

คัมภีร์นี้รูปอักษรค่อนข้างใหม่ สำนวนภาษาก็ค่อนข้างใหม่ทีเดียว ลงรูปวรรณยุคต์ตามเสียงภาคกลาง มีคำใต้ปนอยู่ไม่มากนัก คำบรรยายลักษณะของเสาธงในคัมภีร์นี้ว่า ประกอบด้วยเสาลงรักปิดทอง นาคทัณฑ์ ผืนธง กระดิ่งแขวนเสาธง ฉัตรปักยอด สิ่งที่เรียกว่า นาคทัณฑ์ ซึ่งระบุถึงในคัมภีร์นี้น่าจะคือส่วนที่เป็นไม้สลักรูปนาคทรงเหมือนคันทวยกลับหัว เสาธงแบบมีนาคทัณฑ์เป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา ดังปรากฏหลงเหลืออยู่ในลักษณะเสาธงขนาดเล็กตามพิพิธภัณฑ์วัดหลายแห่งในภาคกลาง และในจิตรกรรมสมัยอยุธยาที่วัดเกาะเพชรบุรี ในพระบรมธาตุมีเสาธงเครื่องพุทธบูชาที่ปรากฏองค์ประกอบของนาคทัณฑ์เหมือนกันส่งขึ้นมาจากชุมชนพุทธแถบภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังรักษาขนบเครื่องบูชาแบบเก่าไว้ได้ดี
เนื่องจากนาคทัณฑ์นี้ ดูเป็นองค์ประกอบที่ไม่ค่อยเห็นในเสาธงรุ่นรัตนโกสินทร์แล้ว คงมีตกค้างของรูปแบบอยู่ในชุมชนพุทธทางภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น ผมจึงคิดว่าต้นฉบับของคัมภีร์อานิสงส์นี้คงมีมาเก่าก่อน ในยุคที่ดีไซน์ของเสาธงยังมีองค์ประกอบของนาคทัณฑ์เป็นหลักอยู่ตัวคัมภีร์จึงได้กล่าวถึงไว้



แต่เชื่อว่าคัมภีร์อานิสงส์นี้ เมื่อคัดลอกปรับแปลงใช้มาในรุ่นรัตนโกสินทร์แล้ว ก็อาจไม่ได้มีความคิดเรื่ององค์ประกอบว่าต้องสอดคล้องตามรูปแบบของเสาธงที่ปรากฏในคัมภีร์นี้เพียงอย่างเดียว เพราะคัมภีร์ไม่ได้แสดงอานิสงส์ของการนาคทัณฑ์ และฉัตร ว่าจะยังผลอะไร แสดงแต่อานิสงส์การทำเสาธงให้บริบูรณ์ อานิสงส์การลงรักปิดทอง และอานิสงส์ของการทำผืนธงเท่านั้น
พูดถึงคัมภีร์อานิสงส์เสาธงนี้ บางทีเดิมอาจจะเป็นของวัดเสาธงทอง ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ตรงข้ามฝั่งถนนกันกับวัดบูรณารามซึ่งรักษาคัมภีร์ผูกนี้อยู่ อาจจะจารขึ้นสำรับวัดอันมีเสาธงเป็นเครื่องหมายแห่งชื่อวัดนั้นก็ได้ เพราะสำรวจพบว่ามีคัมภีร์หลายผูกจากวัดเสาธงทอง ถูกย้ายมาเก็บที่วัดนี้ครับ
——————–
๚ ธง ๚ ตถากาเล ในกาลครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลราช พระองค์มีความปรารถนาเพื่อจะไปไหว้พระบรมครู ยังคนทั้งหลายให้ถือเอาซึ่งดอกไม้ธูปเทียนของหอม แวดล้อมไปด้วยเสนานิกร ก็ออกจากพระนครหลวง ถึงพระเชตุพนมหาวิหาร จึงถวายนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วถวายซึ่งเครื่องสักการะบูชาแล้ว นั่งฟังพระสัทธรรมเทศนาอยู่ในสถานที่นั้น
