บุญกูโบร์ใหญ่บ้านควน : ประเพณีทำบุญให้บรรพบุรุษของมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

บ้านควน หมู่ ๕ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อยู่บริเวณปลายน้ำคลองอู่ตะเภา ณ หมู่บ้านแห่งนี้มีกลุ่มบ้านได้แก่ ในบ้าน บ้านนอก หัวนอน ชายคลอง โต๊ะโคนและบ้านใหม่ ภายในหมู่บ้านมีกูโบร์(สุสาน)ที่ฝั่งร่างผู้ล่วงลับจำนวน ๔ แห่งคือ กูโบร์ม่วงต่ำ กูโบร์หน้าเสาธง กูโบร์ใหญ่ และ กูโบร์ม่วงสูง  ซึ่งแต่ละกูโบร์ในหนึ่งรอบปีจะมีการทำบุญกูโบร์เพื่ออุทิศผลบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับเช่นเดียวกันโดย  กูโบร์ม่วงต่ำ ทำบุญในวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๔ , กูโบร์หน้าเสาธง ทำบุญในวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๕ , กูโบร์ใหญ่ทำบุญวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๖ ส่วนกูโบร์ม่วงสูงนั้นเป็นกูโบร์ที่ปัจจุบันไม่มีการทำบุญกูโบร์

วันนี้ (๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๗) ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมทำบุญ ณ กูโบร์ใหญ่ ซึ่งเป็นการทำบุญที่ถัดจากวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๖ สองวัน เพราะวันแรม๒ ค่ำเดือน ๖ นั้นตรงกับวันศุกร์ ไม่สะดวกในการจัดทำบุญเพราะเป็นวันที่ต้องมีการสะมาหยัง(ละหมาด)ใหญ่ จึงเลื่อนมาเป็นวันอาทิตย์    และอีกเหตุผลหนึ่งคือคนในหมู่บ้านโดยเฉพาะแม่บ้านส่วนใหญ่ออกไปทำงานโรงงานนอกหมู่บ้านกันจำนวนมากและหยุดงานในวันอาทิตย์ ดังนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนวันให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ของหมู่บ้านนั่นเอง รวมถึงลูกหลานที่ไปแต่งงานต่างหมู่บ้านหรือไปทำงานไกลบ้าน จะได้สะดวกในการกลับมาร่วมงาน 

ก่อนถึงวันทำบุญกูโบร์มีการทำความสะอาดภายในพื้นที่กูโบร์ทั้งหมด โดยการช่วยกันถางวัชพืชที่ขึ้นรกและตกแต่งหลุมฝังศพของบรรพบุรุษตนเองด้วยการนำดินมาถมเพิ่ม ซึ่งจะมีผู้ชายในหมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการ โดยที่กูโบร์ใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ก็มีดำเนินการและผู้เขียนก็ไม่พลาดที่จะเข้าร่วมทำความสะอาดภายในกูโบร์ด้วย 

การพัฒนากูโบร์ เครื่องหมายที่ปักเป็นสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพนั้นมุสลิมบ้านควนเรียกว่า ไม้แลสัน ซึ่งเป็นคำเฉพาะที่ใช้กันรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและที่หมู่บ้านมุสลิมสงขลาพลัดถิ่นที่บ้านสงขลา ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งถูกเทครัวไปจากเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงสมัยอยุธยา

วันถัดมา (วันเสาร์) ซึ่งเป็นวันก่อนการทำบุญหนึ่งวันเรียกกันว่า “วันทำต้มทำหนุม” ถือได้ว่ามีสีสันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่สนใจเรื่องราวของอาหารท้องถิ่น เพราะแต่ละบ้านจะใช้เวลาตระเตรียมวัตถุดิบ และทำขนมกันโดยเฉพาะที่นิยมทำกันคือ “ต้ม” ข้าวเหนียวผัดกับกะทิห่อด้วยใบกะพ้อให้มีรูปทรงสามเหลี่ยม ภายในหมู่บ้านก็ยังมีคนที่รับทำต้ม ทำขนม เพื่อจำหน่ายให้กับคนในหมู่บ้านโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ทำไม่เป็น หรือไม่มีเวลาทำเพราะวันเสาร์ยังต้องทำงานอยู่ รวมถึงขนมอื่น ๆที่ยังคงมีการทำทำเช่น ต้มหลักวัวหลักควาย ข้าวต้ม ขนมคอเป็ด ขนมช่อนริ้ว ขนมเจาะหู ขนมเทียน ขนมปวก(ปลวก) ฯลฯ

ทั้งนี้เมื่อวันพุธที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสไปเก็บข้อมูลภาคสนามที่บ้านดอนขี้เหล็ก ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาพบว่าที่นี่สมัยก่อนในงานบุญกูโบร์มีการทำขนมก้อ(โก๋) แต่ปัจจุบันไม่มีการทำแล้วเเต่บ้างครอบครัวยังคงเก็บรักษาพิมพ์ขนมก้อที่ทำจากทองเหลืองเอาไว้ เมื่อกลับมาที่บ้านควนผู้เขียนได้นำมาเล่าสู่กันฟังกับผู้สูงอายุในหมู่บ้านหลายท่าน จึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สมัยก่อนที่บ้านควนก็มีการทำขนมก้อในงานบุญกูโบร์เช่นเดียวกันแต่จะเรียกว่า “ขนมพิมพ์” ซึ่งชื่อขนมก้อนั้นเป็นการเรียกกันในยุคหลังมาแล้ว

สำหรับวันนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้ช่วยมะทำขนมต่าง ๆ ได้แก่ ต้ม ต้มหลักวัวหลักควาย ข้าวต้ม ปัต ขนมคอเป็ด ขนมช่อนริ้ว ขนมเทียน เริ่มทำตั้งเเต่หัวรุ่งเสร็จตอนค่ำพอดี ทั้งนี้ต้มหลักวัวหลักควายมีคนทำเป็นน้อยลงมากแล้ว ซึ่งผู้เขียนได้เรียนรู้เอาไว้และได้ทำเพื่อสืบต่อความรู้นี้ไว้ ได้นำมาจัดในจาดและสำรับด้วย

วันทำบุญกูโบร์

ในวันทำบุญกูโบร์นั้นผู้ชายจะทำหน้าที่ “ยาระกูโบร์” ยาระกร่อนจากคำมลายู Ziarak แปลว่าเยี่ยมเยียนหรือแสวงบุญ ภาษามลายูรับต่อมาจากภาษาอาหรับคือ “ซิยาเราะห์” มีความหมายว่า เยี่ยมเยียน มีการอ่านอัลกุรอ่าน ขอพรที่หลุมฝังศพของบรรพบุรุษ โดยมีการเชิญผู้รู้ทางศาสนาหรือที่เรียกด้วยคำมลายูว่า “โต๊ะ” มาอ่านให้ด้วย ซึ่งผู้รู้เหล่านี้เชิญมาจากหมู่บ้านต่าง ๆ สำหรับปีนี้เท่าที่ผู้เขียนตรวจดูจากข้อมูลลงทะเบียนพบว่า โต๊ะ มาจากหมู่บ้าน ตั้งแต่ตอนกลางจนถึงปลายน้ำคลองอู่ตะเภา 

ในระหว่างนี้ผู้หญิงในหมู่บ้านต่างตระเตรียมอาหารคาวหวานใส่ปิ่นโตพร้อมด้วยถาดและจานมายังกูโบร์ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีการจัดพื้นที่แยกไว้ต่างหากไม่ไกลกันนัก เมื่อมาถึงผู้หญิงก็จะจัดการจัดสำรับอาหารใส่ถาด ทั้งอาหารคาวและหวาน ทั้งนี้ในอดีตนั้นการจัดอาหารคาวกับอาหารหวานนั้นจะจัดแยกกันโดยมีการยกสำรับอาหารคาวไปให้โต๊ะรับประทานก่อนจึงจะจัดสำรับอาหารหวาน สำหรับอาหารคาวที่นิยมนำมาทำบุญคือ แกงกะทิเช่นแกงซาระหมั่น แกงคั่ว มีทั้งเนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อเป็ดวา ไข่ดอง(ไข่ครอบ) ทอดเห็ด(คล้ายทอดมัน) เมนูจากวัตถุดิบที่หาได้จากทะเลสาบสงขลา เช่น แกงส้มปลาคางโคะ ต้มส้มกุ้ง แกงผัดเผ็ดปลามีหลัง(ปลาดุกทะเล) แกงส้มปลาตัง ฯลฯ และขนมจีนกินกับน้ำแกงกะทิ ซึ่งเป็นอาหารที่ทำกันในงานบุญกูโบร์

ปัจจุบันส่วนมากจะจัดมีการจัดอาหารคาวและหวานไว้ในถาดเดียวกัน หรือบางครอบครัวอาจจัดเป็นสองถาดแยกกันแต่ยกไปพร้อมกัน นอกจากนี้แต่ละครอบครัวจะมีการดับจาด การนำขนมผลไม้ เงิน มาจัดใส่ถังนำมารวมกันในบริเวณกูโบร์ตั้งเเต่เช้า

เมื่อแต่ละครอบครัวทำพิธียาระกูโบร์ที่หลุมฝังศพของบรรพบุรุษตนเองเสร็จแล้ว ในเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ มีการทำพิธี “ยาระกูโบร์รวม” โดยการให้โต๊ะที่เชิญมาทั้งหมดรวมถึงผู้ชายในหมู่บ้านมานั่งรวมกันภายในบริเวณกูโบร์ โดยมีโต๊ะครูคนสำคัญที่มีสถานะทางความรู้สูง เป็นผู้นำทำพิธียาระรวม ความพิเศษอยู่ที่การ “เนี๊ยต” (อุทิศ) ผลบุญนั้นจะไม่เจาะจงเป็นการเฉพาะแต่ะอุทิศให้กับชาวกูโบร์ทั้งหมดที่ฝังอยู่ ณ กูโบร์แห่งนี้ทุกยุคสมัยรวมถึงมีการอุทิศให้มุสลิมที่ล่วงลับไปแล้วทั่วโลก หลังจากทำพิธีเสร็จ อาหารต่าง ๆ ซึ่งมีการจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบภายใน “หลากูโบร์” (ศาลาที่สร้างไว้ภายในกูโบร์) บรรดาโต๊ะทั้งหมดจึงเข้าไปยังกูโบร์โดยนั่งรับประทานอาหารร่วมกัน เมื่อรับประทานเสร็จจึงมีการแจกจาดให้กับโต๊ะเป็นเสมือนของขวัญนำกลับไปที่บ้านด้วย โดยโต๊ะที่เป็นหัวหน้าคณะจะได้รับจาดสองถัง ส่วนท่านที่เหลือจะได้รับคนละหนึ่งถัง เมื่อโต๊ะออกจากหลากูโบร์หมดทุกท่านเเล้ว ผู้หญิงก็จะเข้ามาหาถาดของตนเองเพื่อเก็บกลับ เป็นอันเสร็จสิ้นประเพณีงานบุญที่ทำขึ้นเพื่ออุทิศให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมุสลิมรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาบ้านเรา 

ทั้งนี้จากข้อการเก็บข้อมูลภาคสนามโดยการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุพบว่าในอดีตที่บ้านควนนั้นมีการใช้พานยกทูนสำรับอาหารเช่นเดียวกับบ้านดอนขี้เหล็ก แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่คนจากนอกหมู่บ้านเขามาซื้อพานที่ส่วนมากทำด้วยทองเหลือง คนในหมู่บ้านจึงขายกันทำให้ในปัจจุบันมีการใช้ถาดแทนพาน 

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น