สาคูต้นกระแสสินธุ์ : เส้นทางจากต้นสาคูสู่แป้งสาคูต้นหนึ่งเดียวในคาบสมุทรสทิงพระ

    นางเหมวดี ทองฉีด หรือพี่ใหม่ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจสาคูต้นที่บ้านทุ่งบัว ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลาได้เล่าถึงความเป็นมาของการทำสาคูต้นของตนว่า เดิมตนเองเกิดที่บ้านควนพนางตุง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งบริเวณบ้านนั้นแวดล้อมไปด้วยป่าต้นสาคู คุณย่าจึงมักจะชักชวนตนไปช่วยขนต้นสาคูเพื่อนำมาทำขนมอยู่เสมอๆ ซึ่งสมัยนั้นคุณย่าจะทำแป้งจากต้นสาคูเพื่อทำขนมไว้กินกันในครอบครัวไม่ได้ทำขายเพราะไม่ได้เป็นของที่มีราคาอะไร ทั้งนี้โดยปกติแล้วจะโค่นต้นสาคูเพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงหมูเสียมากกว่า และด้วยด้วยเหตุนี้เองตนจึงพอจะมีความรู้เกี่ยวกับการทำสาคูต้นผ่านการเรียนรู้จากคุณย่านั่นเองแต่ก็ยังไม่เคยได้ทำสาคูต้นประกอบเป็นอาชีพแต่อย่างใด

    ต่อมาตนได้แต่งงานกับนายแดง ทองถีบและย้ายมาอยู่ที่บ้านทุ่งบัว ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ซึ่งในพื้นที่นี้มีต้นสาคูอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเมื่อประมาณเจ็ดเดือนก่อนหน้านี้ตนก็เริ่มทำอาชีพซื้อต้นสาคูในพื้นที่ของ ต.เกาะใหญ่ ส่งขายให้ญาติทางฝั่งพัทลุงใช้ทำสาคูต้น ทั้งนี้ส่งขายอยู่ประมาณสี่เดือนและเมื่อเข้าสู่เดือนที่ห้าก็เริ่มทำสาคูต้นขายเอง จนถึงตอนนี้เป็นเวลาสามเดือนแล้วที่ทำสาคูต้นขาย แต่ก็ยังขายต้นสาคูให้ญาติทางฝั่งพัทลุงอยู่ด้วยเช่นกันถือว่ามีรายได้ทั้งสองทางเลยทีเดียว

    การทำสาคูต้นนั้นส่วนที่ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดก็คือต้นสาคูนั่นเองเพราะเป็นวัตถุดิบหลักเพียงอย่างเดียวในการผลิตซึ่งจำเป็นจะต้องมีความรู้ในการเลือกโค่นต้นสาคูว่าต้นใดที่จะให้แป้งในปริมาณมาก โดยพี่ใหม่เล่าว่าจะต้องเลือกต้นที่มีอายุไม่ต่ำว่า 7 – 8 ปี โดยสังเกตจากต้นที่กำลังแตกเขากวาง (ออกกิ่งช่อ-ผู้เขียน) และยังไม่ติดผลทั้งนี้เพราะถ้าต้นที่ติดผลแล้วแป้งจะมีจำนวนน้อยเนื่องจากส่วนลำต้นจะไปเลี้ยงส่วนช่อผล นอกจากการสังเกตการออกกิ่งช่อและติดผลแล้วยังต้องใช้การชิมประกอบด้วย โดยการเจาะที่ต้นของสาคูเพื่อนำส่วนของเนื้อเยื่อในลำต้นมาเคี้ยวดู หากมีรสฝาดและมีความมันแสดงว่ามีปริมาณแป้งมาก จึงคุ้มทุนในการตัด