ในเมื่อจบพระสัทธรรมเทศนา สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลราช น้อมนมัสการซึ่งองค์พระบรมครูแล้วจึงทูลถามซึ่งกุศลแลประโยชน์อันประเสริฐบังเกิดในภพทั้งสาม ก็ทูลถามแก่พระบรมครูว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเป็นอันงาม คนทั้งหลายเหล่าใดที่มีน้ำจิตรเลื่อมใสศรัทธาซึ่งเสาธง แลจะมีผลานิสงส์เป็นประการใดพระพุทธิเจ้าข้า ขอพระองค์จงตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่เกล้ากระหม่อมฉันให้แจ้งในกาลบัดนี้
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาซึ่งอานิสงส์เสาธง แก่สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลราช ว่าดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ แลบุคคลทั้งปวงในโลกนี้ มีน้ำใจเจตนาจะใคร่กระทำเสาธง มาตรว่าใหญ่ก็ดี น้อยก็ดี สั้นก็ดี ยาวก็ดี มีผลานิสงส์เป็นอันมาก




คือบุคคลผู้นั้นจะปรารถนาสมบัติบรมจักรก็ดี ก็จะสำเร็จดังความปรารถนาแก่บุคคลผู้นั้น อนึ่งจะปรารถนาเป็นสาวก แลอัครสาวก แลพระพุทธิเจ้าองค์หนึ่งองค์ใด ก็จะสำเร็จดังความปรารถนา ด้วยผลานิสงส์ประดุจสร้างเสาธงเห็นปานดังนี้
ฯ อันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะสำแดงซึ่งผลานิสงส์แห่งเสาธง จึงนำมาซึ่งอดีตนิทาน มาตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลราชตามในเรื่องอานิสงส์เสาธงในกาลครั้งนั้นแล
ฯ ว่าในเมื่อครั้งศาสนาพระพุทธเจ้ากัสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า แลพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว แลยังมีบรมกระษัตริย์เจ้าองค์หนึ่งทรงพระนามชื่อว่า กากวติ บรมกษัตริย์เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองกาวติมหานคร
ฯ ว่ายังมีบุรุษเข็ญใจสองคนผัวเมียอยู่ในเมืองกาวตินคร อยู่มาในกาลวันหนึ่ง แลบุรุษผู้นั้นเข้าไปสู่ราวป่า เห็นแล้วซึ่งไม้ต้นหนึ่ง แลบุรุษผู้นั้นมีจิตเป็นกามาพจรกุศลบังเกิดในจักขุทวารวิถี แลมีความโสมนัสยินดีจึงคิดว่า อันว่ามาครานี้ไม้ต้นนี้งามนักหนา ควรที่จะกระทำซึ่งเสาธงจึงจะสมควร
ฯ เมื่อบุรุษผู้นั้นคิดดังนี้แล้ว อยู่มาในกาลวันหนึ่ง จึงบุรุษผู้นั้นประเทียบเกวียนด้วยวัวแล้วก็เข้าไปสู่ราวป่าตัดเอาซึ่งไม้ต้นนั้น ยกขึ้นสู่เกวียนพามาตามหนทาง ตราบเท่าจนถึงบุพพารามแห่งหนึ่ง แลบุรุษผู้นั้นก็ปลงซึ่งเกวียนเอาไม้ไว้ที่นั้น
ฯ จำเดิมแต่บุรุษผู้นั้นเอาไม้ไปไว้ในที่นั้นกำหนดได้เดือนหนึ่ง แลเสาธงนั้นก็ยังหาสำเมร็จไปไม่ แลพยาธิอันใดอันหนึ่งมาบังเกิดแก่บุรุษผู้นั้น ก็ถึงกาลกิริยาตาย ครั้นตายแล้วก็ได้ไปบังเกิดในดาวดึงษาพิภพ มีวิมานทองสูงได้ ๑๒ โยชน์ มีนางฟ้าได้พันหนึ่งเป็นยศบริวารแวดล้อมซึ่งเทวบุตรองค์นั้น
