บุญเดือนสิบหรือบุญสาทรเดือนสิบเทศกาลงานบุญใหญ่ประจำปีของคนไทย(นับถือศาสนาพุทธ)ในภาคใต้ เชื่อกันว่าวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับ จะได้รับการปลดปล่อยให้กลับมาเยี่ยมลูกหลานระหว่างวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๐ ถึงวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ เป็นระยะเวลา ๑๕ วัน ในวันแรม ๑ ค่ำมีการทำบุญรับตายและในวันแรม ๑๕ ค่ำจะทำบุญส่งตายาย ทั้งการรับและการส่งนั้นจะมีอาหาร พืชผล ขนมต่าง ๆ ที่จะขาดเสียไม่ได้สำหรับใช้ทำบุญอุทิศให้ โดยเชื่อกันว่าเป็นเสบียงให้กับบรรพบุรุษนำกลับไปใช้ยังปรโลก สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้เล่ม ๒ ให้ข้อมูลขนมงานบุญเดือนสิบไว้ว่า
“ขนมเดือนสิบ คือขนมที่ใช้สำหรับทำบุญสารทเดือนสิบหรือที่เรียกว่าประเพณีตั้งเปรตหรือชิงเปรต มีอยู่หลายอย่างแต่ละท้องถิ่นอาจต่างกันบ้าง แต่ที่จำเป็นอย่างยิ่งขาดไม่ได้มี ๔ อย่างคือ ขนมลา ขนมเมซ่า(หรือดีซำ) ขนมพอง และ ขนมบ้า บางท้องถิ่น เช่น นครศรีธรรมราช มีขนมกง หรือขนมไข่ปลาอีกชนิดหนึ่ง ขนมแต่ละชนิดดังกล่าวนี้ ล้วนทำขึ้นตามคติความเชื่อและอาจมีความเชื่อผิดแปลกกันไป เช่น ขนมลาเชื่อกันว่าทำขึ้นสำหรับเปรตจำพวกที่มีปากเล็กเท่ารูเข็ม เพื่อจะได้ดึงกินทีละเส้นเพราะปากเล็กกินของชิ้นใหญ่ ๆ เป็นคำ ๆ ไม่ได้แต่บางท้องถิ่นเชื่อกันว่าขนมลานี้ ทำสำหรับให้เปรตใช้แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ส่วนขนมเมซำหรือขนมดีซำเชื่อกันว่าเพื่อให้เปรตใช้แทนเบี้ย บางท้องถิ่นเชื่อกันว่าเพื่อให้ใช้เป็นตุ้มหู ขนมพองบางท้องถิ่นเชื่อกันว่าให้ใช้เป็นแพสำหรับบุรพชนหรือเปรตใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ตามคติพุทธศาสนา ขนมบ้าสำหรับให้บุรพชนใช้เล่นสะบ้าต้อนรับสงกรานต์ ส่วนขนมกงหรือขนมไข่ปลาให้ใช้เป็นเครื่องประดับ เป็นต้น”[1]
(ขวา)คุณทวดส้มอิ่ม สังขจินดา” (ซ้าย) “คุณรุ่งวารี สังขจินดา” หรือ “น้าตา”
บทความชิ้นนี้ผู้เขียนได้สำรวจข้อมูลภาคสนามที่บ้านเขาใน ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลาได้สัมภาษณ์ข้อมูลจาก “คุณทวดส้มอิ่ม สังขจินดา” อายุ ๙๘ ปี กับลูกสาวของท่าน คือ “คุณรุ่งวารี สังขจินดา” หรือ “น้าตา” อายุ ๕๗ ปี ผู้เขียนสนิทสนมและรู้จักกับท่านทั้งสองเป็นอย่างดี สืบเนื่องจากเมื่อปีพ.ศ.๒๕๖๓ ขณะเป็นบัณฑิตอาสาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มาอยู่ประจำที่บ้านเขาในแห่งนี้เป็นระยะเวลา ๑ ปี โดยมีท่านทั้งสองเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ หลังจากสิ้นสุดโครงการผู้เขียนก็ยังติดต่อและกลับไปเยี่ยมท่านทั้งสองอยู่เป็นประจำเมื่อเวลาชีวิตอำนวย และล่าสุดได้กลับไปเยี่ยมเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ผ่านการทำบุญดือนสิบมาไม่นาน คือทำบุญส่งตายายเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๖
