ประติมากรรมพญามารในวิหารพระทรงม้าแม้จะแสดงใบหน้าพญามารอย่างเทพบุตร แต่ก็ยังแสดงคุณลักษณะแบบอสูรหลายประการ

ประติมากรรมพญามารผู้มีบาป ปรากฏกายขึ้นห้ามการออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระศรีธาตุบนพนักบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณพนักด้านทิศตะวันออกภายในวิหารพระทรงม้า ประติมากรแสดงภาพใบหน้าพญามารในลักษณะเทพบุตรซึ่งเป็นกรณีพบได้ยากในพื้นที่ซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มทะเลสาบเขมร อันนิยมแสดงภาพพญามารในลักษณะของอสูรที่น่าหวาดหลัว ในขณะที่ความคิดในการแสดงพญามารเช่นนั้นไม่ได้เป็นมาตรฐานในงานพุทธศิลป์ภูมิภาคอื่น ๆ
พญามารผู้มีบาป ผู้วางบ่วงเหนี่ยวรั้งสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลงอยู่ในกิเลสนั้นแทนที่จะเป็นของน่าสะพรึงกลัวที่มนุษย์เห็นแล้วต้องหนีออกหาก ที่จริงกลับอยู่ในรูปของสิ่งงดงามชวนหลงไหล
ประติมากรรมฉากมหาภิเนษกรมณ์ภายในวิหารพระทรงม้านี้มีรูปแบบที่แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในราวพุทธศวรรษที่ 23 อย่างชัดเจน แต่การแสดงพญามารที่มีใบหน้าแบบเทพบุตรซึ่งไม่ใช่มาตรฐานของลุ่มน้ำเจ้าพระยานี้ หากไม่ได้เกิดจากการซ่อมแซมในสมัยหลัง ก็อาจแสดงถึงความคิดหรือรูปแบบมาตรฐานอื่นที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคใต้อันเคยใกล้ชิดกับมอญ และลังกาอย่างแนบแน่นในอดีต


อย่างไรก็ตามแม้ประติมากรจะแสดงใบหน้าพญามารแบบเทพบุตร แต่ก็ยังเลือกใช้องค์ประกอบเครื่องทรงแบบอสูรตามมาตรฐานศิลปะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ดี คือแสดงครีพหูแบบอสูรแทนที่จะใช้กรรเจียกจรอย่างเทวดาแม้จะสวมชฏาก็ตาม ซึ่งขนบการใช้ครีพหูกับอสูรเช่นนี้ก็ยังปรากฏสืบมาถึงจิตรกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ พญามารสวมเกราะ ถือตระบอง มือหนึ่งยอขึ้นห้าม มือหนึ่งกระชับกระบองแนบเอวนี้ยังเป็นคอมโพสมาตรฐานของพญามารอันมีตัวอย่างในยุคสมัยใกล้เคียงกันนี้ที่จิตรกรรมวัดช่องนนทรี

จิตรกรรมพญามารที่วัดช่องนนทรี กรุงเทพ
แต่พญามารของจิตรกรรมวัดช่องนนทรีนั้นยกเท้าขวาขึ้นอยู่ในท่าเสมือนเหาะกลางอากาศ อาจเพื่อให้สอดรับกับความคิดที่ว่าฉากพระโพธิสัตย์ทรงม้านี้ถ่ายทอดการข้ามแม่น้ำอโนมา ซึ่งมีโลกบาลทั้งสี่ช่วยประคองเท้าของม้ากัณฐกะให้ลอยขึ้น พญามารจึงปรากฏตัวขึ้นกลางอากาศในท่าเหาะ แต่จิตรกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์มักแสดงอาการเหยียบเหนือก้อนศิลาใหญ่ในท่าย่อ คอมโพสและอาวุธที่ถือมีความหลากหลายขึ้น


จิตรกรรมพญามารที่วัดช่องนนทรี กรุงเทพ
พญามารที่วิหารพระทรงม้านี้ไม่ได้แสดงอาการว่าเหาะหรือยืนบนพื้น หากแต่เหยียบเหนือราหูอมจันทร์ต่างแท่น ซึ่งดูเหมือนไม่ปรากฏตัวอย่างเช่นนี้ในงานศิลปกรรมที่ไหนเลย และไม่เคยพบคำอธิบายความหมายของคติเช่นนี้ในเอกสารโบราณหรือตำนานลายลักษณ์อักษรของเมืองนครฉบับไหนเลยเท่าที่ผมเคยอ่านมา


หากแท่นราหูอมจันทร์เป็นของที่มีมาแต่แรก ราหูซึ่งกำลังกลืนดวงจันทร์อันลอยอยู่บนนภากาศ ก็อาจแสดงได้ว่าพญามารผู้เหยียบเหนือราหูนั้นก็ลอยอยู่ในอากาศเช่นกัน พร้อมทั้งสื่อถึงอำนาจของพญามารผู้มีบาปว่าทรงอำนาจเหนือยิ่งไปกว่าราหูผู้มีฤทธิ์มาก และสื่อไกลออกไปถึงพระโพธิสัตว์ซึ่งอีก 7 ปีหลังจากนี้จะมีชัยชนะเหนือพญามารผู้มีบาป ในที่สุดระบบสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในครั้งโบราณก็สื่อแสดงย้อนกลับไปถึงสภาวะสูงส่งที่สุดของพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งมีชัยเหนือมารพร้อมทั้งบริวาร และสั่งสอนหนทางที่จะหลุดพ้นจากบ่วงมารนั้นแด่สรรพสัตว์ทั้งหลาย