อัปเดตเมื่อ 23 มี.ค. 2565
“…สิงหนคร แต่ก่อนชื่อเมืองสิงขรา
ดินแดนนี่หนา เป็นเมืองท่าที่สำคัญ
ปกครองโดยท่านสุไลหมาน
คนกล่าวขาน ถึงคุณงามความดี…”
( ส่วนหนึ่งของดีเกเพลงสิงขระ – สิงหนคร )
๒๑ มีนาคมของทุกปีองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้จัดตั้งเป็น “วันกวีนิพนธ์สากล” (World Poetry Day)[1]ด้วยความสำคัญของวันกวีนิพนธ์สากลนี้ผู้เขียนจึงอยากนำท่านผู้สนใจมารู้จักกับการแสดงทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ดีเก” ของชาวซิงฆูราที่บ้านหัวเขา
“บ้านหัวเขา”ชื่อหมู่บ้านของคนแขก (มุสลิม) ในเขตพื้นที่ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา แบ่งหมู่บ้านย่อยออกเป็น ๔ บ้าน คือ ในบ้าน นกท่อง บ้านนอก หัวเลน ( ม.๓ ,ม.๔, ม.๕, ม.๖ )[2] ชุมชนใกล้ปากทะเลสาบสงขลามีการตั้งถิ่นฐานมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓๓๕ ปีตามหลักฐานภาพวาดชุมชนในแผนที่เมืองสงขลาและบริบท โดยวิศวกรเดอลามาร์ เมื่อพ.ศ.๒๒๓๐ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ อาจนับได้ว่าเป็นชุมชนที่สืบทอดผู้คน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมบางประการต่อมาจากเมืองสงขลา (ซิงฆอรา) สมัยสุลต่านที่หัวเขาแดง ซึ่งถูกทำลายลงโดยกองทัพอยุธยาในปีพ.ศ.๒๒๒๓ ( ทว่าผู้คนไม่ได้สูญหายไปจากผลพวงแห่งสงคราม ชาวซิงฆูราได้ย้ายมายั้งบ้านหัวเขาแห่งนี้อยู่ทางทิศใต้ และตะวันตกของเมืองซิงฆูราเดิมที่อยู่อีกฝั่งเขาบรเวณที่เรียกหัวเขาแดง
ดีเกที่มาของชื่อเรียก
พจนานุกรรมฉบับราชบัญฑิตยสถานพ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายว่า ลิเก ไว้ว่า
“…น. การแสดงชนิดหนึ่งมาจากชาวมลายู, เรียก ยี่เก ก็มี…”
สุจิต วงษ์เทศ เสนอไว้ในบทความเรื่อง “มลายูเป็นบรรพชนร่วม ลิเก มีต้นทางจาก ‘ดิเกร์”
โดยระบุว่า
“…ดิเกร์ หมายถึงการละเล่นของชาวมลายูมุสลิมสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า
ในพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม ด้วยการร้องเพลงรวมหมู่พร้อมโยกตัวเป็นจังหวะเข้า
กับทำนองตีกลองรำมะนาหนึ่งสำรับ (คือหนึ่งชุด มีกลอง ๔ ใบ) พร้อมเครื่องตี
กระทบประกอบจังหวะตามสมควร…”[3]
ดีเกเป็นการเรียกตามสำเนียงมลายูมีรากมาจากคำว่าซีเกรของภาษาอาหรับบริบทของบ้านหัวเขาเป็นที่น่าสังเกตว่า ดีเกกับซีเกรนั้นมีการใช้ทั้งสองคำแต่มีบริบทการใช้ที่แตกต่างกัน กล่าวคือดีเกเป็นบทขับร้องที่แต่งขึ้นมีทั้งภาษามลายู อาหรับและภาษาไทยมีเนื้อหาอาจไม่เกี่ยวข้องกับการสรรเสริญนบีหรือพระเจ้าก็ได้ ส่วนซีเกร นั้นเป็นการใช้ที่หมายถึงการรำลึกถึงพระเจ้า ซึ่งคำที่ใช้กล่าวนั้นก็มีที่มาจากตัวบทในอัลกุรอ่าน ที่บ้านผู้เขียนบ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาก็มีการใช้ ดีเกกับซีเกรแบบบ้านหัวเขาเช่นกัน