ในวันนี้เองผู้เขียนได้พบกับขนมที่มีชื่อว่า “ลาซับ” อันเป็นขนมที่ทำสืบเนื่องจากงานบุญเดือนสิบ ฝีมือของน้าตา ท่านยกมาให้ผู้เขียนได้ลองกินดู เป็นขนมที่มีรสชาติหวาน เส้นของขนมลาชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำตาล เมื่อได้กินของอร่อยและด้วยความสนใจในเรื่องอาหารการกิน จึงไม่พลาดที่จะสัมภาษณ์ข้อมูลมานำเสนอให้ผู้สนใจได้อ่านกัน แต่ก่อนที่จะไปรู้จัก “ขนมลาซับ” ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลว่าด้วยเรื่องขนมงานบุญเดือนสิบของบ้านเขาในกันก่อนสืบเนื่องจากว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะมีขนมที่นอกเหนือไปจากข้อมูลข้างต้นที่ยกมานำเสนอ และเป็นขนมที่จะถูกนำมาต่อยอดรังสรรค์ให้มีลักษณะที่คล้ายกับ “ขนมลาซับ” เช่นเดียวกัน
ขนมลาซับฝีมือน้าตา ใช้น้ำตาลมะพร้าว
ขนมบุญเดือนสิบที่บ้านเขาใน
๑.ขนมลาเช็ด ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำตาลโตนดนำมาทอดเป็นแผ่นบาง ก่อนทอดนั้นจะมีการนำน้ำมันมาเช็ดที่กะทะก่อนจึงเรียกว่า “ลาเช็ด” ทั้งนี้บางพื้นที่จะทำขนมลาที่เรียกว่า “ลาลอยมัน” ซึ่งตอนทอดจะใส่น้ำมันเยอะ มีเส้นที่หน้ากว่าขนมลาเช็ดเป็นอย่างมาก[2]
๒.ขนมพอง ทำจากแป้งข้าวเหนียว นำข้าวสารเหนียวไปแช่น้ำไว้หนึ่งคืนแล้วนำไปนึ่งให้สุกหลังจากนั้นนำมาใส่ในพิมพ์รูปวงกลมเรียกว่า “เขี่ยพอง” นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วทอดให้สุกขนมพองที่ใช้ทำบุญจะไม่ราดน้ำตาลบนขนม
ข้าวพอง ยังไม่ราดน้ำตาลภาพนี้ผู้เขียนถ่ายขณะที่เป็นบัณฑิตอาสาซึ่งน้าตาได้สอนผู้เขียนทำขนมชนิดนี้
๓.ขนมบ้า ทำจากแป้งเหนียวผสมน้ำตาลโตนดปั้นให้กลมกดให้แบนแล้วนำไปทอดให้สุกอาจจะคลุกงาหรือไม่คลุกก็ได้
๔.ขนมเพซำ ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำตาลโตนดทอดปั้นเป็นลูกกลมเจาะรูตรงกลางเหมือนโดนัทแล้วทอดให้สุก สำหรับชื่อเรียกว่า “เพซำ” นั้นผู้เขียนเชื่อว่ามาจากชื่อเรียกขนมชนิดนี้ที่มีต้นทางมาจากขนมของชาวทมิฬในอินเดียใต้ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “anthirasam…”[3] ขนมชนิดนี้มีชื่อเรียกอื่น ๆอีกด้วยเช่น ขนมเจาะหู ขนมดีซำ ฯลฯ
ขนมเพซำหรือขนมเจาะหู
๕.ขนมเกียบ ทำจากแป้งข้าวเหนียว ละลายกับน้ำเปล่าแล้วนำมารีดเป็นแผ่นบาง ๆ นำไปต้มให้สุกแล้วตากแดดให้แห้ง นำมาตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือรูปทรงอื่น ๆ แล้วแต่ความชอบ[4]
ขนมเกียบหรือขนมคอเป็ดสี
๖.ขนมลูกนู ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำตาลโตนดส่วนผสมแบบเดียวกับแป้งที่ใช้ทำขนมเพซำ ปั้นเป็นลูกกลมแล้วนำไปทอดให้สุก “ลูกนู” ในที่นี้หมายถึงลูกกระสุนที่ใช้ยิงหนังสติ๊ก ซึ่งคนเขาในเรียกอุปกรณ์ชนิดนี้ว่า “ปางนู” และเรียกลูกกระสุนว่า “ลูกนู” คุณทวดส้มอิ่มให้ข้อมูลว่า คนสมัยก่อนชอบยิงนก “ลูกนู” จึงทำเพื่อให้บรรพบุรุษได้ใช้ยิ่งนกเล่นกันนั่นเอง[5]
๗.ต้ม ทำจากข้าวเหนียวผัดกับกะทิใส่เกลือน้ำตาลลงไปผัดให้กึ่งสุกกึ่งดิบแล้วนำมาห่อด้วยใบกะพ้อให้มีลักษณะเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมแล้วจึงนำไปต้มให้สุก ด้วยเหตุนี้จึงเรียกขนมชนิดนี้ว่า “ต้ม”
