน้ำมาก รวมถึงน้ำจากทะเลสาบสงขลาก็หนุนขึ้นมาด้วย ทุ่งนาในหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ริมคลองอู่ตะเภาจึงมีน้ำล้นเข้าสู่ทุ่งนา ประกอบกับช่วงเวลานี้มักจะมีลมแรง จึงนิยมทำเรือใบเล่นกันในทุ่งนา เป็นกิจกรรมที่ทั้งเด็กเเละผู้ใหญ่มาร่วมกัน โดยมีการจัดแข่งขันกันด้วย

ผู้เขียนฟังแล้วจึงมีความคิดว่า เราน่าจะรื้อฟื้นการแข่งขันเรือใบกันขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งวะเองก็เห็นด้วย โดยนัดหมายกันว่า ตัวผู้เขียนจะเป็นผู้หาช่องทางจัดกิจกรรมนี้และให้วะทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดการทำเรือใบ จัดเป็นกิจกรรมเวิร์คช็อปให้เยาวชนในหมู่บ้าน

เดินทางไม่นานก็มาถึงป่าเตยพบว่ามีร่องรอยของการตัดใบเตยไปใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นวิธีการที่ต่างจากคนมุสลิมบ้านควนดังที่กล่าวไปแล้วว่าจะกระทุ้งทั้งต้น ด้วยความสงสัยผู้เขียนจึงสอบถามวะได้คำตอบว่า มีคนจากอีกหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลกันมาตัดใบเตยไปสานสาด

วิธีการทำเรือใบ

เรือใบประดิษฐ์นี้จะประกอบไปด้วยสี่ส่วนคือ ใบเตยสำหรับทำเป็นลำเรือ ใบเตยสำหรับทำเป็นใบเรือ ใบเตยทำเป็นกงเรือ(กระดูกงู) และใบเตยสำหรับทำเป็นเชือกผูก

๑.ตัดใบเตยก่อนเป็นอันดับแรกโดยเลือกตัดใบที่ยังไม่อ่อนไม่แก่โดยเฉพาะใบที่สี่นับจากใบยอด ใช้ทำเป็นลำเรือ เมื่อได้มาแล้วทำการตัดให้ได้ขนาดตามที่ต้องการคือประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ดึงหนามตรงกลางและด้านข้างทั้งสองออก

๒.นำใบเตยตัดเป็นใบเรือยาวขนาด ๒๐ เซนติเมตร โดยส่วนยอดของใบเรือตัดให้เป็นยอดแหลม ส่วนปลายจะต้องตัดให้เรียวกว่าส่วนที่เป็นใบเรือ เจาะรูตำแหน่งส่วนบนของใบเรือ

๓.ตัดใบเตยทำเป็นกงเรือกว้างประมาณ ๑ เซนติเมตรความกว้างขึ้นอยู่กับขนาดของลำเรือ

๔.ตัดใบเตยทำเป็นเชือก โดยการใช้เชือกไนลอนผูกเข้ากับนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ แล้วกางนิ้วให้ตึง นำใบเตยมาสอดเข้าไป แล้วรูดใบออกผ่านเชือกไนลอนจนสุดได้เป็นเชือกเตย โดยจะใช้เชือกเตยทั้งหมดจำนวนสามเส้น

๕.นำใบเตยในข้อที่หนึ่งมาทำเป็นลำเรือ โดยพับส่วนปลายทั้งสองให้มีลักษณะเหมือนท้ายเรือและหัวเรือ โดยหงายใบเตยขึ้น แล้วพับเป็นหัวเรือทำการบากเป็นสามช่อง แล้วนำเชือกมาผูก ทำแบบนี้กับฝั่งท้ายเรือด้วย ได้เป็นลำเรืออกมา เจาะด้านข้างลำเรือทั้งสองด้านในตำแหน่งตรงกลางของลำเรือแล้วนำใบเตยที่ตัดเป็นกงมาเสียบไว้

