“เหนียวเออะ” บนความร่วมรากและรุ่มรวยของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

เหนียวเออะมุสลิมบ้านควน บ้านผู้เขียน

“เหนียวเออะ” ชื่อเรียกขนมท้องถิ่นคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งทำให้สุกด้วยกรรมวิธี “การนึ่ง” ถือได้ว่าเป็นขนมอีกชนิดหนึ่ง ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะแต่ละพื้นที่แม้ว่าจะถูกเรียกด้วยชื่อเดียวกัน แต่ก็มีความร่วมในความต่างหมายถึง ความร่วมคือ มีข้าวเหนียว กะทิ น้ำตาล เกลือเป็นวัตถุดิบหลัก ความต่างคือบางพื้นที่จะใส่กล้วยลงไปด้วยบางพื้นที่ไม่มีกล้วย ส่วนหน้าขนมจะมีความหลากหลายมาก เช่น  สังขยา ถั่ว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วเหลือง ต้นหอมซอย เป็นต้น

ในประเด็นของชื่อเรียกนั้น คำว่า “เออะ” อาจารย์ปรัชญา ปานเกตุ ให้ข้อมูลว่า ภาษาไทยไม่มีคำว่า “เออะ” เพียงคำเดียวแต่จะมีคำว่า “สะเออะ” ซึ่งพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า

“…สะเออะ ๑ ก. เสนอหน้าเข้าไปในสถานที่ที่ไม่สมควรเช่นในที่รโหฐานเมื่อไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง, เจ๋อ, เช่น สะเออะไปนั่งเก้าอี้ประธาน, เสนอหน้าพูดเป็นต้นโดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น นายยังไม่ทันถาม ก็สะเออะรายงาน.

สะเออะ ๒ น. เรียกนํ้าที่ได้จากเนื้อสัตว์สดเช่นกุ้ง เนื้อที่คั้นกับนํ้ามะนาว ตั้งไฟให้สุก ใช้ปรุงรส ว่า นํ้าสะเออะ…”

จากความหมายข้างต้นดูจะห่างไกลกับที่มาของคำว่า “เออะ” ที่ใช้เรียกเหนียวเออะนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า เออะในที่นี่จะหมายถึงคำว่า  “นึ่ง”  ที่มีรากมาจากภาษาจีนจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะขนมชนิดนี้ใช้กรรมวิธีทำให้สุกด้วยการนึ่ง เมื่อสอบถามเพื่อนของผู้เขียน (คุณจณิสตา พานิชกรณ์) ที่เรียนจบเอกภาษาจีน จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ข้อมูล ว่า คำว่า “นึ่ง” ในภาษาจีนเเต้จิ๋ว เรียกว่า “ฮื่อ”  และเมื่อลองสืบค้นดูพบว่าภาชนะที่ใช้นึ่งอย่าง “ลังถึง” มีต้นทางมาจากคนจีนเช่นกัน  ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงอีกกรณีเช่น คนไทย คนแขก ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาบางพื้นที่ จะเรียกอาหารที่ทำให้สุกโดยใช้กะทะในการผัดเรียกว่า “เจี้ยน” เช่น ปลาเจี้ย (ปลาทอด) อาจสืบเนื่องจากเรารับกะทะมาจากคนจีนเช่นกัน และเมื่อรับภาชนะมาใช้ เราก็รับเอาคำเรียกและกรรมวิธีการปรุงด้วยภานชนะดังกล่าวมาด้วย สำหรับบ้านผู้เขียนเรายังเรียก “ตะหลิว” ด้วยคำว่า “เจียนฉี่” ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นคำที่มีรากมาจากภาษาจีนเเต่ไม่ความรู้ว่าเป็นจีนอะไร ท่านใดสามารถให้ข้อมูลได้จะขอบคุณอย่างยิ่งครับ 

