สีสันวันรายามุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : ทำต้มทำหนุม (ตอน 1)

เดือนถือศีลอดของมุสลิมกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว สำนักจุฬาราชมนตรีประกาศให้มีการดูดวงจันทร์ในวันอังคารที่ 9 เมษายน 2567 นี้หากมีผู้พบเห็น วันรุ่งขึ้น 10 เมษายน 2567 เป็นวันแห่งการเฉลิมเรียกด้วยคำมลายูแบบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาว่า #วันรายา หรือ #วันรายาออกบวช เรียกกันในกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมชายทะเล ส่วนมุสลิมแถบเชิงเขาบรรทัดเรียกว่า #วันราหยา หรือ #วันราหยาออกบวช หากไม่มีผู้เห็นดวงจันทร์วันรายาจะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567

ก่อนการมาถึงของวันรายาตามหมู่บ้านต่างๆผู้คนใช้เวลาในการตระเตรียมอาหารพื้นถิ่นสำหรับไว้เลี้ยงทำบุญ ทำกินและ ทำแจกญาติพี่น้อง โดยเฉพาะ #ต้ม ขนมท้องถิ่นที่ทำจากข้าวเหนียวผัดกับกะทิห่อด้วยใบกะพ้อมีรูปทรงสามเหลี่ยมแล้วต้มให้สุก ถือได้ว่าเป็นขนมประจำงานบุญวันรายาของมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอันเป็นจารีตที่ร่วมกันกับคนมลายูมุสลิมกลุ่มอื่นๆบนคาบสมุทรมลายู

วันจันทร์ที่ 8 ตามหมู่บ้านต่างๆจึงมีการเตรียมใบกะพ้อกันแล้ว วันนี้แอดมินนำบรรยากาศและสีสันการทำต้มที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลามาบอกเล่าให้ได้อ่านกันครับ

การทำต้มนั้นมีขั้นตอนตั้งเเต่หาใบกะพ้อ เมื่อได้มาแล้วจะนำมาแยกออกเป็นใบแล้วทำการคลี่ออกแล้ว #แทงรังต้ม ไว้ แทงรังต้มคือการที่นำใบกะพร้อมาพับเหมือนกับการทำต้มจริงๆแต่ไม่ใส่ข้าวเหนียว ที่ต้องทำแบบนี้เพราะจะทำให้สะดวกขึ้นเมื่อแทงต้มจริง ๆ ความน่าสนใจอยู่ที่การแทงรังต้มนั้นจะทำตั้งเเต่วันที่ 8 เมษายน

และวันที่ 9 เมษายน จะทำต้มกันเรียกด้วยคำท้องถิ่นว่า #แทงต้ม สูตรของวะ(ป้า)ผู้เขียน ข้าวเหนียวหนึ่งกิโลกรัม จะใช้น้ำกะทิหนึ่งกิโลกรัม โดยใช้มะพร้าวสุกเขียว(ทึนทึก)นำมาคั้นกะทิ ตั้งไฟให้เดือดแล้วใส่ข้าวเหนียวลงไปซึ่งต้องล้างให้สะอาด ใส่เกลือน้ำตาลลงไป ให้ข้าวเหนียวที่ผัดมีรสชาติเค็มมัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบ้าน อาจใส่ถั่วขาวหรือถั่วดำลงไปด้วยผสมด้วยก็ได้ ผัดให้ข้าวเหนียวกึ่งสุกกึ่งดิบเป็นอันใช้ได้

แล้วตักใส่ถาดตั้งให้เย็น หลังจากนั้นถึงขั้นตอนสำคัญคือ #การแทงต้ม นำใบพ้อที่แทงรังไว้มาคลี่ออกแล้วพับส่วนปลายให้เป็นกรวย นำมือจุ่มลงไปในน้ำแล้วหยิบข้าวเหนียว ใส่ลงไป ทำการม้วนและพับให้มิดชิดมัดปมข้างบน เป็นอันเสร็จ วะ เล่าว่า ตอนที่ท่านยังเป็นเด็ก ญาติผู้ใหญ่จะให้ลูกหลานได้ฝึกทำต้มกันโดย”…ใช้กากพร้าวมาฝึกทำ ….เด็กสมัยนี้ไม่สนใจเรื่องทำต้มกันแบบเด็กแตเเรก…”

สำหรับมุสลิมบ้านควนนั้น นอกจากต้ม ยังมีวัฒนธรรมการทำขนมชนิดอื่นอีกด้วยซึ่งใช้ข้าวเหนียวที่ใช้ทำต้ม เปลี่ยนพืชชนิดอื่นในการห่อืได้รูปทรงที่แตกต่างออกไปอีกสามอย่างคือ

