“เกี่ยว ” อุุปกรณ์เก็บข้าวที่บ้านเขาใน ตำบลเชิงเเส อำเภอกระเเสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ซื่อจากตลาดใน(อำเภอ)ระโนด
การเก็บข้าวของคนปักษ์ใต้บ้านเรา เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่าใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “แกะ” ในการเก็บ จะเก็บที่ละรวงและมัดรวมกันเรียกว่า “เลียง” หลังจากนั้นก็นำไปเก็บไว้ใน “เรินข้าว” หากที่เก็บข้าวเป็นห้องหนึ่งของบ้านที่อยู่อาศัยจะเรียกว่า “ลอมข้าว” จากการได้ลงมาศึกษาชุมชนบ้านเขาใน ม.๑ ต.เชิงเเส อ.กระเเสสินธุ์ จ.สงขลาพบว่า ในพื้นที่แถบนี้ยังมีอุปกรณ์เก็บข้าวเรียกว่า “เกี่ยว” มีลักษณะใกล้เคียงกับเคียวของทางภาคกลางใช้เก็บข้าวอีกด้วย ( ที่บ้านควนตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ บ้านของผู้เขียนเรียกว่า “มีดงอ” ใช้สำหรับตัดหญ้านำมาเลี้ยงวัว)
เรินข้าวกั้นฝาด้วยตับจากสาคู ที่บ้านเขาใน ตำบลเชิงเเส อำเภอกระเเสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
จากการพูดคุยกับ “คุณทวดส้มอิ่ม สังขจินดา” ( ปัจจุบันท่านอายุ ๙๖ ปี ) ท่านได้ให้ข้อมูลว่าเท่าที่จำความได้ “เกี่ยว” นั้นเดิมใช้สำหรับเกี่ยวหญ้าเพื่อนำมาเลี้ยงวัว ภายหลังประมาณ ๔๐ ปีที่แล้วเริ่มมีคนใช้เกี่ยวข้าว ข้าวที่ได้จะต้องนำมา “ฟัด” กับอุปกรณ์ที่เรียกว่า “พร้อม” แล้วนำเมล็ดข้าวเปลือกตากแดดให้แห้งเมื่อแห้งจึงจะสามารถนำไปเก็บไว้ที่ “เรินข้าว” ต่อไป สำหรับสถานที่จำหน่ายเกี่ยวนั้นจะต้องเดินทางไปซื้อที่ตลาดระโนด (อ.ระโนด) เป็นย่านที่มีตลาดแหล่งรวมสินค้าที่เจริญที่สุดในบริเวรตอนเหนือของคาบสมุทรสทิงพระ
“พร้อม” อุปกรณ์สำหรับใช้ ฟัดข้าวที่ใช้เกี่ยวในการเก็บ ภาพถ่ายที่บ้านคลองฉนวน ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาห่างจากบ้านเขาในประมาณสองกิโลเมตร อุปกรณ์แบบนี้ที่บ้านเกตรี ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เรียกว่า “ถุ้ง”
สำหรับการใช้เกี่ยวหรือเคียวเก็บข้าวนั้นเมื่อหลายปีก่อนเพื่อนของผู้เขียน “คุณฟารีดา ปังแลมาปุเลา” ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านเกตรี ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูลได้ถ่ายภาพขณะไปเก็บข้าวในทุ่งนาของที่บ้านมาให้ชม พบว่าอุปกรณ์ที่ใช้คือ “เคียว” ไม่ได้ใช้แกะ และเรียกเคียวนั้นว่า “เบดงอ” (เบดคือมีด) พร้อมให้ข้อมูลว่าที่บ้านของตนนั้นใช้เบดงอมาตั้งแต่อดีต ข้าวที่ได้ก็ต้องนำมาฟัดกับอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ถุ้ง” ตากให้แห้งและนำไปเก็บไว้ที่ “เปาะข้าว” หมายถึงเรินข้าว
เบดงอ(เบดคือมีด)ที่บ้านเกตรี ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ภาพถ่ายจากคุณฟารีดา ปังเเลมาปุเลา