ฯ ยังมีบุรุษผู้หนึ่งเห็นซึ่งเสาธงยังมิได้แล้ว ในกาลวันหนึ่ง บุรุษผู้นั้นก็ยกซึ่งเสาธงขึ้นได้สำเมร็จแล้วกระทำกาลกิริยาตาย ก็ได้ไปบังเกิดในวิมานทองสูงได้ ๑๒ โยชน์มีนางฟ้าพันหนึ่งเป็นยศบริวาร ด้วยผลานิสงส์แห่งตนได้กระทำถากซึ่งเสาธงดังนี้แล
ฯ ยังมีบุรุษผู้หนึ่งเล่า มิได้เห็นซึ่งทองที่เสาธง แลบุรุษผู้นั้นมีความยินดีในที่เสาธงนั้น จึงมีความคิดว่าอาตมาจะลงรักปิดทองให้สำเมร็จ แลเมื่อบุรุษผู้นั้นคิดดังนั้นแล้ว ๆ ก็ลงรักเสาธงบริบูรณ์เป็นอันงาม
แลยังมีพ่อค้า ๑๒ คนมิได้เห็นซึ่งผ้าที่เสาธง คือบุรุษคนหนึ่งออกผ้า คนหนึ่งออกด้าย คนหนึ่งถากไม้นาคทัณฑ์ คนหนึ่งปรุง คนหนึ่งทำกระดิ่งแขวน คนหนึ่งทำเชียกผูก คนหนึ่งเป็นพนักงานที่จะผูก แลคนทั้งสามนั้นกระทำฉัตรใส่ยอดเสาธง


ครั้นกระทำเสร็จแล้วก็ยกขึ้นใส่ไว้ได้สำเมร็จดังความปรารถนาแล
อันว่าคนทั้งหลาย ๑๒ คน ยินดีโสมนัสนาการยินดีซึ่งกันและกัน อันว่าคนทั้งหลาย ๑๒ คนนั้น ครั้นเมื่อกระทำกาลกิริยาตาย ก็ได้ไปบังเกิดในสวรรคสักกเทวโลก มีวิมานทองสูง ๑๒ โยชน์ แวดล้อมไปด้วยนางฟ้าแสนหนึ่งเป็นยศบริวาร เสวยทิพย์สมบัติอยู่ในเทวโลกก็มีด้วยประการดังนี้
แล้วเทวบุตรทั้งหลายนั้นก็ได้ลงไปบังเกิดในมนุษยโลกนี้ ก็ไปเป็นพระญาติพี่น้องกันสิ้นทั้งนั้น ได้เสวยสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสีมหานคร ประกอบไปด้วยนางสนมแสนหนึ่งเป็นยศบริวาร ประกอบไปด้วยช้างม้าราชรถ สิ่งละแปดหมื่นสี่พันสิ้นทั้งปวงนั้น
แลก็มีเครื่องลาดปูแลคลังผ้าขุมทอง แลคลังทองคลังเงินคลังข้าว สิ่งละแปดหมื่นสี่พัน แล้วประกอบไปด้วย (ฉบับขาด) และสระโบกขรณีน้อยใหญ่
อนึ่งคือผ้าโกสียพัสตร์ แลผ้าโขมพัสตร์ แลผ้ารัตนกำพล มีเนื้ออันละเอียด ก็บังเกิดมีในเมืองพาราณสีนั้น แลเมืองพาราณสีมั่งคั่งบริบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติ ก็มีด้วยประการดังนี้แล
อันว่าพระยาทั้งหลายทั้งปวงนั้น ได้เสวยราชสมบัติอันเป็นบรมสุขในเมืองพาราณสี สั่งสอนอาณาประชาราษฏร์สัตว์ทั้งปวงเป็นทศพิธราชธรรม (ฉบับขาด) ก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์
จากแต่สวรรค์แล้วก็มาเกิดในมนุษย์ แต่ท่องเที่ยวไปมาในวัฏฏสังสารช้านานคราบเท่าถึงศาสนาแห่งพระเจ้าเรา จุติจากสวรรค์ลงมาบังเกิดในตระกูลเศรษฐี (ฉบับขาด) กันสิ้นทั้งนั้น ด้วยผลานิสงส์อันตนช่วยกันกระทำซึ่งเสาธงให้สำเมร็จบริบูรณ์
