(ซ็าย) ปลาขี้ตังหรือปลาขี้ตังพริก (ขวา) ปลาขี้ตังหรือปลาขี้ตังลาทา
กลับมาอีกครั้งกับเรื่องราวของชื่อปลาที่เรียกกันในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา บทความที่สามนี้จะขอนำมารู้จักกับที่มาของชื่อปลาที่กำลังตกเป็นข่าวใหญ่อยู่ในหน้าสื่อเพจออนไลน์ท้องถิ่นสงขลาขณะนี้ เจ้าปลาตัวนี้ก็คือ “ปลาขี้ตัง” ซึ่งเป็นชื่อเรียกท้องถิ่นที่บ้านผู้เขียน บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คำว่า “ขี้ตัง” นั้นกร่อนมาจากชื่อปลาชนิดนี้ในภาษามลายูกลางคือ “kitang” (กีตัง) ในขณะที่ภาษามลายูถิ่นปตานี – กลันตันจะเรียกว่า “กีแต”
คำว่า “ขี้ตัง” ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งใช้ในบริบทของผู้พูดภาษาไทยถิ่นใต้จึงนับว่ามีความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งกล่าวคือคำต่าง ๆ ที่มีรากมาจากภาษามลายูโดยส่วนใหญ่เราจะเรียกใกล้เคียงกับภาษามลายูกลางและมักจะแตกต่างจากภาษามลายูปตานี กรณีของปลาขี้ตังก็สะท้อนเรื่องนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ปลาที่มีชื่อเรียกในภาษามลายูออกเสียงว่า “ki” “กี” นั้นพบว่าในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามักกร่อนเสียงเป็น “ขี้” มีหลายคำด้วยกันเช่น “ขี้โร่ง” มาจากชื่อมลายู “kirong” หรือ “ขี้เกะ” มาจากชื่อมลายู “kikek” ซึ่งจะเขียนมานำเสนอต่อไป
หนังสือปลาในลุ่มทะเลสาบ หนังสือชุดโครงการศึกษาและรวบรวมข้อมูลสารสนเทศและแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางทะเล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (๒๕๕๒) เก็บข้อมูลเรื่องปลาขี้ตังไว้ทั้งหมด ๔ ชนิด[1] โดยบันทึกชื่อเรียกของปลาชนิดนี้ด้วยชื่อภาษาไทยผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นชื่อสามัญของปลาชนิดนี้ มีรายละเอียดดังนี้
๑.ปลาตะกรับ,ปลาขี้ตัง
๒.ปลาสลิดหินจุดขาว
๓.ปลาสลิดหินจุดส้มใหญ่
๔.ปลาสลิดหินลายขาว
ภาพจากหนังสือปลาในลุ่มทะเลสาบ หนังสือชุดโครงการศึกษาและรวบรวมข้อมูลสารสนเทศและแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางทะเล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (๒๕๕๒)
ที่บ้านควนนั้นซึ่งหาอยู่หากินวิถีประมงในทะเลสาบสงขลาตอนล่างหรือทะเลในปลาขี้ตังที่หามาได้อยู่บ่อยมีอยู่สองชนิด ซึ่งจะเรียกด้วยชื่อปลาขี้ตังสั้น ๆ เหมือนกันแต่จะมีคำเรียกขยายเพื่อจำแนกปลาทั้งสองชนิดนี้ออกจากกัน ซึ่งคำเรียกดังกล่าวได้สะท้อนโลกทัศบางประการที่เป็นร่องรอยของการบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ พริกเอาไว้อย่างมีชีวิตชีวาภายใต้บริบทของคำเรียกที่ใช้ภาษาไทยและภาษามลายูเอาไว้ ซึ่งมีคำเรียกปลาขี้ตังดังนี้