เปาะข้าว ที่บ้านคลองกั่ว ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ชุมชนแห่งนี้อยู่ต่อแดนกับบ้านทุ่งนุ้ย ของจังหวัดสตูล สำหรับการเรียกเปาะข้าวหมายถึงเรินข้าวนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่าเรียกกันที่ฝั่งสตูลเป็นหลัก
อีกเหตุการณ์ที่ผู้เขียนพบการใช้เคียวนั้นคือที่บ้านนารังนก (บ้านนางนก) ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เมื่อต้นปี 2563 ผู้เขียนได้ไปเที่ยวบ้านญาติ ใกล้ ๆ กันมีการเก็บข้าวจึงเดินไปดูพบว่ามีคนเก็บข้าวอยู่หลายคนโดยส่วนใหญ่จะใช้แกะในการเก็บแต่มี “โต๊ะหญัง” (ทวด) ที่มานั่งอยู่ในทุ่งนาท่านกลับใช้ เคียว เรียกว่า “มีดงอ” ในการเกี่ยวข้าวแทนแต่ตอนนั้นไม่ได้สอบถามข้อมูลอะไรเพิ่มเติม
มีดงอ มีลักษณะเหมือน เคียว กับเเกะ ที่บ้านนางรังนก (นางนก) ตำบลเเม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา
จากข้อมูลที่ผู้เขียนนำเสนอมาจะเห็นได้ว่าการใช้ เกี่ยว หรือ มีดงอ หรือ เบดตัดข้าว (เคียว) ในการเก็บข้าวนั้นมีอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ร่วมกับการใช้ แกะ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งเเต่จีนตอนใต้ คาบสมุทรมลายูไปจนถึงหมู่เกาะ และมีความเป็นไปได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้มาก่อน เกี่ยว แล้วเกี่ยวนั้นน่าจะเริ่มใช้ในช่วงเวลาใด และได้มีเหตุการณ์บันทึกไว้บ้างหรือไม่
จากการสืบค้นผู้เขียนพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าด้วยเรื่องของการเก็บข้าวของคนในพื้นที่จังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ปรากฏอยู่ในรายงานพระวิจิตรรวรสาสน์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลาและพัทลุง เขียนขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๑๔ (พ.ศ.๒๔๓๘) เขียนขึ้นที่พักข้าหลวงเมืองสงขลา เป็นการบันทึกข้อมูลที่น่าจะมีความเชื่อมโยงกับการใช้เคียวของคนในพื้นที่แห่งนี้ มีข้อมูลดังนี้
“…นาปีนี้บริบูรณ์ทั่วกันหมดถึงแก่เก็บไม่ทันต้องขาวเข้าในนาก็มีบ้างมากที่แขวงเมืองนคร เมืองพัทลุงก็เหมือนกัน แต่ข้าพระพุทธเจ้ามีความเสียดายอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งราษฎรชาวเมืองสงขลา เมืองนคร เมืองพัทลุง #มาพากันนิยมในการเก็บเข้า #ไม่เกี่ยวเหมือนแถบข้างเหนือ ข้าพระพุทธเจ้าไปยืนดูเขาเก็บออกรำคาญในตาเปนล้นเกล้า เสมอยืนดูคนมีท้าวบริบูรณ์ดีอยู่แต่ไม่เดิน ใช้คลานหรือคลุกเข่าไปตามถนนอยู่เช่นกัน ถ้าได้เดินูเข่าไร่หนึ่ง ฝีมือเก็บเร็ว ๆ อยู่ใน ๔ วัน ๕ วันจึ่งจะแล้ว ถ้าเกี่ยววันเดียวหรือวันครึ่งก็แล้วเสร็จ ทราบเกล้าว่า ฯ…”
“… เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ออกมาตรวจราชการก็ได้บ่นอยู่ตลอดเวลาจนกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ เข้าที่ได้กันในปีนี้ที่ว่าเป็นอย่างมาก ถ้าอย่างแถบข้างเหนือแล้ว คงไม่ต้องขายในนาเปนแน่ ราคาเข้าเปลือกที่เก็บเกี่ยวแล้ว ซื้อขายกันในเวลานี้เกวียนละ ๒๕ ถึง ๓๐ เหรียน ถ้าขายในนาผู้ซื้อเก็บเอาเองเกวียนละ ๕ เหรียน ผิดกันไกลถึงเพียงนี้…”