ต้มทำโดยน้าตาถ่ายภาพโดยผู้เขียนขณะเป็นบัญฑิตอาสา
ขนมทั้งเจ็ดอย่างนี้จะนำมาใช้จัดเป็นสำรับเรียกด้วยคำท้องถิ่นว่า “ดับหฺมฺรับ” (อ่านว่าดับ – หมับ) น้าตาให้ข้อมูลว่า ตนจะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ทุกขั้นตอนตั้งแต่จัดเตรียมขนม มีทั้งขนมที่ทำเองเเละหาซื้อมา โดยจะดับหฺมฺรับแบบดั้งเดิมตามที่ทวดส้มอิ่มเคยทำไว้ทุกอย่าง และมีการดับหฺมฺรับถึงสี่ห่อด้วยกัน มีรายละเอียดดังนี้
ห่อที่หนึ่ง วันรับตายายจะนำขนมทั้งหกชนิดพร้อมด้วยเงินห่อด้วยขนมลา และวันส่งตายายจะมีความพิเศษกว่าคือเปลี่ยนจากการห่อเป็นการนำขนมต่าง ๆ มาใส่ในภาชนะจะต้องมีการใส่เครื่องปรุงแต่คนเขาในเรียกว่า “เครื่องครัว” ทุกอย่างลงไปด้วยเช่น หอม กระเทียม ขมิ้น กะปิ เกลือ น้ำตาลทราย ข้าวสาร ไม้ขีดไฟ เงิน พืชผลต่าง ๆ เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว ทั้งนี้ปัจจุบันแต่ละบ้านหรือตระกูลจะทำกันเอง ในอดีตนั้นทวดส้มอิ่มให้ข้อมูลว่า คนในหมู่บ้านจะทำร่วมกันโดยชาวบ้านจะนำขนมไปรวมที่บ้านของผู้อาวุโสที่เป็นที่นับถือของคนทั้งหมู่บ้านแล้ว หลังจากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันจัดใส่ภาชนะขนาดใหญ่แล้วช่วยกันหามพาไปวัด อย่างไรก็ดีผู้เขียนพบว่าข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับพื้นที่ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสลงไปสำรวจข้อมูลภาคสนามเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา โดยนำทีมถ่ายสารคดีรายการไทยบันเทิง ช่องไทยพีบีเอสลงไปเก็บข้อมูลพบว่าที่ตำบลแห่งนี้ยังมีวัฒนธรรมการนำขนมไปรวมกันเพื่อดับหฺมฺรับร่วมกัน หฺมฺรับดังกล่าวมีขนาดใหญ่มาก โดยจะถูกนำมาตั้งไว้บนศาลาการเปรียญแล้วนำสายสินผูกโยงไปยังบัว(เจดีย์เก็บอัฐิ)ของบรรพบุรุษรวมถึงโกศเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านบางส่วนนำมา
หฺมฺรับขนาดใหญ่ชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านจะทำรวมกันแล้วนำมาที่วัด ผู้เขียนถ่ายจากวัดหญ้า ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ห่อที่สอง คือขนมทั้งหกอย่างห่อในขนมลา จะถวายเพลให้พระสงฆ์พร้อมกับปิ่นโตหรือที่เรียกด้วยคำท้องถิ่นว่า “หวางเที่ยง”
ห่อที่สามจะถูกนำมาตั้งไว้ “บนร้านเปรต” มีลักษณะเป็นแคร่ไม้ยกสูงประมาณหน้าอก นอกจากขนมหกอย่างที่ห่ออยู่ในขนมลาแล้วยังมี หมากพลู ข้าวเปล่า และ “แกงสมรม” ซึ่งเป็นแกงกะทิหรือเรียกด้วยชื่อท้องถิ่นว่า “แกงคั่ว” โดยจะนิยมใส่หน่อไม้ สะตอ แกงรวมกับกุ้ง ปลาย่างและปลาแห้ง ของทั้งสามอย่างแต่ละครอบครัวจะใส่ในถุงนำมาตั้งรวมกัน เมื่อทำพิธีเสร็จคนที่มาร่วมงานบุญก็จะแย่งกันอย่างสนุกสนาน
ส่วนห่อที่สี่นั่นจะนำมาตั้งที่นอกวัด น้าตาให้ข้อมูลว่าเพื่อทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ไม่สามารถเข้ามาในบริเวณวัดได้ แต่ละครอบครัวจะทำแยกกันเป็นตระกูลหรืออาจจะทำรวมกันก็ได้ การตั้งนอกวัดนี้จะต้องมีการกรวดน้ำด้วยจะขาดเสียไม่ได้เมื่อเสร็จก็จะทำการแย่งขนมกันพอเป็นพิธี ทั้งนี้ ห่อที่สอง สามและสี่ ทั้งตอนรับและส่งจะใช้วิธีเดียวกันทั้งการห่อและลำดับพิธีการ