บ้านหัวเขายังเรียกดีเกด้วยคำอื่น ๆ อีกด้วยเช่น ขับรำมะนา ที่เรียกเช่นนี้เพราะการแสดงจะใช้รำมะนาเป็นเครื่องดนตรีหลักและภายหลังปะแก่อะหมัด และหลีก็สอนการแสดงดีเกให้กับเยาวชนในชุมชนโดยเรียกว่า ลิเกฮูลูแทน
ดีเกบ้านหัวเขากับที่มา
การขับร้องดีเกของบ้านหัวเขานั้นจากการลงภาคสนามของผู้เขียนโดยได้สำภาษณ์กับศิลปินผู้สืบทอดขับร้องดีเกโดยตรงมีนามว่า อะหมัด และหลี อายุ ๖๕ ปี ให้ข้อมูลว่า
“ปะ(พ่อ)ของท่านชื่อว่า ตาเหย็บ และหลี เสียชีวิตเมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๕ ขณะมีอายุ ๖๓ปี ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดการขับร้องดีเกให้กับท่านได้เล่าไว้ว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนมีชาวอยุธยาชื่อว่า หวันมิน ได้เดินทางมายังบ้านหัวเขา เป็นผู้นำการแสดงดีเกมาสอนให้กับคนหัวเขา…คนเมื่อร้อยปีก่อนเหตุใดจึงเดินทางจากอยุธยามาหัวเขาเป็นไปได้หรือไม่ว่าหวันมินคือลูกหลานของชาวสงขลาสมัยสุลต่านที่ถูกพา(เทครัว-ผู้เขียน)ไปอยุธยาแล้วเดินทางกลับมาเยี่ยมหัวเขาตามที่บรรพบุรุษได้บอกเล่าว่าเดิมถูกนำมาจากสงขลา…”[4]
ผู้เขียนก็มีความเห็นเช่นเดียวกันกับปะแก่ตาเหย็บ และหลี ถึงข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่าหวันมินอาจเป็นลูกหลานของชาวสงขลาที่ถูกพาไปยังอยุธยาทั้งนี้คำว่าหวันนั้นก็มีความน่าสนใจเป็นคำที่บ่งบอกถึงความเป็นชนชั้นเจ้าในวัฒนธรรมมลายู
ดังที่ทราบกันว่าหลังอยุธยาพิชิตเมืองสงขลาได้ในปี พ.ศ. ๒๒๒๓ ชาวเมืองสงขลาถูกเทครัวกระจัดกระจายไปหลายแห่ง ทั้งนี้ชาวสงขลากลุ่มใหญ่ ได้ถูกเคลื่อนย้ายเข้าไปยังอ่าวบ้านดอน และได้ตั้งชุมชนถาวรขึ้นที่บ้านสงขลา เมืองไชยา สายสกุลเจ้าเมืองสงขลาจากหัวเขาแดงได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองไชยาต่อมาจนสิ้นสมัยธนบุรี เพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่าการขับร้อง “ดีเก” นั้นเป็นการแสดงของชาวซิงฆอรายุคสุลต่านไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้
ดังนั้นชุมชนชาวสงขลาพลัดถิ่นที่ไชยาก็น่าที่จะต้องมีการขับร้องดีเกนี้เช่น ผู้เขียนได้รับการยืนยันจาก ครูสะอาด ร่าหมาน อดีตข้าราชการครูโรงเรียนวัดโพธิ์ธาราม ปัจจุบันท่านอายุ ๗๓ ปีเป็นคนบ้านสงขลา ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานีโดยกำเนิด ปัจจุบันได้ไปอยู่ที่บ้านของภรรยาที่พุมเรียง คุณครูสะอาดเป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพุมเรียงมีความรอบรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีของมุสลิมบ้านสงขลาและพุมเรียงเป็นอย่างดีได้บอกกับผู้เขียนว่า
“…บ้านสงขลานั้นแต่เดิมมีการแสดงดีเก น่าจะยกเลิกไปตอนที่คุณครูมีอายุประมาณ ๑๕ ปีโดยจะใช้เครื่องดนตรีรำมะนาในการแสดงใช้ร้องในวันแต่งงาน แห่ขันหมาก ปัจจุบันในหมู่บ้านเหลือผู้ที่ร้องได้อยู่คนสุดท้ายชื่อว่า บังยูซูป…”[5]
ครูสะอาด ร่าหมาน ลูกหลานชาวซิงฆูราพลัดถิ่นที่บ้านสงขลา อำเภอไชยา จังหวัดสุราาฎร์ธานี ผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับดีเกของบ้านสงขลา