อย่างไรก็ดีกัลยาณมิตรของผู้เขียนอีกท่านคุณจันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์ ซึ่งมีเชื้อสายทางภาคอีสานตอนบน ให้ข้อมูลว่า ครอบครัวของตนมีขนมที่ทำจาก ข้าวเหนียวผสมถั่วลิสงและถั่วดำ ใส่น้ำกะทิ น้ำตาล เกลือหรือจะใส่กล้วยไว้บนด้วยก็ได้ ทำให้สุกโดยการนึ่งเรียกขนมชนิดนี้ว่า “ข้าวเหนียวสะเออะชื่อเรียกดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า “เหนียวเออะ” ของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจะร่วมรากกับคำเรียกดังกล่าว เพราะเราพูดไทยถิ่นใต้ชอบตัดคำให้สั้นลง “ข้าวเหนียว” กร่อนเป็น “เหนียว และ “สะเออะ” กร่อนเหลือคำว่า “เออะ” นั่นเอง

ก็อาจจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า สะเออะ กับเออะ เป็นคำร่วมในภาษาไทย ลาว ที่เป็นคำเก่ามาก ๆ ไม่ได้มาจากคำจีน ซึ่งต้องอาศัยผู้รู้ทางภาษาให้การชี้แนะเพิ่มเติมครับ ทั้งนี้อาการเป็นผดผื่นขึ้นในเด็กเล็กที่บ้านผู้เขียนเรียกว่า “เป็นเออะร้อน” จะเป็นไปได้ไหมว่า “เออะ” ที่ใช้เรียก “เหนียวเออะ” เป็นคำเรียกตามลักษณะของกะทิที่เอ่อขึ้นมาข้างบนเมื่อขนมนึ่งสุก เหมือนกับการที่ผดผื่นขึ้นผิวหนังของเด็ก

เหนียวสะเออะ ภาพจากคุณจันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์

สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้เขียน “เรื่องข้าวเหนียว : กรรมวิธีการปรุง” ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ โดยมีเรื่องของขนมที่ชื่อใกล้เคียงกับเหนียวเออะ คือ  “เหนียวอื้อ” ไว้ว่า

“…ปรุงโดยเอาสารข้าวเหนียวที่ล้างสะอาดแล้วผสมด้วยน้ำกะทิ แล้วจึงนำไปนึ่งให้สุกด้วยกัน เหนียวอื้อนิยมนำมาคลุกมะพร้าวหรือคลุกน้ำตาลทรายแล้วรับประทานหรือรับประทานคู่กับขนมชนิดอื่น ๆ [1]

และพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นใต้ พุทธศักราช ๒๕๒๕ จัดทำโดยสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาศรีนครินวิโรฒ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณ) หน้าที่ ๒๕๔ ได้เขียนถึง “…เหนียวอื้อ หมายถึง ข้าวเหนียวที่ใส่กะทิก่อนนึ่ง เหนี่ยวเอ่อ ก็ว่า…” ผู้เขียนพบว่าคนไทยในตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชมีขนมที่เรียก “เหนียวอื้อ” ด้วยเช่นกัน

เหนียวอื้อของคนไทยท่าวัง

เหนียวเออะสูตรมุสลิมบ้านควน

             ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเหนียวเออะคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลานั้นมีความหลากหลายมาก ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอเหนียวเออะของบ้านตัวเองเป็นลำดับแรก เพราะเป็นสูตรที่ทำกินในครอบครัวมาตั้งเเต่จำความได้ ปัจจุบันในหมู่บ้านยังมีคนทำขายด้วย โดยมีสูตรการทำดังนี้ นำข้าวเหนียวแช่น้ำไว้หนึ่งคืนแล้วล้างให้สะอาด ตั้งให้สะเด็ดน้ำ  นำกล้วยน้ำว้าหรือกล้วยนางยาแล้วแต่ความชอบปอกเปลือกผ้าครึ่งเตรียมไว้  นำน้ำกะทิมาผสมน้ำตาลและเกลือลงไปกวนให้ละลายโดยไม่ต้องตั้งไฟ

