“ไข่นกทูง” : ของกินยามยากคนแต่แรก

เช้าวันศุกร์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๗ ขณะนั่งล้อมวงรับประทานอาหารเช้าที่ขนำหลังเล็กหน้าบ้านของ “วะ”(ป้าสะใภ้) ก็ได้ฟังเรื่องราวที่ชวนตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องเล่า เรื่องจริงที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกิน อันเป็นสิ่งที่ผู้เขียนมีความสนใจอยู่แล้ว ที่บ้านผู้เขียนนั้นอาหารเช้าเรามักจะซื้อมาจากร้านในหมู่บ้าน มีหลากหลายมากไม่ว่าจะ เหนียวปลาแห้ง ข้าวหมก ข้าวยำน้ำเคย ข้าวผัด ฯลฯ มือกลางวันและมือเย็นจะนิยมทำอาหารกินกันเองในครอบครัว ข้าวที่หุงไว้กินตอนมือเย็นเมื่อรุ่งเช้าหากยังเหลือ ก็จะนำมารับประทานเป็นมือเช้ากัน ๆ จะเรียกด้วยชื่อท้องถิ่นว่า “ข้าวเย็น” คำนี้น่าจะเรียกกันทั่วไปในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลากระมัง ดังนั้นใครได้มาถิ่นฐานย่านนี้ หากได้ยินเขาพูดกันว่ากินข้าวเย็นแต่เป็นมือเช้าของวันก็อย่าตกใจไปนะครับ ข้าวเย็นที่ว่านี้กินกับแกงต่าง ๆ ที่มักเหลืออยู่จากมือค่ำเช่นกันหรือจะนำมาทำเป็นข้าวผัดก็ได้

                แต่วันนี้ผู้เขียนเองก็เพิ่งทราบจาก “วะ” (ป้าสะใภ้) นางเส๊าะ โต๊ะแซะโต๊ะเมือง อายุ ๖๗ ปี ท่านเกิดที่บ้านหนองพา(บ้านใหม่) หมู่ ๕ ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ในช่วงวัยเด็กนั้น “มะแก่”(คุณย่า) ของแก่จะนำข้าวเย็นมาปั้นเป็นลูกรี ๆ เรียกว่า “ไข่นกทูง” หมายถึงปั้นเลียนแบบให้เหมือนกับไข่ของนกกระทุงนั่นเอง

  “นกชนิดนี้มีชื่อภาษาอังกฤษSpot-billed Pelican ชื่อวิทยาศาสตร์ Pelecanus philippensis ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ปากยาวและแบน มีถุงน้ำใต้คอสีม่วงอ่อน ขอบปากด้านบนมีจุดสีฟ้าคล้ำ ๆ เรียงกัน ขาสั้นสีน้ำตาลและมีเยื่อยึดอยู่ระหว่างนิ้วทั้งสี่ ใช้สำหรับว่ายน้ำ ขณะบินจะหดคอแนบเข้ามาและวางหัวไว้บนไหล่ ขนตามลำตัวสีเทาอ่อน บริเวณขอบตาสีขาวพบในประเทศ อินเดีย ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ศรีลังกา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พม่า เนปาล และเวียดนาม”[1] 

                “กินไข่นอกทูงพางเเหละโลกเหอะไม่ได้ทำกับที…นี่แหละโลกหลายคนเขาทำให้กิน” ประโยคข้างต้นเป็นถ้อยคำของมะแก่(คุณย่า) ของวะ หมายความว่า “กินไข่นกกระทุงไปพลางก่อนนะลูกยังไม่ได้ทำกับข้าว…นี่แหละเขาทำให้กินลูกหลายคน” บอกเล่าถึงที่มาของอาหารชนิดนี้ให้กับวะได้ฟังขณะทำไข่นกทูงให้กินตอนเด็ก ๆ ซึ่งท่านมี ๑๒ คนพี่น้อง คนสมัยก่อนต้องไป ทำนาทำสวนกลับมาบ้านตอนเย็นบางทียังไม่ได้ทำอาหาร ลูกหิวแล้ว คนเป็นแม่จึงใช้ข้าวเจ้าที่หุงสุกกับวัตถุดิบพื้นฐานของคู่ครัวที่จะมีกันทุกบ้านคือ เกลือ นำมารังสรรค์เป็นอาหารให้ลูก ๆ ได้รับประทานประทังชีวิตกันไป กินแค่นี้เด็ก ๆ ก็อิ่มแล้ว ตอนท่านเด็ก ๆ มะแก่ทำให้กินเราก็สนุกกันไปด้วย

ผู้เขียนมีโอกาสได้ลิ้มลองบนขนำด้วยในวันนี้ ทำง่าย ๆ โดยการนำเกลือละลายกับน้ำเปล่า นำมือลงไปชุบน้ำเกลือแล้วหยิบข้าวขึ้นมาปั้น เพียงแค่นี้ก็ได้กินแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้ข้าวเจ้ามาทำเพราะเรากินข้าวเจ้า ถ้าวันไหนหุงข้าวเหนียวก็นำมาทำได้เหมือนกันวะเล่าขณะทำไข่นกทูง

                มือเช้าวันนี้จึงเป็นอีกวันที่อิ่มท้อง อิ่มความรู้ที่เราไม่เคยรู้มากก่อน ทุกวันนี้วะบอกว่าถ้าข้าวเหลือบางครั้งก็นำมาปั้นกินบ้าง เป็นของคนแต่แรก(สมัยก่อน) ที่ทำกินตอนลำบากไม่มีกับข้าว ที่จริงจากไข่นกทูงธรรมดานี้ เราน่าจะต่อยอดเพิ่มเนื้อสัตว์หรือผักเข้ามาก็ดูน่ารับประทานไม่น้อย ไว้มีเวลาจะลองทำกันกินกันดู ผู้เขียนพูดคุยแลกเปลี่ยนกับวะทิ้งท้ายไว้

นกกระทุงหรือที่ภาษาไทยถิ่นใต้เรียกว่า “นกทูง” ที่ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา มีคลองที่ชื่อว่า คลองนอกทูง อีกด้วยสันนิษฐานว่าสมัยก่อนนกชนิดนี้น่าจะอาศัยอยู่บริเวณนี้เป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงนำมาเรียกเป็นชื่อคลอง ซึ่งคลองนี้อยู่ในตำบลเดียวกับบ้านของวะ ที่มาภาพ https://khaokheow.zoothailand.org/animal_view.php?detail_id=154&c_id=66

ที่มา

[1] นกกระทุงอ่านเพิ่มเติมได้ใน : https://khaokheow.zoothailand.org/animal_view.php?detail_id=154&c_id=66

ขอขอบคุณ

นางเส๊าะ โต๊ะเเสะโต๊ะเมือง

คุณจันทรัสม์ จันทรทิพย์รักษ์

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น