๖.นำใบเรือมาร้อยเชือกเตยเข้าไปในช่องที่เจาะไว้ สอดส่วนฐานของใบเรือเข้าไปใต้กง ดึงปลายเชือกมาผูกกับส่วนท้ายของเรือ เพียงแค่นี้ก็ได้ของเล่นเป็นเรือใบประดิษฐ์ จากพืชพันธุ์ในท้องถิ่นที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตการหาอยู่หากิน การทำประมงโดยมีเรือเป็นพาหนะคู่ใจ ทั้งนี้วะยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเมื่อนำไปเล่นแข่งกันจะใส่ดินเหนียวไว้ที่ท้ายเรือด้วยเพื่อถ่วงให้หัวเรือเชิดขึ้น เมื่อแรงลมพัดมากระทบใบเรือจะช่วยส่งให้เรือของเราแล่นได้เร็วขึ้น

สรุป

เรือใบประดิษฐ์จากใบเตยของเล่นมุสลิมบ้านควน ถือได้ว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนอัตลักษณ์ ตัวตนที่ยังคงใช้ชีวิตและสืบทอดวิถีชาวประมงแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้อย่างมีชีวิตชีวา ถือเป็นของเล่นที่ยังคงไว้ซึ่งร่องรอยมรดกความทรงจำของผู้คนในอดีตของพื้นที่แห่งนี้ นอกจากนี้วิถีชาวประมงพื้นบ้านที่ถูกสะท้อนผ่านการประดิษฐ์ของเล่นยังคงสืบต่อมาจนปัจจุบัน ในบริบทของความเปลี่ยนเเปลงทั้งรูปลักษณ์และวัสดุที่ใช้ทำเรือ สำหรับท่านที่สนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บรักษาภูมิปัญญา หรืออยากร่วมเรียนรู้การทำเรือใบประดิษฐ์จากใบเตยนี้ สามารถติดตามข่าวคราวกิจกรรม รวมถึงสามารถอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้จากเพจนิเวศวิทยาวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในเร็ว ๆ นี้ครับ

หมายเหตุ : ต้นเตย สำหรับมุสลิมบ้านควนนั้นไม่เฉพาะแค่ใบที่นำมาใช้ประโยชน์สานสาดหรือทำเรือใบของเล่น หัวเตยส่วนข้างที่ยังอ่อนนิยมนำมา “ต้มจุ้ม” (ต้มกับน้ำให้สุก) กินเป็นผักแนมกับน้ำพริกหรือจะนำมาใส่ใน “แกงคั่ว” (แกงกะทิ)หรือ “แกงส้ม” ก็ได้ ในอดีตเมื่อมีการคลอดลูกจะมีคติการนำต้นเตยไปตั้งไว้บริเวณใต้ถุนบ้านในตำแหน่งที่มีการคลองลูกเพราะเชื่อว่าเป็นการป้องกันอันตรายจากสิ่งชั่วร้าย ใบเตยแก่นิยมนำมาใส่ไว้ในภาชนะที่ใส่ขนมจีนเพราะจะช่วยให้”ขนมจีนเสียช้าลง” และมีการปลูกเตยเป็น “รั้วล้อมบ้าน” ตอนเด็ก ๆบ้านของผู้เขียนก็ยังมีต้นเตยลอมรอบอาณาเขตของบ้านเพราะปะแก่(คุณาตา) เป็นคนปลูกไว้ รวมถึงปลูกกั้น “อาณาเขตสวน” ได้อีกด้วยซึ่งสวนของปะแก่ผู้เขียนปัจจุบันยังมีต้นเตยหลงเหลืออยู่บริเวณเขตเเดนของสวน และเมื่อเสียชีวิตมีคติการทำสาดใหม่ที่ยังไม่ใช้งาน ปูรองรางผู้เสียชีวิตระหว่างรอญาติพี่น้องมาเยี่ยมศพ หลังจากห่อผู้เสียชีวิตด้วยผ้าข้าวเสร็จชั้นนอกจะห่อด้วยสาด เมื่อนำไปฝังสาดผืนดังกล่าวไม่ได้ฝังลงไปด้วยมีการใช้กั้นดินระหว่างขั้นตอนการกลบหลุม สาดผืนนี้จะอุทิศให้กับมัสยิดหรือศาลากูโบร์ เพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะเช่นใช้ปูรองสะมะหยัง(ละหมาด) ซึ่งมีความเชื่อว่าจะเป็นการอุทิศผลบุญให้กับผู้เสียชีวิต จากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนพบว่าคตินี้ยังพบได้ทั่วไปในหมู่บ้านมุสลิมรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น