    โดยต้นที่ถือว่าได้ปริมาณแป้งมากนั้นคือต้นที่ให้แป้งประมาณ 60 กิโลกรัมต่อหนึ่งต้น ส่วนต้นที่ได้แป้งน้อยก็จะได้ประมาณ 40-50 กิโลกรัมต่อต้น ทั้งนี้เจ้าของต้นสาคูจะขายต้นละประมาณ 200 บาท และผู้ซื้อต้นสาคูต้องว่าจ้างลูกน้องมาช่วยตัดต้นสาคูอีกสองคน โดยคิดอัตราค่าจ้างวันละ 500 บาทต่อคน ทั้งนี้ในหนึ่งวันจะตัดต้นสาคูได้อย่างน้อย 5 ต้น ขึ้นอยู่กับว่าต้นสาคูที่ไปตัดนั้นอยู่ในบริเวณที่รถยนต์เข้าถึงยากง่ายเพียงใด หากเป็นต้นที่อยู่ลึกเข้าไปจากถนนมากก็ต้องใช้เวลาในการขนส่งนานกว่าจะออกมาจากในป่าทำให้ในวันนั้นตัดต้นสาคูได้จำนวนน้อย

    ในวันที่ 18 เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563 ผู้เขียนและผู้ใหญ่บ้านเขาในคุณนทีธรรม ทองเนื้อแข็ง ได้ติดตามน้าแดงและผู้ช่วยอีกสองคนไปยังป่าสาคูเพื่อศึกษาวิธีการตัดต้นสาคู ซึ่งวันนี้น้าแดงได้ติดต่อซื้อต้นสาคูไว้ที่บ้านเกาะใหญ่ที่อยู่ห่างจากบ้านทุ่งบัวประมาณ 5 กิโลเมตร เมื่อไปถึงน้าแดงได้เตรียมอุปกรณ์สำคัญคือเลื่อยตัดต้นไม้ ทั้งยังได้จัดเตรียมเติมน้ำมัน ส่วนน้าทั้งสองก็ช่วยกันตัดแต่งใบของต้นสาคูที่เกะกะออกเพื่อให้สะดวกในการตัด หลังจากนั้นจึงนำเชือกมาพัน ที่ต้นสาคูโดยใช้ทางของต้นสาคูเกี่ยวกับเชือกแล้วยกขึ้นไปให้เชือกอยู่บริเวณกลางลำต้น ส่วนผู้ช่วยอีกคนก็ผูกเชือกให้รัดกับต้นสาคู โดยทางที่ดึงเชือกไปนั้นจะเป็นทิศทางที่เมื่อโค่นต้นสาคูเสร็จต้นสาคูก็จะล้มไปในทิศทางนั้น ผู้เขียนจึงต้องหลีกจากบริเวณดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยในการเก็บข้อมูล

    หลังจากนั้นน้าจะแดงเลื่อยที่ส่วนโคนต้นสาคูด้วยความชำนาญทั้งนี้ใช้เวลาในการเตรียมการจนต้นสาคูล้มลงเพียงประมาณ 5 นาทีเท่านั้น เมื่อต้นสาคูล้มลงแล้วก็จะตัดเป็นท่อน ๆ เพื่อให้มีน้ำหนักเบาพอที่จะสามารถขนย้ายได้สะดวก จากนั้นผู้เขียนและผู้ใหญ่บ้านนทีธรรม ทองเนื้อแข็งได้เดินทางกลับมาที่บ้านของพี่แดงเพื่อดูขั้นตอนการผลิตแป้งสาคูต้นโดยมีหัวหน้าพัฒนาของอำเภอและเจ้าหน้าที่ที่ลงมาในพื้นที่ด้วยเพื่อเก็บข้อมูลและหาแนวทางช่วยเหลือในเรื่องของการพัฒนาสาคูต้นซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวของพี่ใหม่

