แรม ๑ ค่ำเดือน ๕ ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี คนมุสลิมในหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบกุโบร์ท่าช้างตั้งอยู่ริมคลองอู่ตะเภาตอนล่างที่บ้านท่าช้าง ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้แก่ ๑.บ้านบางโทง ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ ๒.บ้านทุ่งน้ำ ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่๓.บ้านท่าช้าง ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ ๔.บ้านหนองทราย ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่๕.บ้านหนองบ่อ ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ และ ๖.บ้านนารังนก ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ มีการฝั่งร่างบรรพบุรุษที่ล่วงลับไว้ ณ กุโบร์แห่งนี้ร่วมกัน
จะเป็นที่รับรู้กันว่าคือวันทำบุญกุโบร์ เพื่ออุทิศผลบุญให้ตายายหรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับซึ่งกลับไปสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม(อัลเลาะห์) ปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๗ ก่อนหน้าหนึ่งวันลูกหลานได้มาร่วมกันพัฒนากุโบร์ ทำความสะอาดบริเวณโดยรอบและหลุมฝังศพของบรรพบุรุษตนเอง บางส่วนมีการตกแต่งหลุมด้วยการนำดินมาถมเพิ่ม
และในเช้าวันนี้ถือได้ว่าเป็นวันที่ทุกคนทุกเพศทุกช่วงวัย จะมารวมตัวกันที่กุโบร์ มีการทำพิธีอัรวะหรือที่เรียกด้วยคำมลายูของพื้นที่นี้ว่า “ยาระกุโบร์” หน้าที่นี้ลูกหลานผู้ชายจะเป็นผู้ทำพิธีเป็นหลัก โดยมีการเชิญ “โต๊ะ” ผู้รู้ทางศาสนาจากหมู่บ้านต่าง ๆ มาเป็นผู้ทำพิธีดังกล่าวด้วย แต่ละตระกูลจะทำแยกกันที่หลุมฝังศพของบรรพบุรุษของตนเองโดยให้โต๊ะเหล่านี้ทำพิธีให้ หลังจากนั้นก็จะมีการทำพิธี “ยาระกุโบร์” ร่วมกันทั้งหมดของโต๊ะที่เชิญมา เพื่ออุทิศผลบุญให้กับบรรพผู้ล่วงลับทั้งหมดที่ฝังอยู่ ณ กุโบร์แห่งนี้
ทุกประเพณีงานบุญอาหารถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้เพราะเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีในประเพณีงานบุญ และหน้าที่นี้เป็นของผู้หญิงเป็นหลัก แต่ละครอบครัวจึงมีการจัดสำรับอาหารทั้งคาวหวานและผลไม้ใส่ถาด นำมาที่กุโบร์เพื่อให้โต๊ะได้รับประทานร่วมกันหลังจากทำพิธีเสร็จ โดยใช้ศาลาของกุโบร์เป็นพื้นที่ในการรับประทานอาหารร่วมกัน
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมุสลิมสงขลา – มุสลิมพัทลุง หรือมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาคือการนำขนมท้องถิ่นเช่น ต้ม ข้าวต้ม แป้งข้าวหมาก ฯลฯ ผลไม้และเงินจัดใส่ภาชนะเรียกว่า “จาดบุญกุโบร์” ในแต่ละครอบครัวจะจัดมาหนึ่งถัง โดยจะมอบให้กับโต๊ะแต่ละคนเสมือนเป็นของขวัญได้นำติดตัวกลับไปบ้านของตนเพื่อให้ครอบครัวได้รับประทานด้วย และทุกปีในงานบุญกุโบร์ท่าช้าง นอกจากการทำบุญร่วมกันแล้วยังมีตลาดนัดชั่วคราวเกิดขึ้นอีกด้วย มีร้านขายผลไม้ อาหารท้องถิ่นต่าง ๆ ให้ลูกหลานที่มาทำบุญได้ซื้อหากันเกิดเป็นแหล่งรายได้ของพ่อค้าเเม่ค้าที่นำมาสินค้ามาจำหน่าย
งานบุญกุโบร์ของมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลานั้นถือได้ว่าเป็นอัตลักษณ์เฉพาะเเตกต่างไปจากมุสลิมมลายูอื่น ๆ ที่อยู่รายรอบ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรษของเราได้ทำสืบต่อกันมาให้ลูกหลานที่ยังมีชีวิตในหมู่บ้านเดียวกัน หรือต่างหมู่บ้านกันแต่ใช้พื้นที่กุโบร์(สุสาน) ฝั่งร่างบรรพุรุษร่วมกัน ได้มาพบปะทำกิจกรรมร่วมกัน ที่เกิดขึ้นปีละหนึ่งครั้งนี้
และการเชิญผู้รู้ทางศาสนาจากหมู่บ้านต่าง ๆ มาทำพิธีร่วมกันนั้น เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นรากเหง้าความเป็น สะท้อนความเป็นกลุ่มคนที่มีสายใยร่วมราก เป็นกลุ่มคนในวัฒนธรรมเดียวกัน มีคติความเชื่อแบบเดียวกัน ของพวกเราคนมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้อย่างแจ่มชัด และมีชีวิตชีวา มีจิตวิญญาณที่แฝงฝังไปด้วยคติชนอันสะท้อนผ่านวิถีปฏิบัติที่เราลูกหลานได้สืบสานสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน และพวกเราทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ควรจะต้องอนุรักษ์ สิ่งเหล่านี้ไว้
อ่านเพิ่มเติมได้ใน
๑ .บทความเรื่อง คนเเขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยสามารถ สาเร็ม พิมพ์รวมเล่มอยู่ในวารสารเมืองโบราณ “สงขลาหัวเขาแดงเมืองสุลต่านสุไลมาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม – ธันวาคม ๒๕๖๑ www.MuangBoranJournal ใน : https://www.facebook.com/samartsarem/posts/pfbid0CU7ApasS8Z5HDj3riBDNUrbrrr5h97Lye5DHKUZM4jJM3m6tiyhSZgazeRaiojhRl
.
๒. บทความเรื่อง บุญกุโบร์ทำบุญให้บรรพบุรุษของคนแขกมลายูลุ่มเลสาบสงขลา ใน : https://www.songkhlabesidethesea.com/y1w7/p5