๑. “ปลาขี้ตังพริก” เนื่องจากลำตัวของปลาขี้ตังนี้มีลักษณะเป็นจุดกลมสีดำ มองดูเหมือนพริกไทย ซึ่งมุสลิมบ้านควนจะเรียกด้วยคำท้องถิ่นว่า “พริก” หรือ “พริกดำ” ไม่ได้เรียกว่าพริกไทยแต่อย่างใด หนังสือชุดโครงการศึกษาและรวบรวมข้อมูลสารสนเทศและแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางทะเล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเก็บชื่อของปลาชนิดนี้ไว้ว่า “ปลาตะกรับ” หรือ “ปลาขี้ตัง” ชื่อวิทยาศาสตร์: Scatophagus argus (Linnaeus, 1766)และชื่อภาษาอังกฤษ: Spotted Scat พบได้ในทะเลสาบตอนบน ทะเลสาบตอนกลาง ทะเลสาบตอนล่างและปากทะเลสาบ[2] และผู้เขียนได้สืบค้นข้อมูลในเว๊บไซด์ “Taik about Fish”[3] ให้ข้อมูลว่าภาษามาเลย์(มลายูกลาง) เรียกว่า Ikan Ketang, Ketang Bunga
๒.“ปลาขี้ตังลาทา” หรือบางพื้นที่เรียกเป็น “ราทา” หนังสือชุดโครงการศึกษาและรวบรวมข้อมูลสารสนเทศและแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางทะเล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเก็บชื่อของปลาชนิดนี้ไว้ว่า ปลาสลิดหินลายขาว ชื่อวิทยาศาสตร์: Siganus javus (Linnaeus, 1766)และชื่อภาษาอังกฤษ: Streaked spinefoot พบได้ในทะเลสาบตอนกลาง ทะเลสาบตอนล่าง ปากทะเลสาบ ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและแนวปะการังเกาะหนู เกาะแมว[4]
คำว่า “ลาทา” นั้นกร่อนมาจากภาษามลายูกลางคือคำว่า “Lada” อ่านว่า “ลาดา” นั่นเอง ทั้งนี้จากการสอบถามกัลยานมิตรของผู้เขียนคุณ “Adi Assauri” ชาวมลายูกลันตันให้ข้อมูลว่า พริก(chilli) ภาษามลายูกลางเรียกว่า “Cili” ภาษามลายูกลันตันเรียกว่า “lado” อ่านว่า “ลาดอ” และพริกไทย (Pepper) ภาษามลายูกลางเรียกว่า “lada hitam” อ่านว่า ลาดา ฮีตัม (ฮีตัมแปลว่า ดำ) และภาษามลายูกลันตันเรียกว่า “Lado benar” ลาดอ บือนาร์ เป็นชื่อเรียกดั้งเดิมที่ผู้สูงอายุในกลันตันนิยมเรียกกันในขณะที่คนรุ่นใหม่มักเรียกด้วยชื่อ “Lado Hitae” “ลาดอฮีแต”
ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ข้อมูลเพิ่มเติมจากอาจารย์ศุภกิจ ศิริเมธากุล อาจารย์ด้านภาษามลายู ท่านให้ข้อมูลว่า พริกไทยในภาษามลายูถิ่นปตานีจะเรียกว่า “ดาลอบือนา” คำว่า “บือนา” มีความหมายว่า “แท้” และ “พริก” (chilli) ภาษามลายูถิ่นปตานีเรียกว่า “ลาดอ” ดังนั้นผู้เขียนเชื่อว่า “ปลาขี้ตังลาทา” คำว่า “ลาทา” ในที่นี้คือการเรียกที่หมายถึง “พริก” (chilli) นั่นเอง มีลักษณะเป็นลายยาวเหมือนกับดอกพริก(chilli) นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเพราะที่บ้านของผู้เขียนนั้นในปัจจุบันจะเรียก พริก (chilli) ว่า “ลีปปลี” (อ่านว่า ลีป – ปลี) ในขณะที่ชื่อปลากลับเรียกด้วยคำมลายูดังกล่าว