“…ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าว่า ให้ข้าหลวงผู้ว่าราชการเมืองออกประกาศว่า #ถ้าผู้ใดเก็บข้าวจะเก็บร้อยชัก ๑๐ ถ้าเกี่ยวไม่เก็บดังนี้สักปีเดียว ก็คงจะไม่มีใครกล้าเก็บอีกต่อไป ได้ลองปฤกษากับพระยาวิเชียร แลพระยาอภัยบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงก็เห็นชอบด้วย แต่ถ้าโปรดเกล้าดังนี้แล้ว #กรมนายแขวง จะต้องมีช่างตีเหล็กแห่งละคน สำหรับจะตีเคียวขายแก่ราษฎร แลคอยชี้แจงวิธีเกี่ยวนั้นด้วยแต่จะต้องคิดจัดคนเฝ้าให้ด้วย เพราะการเก็บคนหนึ่งเก็บได้พอที่จะทูนศีศะกลับมาบ้านชั่ววันหนึ่ง ไม่ต้องทิ้งไว้ในคันนา แลมีคนเฝ้าประจำอยู่ในนาด้วย ข้อนี้เห็นด้วยเกล้าว่า ฯ พอจะจัดได้โดยง่าย ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งมีดสำหรับเก็บข้าวมาทูลเกล้า ฯ ถวายในครั้งนี้ ๒ เล่ม วิธีจับมีนั้นกำหลอดเข้าแล้วให้แผ่นกระดานอยู่ในระหว่างนิ้วกลางนิ้วนาง ยื่นนิ้วไปเหนี่ยวตัดได้ครั้งละ ๒ รวง ๓ รวงบ้าง…”[๑]
เกี่ยว ใช้ตัดข้าวผีเพื่อนำไปเลี้ยงวัว ที่ทุ่งนาใกล้กับวัดพะโคะ ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา
จากข้อมูลที่ถวายรายงานข้างต้น “กรมดำรงราชานุภาพ” เสนาบีกระทรวงมหาไทยทรงมีความเห็นว่า ตอบกลับไปถึงพระวิจิตรวรสาสน์ ข้าหลวงพิเศษพระยาวิเชียรคีรี ผู้สำเร็จราชการกรมการเมืองสงขลาเขียนขึ้นเมือวันที่ ๑๗ เดือนเมษายน ร.ศ.๑๑๕ ที่ศาลาว่าการมหาดไทยให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า
“… ๖.เรื่องราษฎรใช้เหล็กแกะสำหรับเกี่ยวเข้า ซึ่งพระวิจิตรวรสาสน์เห็นว่าช้า และเห็นว่าถ้าให้ออกประกาศ ถ้าผู้ใดเก็บเข้าด้วยเหล็กแกะให้เก็บภาษีร้อยชักสิบ ถ้าใช้เคียวเกี่ยวไม่เก็บภาษี เพื่อจะใช้ราษฎรใช้เคียวเกี่ยวเข้าให้เร็วกว่าวิธีเก็บเข้าอยู่เดี่ยวนั้น ฉันเห็นว่าการที่ราษฎรใช้เหล็กแกะเก็บเข้าในนานั้น ย่อมจะต้องใช้ด้วยประกอบเหตุผลอันจำเปนจนเปนธรรมเนียมที่ใช้กันมาสืบชั่วบุตรหลาน คงจะไม่เปนเพราะความโง่อย่างเดียว #ราษฎรเหล่านั้นใช่ว่าจะไม่รู้จักเคียวก็หามิได #ย่อมจะรู้จัก แต่หากมีเหตุผลที่จำเปนให้ใช้ไม่ได้ หรือจะใช้แกเหล็กเก็บเข้าได้ดีกว่า ที่คิดเห็นได้ในเวลานี้ที่เขาเก็บแต่รวมเข้าไม่ต้องตัดถึงต้นข้าวนั้น ก็มีประโยชน์ที่ไม่ต้องนวดเข้าเปนต้น #แต่อย่างไรก็ดีจะลองให้ราษฎรใช้เคียวก็ควรอยู่ แต่ไม่ควรบังคับและเก็บภาษี #ควรซื้อเคียวไปแนะนำให้เจ้าของนารายหนึ่งรายใดลองทำดูตามแบบข้างเหนือสักแห่ง ๑ โดยจะประกันเสียหายให้ก็ได้ ถ้าเปนการดีกว่าเก่าได้จริงราษฎรที่ใกล้เคียงเห็นว่าเกี่ยวเข้าด้วยเคียวดีกว่าเก็บด้วยแกะ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะไม่เอาตัวอย่างใช้เคียวไปตาม…”[๒]