เครื่องดนตรีที่ใช้
บ้านหัวเขา บ้านสงขลา บ้านควนใช้เครื่องดนตรีเหมือนกันคือ รำนา (รำมะนา) สำหรับบ้านสงขลากับบ้านควนจะใช้เมือนกันคือมีรำนาใหญ่ ๑ ลูก รำนาเล็ก ๑ ลูกและฉิ่งหนึ่งคู่ และบ้านหัวเขาเดิมใช้รำนากับฉิ่งและต่อมาเมื่อวงมีสมาชิกมากขึ้นจึงใช้ไว้โอลินและลูกแซกเพิ่มเข้ามาอีกด้วย
ภาษาที่ใช้ขับร้อง
ภาษาที่ใช้มีทั้งภาษามลายูซิงฆูรา ( สงขลา ) ภาษาอาหรับและภาษาไทย โดยที่บ้านสงขลานั้นเป็นที่น่าเสียดายว่ายังไม่สามารถเดินทางไปเก็บข้อมูลบทร้องเพิ่มเติมได้เนื่องจากสถานการโรคระบาดโควิด- 19 สำหรับที่บ้านควนผู้เขียนเก็บข้อมูลมาได้จำนวนสองเพลงเป็นเพลงภาษาไทยทั้งสองเพลงและบ้านหัวเขาเก้บข้อมูลได้จำนวนสี่เพลงเป็นเพลงอาหรับผสมมลายูสองเพลง ภาษาไทยสองเพลง
ภาพถ่ายผู้เขียนคนกลาง ซ้ายวะอีประธานชุมชนบ้านนอกและขวามือปะแก่อะหมัด เเหละหลี ศิลปินขับดีเกของบ้านหัวเขา
วาระที่ร้องดีเก
ดีเกของบ้านหัวเขานั้นในอดีตจะใช้ขับร้องในขบวนแห่จาดมูโลด เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการทำบุญวันเกิดในท่านนบีมูฮัมหมัด โดยมีการนำขนมผลไม้เงินมาจัดใส่ภาชนะแล้วทำการแห่ไปรอบ ๆ หมู่บ้านแต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการแห่จาดมูโลดนั้นได้ถูกยกเลิกไปแล้วแต่การทำบุญวันเกิดนบี ( มูโลด ) และการดับจาดนั้นยังมีอยู่
ถึงแม้ว่าไม่มีการร้องดีเกในขบวนแห่จาดอีกแล้วแต่ที่ผ่านมาการขับร้องดีเกก็ยังมีการแสดงอยู่บ้างในงานสำคัญ ๆ ของทางราชการในพื้นที่เช่น งานเปิดสำนักงานเทศบาลสิงหนครราวปีพุทธศักราชปี๒๕๔๒ ได้มีการแต่งบทดีเกขึ้นมาใหม่ชื่อเพลงว่า สิงขรานคร – (สิงหนคร) ผู้แต่งคือปะแก่อะหมัด แหละหลี โดยอีหม่ามฮานาฟี พิษสุวรรณเป็นผู้ให้แต่งขึ้น โดยนำหนังสิอประวัติศาสตร์เมืองสงขลา ( ซิงฆอรา )ที่ท่านเรียบเรียงขึ้นให้ปะแก่อะหมัด และหลี ได้อ่านเพื่อนำข้อมูลมาแต่งเป็นบทดีเกขึ้น โดยใช้ทำนองของเพลงลังกาวีที่ร้องโดยเอกชัย ศรีวิชัยศิลปินชาวใต้ผู้เป็นขวัญใจของคนใต้ในขณะนั้น
ปะแก่อะหมัด แหละหลีขับดีเกหรือขับรำมะนาชื่อเพลง สิงขรานคร – สิงหนคร
บันทึกวีดีโอโดยผู้เขียน
มีเนื้อร้องดังนี้
บทขึ้นต้น…ล้าลาล่าล้า – สิงขรานคร – ( สิงหนคร )
๑.สิงหนคร แต่ก่อนชื่อเมืองสิงขรา ดินแดนนี่หนา เป็นเมืองท่าที่สำคัญ ปกครองโดย ท่านสุไลหมาน คนกล่าวขาน ถึงคุณงามความดี (ลูกคู่รับ)
๒.ต่อมาปี ๒๑๗๒ พระเจ้าปราสาททอง เจ้าเมืองแห่งกรุงศรีอยุธยา ภายในเมืองเกิดเหตุการไม่ค่อยดี สิงขระบุรีเลยประกาศไม่ขึ้นตรง (ลูกคู่ครับ)
๓.(สูง) สุไลหมานชาได้พัฒนาบ้านเมือง จนลือเลื่องไปถึงเมืองกรุงศรี ทางเมืองหลวงได้ยกทัพมาโจมตี แต่ทุกทีต้องพ่ายแพ้กลับไป (ลูกคู่รับ)
๔. ท่านได้สร้างสิ่งสำคัญไว้มากมาย เช่นป้อมค่าย ที่เราเห็นอยู่ทุกวัน ท่านสร้างค่ายเพื่อเอาไว้ป้องกัน จากศัตรูที่ทำการมาราวี (ลูกรับ)
