มีราชทินนาม พระยาวิไชยคีรี เจ้าเมืองสงขลาสมัยอยุธยา หลังเมืองสงขลาถูกพิชิตในปี 2223

    เรื่องนี้มีปรากฏอย่างย่นย่อในประทวนตราให้แก่พระครูอินทรโมฬี สมัยกรุงศรีอยุธยา [1]

    เอกสารนี้ให้รายละเอียดถึงการตั้งพระมหาอินทองขึ้นเป็นพระครูอินทรโมฬี เจ้าคณะป่าแก้วเมืองพัทลุง และพระบรมราชโองการของกษัตริย์อยุธยาให้ชำระพระตำราบรมราชูทิศกัลปนาสำหรับวัดในเมืองนคร เมืองพัทลุง และวัดที่ขึ้นกับวัดเขียนวัดสทัง ซึ่งพระตำราชำรุดขาดหายไป และระบบกัลปนาเดิมนั้นถูกเบียดเบียนโดยเจ้าเมือง ให้พระตำรานั้นคืนคงตามเดิม เอกสารนี้ไม่ปรากฏเลขศักราช แต่ระบุว่าได้ตราพระตำราขึ้น ณ พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์เมื่อวันศุกร์ เดือน 6 แรม 15 ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก (คำนวนเทียบศักราชแล้วตรงกับวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2241)

    อย่างไรก็ตามชัยวุฒิ พิยะกูล ผู้ปริวรรตเอกสารมีความเห็นว่า ข้างท้ายของเอกสารระบุถึงการปิดตราบัวแก้วซึ่งเป็นตรากรมท่า จึงสันนิษฐานว่าเอกสารน่าจะเขียนขึ้นในช่วงพระเจ้าอยุ่หัวบรมโกศหรือให้หลังซึ่งเป็นช่วงที่หัวเมืองปักษ์ใต้มาขึ้นกรมท่า คำอธิบายนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกับข้อสรุปของ มานพ ถาวรวัฒนสกุล ในขุนนางอยุธยา โดยปีขาลสัมฤทธิศกในช่วงตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าอยุ่หัวบรมโกศถึงสิ้นกรุงศรีอยุธยามีเพียงปีเดียวคือ ปี 2301 แต่เดือน 6 แรม 15 ค่ำเป็นวันเสาร์ ไม่ใช่วันศุกร์ (แต่หากเป็นปี 2241 จะลงกับเอกสารพอดี) ประเด็นเรื่องหัวเมืองปักษ์ใต้ขึ้นแก่กรมท่าเมื่อไหร่อาจจะต้องมีการสอบทานความเข้าใจใหม่อีกครั้งจากเอกสารการติดต่อระหว่างสยามกับปัตตาเวียจำนวนมากที่เข้าสู่วงวิชาการในไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งแสดงให้เห็นบทบาทของขุนนางราชทินนามเจ้าพระยาศรีธรรมราชเดชชาติอำมาตยานุชิตพิพิธรัตนราชโกษาธิบดีที่มีต่อหัวเมืองปักษ์ใต้เป็นอันมากนับแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มา อย่างไรก็ตามจะเป็นปี 2241 หรือ 2301 อาจจะยังไม่ใช่ประเด็นหลักของโพสต์นี้

    พระตำราซึ่งได้ตราขึ้นใหม่นั้นได้ถูกส่งลงมาบังคับในอีก 7 เดือนถัดมา ในข้างท้ายของเอกสารนี้มีข้อความที่ระบุถึงเมืองสงขลาดังนี้

…แล ณ แขวงขึ้นแก่เมืองพัทธลุงบ้าง แล ณ แขวงจังหวัดเมืองสงขลาบ้าง #แลเมืองสงขลาไซร้แต่ก่อนเป็นจังหวัดปากน้ำเมืองพัทธลุง แลครั้นโปรดเกล้าฯ #ให้พระยาวิไชยคีรีออกไปอยู่รักษาเมืองสงขลา แลทอนโนตต่อแดนด้วยที่เก้ารวาง ฝ่ายท่า (ปละท่า – ผู้เขียน) ตวันออกเมืองพัทธลุงนั้นก็ให้มาขึ้นแก่เมืองสงขลา #เมืองสงขลานั้นก็ให้มาขึ้นแก่เมืองนคร..