นำมาใส่ถาดโดยใส่ข้าวเหนียวไว้ชั้นล่างสุด ตามด้วยกล้วยที่ผ่าไว้นำมาเรียงจนกลบหน้าข้าวนับเป็นชั้นที่สอง แล้วจึงทับด้วยข้าวเหนียวอีกครั้งนับเป็นชั้นที่สาม แล้วละเลงน้ำกะทิที่ผสมไว้ทับหน้าข้าวเหนียว ยกขึ้นเตานึ่งจนนสุกตัดเป็นขนาดตามชอบหากชอบหวานสามารถโรยน้ำตาลก่อนรับประทานได้

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยไปเดินหาลิ้มลองของหรอยที่ “ตลาดใต้ถุน” ชุมชนบ้านกลางหมู่บ้านย่อยของบ้านปากพะยูน ตำบลปากพะยูน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง พบว่า มุสลิมบ้านปากพะยูนทำ “เหนียวเออะ” แบบเดียวกับคนมุสลิมบ้านควน ผู้เขียนจึงไม่พลาดที่จะอุดหนุนและขอบันทึกภาพไว้

เหนียวเออะมุสลิมปากพะยูน

เหนียวเออะสูตรมุสลิมบ้านบน –  มุสลิมบ้านหัวเขา

บ้านบนตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ข้อมูลเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๕ จาก “วะอาตีกะ” แม่ค้าขายเหนียวเออะเป็นอาชีพ บริเวณหน้าบ้านตนเองมาหลายสิบปี ตั้งอยู่ใกล้กับทางเข้า มัสยิดอุสาสนอิสลาม

“…สักสองปีได้เด็ก ๆ นักศึกษามากินก็พากันเรียก “เหนียวคอนโด” ชื่อเหนียวคอนโดกำเนิดมาจากร้านนี้ เป็นชื่อพึ่งเรียก…” วะอาตีกะยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชื่อดั้งเดิมที่มุสลิมบ้านบนเรียกคือ “เหนียวเออะ” หรือ “เหนียวสามชั้น” ชั้นล่างสุดคือ ข้าวเหนียว ตรงกลางคือกล้วย และบนสุดสังขยา ต่อมานักศึกษามาซื้อรับประทาน จึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “เหนียวคอนโด” ผู้เขียนเข้าใจได้ว่านักศึกษาเรียกตามลักษณะของเหนียวเออะซึ่งซ้อนเป็นชั้น ๆ มองดูเหมือนที่อยู่ของคนสมัยใหม่ที่เรียกว่า “คอนโด” นั่นเอง นอกจากนี้ยังพบว่า “เหนียวเออะ” หรือ “เหนียวหน้าเออะ” ของมุสลิมบ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งกับชุมชนมุสลิมบ้านบน โดยมีทะเลสาบสงขลากั้นกลาง ทำขนมเหนียวเออะสูตรเดียวกัน 

 ซ้าย เหนียวเออะมุสลิมบ้านบน ขวา เหนียวเออะมุสลิมบ้านหัวเขา      

ป้ายรายละเอียดขนมต่าง ๆ ของร้านวะอาตีกะ ได้แก่ ขนมลูกโดน ข้าวเหนียวถาดหน้ากุ้ง ข้าวเหนียวคอนโดหรือข้าวเหนียวสามชั้น(ตัวอักษรสีแดง)

ผู้เขียนถ่ายรูปคู่กับวะอาตีกะ

เหนียวเออะมุสลิมบ้านท่าเสา

  มุสลิมบ้านท่าเสาเป็นคำเรียกรวมคนมุสลิมหลายหมู่บ้านในตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา การทำเหนียวเออะ จะมีสามชั้นเรียงจากล่างขึ้นบนคือ ข้าวเหนียว กล้วย โรยหน้าด้วยถั่วดำ