ทั้งนี้เป็นที่รับรู้กันว่าพริกไทย (Pepper) นั้นเป็นพืชที่ใช้มาก่อนพริก(chilli) สำหรับในภูมิภาคบ้านเรา นักวิชาการในไทยกล่าวกันว่า พริกไทยเดิมเรียกว่า พริก เมื่อพริก(chilli) เข้ามาจึงเติมคำว่า ไทยเข้าไปเพื่อให้เกิดความแตกต่างซึ่งชื่อดังกล่าวเป็นไปตามบริบทของภาษาไทยภาคกลาง ในขณะที่ชื่อเรียกท้องถิ่นอย่างเช่นที่บ้านผู้เขียนยังเรียกพริกไทยด้วยชื่อดั้งเดิมว่า พริกหรือพริกดำ ในขณะที่คำเรียกในบริบทของภาษามลายูก็สะท้อนลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน ในกรณีภาษามลายูกลางที่เรียก ลาดาฮีตัมหรือภาษามลายูถิ่นปตานีที่เรียกว่า ลาดอบือนา ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า “บือนา” มีความหมายว่า “แท้” ในขณะที่เรียก พริก(Chilli) ว่า “ลาดอ” เฉย ๆ
เมนูหรอยจาก “ปลาขี้ตัง”
ปลาขี้ตังทั้งสองนี้สามารถทำได้ทั้งเมนูแกง ต้ม หรือ ทอด เมนูยอดนิยมคือนำมา “แกงส้ม” ปลาขี้ตังพริกนั้นรสชาติจะอร่อยกว่าปลาขี้ตังลาทามากสำหรับผู้เขียนและเป็นนิยมรับประทานกัน ยังสะท้อนผ่านราคาที่แตกต่างกันระหว่างปลาทั้งสองขี้ตังพริกมีราคาที่แพงกว่าปลาขี้ตังราทาเป็นอย่างมาก
และเมนูที่ผู้เขียนอยากนำเสนอให้ลองทำทานกันดูคือ “ปลาขี้ตังดองน้ำส้ม” เป็นเมนูที่ทำง่ายวัตถุดิบไม่มากนัก ถ้าใช้ปลาขี้ตังพริกจะต้องขอดเกล็ดออกก่อนหากใช้ปลาขี้ตังราทาจะไม่มีเกล็ด ผ่าท้องเอาขี้ปลากับดีปลาออก ส่วนไส้สีขาวหรือที่เรียกด้วยคำท้องถิ่นว่า พุงปลา ห้ามทิ้งเด็ดขาดเพราะเป็นส่วนที่อร่อยทำให้น้ำแกงกลมกล่อม เนื้อปลามันอร่อย สับครีบออกล้างให้สะอาด นำมาแช่น้ำเกลือไว้ประมาณ ๕ นาที แล้วทอดให้สุก หลังจากนั้นทำน้ำราด โดยใช้น้ำมันที่ทอดปลานำหอมแดงซอย ลงไปเจียวให้สุกเติมน้ำส้มโหนดลงไป ตามด้วยน้ำตาลปรุงรสให้มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน หรือจะเติมน้ำเปล่าลงไปด้วยก็ได้ ทุบพริกสดใส่ลงไปแล้วปิดแก๊ส นำมาราดในตัวปลา เรียกเมนูที่ได้นี้ว่า “ปลาขี้ตังดองน้ำส้ม” จะกินทันทีหรือรอให้น้ำราดซึมเข้าตัวปลาก่อนสักพักแล้วค่อยกินก็ได้ นิยมกินกับข้าวสวยร้อน ๆ
ส่วนอีกเมนูคือปลาขี้ตังซาวเครื่องทอด เครื่องทำจาก ตระไคร้ พริกไทย กระเทียม ขมิ้นและเกลือนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำไปคลุกเคล้ากับปลาขี้ตังแล้วนำไปทอดให้สุก ซึ่งเมนูนี้คุณ Adi Assauri” ชาวมลายูกลันตัน ก็มีเช่นเดียวกัน
ภาพปลาขี้ตังคลุกขมิ้น กระเทียมจากรัฐกลันตันที่ครัวของบ้านคุณ Adi Assauri
พื้นที่ไหนเรียกปลาขี้ตังด้วยชื่ออะไรสามารถแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันได้ครับ
อ้างอิง
[1] ศักด์อนันต์ ปลาทอง.(๒๕๕๒).หัวหน้าโครงการศึกษารวบรวมข้อมูลสารสนเทศและแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางทะเล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา.ปลาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา.พิมพ์ครั้งที่ ๑.สงขลา : ไอดีไซน์
[2] อ้างแล้วใน 1
[3] : ข้อมูลเรื่องปลาขี้ตังในภาษามลายูสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน : https://www.talkaboutfish.com/red-fishes-basses-congers-etc/scat/
[4] อ้างแล้วใน 2
ขอขอบคุณ
คุณ Adi Assauri” ชาวมลายูกลันตัน
อาจารย์ศุภกิจ ศิริเมธากุล