    เมื่อขับรถเข้ามาถึงหน้าบ้านของพี่ใหม่เราพบกับต้นสาคูที่ถูกตัดเป็นท่อนๆ ที่น้าแดงได้ตัดแล้วนำมาไว้ใช้ทำแป้งสาคูต้นโดยมีคุณตาวัน ซึ่งเป็นพ่อของสามีพี่ใหม่ ทำหน้าที่ในการผ่าต้นสาคูให้เป็นท่อนๆเพื่อให้ง่ายในการนำไปขูดหรือที่ในภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า “ตรูน” ให้ต้นสาคูมีลักษณะเป็นผงเหมือนกากมะพร้าว ทั้งนี้การ “ตรูน”ต้นสาคูนั้นทำโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ตรูน” ซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างง่าย ที่พี่ใหม่คิดค้นทำขึ้นเองที่มีลักษณะคล้ายกับไม้พายทำขนมที่ทำจากไม้แผ่นเดียว ส่วนท้ายทำเป็นด้ามจับส่วนบนจะกว้าง และมีการตอกตะปูตัวเล็กๆ ถี่ๆ ให้เป็นช่องๆ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้สำหรับขูดต้นสาคูให้เป็นผง ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจนี้จนเมื่อสองวันก่อนพี่แดงสามารถประยุกต์ผลิตเครื่อง “ตรูน” สาคูมอเตอร์ได้เองโดยใช้งบประมาณ 15,000 บาท ซึ่งทำให้ต่อไปการขูดสาคูให้เป็นผงจะทำได้รวดเร็วมากขึ้น อย่างไรก็ดีคุณตาวันก็ยังใช้ “ตรูน” อันเดิมเพราะมีความถนัดและคุ้นเคยในการใช้มากกว่า

    เมื่อได้ผงต้นสาคูแล้วขั้นตอนต่อไป คือการนำต้นสาคูนั้นไปคั้นกับน้ำสะอาด ซึ่งจะเป็นหน้าที่เป็นของคุณยายเหลิม (คุณแม่ของสามีพี่ใหม่) เป็นผู้รับหน้าที่ โดยจะมีการนำผ้าขาวบางมาหุ้มปากถังแล้วนำผงสาคูมาคั้นด้านบนผ้านั้น ซึ่งจะทำให้น้ำแป้งผ่านผ้าลงไปในถังด้านล่างเมื่อคั้นจนน้ำเต็มถังแล้ว จึงจะตั้งทิ้งไว้เพื่อให้แป้งตกตะกอนประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้นจึงตักน้ำออกแล้วจึงตักแป้งในถังใส่ในตะกร้าที่มีผ้ารองอยู่และตั้งไว้ให้หมาด แล้วจึงทำการร่อนแป้งต่อไป โดยหน้าที่ร่อนนั้นมีการจ้างเพื่อนบ้านสองคนมาเป็นผู้ช่วย โดยค่าจ้างคิดจากน้ำหนักแป้งในอัตรา กิโลกรัมละ 8 บาท ทำให้เพื่อนบ้านทั้งสองมีรายได้จากการร่อนแป้งสาคูวันละไม่ต่ำกว่า 500 บาท อีกทั้งพี่ใหม่และคุณยายเหลิมก็ช่วยร่อนอยู่ด้วยเช่นกัน สำหรับวิธีการร่อนแป้งนั้นจะทำโดยการตักแป้งใส่ในตะกร้าที่มีกะละมังอยู่ด้านล่างนำแป้งมาถูๆที่ตะกร้าให้ตกลงไปในกะละมัง เมื่อได้จำนวนตามที่ต้องการก็จะทำการร่อนแป้งในกะละมัง

    ขั้นตอนการร่อนมีเคล็ดลับสำคัญคือจะมีการเติมเชื้อลงไปด้วย ซึ่งเชื้อในที่นี้ก็คือแป้งสาคูที่ผ่านกระบวนการทุกขั้นตอนแล้วนำมาบดให้เป็นผง โดยเชื้อดังกล่าวจะช่วยให้แป้งที่ร่อนออกมาเป็นเม็ดกลม เมื่อร่อนในกะละมังสักครู่ แป้งก็จะเป็นเม็ด จากนั้นจึงนำมาใส่ตะกร้าเพื่อคัดแยกขนาดเม็ดแป้ง ให้ได้ขนาดที่สามารถหลุดช่องของตะกร้าลงไปได้ ส่วนเม็ดแป้งที่มีขนาดใหญ่ที่ค้างอยู่บนตะกร้าก็นำมาร่อนใหม่ให้มีขนาดที่เล็กลง เมื่อร่อนได้จำนวนมากพอแล้วจึงนำตากแดดทั้งนี้การตากเม็ดสาคูดังกล่าวนี้จะไม่ตากจนกระทั่งเม็ดแป้งแห้งสนิท โดยวิธีการทดสอบว่าเม็ดแป้งสาคูแห้งจนได้ที่แล้วหรือไม่นั้นทำโดยการทดลองบีบเม็ดสาคูให้แตกเป็นผงแล้วเป่า หากเป่าแล้วผงสาคูลอยจากนิ้วมือจนหมดก็ถือว่าเป็นอันใช้ได้ แต่ถ้ามีบางส่วนติดอยู่ที่มือก็ถือว่ายังไม่ได้ที่ต้องตากต่อไปอีกสักระยะ

    เมื่อได้เม็ดสาคูที่แห้งจนได้ที่แล้วก็จะนำมาร่อนอีกครั้งหนึ่งให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ โดยเม็ดสาคูที่หลุดออกจากตะแกรงร่อนซึ่งมีขนาดเล็กมากนั้น สามารถนำไปทำขนมปากหม้อได้ ส่วนเม็ดสาคูที่ค้างบนตะแกรงก็นำไปใส่ถุงเพื่อส่งขายต่อไป อย่างไรก็ดีสาคูของพี่ใหม่นั้นยังใช้บรรจุภัณฑ์เป็นถุงพลาสติกธรรมดาซึ่งอาจจะดูไม่สวยงามตามอย่างเจ้าอื่น ๆ ที่ขายกันอยู่โดยเฉพาะในตลาดออนไลน์ แต่สาคูของพี่ใหม่นั้นมีจุดเด่นที่ไม่มีการผสมสารกั้นบูดแต่อย่างใด อีกทั้งราคาก็ถือว่าถูกว่าราคาขายตามท้องตลาดทั่วไปอีกด้วย โดยหากเป็นราคาขายปลีกจะขายกิโลกรัมละ 200 บาท แต่หากขายส่งผู้ซื้อต้องซื้อตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ก็จะได้ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท ส่วนผู้เขียนนั้นได้ราคาพิเศษในวันนี้เพราะซื้อเพียง 1 กิโลกรัมแต่พี่ใหม่ก็ขายให้ในราคาส่งคือ 150 บาท แต่ก็ยังไม่ได้สินค้าเนื่องจากว่าพี่ใหม่ยังมีสาคูไม่พอส่งลูกค้าท่านอื่น ๆ ที่สั่งไว้ก่อน จึงนัดรับในวันพุธที่จะถึงนี้แทน ทั้งนี้พี่ใหม่เล่าว่าสูตรการกวนขนมสาคูต้นของตนนั้นจะใช้เม็ดสาคู 1 กิโลกรัม ต่อน้ำเปล่า 5 กิโลกรัม และน้ำตาลทรายขาว 2 กิโลกรัม โดยในขณะกวนจะต้องให้น้ำเดือดแล้วทยอยใส่เม็ดสาคูต้นลงไปเรื่อย ๆ โดยจะต้องกวนอยู่ตลอดเวลา

    แม้ว่าธุรกิจสาคูต้นของพี่ใหม่นั้นจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กในระดับครัวเรือน แต่ก็นับว่าเป็นการนำทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาต่อยอดจนเกิดรายได้ทั้งกับครอบครัวพี่ใหม่เองและยังเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ อีกถึงสี่คน ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาให้คำแนะนำและหาแนวทางพัฒนาส่งเสริมอาชีพการทำสาคูต้นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามเหมือนตามท้องตลาดเพื่อเป็นการส่งเสริมการขายและทำให้เกิดการประกอบอาชีพที่ยังยืนต่อไป

    ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าสาคูต้นที่มีชื่อเสียงในบริเวณนี้คือสาคูของทางฝั่งจ.พัทลุง แต่จากการสอบถามได้ข้อมูลว่าสาคูจากทางฝั่งพัทลุงนั้นส่วนหนึ่งนำเข้าจาก ต.เกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ นี่เอง อันสะท้อนให้เห็นว่าต้นสาคูที่มีอยู่ในฝั่งพัทลุงนั้นมีจำนวนน้อยลงไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ซื้อจนต้องมีการนำเข้าจากฝั่ง จ.สงขลา เราจึงสามารถนำเสนอสินค้าสาคูต้นหนึ่งเดียวของสงขลาให้โด่งดังติดตลาดได้ในอนาคต

    อีกประเด็นที่ผู้เขียนคิดว่าควรต้องพิจารณาและวางแผนล่วงหน้าอย่างจริงจังและทำให้เห็นเป็นรูปธรรมคือการส่งเสริมอาชีพการปลูกต้นสาคูในพื้นที่ทดแทนต้นสาคูที่โค่นไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้เนื่องจากในการผลิตเม็ดสาคูนั้นจำเป็นต้องใช้ต้นสาคูที่มีอายุมากกว่า 7 ปี ดังนั้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตและเพื่อความยั่งยืนในธุรกิจ จึงจำเป็นต้องวางแผนในประเด็นดังกล่าวนี้ก่อนที่สาคูในพื้นที่จะขาดแคลนไปอย่างทางฝั่ง จ.พัทลุง

————————————————————————————————————————

    บทความข้างต้นผู้เขียนต้องขอขอบคุณพี่ใหม่เจ้าของธุรกิจสาคูต้นและครอบครัวที่ให้ข้อมูลในการเขียนบทความชิ้นนี้ และเนื่องจากผู้เขียนมีเวลาจำกัดในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพียงสองวันเท่านั้น ข้อมูลบางส่วนจึงอาจจะไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ผู้เขียนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความชิ้นนี้จะทำให้สาคูต้นหนึ่งเดียวของสงขลาเป็นที่รู้จักและสามารถสร้างรายที่เพิ่มขึ้นให้กับพี่ใหม่ครอบครัวและเพื่อนบ้านต่อไป

ขอขอบคุณ อาจารย์ ดร.เอกลักษณ์ รัตนโชติ (ผู้ให้คำปรึกษาการเขียนบทความชิ้นนี้)

นายสุรเชษฐ์ แก้วสกุล (ผู้ออกแบบจัดตัวอักษรกำกับภาพ)

นางสาวนทีธรรม ทองเนื้อแข็ง (พี่เลี้ยงภาคสนามโครงบัณฑิตอาสามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาใหญ่การของผู้เขียน)

นายสามารถ สาเร็ม (ผู้เรียบเรียงลงพื้นที่เมื่อวันที่ 17-18 เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563)โครงการ:บัณฑิตอาสามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ประจำพื้นที่บ้านเขาใน หมู่ที่ 1ตำบลเชิงแส อำเภอกระสินธุ์ จังหวัดสงขลา

เผยแพร่ครั้งแรกใน

สาคูต้นกระแสสินธุ์ : เส้นทางจากต้นสาคูสู่แป้งสาคูต้นหนึ่งเดียวในคาบสมุทรสทิงพระ (ตอนที่ 1)

https://www.facebook.com/samartsarem/posts/pfbid02xVaKyFS5sTyKpkvzD86432tztFjg2GiY7HwzvsCZoxj2MrYFtWDcTaMCyfWnriVnl

สาคูต้นกระแสสินธุ์ : เส้นทางจากต้นสาคูสู่แป้งสาคูต้นหนึ่งเดียวในคาบสมุทรสทิงพระ (ตอนที่ 2)

https://www.facebook.com/samartsarem/posts/pfbid0R2tn74agGQDtGVThs4PWgZNW5Ys5V8hVGqyQuToQEFQgr4vpd1VFjNshsNe5bSrxl

เผยแพร่ครั้งแรกที่ ๒ ใน – https://kyproject19.wixsite.com/kidyang/post/_sagu

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น