#ปัต นำใบอ้อยแดง(อ้อยสีเหลือง)หรือใบเตยหอม เลือกใบเพสลาด ห่อให้มีลักษณะเป็นแท่งกลม คำว่า #ปัต นั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างมากเพราะจากการสืบค้นพบว่าขนมแบบนี้ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียก็มีเช่นเดียวกัน มีชื่อเรียกที่ใกล้เคียงกับคำว่า ปัต ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นคำร่วมรากกัน ประเทศมาเลเซียเรียกว่า Ketutap duan tebu (duan tepu แปลว่า ใบอ้อย) ชาวชวาเรียกว่า Lepet (Javanese), ชาวซุนดาเรียกว่า Leupeut หรือ และในอินโดนีเซียยังเรียกว่า Lepat[1] ทั้งนี้ใบพืชที่นำมาห่อนั้นจะมีความหลากหลายมากเช่น บนคาบสมุทรสทิงพระบางพื้นที่ใช้ #ใบลาน ลุ่มน้ำปากพนังใช้ #ยอดใบจาก บางพื้นที่ใช้ #ใบพร้าว(ใบอ่อน)หรือใช้ใบกะพ้อห่อก็มีเช่นกัน อ่านเพิ่มเติมใน https://kyproject19.wixsite.com/…/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0…

#ต้มหลักวัวหลักคลาย ต้มชนิดนี้ห่อด้วยใบกะพ้อ มีลักษณะเหมือนหลักล่ามวัวล่ามควายของคนสมัยก่อนจึงเป็นที่มาของชื่อเรียก บางพื้นที่จะเรียกว่า ต้มพริก เพราะมองว่าเหมือนพริก(Chilli) หรือ ภาษามลายูเรียก Ketupat Tanjung (ต้มหัวใจ) สำหรับที่บ้านควนและมุสลิมหมู่บ้านอื่นๆที่ทำต้มชนิดนี้ต่างมีคติร่วมกันคือเป็นต้มที่ผู้ใหญ่นิยมทำให้กับลูกหลาน เพื่อแสดงความรักต่อกัน ไม่นิยมทำหลายลูกแต่จะทำเท่าจำนวนลูกหลานเท่านั้น วะของผู้เขียนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าตอนท่านเด็ก ๆ มะแก่(ย่า)ก็จะทำต้มหลักวัวหลักควายให้ลูกหลานคนละลูก

#ข้าวต้ม นำใบกล้วยมาห่อ ข้าวเหนียวใส่กล้วยห่อให้มิดชิดแล้วนำมาประกบกันคนบ้านควนเรียกว่า ข้าวต้ม ส่วนข้าวที่ต้มกับน้ำจนเละเหมือนโจ๊กจะเรียกว่า ข้าวเปียก

ขนมทั้งสี่อย่างนี้เมื่อห่อเสร็จแล้วจะนำมาต้มกับน้ำเปล่าเพื่อให้สุก โดยชั้นล่างสุดจะรองสวยหางของต้มส่วนที่เหลือจากมัดปมต้ม(สามเหลี่ยม) ตัดออกมา โดยใส่ตามลำดับดังนี้ คือ ต้ม(สามเหลี่ยม) ต้มหลักวัวหลักควาย ปัตและข้าวต้มเรียงจากล่างขึ้นบนตามลำดับ ใส่น้ำลงไปต้มให้น้ำแห้งจนหมด

ขนมเหล่านี้จะกินกันในครอบครัว แจกญาติมิตรและเพื่อนบ้าน บางหมู่บ้านที่ยังรักษาการทำบุญเลี้ยงที่มัสยิดจะนำขนมเหล่านี้จัดใส่สำรับอาหารไปทำบุญเพื่ออุทิศผลบุญให้บรรพบุรุษหรือบางหมู่บ้านจะทำบุญกุโบร์ในวันรายาก็จะจัดใส่สำรับไปเลี้ยงที่กุโบร์เช่นกัน

อาหารทั้งสี่สหายนี้สามารถรับประทานเป็นของว่างโดยไม่ทานร่วมกับอย่างอื่นก็ได้แต่ที่บ้านควนนิยมนำมากินกับทอดเห็ด เป็นอาหารพื้นถิ่นที่ทำจากกุ้งตำรวมกับสมุนไพรหลายอย่างปั้นแล้วทอดให้สุก หรือจะกินคู่กับแกงเนื้อวัว แกงไก่ แกงเป็ด ซึ่งเป็นแกงกะทิก็หรอยไม่เเพ้กัน และหลังจากวันรายาต้มก็จะนำมาย่างกิน จุ้มน้ำตาลทรายหรือจุ้มนมข้นหวานก็อร่อยได้แรงอกไปอีกแบบครับ อ่านเพิ่มใน :

https://www.museumsiam.org/km-detail.php?CID=177…

ต้ม จึงถือได้ว่าเป็นอาหารท้องถิ่นที่อยู่คู่ประเพณีงานบุญวันรายา ของมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อันเป็นวัฒนธรรมร่วมกันของมุสลิมในภูมิภาคมลายูที่ทำต้มเหมือนกันแต่อาจมีชื่อเรียก รูปทรง ใบพืชที่ใช้แตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเป็นอาหารในวัฒนธรรมท้องถิ่นบ้านเราที่ปรับใช้ในงานบุญเฉลิมตามความเชื่อทางศาสนาจากภายนอกที่รับเข้ามา

.

ต้มวันรายาบ้านท่านเป็นแบบไหนนำมาแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนกันได้ครับ หรือต้มที่บ้านท่านใช้ในงานบุญประเพณีอะไรกันบ้างครับ

.

ที่มา : [1] https://en.m.wikipedia.org/wiki/Lepet

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น