ฯ ในกาลครั้งนั้น ฝ่ายมหาชนคนทั้งปวงเป็นอันมากครั้งนั้นวัน ๘ ค่ำ แลวัน ๑๕ ค่ำ คนทั้งปวงร้องป่าวกันว่า มา จะไปฟังพระสัทธรรมเทศนา แลคนทั้งทั้งปวงนั้น มีมือถือเอาซึ่งดอกไม้ของหอม ตกแต่งซึ่งกายของตนขึ้นไปฟังพระสัทธรรมเทศนา
ว่าเศรษฐีพี่น้องทั้ง ๑๒ คนนั้นครั้นเห็นมหาชนคนทั้งนั้น ถือเอาซึ่งดอกไม้ของหอมธูปเทียน จึงถามคนทั้งหลายว่าท่านจะไปสู่สถานที่ใด คนทั้งหลายเขาจึงบอกว่า เราจะไปฟังพระสัทธรรมเทศนาแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า
อันว่าเศรษฐีทั้งหลายนั้นก็ชื่นชมโสมนัสยินดี มีมือถือเอาซึ่งดอกไม้ธูปเทียนของหอม ไปสู่พระเชตุพนแห่งสมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้า ถวายเครื่องบูชาแล้วก็นั่งในที่ควรเบื้องหลังมหาชนคนทั้งหลาย


ฯ อันว่าพระศาสดาจารย์เจ้า เมื่อจะสำแดงซึ่งทานแลศีลแก่ชนทั้งปวงนั้น ก็กล่าวเป็นพระคาถาสืบไปว่า
– เยาเพาธิรุกฺขํเราเจติเยาจปพฺพชิตฺตานิ เราเยาจสุผุฏฺฐูกพฺมพฺพํ ทุรํพุทฺเธาภวิสฺสติ –
ฯ อธิบายในพระพระคาถาแห่งสมเด็จพระพุทธิเจ้า อันว่าบุคคลผู้ใดปลูกไม้ศรีมหาโพธิ์ก็ดี บวชด้วยก็ดี ทำพระพุทธรูปด้วยทองก็ดี อันว่าบุคคลผู้นั้น จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเที่ยงแท้นักหนา ด้วยผลานิสงส์อันตนได้กระทำซึ่งกุศลดังนี้
แลอันเป็นกุศลก็ดี อันว่าเป็นภาวะอกุศลก็ดี อันว่ากุศลแลอกุศลทั้งสองนั้น จะได้ผลวิบากเสมอกันนั้นหามิได้ แลบุคคลผู้ใดได้กระทำซึ่งอกุศล ก็พากันไปตกนรก อันว่า (ฉบับขาด)
อันว่าทานอันบุคคลกระทำประดุจดังสหายแห่งตน แลเมื่อตนกระทำกาลกิริยาตาย ทานนั้นก็ตามบุคคลผู้นั้นไปได้แล้ว ก็เป็นบันใดขึ้นไปสูู่สวรรค์แลนิพพาน (ฉบับขาด) ด้วยเหตุผลเป็นประการใด จึงบมิเหมือนบิดามารดา ทรัพย์สมบัติทั้งนั้น เมื่อตนกระทำกาลกิริยาตายจะได้ตามซึ่งบุคคลผู้นั้นไปหามิได้ ครั้นบุคคลผู้ทำทานการกุศลทั้งปวงนั้น จะได้สุขสามประการในมนุษย์สวรรค์นิพพาน
ฯ ในเมื่อจบพระสัทธรรมเทศนา แลมหาชนคนทั้งปวงนั้นก็หลีกไป เศรษฐี ๑๒ คนนั้นเป็นเอหิภิกขุในพระศาสนา จึงมีพระพุทธฎีกาเรียกว่า จงมาบวช แลไตรจีวรบังเกิดสวมตัวพร้อมกันสิ้นทั้ง ๑๒ คน แลเครื่องอัฏฐบริขารทั้งนั้นบังเกิดขึ้นพร้อมกันในกาลครั้งนั้น
ก็ได้ลุถึงพระอรหัตผล พร้อมไปด้วยพระปฎิสัมภิทาญานก็มีด้วยประการดังนี้แล
อันว่าเทวบุตรอันได้ไปบังเกิดในดาวดึงษาพิภพกำหนดได้พันปีทิพย์แล้ว ก็ลงมาบังเกิดเป็นบรมกระษัตริย์องค์หนึ่ง อยู่ในเมืองกุมพรวดีมหานคร แลพระยานั้นมีจิตรประกอบไปด้วยศรัทธาเป็นกามาพจรมหากุศล พระองค์ปรารถนจะให้ซึ่งทาน แลพระองค์ยังซึ่งคนทั้งหลายให้กระทำซึ่งศาลาฉทานแล้วก็ให้ซึ่งทาน เป็นกิจการทุกวันมิได้ขาด