เหนียวเออะมุสลิมท่าเสา

เหนียวเออะ มุสลิมท่าเสา

เหนียวหน้านวน มุสลิมตลาดแขก ตำบลคลัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

เหนียวเออะ มุสลิมบ้านบ่อตรุ

มุสลิมบ้านบ่อตรุ ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้ลิ้มลองเหนียวเออะที่ตลาดกอไม้ไผ่ มีสามชั้นด้วยกันคือ ข้าวเหนียว กล้วย บนสุดคือเม็ดมะม่วงหิมพานต์

เหนียวเออะ คนไทยที่บ้านน้ำกระจาย ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

         เหนียวเออะของคนไทยบ้านน้ำกระจายนี้ พบว่ามีความแตกต่างกับเหนียวเออะคนมุสลิมที่กล่าวมาข้างต้น กล่าวคือจะไม่มีกล้วย โดยคุณสุนิสา มีเสน ให้ข้อมูลว่า ทำจากข้าวเหนียวมูนด้วยน้ำกะทิผสมน้ำตาลทรายเกลือเล็กน้อยโรยหน้าด้วยถั่วเหลืองและผักชี กินคู่กับ กุ้งแห้งที่ตำรวมกับน้ำตาลทราย 

ซึ่งเป็นเหนียวเออะที่เหมือนกับของคนไทยในตำบลทำนบ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และผู้เขียนพบว่าเหนียวเออะสูตรนี้ที่ร้านของวะอาตีกะ มุสลิมบ้านบนก็ทำขายเช่นเดียวกันแต่จะเรียกว่า “เหนียวถาดหน้ากุ้ง” แทน

เหนียวเออะ คนบ้านน้ำกระจาย ภาพจากคุณสุนิสา มีเสน

เหนียวเออะคนไทยตำบลทำนบ

และผู้เขียนยังพบอีกว่าที่ตลาดนัดควนเนียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา มีร้านขนมหวานของคนไทยที่ทำเหนียวเออะขายด้วย แต่นำกล้วยมาเรียงไว้ข้างบนสุด อาจารย์ไพโรจน์ นวลนุ่ม คนไทยบ้านชุมพล ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เติบโตมาในครอบครัวที่มีคุณแม่ทำขนมพื้นบ้านขาย ให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่า ที่บ้านของตนถ้ามีกล้วยอยู่ข้างบนจะเรียกว่า “เหนียวหน้ากล้วย” และ “เหนียวเออะ” ของบ้านาจารย์ไพโรจน์ นวลนุ่ม จะไม่มีกล้วยเป็นส่วนผสม กล่าวคือมีข้าวเหนียว นึ่งกับน้ำกะทิที่ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายและเกลือ โรยหน้าด้วยถั่วเขียวซีก นึ่งให้สุก …….ตัดเป็นชิ้นตามขนาดตัดเป็นชิ้นตามขนาดที่ต้องการกินคู่กับน้ำตาลทราย

             ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาคือพื้นที่ แห่งความหลากหลายของผู้คนที่มาอยู่ร่วมกัน “เหนียวเออะ” นั้นถือเป็นขนมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนความร่วมในความต่างนี้ได้อย่างมีชีวิตชีวา  เรื่องราวของอาหารการกินจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องตระนัก ในเรื่องของชื่อเรียก ตามการเรียกของคนในแต่ละหมู่บ้าน เพราะขนมเดียวกันคนต่างหมู่บ้านอาจเรียกด้วยชื่อต่างกัน หรือ เป็นขนมที่เรียกด้วยชื่อเดียวกัน แต่คนแต่ละหมู่บ้านกับมีวัตถุส่วนผสมต่างกันบ้างร่วมรากกันบ้าง

บ้านท่านผู้อ่านมีขนมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเหนียวเออะดังที่กล่าวมาบ้างหรือไม่ครับลองมาร่วมแลกเปลี่ยนเล่าสู่กันฟังได้ครับ


[1] “ข้าวเหนียว : กรรมวิธีการปรุง.” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 723-724.

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น