๕.(สูง) ท่านสุไลหมาน มีลูกหลานมากมาย ทั้งหญิงชายต่างมีหน้ามีตา บางท่านได้เป็นเจ้าเมืองไชยา บางท่านนี้หนาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง (ลูกคู่รับ)
๖.ประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องน่าศึกษา แต่เวลามันมีไม่พอ ใครอยากจะฟังต่อก็ต้องทนรอ ติดตามต่อในโอกาสต่อไป (ลูกคู่รับ – ล้าล้าล่าล้า)
ต้นฉบับดีเกหรือร้องรำมะนาเพลงสิงขรานคร – สิงหนคร เขียนโดยปะแก่อะหมัด แหละหลี
ประวัติศาสตร์ซิงฆอราในบทดีเก
จะเห็นได้ว่าดีเกบทนี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองสงขลาที่หัวเขาแดง (ซิงฆอรา) ครอบคลุมมิติทางประวัติศาสตร์ของเมืองตั้งแต่การสถาปนาเมืองจน ช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของเมือง วาระสุดท้ายของเมืองหลังจากแพ้กองทัพอยุธยา ดีเกบทนี้สามารถทำให้ผู้ที่ได้รับฟังสามารถเข้าใจประวัติศาสตร์ของเมืองซิงฆอราได้ในเวลาอันสั่น ๆ
บทที่ ๑ เป็นการนำเสนอให้เห็นว่าสิงหนครนั้นมีชื่อเดิมว่าสิงขระ มีเจ้าเมืองปกครองคือสุลต่านสุลัยมาน ชาห์เป็นเจ้าเมืองลำดับที่สอง
บทที่ ๒ นำเสนอเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาที่พระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ อันเป็นช่วงเวลาที่สุลต่านสุลัยมาน ขาห์ประกาศเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นตรงต่ออยุธยา สืบเนื่องมาจากพระเจ้าปราสาททองนั้นเป็นเพียงขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่สถาปนาตนเป็นเจ้าเมืองโดยทำการประหารผู้ที่มีสถานะสืบราชบัลลังของอยุธยาถึงสองพระองค์คือสมเด็จพระเชษฐาธิราช กับสมเด็จพระอาทิตยวงศ์
บทที่ ๓ นำเสนอความรุ่งเรื่องและเป็นเมืองที่อยุธยายกทัพมาปราบหลายครั้งเป็นว่าหลายทศวรรษก็ไม่สามารถเอาชนะเมืองซิงฆอราลงได้
บทที่ ๔ นำเสนอเรื่องราวของซิงฆอราในช่วงสมัยสุลต่านสุลัยมานนั้นมีการสร้างป้อม คูเมือง กำแพงเมืองอย่างแน่นเป็นการสร้างเพื่อไว้ป้องกันข้าสึกที่มารุกราน
บทที่ ๕ นำเสนอเรื่องราวของลูกหลานสุลต่านซึ่งพระองค์มีบุตรทั้งหมดสามท่านคือ ๑.สุลต่านมุสตาฟาภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองไชยาดังปรากฎบ้านสงขลาที่อำเภอไชยาอยู่จนทุกวันนี้ หลุมฝัพศพของท่านอยู่ที่บ้านโต๊ะเจ้าอันเป็นบ้านย่อยของบ้านสงขลอ ๒.ท่านฮุดเซน ได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมืองพัทลุง เป็นต้นตระกุล ณ พัทลุงปัจจุบันหลุมฝังศพของท่านอยู่ที่กุโบร์ป่าขาว บ้านสงขลา เมืองไชยา
บทที่ ๖ เป็นการทิ่งท้ายชวนนให้ติดตามสืบค้นประวัติศาสตร์ของเมืองซิงฆูรากันต่อไป
ป้อมหมายเลข ๘ ป้อมเมืองสุลต่านที่ปากทะเลสาบสงขลา
ดีเกเพลงซิงขรานคร – สิงหนคร ได้รับการแปลเป็นภาษามลายูอักษรรูมีโดย pqlFauzie นามแฝง
มีเนื้อร้องดังนี้
Singhanagara Singgora punya nama nan purba. Pelabuhan kuala pengkalan pada nan perahuan. Penguat kuasa anu diraja Sultan Sulaiman. Kunjungan nama seorang mulia disanjung sanjungan.