แล้วพระองค์กระทำบุญมิได้ขาด เมื่อกระทำกาลกิริยาตาย ก็ได้ไปบังเกิดในวิมานสักกเทวโลก แล้วประกอบไปด้วยเครื่องบริโภคอันเป็นทิพย์สิ้นทั้งนั้น ประกอบไปด้วยนางเทวกัญญาพันหนึ่งเป็นยศบริวารแล
ครั้นเมื่อพระเมตไตรลงมาเกิดในมนุษย์โลกนี้ แล้วได้ตรัศแก่ปรมาภิเษกสมโพธิญาณแล้วกาลเมื่อใด เทวบุตรองค์นั้นก็จุติลงมาบังเกิดในมนุษย์โลกนี้ ก็ได้เป็นอัครสาวกพระเมตไตรในกาลครั้งนั้น คือเทวบุตรองค์ใด อันเห็นซึ่งเสาธงมิได้แล้วกระทำให้สำเร็จ อันว่าเทวบุตรองค์นั้น ก็ได้เป็นอัครสาวกแห่งพระศรีอาริยเมตไตร (ฉบับขาด)
อันว่าหญิงชายจำพวกใดกระทำซึ่งเสาธงให้แล้ว ครั้นจุติแต่มนุษย์โลกนี้แล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในดาวดึงษ์ จุติจากแต่ดาวดึงษ์ลงมาบังเกิดในโลกนี้จะได้เป็นพระยาจักรพรรดิราช ประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการ ด้วยผลานิสงส์อันตนกระทำเสาธง
อันว่าบุคคลผู้ใดแลกระทำลงรักปิดทอง กายบุคคลผู้นั้นแล้วไปด้วยทอง แลบุคคลผู้นั้นมิได้ไปบังเกิดในตระกูลเข็ญใจย่อมจะไปบังเกิดในตระกูลทั้งสอง คือตระกูลกระษัตริย์ แลพราหมณ์มหาศาล มีทรัพย์เป็นอันมากด้วยผลานิสงส์ลงรักปิดทองเสาธง
อันว่าคนทั้งหลายได้สินแลถากเสาธงนั้น จะได้เป็นพระอินทร์ ๓๖ กัปป์ เป็นพญาจักรพรรดิ ๓๖ กัปป์ ได้เป็นพญาเทศราชอันประเสริฐได้อสงไขย ๑ ประกอบไปด้วยสมบัติจะนับจะคณนามิได้ ด้วยผลานิสงศ์ซึ่งสินแลถากเสาธงนั้น


อันว่าคนทั้งหลายได้กระทำซึ่งธง ได้ไปบังเกิดในมหาตระกูล ประกอบไปด้วยคลังผ้า แลประกอบไปด้วยไม้กัลปพฤกษ์ มีผ้านุ่งผ้าห่มต่าง ๆ แลก็มิได้ไปบังเกิดในเปรตแลเดียรัจฉานแลนรกอเวจีเป็นที่สุดมิ อาจให้สำเร็จซึ่งสุคตทั้งปวง อันตนได้กระทำผ้าเป็นธง
อันว่าคนทั้งหายใด อันให้ซึ่งด้ายผูกเย็บผ้าซึ่งเสาธงนั้น มีอายุยืนแล้ว เมื่อจะตายนั้นจิตมิได้ลงไปทางอื่น จิตนั้นตั้งไปสู่ทางสวรรค์ ด้วยผลานิสงส์เมื่อจะตายจากสวรรค์ก็ลงมาบังเกิดเป็นพญาจักรพรรดิประกอบไปด้วยแก้ว ๗ ประการด้วยผลานิสงส์อันตนให้ด้ายผูกธง ในเมื่อสมเด็จพระเมตไตรลงมาบังเกิดในมนุษย์โลกนี้ ได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาในสำนักพระศรีอาริยเมตไตร ก็ลุถึงซึ่งอรหัตผลเป็นชาติสุด ในกาลนั้นแล
แลอุบาสกอุบาสิกาท่านทั้งปวง จงตั้งโสตประสาท จงชื่อถือลงในคุณแก้วทั้งสามประการ คือ พุทธํ ธมฺมํ สํฆํ รัตนนี้แลกระโยมท่านทั้งปวงชื่อถือลงเป็นมั่นคงแล้ว ก็จะแคล้วคลาดซึ่งความไข้แลวิปริตต่าง ๆ
เอวํ ก็มีด้วยประการดังนี้แล ๚ะ