“โคระ” ภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของผู้คนกลุ่มชนต่าง ๆ บนคาบสมุทรไทย-มาเลย์ เป็นอุปกรณ์ทำจากใบมะพร้าว นำมาสานเพื่อใช้ห่อผลไม้เช่นจำปาดะหรือขนุนป้องกันไม่ให้แมลงทำให้ผลไม้เสียหาย ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เรียบเรียงโดย สุภาคย์ อินทองคง ให้ข้อมูลไว้ว่า
“…โคระสามารถทำได้ทั้งใบมะพร้าวสด และไม้มะพร้าวแห้ง ถ้าใบมะพร้าวแห้งจะต้องมีการนำมาแช่น้ำก่อนหนึ่งคืน การทำโคระเริ่มด้วยเลือกทางมะพร้าวที่มีก้านใบสมบูรณ์ดีไม่มีรอยฉีกขาด หรือมีแต่น้อย ตัดทางให้เป็นท่อนติดก้านข้างใบข้างละ ๓ ก้าน รวม ๖ ก้าน นำท่อนทางที่ตัดแล้วสองท่อน สานเข้าด้วยกัน โดยจับท่อนทางทั้งคู่หันหน้าเข้าหากัน สานขึ้นรูปที่ละข้างด้วยลายขัด เมื่อขัดตอกได้ ๔ ตาแล้ว ใช้ก้านมะพร้าวทำเป็นหมุดกลัดตอกเส้นบนสุดของทั้งสองข้างไว้กันหลุด แล้วพลิกไปสานตรงข้ามต่อไป ขัดตอกตามวิธีเดิมจนได้รูปคล้ายกรวยปลายตอกทั้ง ๒ ของแต่ละท่อนทางจะไปรวมอยู่ด้านเดียว ขัดตอกตามวิธีเดิมจนใกล้สุดปลายตอกใบ รวบปลายใบขัดเป็นปม ๒ ปมคล้ายผมเปีย ได้รูปโคระที่เสร็จสมบูรณ์…”
อย่างไรก็ดี “โคระ” ซึ่งเป็นคำที่เรียกกันโดยทั่วไปในกลุ่มผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ คุณธีรนิน ตุกังงัน ชาวมลายูลูกครึ่งสตูล-ปตานีให้ข้อมูลว่า ภาษามลายูสตูลจะเรียกว่า #ฆือโระ (คำเดียวกันกับ โคระ) นายู(มลายูปตานีเรียก #ซารง หรือ #ฆือโระ ) จากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนพบว่าในพื้นที่ของคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลานั้นพบว่า มีการใช้คำเรียกที่ต่างออกไปคือเรียกว่า “#กล”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า “…กล [น]. การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ เช่น เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม เช่น กลโกง…” มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าการเรียกว่า กล ของชาวเกาะใหญ่คือการเรียกตามบริบทวัตถุประสงค์ของกลที่ใช้สำหรับ หลอกล่อหรือป้องกันไม่ให้แมลงทำลายผลของผลไม้นั้นเอง (ข้อสันนิษฐานของผู้เขียน)
#ทั้งนี้นอกจาก “โคระ” หรือ “กล”ั #ดังที่ยกมานำเสนอพื้นที่อื่น ๆ #ใช้คำเรียกว่าอย่างไรกันอีกบ้างครับ
ที่มา [๑] : สุภาคย์ อินทองคง.โคระ,สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่มที่ ๓.(๒๕๔๐).หน้า๑๓๒๕
เผยแพร่ครั้งเเรกใน – https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=5144034309024825&id=100002549200354&rdid=LIZ1y3WWwUYOxvzE