Di zaman dan kala dalam era pertengahan. Takhta diraja kota Ayuthaya pemerintan. Lahir peristiwa menguling raja kusa rampasan. Sempat lah masa Singgora nan bebas dari genggaman.
Sulaiman diraja membina mengukuh daya pertahanan. Kedaulatan negara dapat mengelah kan penyerbuan. Peristiwa di Senggora sampai ke Ayuthaya capai khabaran. Serangan bala tentera berulangkali di patah kan.
Peristiwa lama cetera purba sering di sebar kan. Sempat nya masa di lain kali kita jelas kan. Bersurai perhamba doa restu anda dalam keperluan.
Muncul nya Zuriat keturunan Raja Sulaiman bertaburan dan berkembang pesat. Tinggi nya darjat nama tersanjung kesana sini. Pemegang kuasa takhta diraja Pattalung-Surat. Bedelung kota ke arah Segenting Kera Chaiya kota purbakala Gerahi.
ดีเกเพลงซิงขรานคร – สิงหนคร ได้รับการแปลเป็นภาษามลายูอักษรยาวีโดยคุณ Pfekhroune Rhazes
มีเนื้อร้องดังนี้
سيڠا نگارا ڤورباكالا-نام دسبوتڽ سڠگورا
بومي اين نن ڤدا سيڠگه-سان نن ڤلابوهن
ڤڠكواتكواس ڤوڽكن نام سلطان سليمان
ساهوت-ڤڽاهوت دالم سبوتن،بگندا سنتياس ترسنجوڠ نن تيڠگي
ڤوست ڤمريتهن دلمبه دراۏاتي ١٦٣٢ مسيحي برلاكو ككاچاوان كدولتن سڠگورا كسايڠنكو.. ڤرتيۏي كنعمتن بردولة سمفة-ڽ- ڤول سجنڤ كمبالي
دولي ترأمة مليا .جونجوڠن كيت. دراج سليمان شاه دمي كسلامتن داري بنچان بنتيڠ٢ڤرتاهنن اراهن بگيندا تربينا مڽلامتكن
ڤڽربوان أيوتيا بربيلڠ كالي-ڽ-كجايا
كسن٢ ڤنيڠگلن كيني ممبوقتي بنتيڠ٢ برتابوران دكمونچق گونوڠ-گانڠ نن مڠليليڠي دمي ممڤرتاهن ڤڽربوان بالا تنترا داري لمبه دۏاراواتي
ذرية دان كتورونن دولتكو كيني مونچول برتابوران دستيڤ ڤلوسوق دسان-سيني ڤمڠكو ڤڠواتكواس دببراڤ نگري تأ ترقيصة جوڬ دكوت بدلوڠ جوڬ دسگنتيڠ چهايا…گراهي ماريله كيت سمولا مڠاجي كأڬوڠن مويڠ كيت دئيرا نن سيلم ممڤلاجري كيت اكن مڽيباركن برللواسن.. اندايڽ كادأن دان ماس مندوكوڠ دان مڠئيذيني لا..لا..لا..لا
สรุป
ดีเกนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมหนึ่งของคนในวัฒนธรรมซิงฆูราที่ทำให้เห็นร่องรอยของความสัมพันธุ์ของผู้คนที่เป็นชนกลุ่มเดียวกันถึงแม้ว่าชนกลุ่มหนึ่งได้ถูกเทครัวออกไปจากพื้นที่เมื่อสามร้อยกว่าปีก่อนกับกลุ่มคนที่ยังอยู่สืบมาในพื้นที่ ดีเกบทนี้ยังเป็นการทำให้เห็นว่าคนในพื้นที่นั้นมีการนำเสนอประวัติศาสตร์ของตนผ่านบทลำนำการแสดงของหมู่บ้าน
ทั้งนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งบุคคากรของหน่วยงานด้านวัฒนธรรมในจังหวัดสงขลาได้อ่านบทความชิ้นนี้แล้ว จะให้ความสนใจต่อการแสดงดีเกของคนบ้านหัวเขากลุ่มคนที่อยู่สืบมาจากยุคสุลต่าน เมื่อมีงานทางวัฒนธรรมที่จัดในจังหวัดสงขลาก็จะมารับเชิญไปแสดง หรือหน่วยงานสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั้งห้าแห่งของจังหวัดสงขลาจะให้ความสนใจเพื่อลงมาศึกษาให้เรื่องราวของดีเกเป็นที่รับรู้ในวงวิชาการมากขึ้นก่อนที่การแสดงนี้จะสูญหายไป เพราะสถานภาพของดีเกหากเทียบกับชีวิตคนก็อยู่ในวัยชราใกล้ร่วงโรยโรยราลงเต็มทีแล้ว