เอกสารนี้ให้ข้อมูลน่าสนใจแก่เราอย่างน้อย ๒ ประการคือ

    ๑. ปรากฏราชทินนามพระยาวิไชยคีรี เจ้าเมืองสงขลา ทำให้เห็นว่าแม้เมืองสงขลาจะถูกทำลายและสายสกุลเจ้าเมืองจำนวนไม่น้อยจะถูกนำออกจากพื้นที่เข้าไปยังส่วนกลาง และเมืองอื่น ๆ แต่ยังคงมีเจ้าเมืองซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาถูกส่งมาครองสืบมา และแสดงให้เห็นว่า #วิเชียรคีรี ที่เป็นราชทินนามของเจ้าเมืองสงขลาในยุคธนบุรี – กรุงเทพฯ เป็นการรักษาเค้าราชทินนามเดิมที่มีมาแล้วก่อนหน้า

    ๒. หลังเมืองสงขลาถูกอยุธยาพิชิตในปี 2223 ได้ถูกโอนไปอยู่ในการกำกับของพัทลุง แต่ในช่วงเวลาพร้อมกับที่ประทวนตรานี้ถูกบังคับใช้ ได้มีการโอนสงขลาพร้อมขยายเขตการปกครองจากเดิมที่ครอบคลุมเพียงบริเวณปากทะเลสาบสงขลา ให้ขยายมาคลุมทั้งปละท่า ยาวตามคาบสมุทรสทิงพระขึ้นมาถึงระโนต ต่อแดนกับเขตทุ่งเก้าระวางเมืองนคร (น่าจะแบ่งเขตกันที่คลองแดนนั่นเอง)

แผนที่เมืองสงขลา และบริบทเขียนโดยวิศวกรเดอลามาร์เมื่อ พ.ศ. 2230 แผนที่นี้เขียนขึ้นหลังการพิชิตสงขลา 7 ปี ระบุถึงเขตป้อมและตัวเมืองเก่าที่ถูกอยุธยาปิดล้อมซึ่งบางส่วนขณะนั้นจมลงไปในทะเลแล้ว (A) และแสดงเขตเมืองใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้การควบคุมของฝรั่งเศส พร้อมกับชุมชนขนาดไม่เล็กบริเวณบ้านหัวเขา บ้านบ่อเก๋ง บ้านบนเกาะยอ และบ่อยางหรือบ่อพลับ แสดงให้เห็นพลวัตรของพื้นที่ปากทะเลสาบสงขลาหลังสงคราม ที่ยังมีผู้คน ชุมชน และองคาพยพของเมืองอยู่พร้อมสรรพ

อ้างอิง

[1] รวมพิมพ์อยู่ใน การปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ประเภทหนังสือบุด เรื่อง ตำราพระเพลาวัดบางแก้ว – ชัยวุฒิ พิยะกูล , สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ , 2550

เผยแพร่ครั้งแรกใน – https://kyproject19.wixsite.com/kidyang/post/%E0%B8%A1-%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%97-%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7-%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%84-%E0%B8%A3-%E0%B9%80%E0%B8%88-%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A1-%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A1-%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A2-%E0%B8%98%E0%B8%A2%E0%B8%B2-%E0%B8%AB%E0%B8%A5-%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1-%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%96-%E0%B8%81%E0%B8%9E-%E0%B8%8A-%E0%B8%95%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B-2223

สามารถ สาเร็ม

คนแขกลุ่มทะเลสาบ ที่ชอบตามหาของแปลก ๆ ตามตลาดนัด

ใส่ความเห็น