จากข้อมูลที่ระบุในจดหมายทั้งสองฉบับยืนยันได้ว่าแกะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว จนข้าราชการส่วนกลางมาพบเห็น จึงมีความคิดให้เปลี่ยนมาใช้เคียวเกี่ยวข้าวแทนแกะ จึงอาจจะพออนุมานได้ว่าช่วงเวลาที่ ในพื้นที่ของ (เขาในและใกล้เคียง) จ.สงขลา หันมาใช้เคียวเพื่อเกี่ยวข้าวนั้นอาจจะเป็นผลมาจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็เป็นได้ และจากความตั้งใจให้นำมาเกี่ยวข้าวในช่วงแรกชาวบ้านในพื้นที่อาจจะนำมาใช้เกี่ยวหญ้าแทนและบางพื้นที่อาจใช้เกี่ยวข้าวตามคำสั่งดังกล่าว
อย่างไรก็ดียังมีข้อสังเกตว่าชื่อเรียกเคียวนั้น ในพื้นที่กลับเรียกว่า เกี่ยวหรือมีดงอ จึงมีความเป็นไปได้เหมือนกันว่า เกี่ยวหรือมีดงอ เป็นสิ่งที่มีมาแต่เดิมก่อนที่ทางการจะส่งเสริมให้ใช้เคียวก็เป็นได้เพราะจากข้อมูลในตอนต้นที่ได้นำเสนอ จะเห็นว่าทางสตูล (ที่บ้านของเพื่อนผู้เขียน)นั้นก็ใช้ (เบดงอ) มาแต่ดั้งเดิม อีกทั้งญาติผู้ใหญ่ของผู้เขียนในอดีตจะเดินทางไปเก็บข้าวที่เมืองไทรบุรี(เคดาห์) ก็ให้ข้อมูลว่าท่านใช้ “มีดงอ” ในการเก็บข้าวไม่ได้ใช่ “แกะ”
จึงมีความเป็นไปได้ด้วยเช่นเดียวกันว่าการใช้ เกี่ยวของคนในพื้นที่แถบนี้ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว อาจจะไม่ได้เริ่มใช้หลังจากเหตุการณ์ที่ระบุอยู่ในหนังสือที่ยกมาข้างต้น ซึ่งจำเป็นต้องสืบค้นข้อมูลต่อไป
ลอมข้าว ห้องเก็บข้าวที่อยู่บนบ้านที่ใช้อยู่อาศัยที่บ้านหนองบัว ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
การเก็บข้าวด้วยเเกะ ที่บ้านท่าข้าม บริเวณหลาใต้โด อำเภอหาดใหญ๋ จังหวัดสงขลา
รวงข้าวมัดรวมกันคนใต้เรียกว่า “เลียง” ตั้งแบบในภาพนี้เรียกว่า “บัวขว่ำ”
รวงข้าวมัดรวมกันคนใต้เรียกว่า “เลียง” ตั้งแบบในภาพนี้เรียกว่า “บัวหงาย”กับแกะปักอยู่ข้างบน
เผยแพร่ครั้งเเรก : https://bit.ly/3VXxwYi
ที่มา [๑] : เอกสารราชการมรฑลนครศรีธรรมราช ในสมัยที่พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล ร.ศ.๑๑๕ – ๑๒๕ ว่าด้วยเรื่องรายงานพระวิจิตวรสาสน์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลาและพัทลุง กุมภาพันธุ์ ร.ศ.๑๑๔ – เมษายน ร.ศ. ๑๑๕ (หน้าที่ ๑๑ –๑๒) ตีพิมพ์ในงานพระราชเพลิงศพ หม่อมประยูร โสณกุล ณ อยุธยา ท.จ.ว. (๒๓ มีนาคม ๒๕๒๐)
[๒] เอกสารราชการมรฑลนครศรีธรรมราช ในสมัยที่พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล ร.ศ.๑๑๕ – ๑๒๕ ว่าด้วยเรื่องรายงานพระวิจิตวรสาสน์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลาและพัทลุง กุมภาพันธุ์ ร.ศ.๑๑๔ – เมษายน ร.ศ. ๑๑๕ (หน้าที่ ๑๕ –๑๖) ตีพิมพ์ในงานพระราชเพลิงศพ หม่อมประยูร โสณกุล ณ อยุธยา ท.จ.ว. (๒๓ มีนาคม ๒๕๒๐)
ขอขอบคุณ คุณทวดส้มอิ่ม สังขจินดา ที่บ้านเขาใน ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา