พองช่อ พองดอกรัก ข้าวพองยอด : ขนมจัดหฺมฺรับคนคาบสมุทรสทิงพระสงขลา

“พอง” หรือ “ข้าวพอง” ทำจากข้าวเหนียว นำสารข้าวเหนียวแช่ทิ้งไว้ ๑ คืน แล้วนำมาล้างให้สะอาดจนหมดกลิ่น นำไปนึ่งด้วยสวด (หวด) แล้วนำมาอัดลงในแบบพิมพ์เป็นรูปตามต้องการ (แบบพิมพ์มักทำด้วยไม้ไผ่แผ่นบาง ๆ ขดเป็นขอบสูงประมาณ ๑ เซนติเมตร) โดยมากนิยมทำเป็น “รูปวงกลม” “รูปพระจันทร์ครึ่งซีก” “รูปสามเหลี่ยม” “รูปข้าวหลามตัด” “และรูปพุ่มข้าวบิณฑ์” เมื่อกดแต่งข้าวเหนียวได้เป็นรูปตามแบบพิมพ์แล้วจะถอดพิมพ์ออก แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง แล้วจึงนำไปทอดในกระทะที่ร่ำมันกำลังร้อนจัด (ใช้น้ำมันมะพร้าวใหม่ๆ หรือน้ำมันอื่นๆ) ข้าวเหนียวก็จะพองฟูขึ้นและคงรูปตามเดิม เมื่อสุกดีแล้วก็ตักใส่ตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน โดยปกติขนมพองจะเป็นสีขาว แต่ถ้าต้องการให้เป็นสีอื่นก็ใช้สีที่ต้องการย้อมข้าวเหนียวตั้งแต่ตอนแช่ข้าวเหนียว[๑]

จากข้อมูลข้างต้นพบว่าพองขนมคู่งานบุญเดือนสิบของคนไทยปักษ์ใต้ทำจากข้าวเหนียวนั้นมีความหลากหลายในรูปลักษณ์ ที่คาบสมทรสทิงพระจังหวัดสงขลา บางหมู่บ้านมีวัฒนธรรมการทำพองเป็นช่อ มีลักษณะเป็นลูกกลมเสียบกับไม้ไผ่คล้ายช่อดอกไม้สีสันสดใสเรียกด้วยชื่อท้องถิ่นว่า “พองช่อ” หรือ “พองดอกรัก”  ผู้เขียนมีโอกาสได้สำรวจย่านตลาดสดพล่าซ่าหาดใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ พบว่าบริเวณนี้มีร้านขายขนมเดือนสิบจำนวนสี่ร้าน จากการพูดคุยพบว่าทั้งหมดเป็นลูกหลานของคนคาบสมุทรสทิงพระ ขนมเดือนสิบที่ขายนำมาจากบ้านเกิด เช่นที่ ร้านของพี่อีด กับ  ร้านของคุณกัลญาณี มีประเสริฐ อายุ ๔๘ ปี ทั้งสองคนเป็นพี่เป็นน้องกัน อาศัยอยู่ที่บ้านบ่อสระ ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ทั้งสองท่านให้ข้อมูลสรุปได้ว่า

“…ช่วงเวลาปกติจะขายสินค้าที่ได้จากคาบสมุทรสทิงพระเช่น น้ำผึ้งเหลว น้ำผึ้งแว่น น้ำส้มโหนด ขนมดู ขนมก้อ ฯลฯ ช่วงเทศกาลเดือนสิบจะนำขนมบุญเดือนสิบเป็นขนมที่ใช้ดับหฺมฺรับมาขายด้วย มีทั้ง “พองแผ่น” “พองช่อ” หรือ “พองดอกรัก” ขนมลา เจาะหู ขนมคอเป็ด …เป็นอาชีพที่รับช่วงต่อมาจากคุณแม่ท่านขายตรงนี้ตั้งแต่จำความได้…เมื่อใกล้ถึงวันส่งตายาย แรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ บริเวณตลาดพล่าซ่าจะมีแม่ค้าที่นำขนมเดือนสิบมาขายอีกหลายเจ้า ท่านใดอยู่ใกล้ก็สามารถไปอุดหนุนกันได้ครับ

น้ากัลญาณี มีประเสริฐ อายุ ๔๘ ปี คนบ้านบ่อสระ ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 

ทั้งนี้ผู้เขียนพบว่าในฐานข้อมูลของ Musée du quai Branly – Jacques Chirac (https://www.quaibranly.fr/fr/explorer-les-collections/base/Work/action/show/notice/86282-imitation-de-gateaux) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้มาเก็บรวบรวมขนมเดือนสิบของสงขลาไว้ได้ทำการจำลองพอช่อหรือพองดอกรัก ไว้ด้วย

ในฐานข้อมูลระบุว่าชื่อสามัญของพื้นที่ ไว้ว่า “Khaw phong yot” ถอดความได้ว่า “ข้าวพองยอด” นอกจากความสวยงามของขนมชนิดนี้ที่เราสามารถมองเห็นได้จากภายนอกสำหรับชื่อเรียกที่หลากหลายก็นับว่ามีความงดงามเช่นเดียวกัน ทั้งชื่อ “พองช่อ” “พองดอกรัก” และ “ข้าวพองยอด” ผู้เขียนเชื่อว่าหากลงไปสำรวจภาคสนามในท้องถิ่นเพิ่มเติมอาจจะพบชื่อเรียกที่ต่างจากสามชื่อนี้อีกก็เป็นไปได้อีกเช่นกัน

ภาพจาก : ฐานข้อมูลของ Musée du quai Branly – Jacques Chirac (https://www.quaibranly.fr/fr/explorer-les-collections/base/Work/action/show/notice/86282-imitation-de-gateaux) ประเทศฝรั่งเศษ ซึ่งได้มาเก็บรวบรวมขนมเดือนสิบของสงขลาไว้ได้ทำการจำลองพอช่อหรือพองดอกรัก ไว้ด้วย ในฐานข้อมูลระบุว่าชื่อสามัญของพื้นที่ ไว้ว่า “Khaw phong yot” ถอดความได้ว่า “ข้าวพองยอด”

อ้างอิง [๑] : “ขนมเดือนสิบ.” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 613-619.

ปรับปรุงจากบทความใน : https://www.facebook.com/profile/61550820161852/search/?q=%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น