ภาพวาดแผนที่เมืองสงขลาโดยเดอร์ลามาร์ พ.ศ.๒๒๒๓ หลังซิงฆูราเเพ้อยุธยาเพียง ๗ ปี ฝั่งหัวเขาปรากฎภาพการตั้งชุมชนอยู่สองตำแหน่งคือที่บ้านหัวเขากับบ้านบ่อเก๋ง ชาวซิงฆอราที่เหลือหลังซิงฆอราเเพ้อยุธยาได้ย้ายมายังบ้านหัวเขาทางทิศตะวันตกของเขาแดงอันเป้นตำแหน่งเมืองของซิงฆอรา
หมายเหตุ ซิงฆูรา ผู้เขียนนำมาจากจารึกภาษามลายูอักษรยาวีบนปืนใหญ่ของเมืองสงขลาหัวเขาแดง ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ
ขอขอบคุณ
๑.ปะแก่ตาเหย็บ และหลี ลูกหลานชาวซิงฆูราที่บ้านหัวเขา(บ้านนอก) ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
๒.ครูสะอาด ร่าหมาน ลูกหลานชาวซิงฆูราพลัดถิ่นที่บ้านสงขลา ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๓.วะอี ประธานชุมชนบ้านนอก ( บ้านหัวเขา ) ผู้ให้การช่วยเหลือนำผู้เขียนในการสำรวจตลอดการเก็บข้อมูลภาคสนามที่บ้านหัวเขา
๔.คุณสรุเชษฐ์ แก้วสกุล นักวิจัยอิสระ
๕.บังกฤษ พิทักษ์คุมพล ลูกหลานชาวหัวเขาที่ได้อนุเคราะห์ภาพถ่ายประกอบบทความ
๖.ขอบคุณธีรเทพย์ จิตต์หลัง ผู้ช่วยสำรวจภาคสนามของผู้เขียน
ภาคผนวกภาพ
กุโบร์สุลต่านสุลัยมาน ชาห์อยู่ในศาลาหลังใหญ่ ที่หมู่ ๑ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
กุโบร์ของสุลต่านมุสตาฟา ภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองไชยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ที่บ้านโต๊ะเจ้า อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กุโบร์ของท่านฮุซเซ็น บุตรสุลต่านสุลัยมาน ชาห์เจ้าเมืองพัทลุง
ที่กุโบร์ป่าขาว บ้านสงขลา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กำแพงเมืองซิงฆอราใกล้กับสี่เเยกบ้านเล เป็นกำแพงเพียงตำแหน่งเดียวที่เหลืออยู่
คูเมืองซิงฆอราใกล้กับสี่เเยกบ้านเล
ผู้เขียนที่บ้านโต๊ะเจ้า(บ้านสงขลา) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อ้างอิง
[1] สืบค้นออนไลน์จาก https://hilight.kapook.com/view/99600 [2]ให้ข้อมูลโดยคุณพิเชษฐ์ หีมสุวรรณ ลูกหลานชาวหัวเขา [3]สุจิตต์ วงษ์เทศ / มลายูเป็นบรรพชนร่วม ลิเก มีต้นทางจาก ‘ดิเกร์’ สืบค้นออนไลน์จาก : https://www.matichonweekly.com/column/article_205183 [4]สัมภาษณ์ปะแก่ตาเหย็บ และหลี ลูกหลานชาวซิงฆอราที่บ้านหัวเขา(บ้านนอก) ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๒๖๕ [5]สัมภาษณ์ครูสะอาด ร่าหมาน ลูกหลานชาวซิงฆอราพลัดถิ่นที่บ้านสงขลา ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕
เผยแพร่ครั้งแรกใน - https://kyproject19.wixsite.com/kidyang/post/_dege