ขนมต่าง ๆ หอในขนมลาเป็นก้อนกลม ๆ นำมาทำพิธีบริเวณนอกวัด ภาพนี้ผู้เขียนถ่ายจากวัดหญ้า ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
“ลาซับ” กับวิธีการทำ
ขนมบุญเดือนสิบข้างต้นนอกจากใช้สำหรับทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษแล้ว ณ หมู่บ้านเขาในแห่งนี้ยังมีจารีตท้องถิ่นที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาระหว่างคนเป็นกับคนเป็น โดยมีขนมเหล่านี้เป็นสื่อกลาง จารีตที่ว่านั้นก็คือ แต่ละบ้านจะมีการตระเตรียมขนมส่วนหนึ่งให้กับลูกหลานของตนนำไปมอบให้กับผู้สูงอายุที่เป็นญาติหรือที่เคารพกันของคนในหมู่บ้าน บ้านของน้าตานั้นทุกปีคนในหมู่บ้านจึงนำขนมเหล่านี้มามอบให้กับทวดส้มอิ่ม ส่วนทวดส้มอิ่มก็จะให้พรและมีขนมให้กลับไปด้วยสำหรับปีนี้น้าตาทำ “ขนมเกาะ” (ขนมโก๋) สืบเนื่องจากว่าเป็นขนมที่น้าตาทำขายอยู่ ด้วยจารีตดังกล่าวทำให้ที่บ้านน้าตานั้นมีขนมบุญเดือนสิบจำนวนมาก หลังจากทำบุญเดือนสิบเสร็จ ขนมเหล่านี้จะถูกรังสรรค์ให้เป็นขนมที่สามารถเก็บไว้กินได้นานขึ้น ด้วยการเพิ่มวัตถุดิบท้องถิ่นคือ “น้ำตาลโตนด” เป็นสูตรดั้งเดิมแต่ปัจจุบันมี “น้ำตาลทราย” “น้ำตาลมะพร้าว” บางบ้านจึงหันมาใช้แทนเพราะมีราคาถูกกว่า สำหรับขนมพองจะราดน้ำตาลโตนดข้างบน ส่วนขนมเพซำ ขนมเกียบ ขนมลูกนู ขนมบ้าจะใช้วิธีการเคลือบหรือที่เรียกด้วยคำท้องถิ่นว่า “หราน้ำผึ้ง” ต้ม(ข้าวเหนียวห่อด้วยใบกะพ้อ) จะนำมาทอดหรือย่าง เมื่อทำเสร็จขนมเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในหม้ออย่างมิดชิดไม่ให้อากาศเข้าเพราะช่วยยืดอายุให้สามารถเก็บขนมไว้ทานได้นานขึ้น และขนมจะไม่แข็ง
ขนมเพซำเคลือบน้ำตาลมะพร้าวหรือขนมเพซำหราน้ำผึ้งฝีมือน้าตา
สำหรับ “ขนมลา” นั้นจะนำมาแปรรูปเป็น “ขนมลาซับ” สำหรับชื่อเรียกนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นการเรียกตามกรรมวิธีการทำคือการนำแผ่นขนมลงไปจุ่มในน้ำตาลโหนดที่เป็นน้ำเหลว ๆ การทำเช่นนี้เรียกว่า “ซับ” เป็นกรณีเดียวกันกับที่เรานำผ้าไปทาบลงที่น้ำเพื่อดูดน้ำขึ้นมา ซึ่งคนไทยถิ่นใต้เรียกกริยาเช่นนี้ว่า “ซับน้ำ” ทั้งนี้สอดคล้องกับความหมายของคำว่า “ซับ” ที่ถูกระบุไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัญฑิตยสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔ ดังที่ให้ความหมายไว้ว่า ซับ (คำกริยา) เอาของเช่นผ้าหรือกระดาษทาบลงที่นํ้าหรือที่เปียกหรือสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้นเพื่อให้ดูดน้ำขึ้นมาหรือเพื่อให้แห้ง เช่น ซับเหงื่อ อย่างไรก็ดีคำว่าซับอาจจะมาจากคำว่า “ซึมซับ” ก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากน้ำตาลจะซึมซับเข้าไปในเส้นขนมลา ซึ่งคนไทยถิ่นใต้นิยมตัดคำให้สั้นลง
(ขวา) ขนมเพซำเคลือบน้ำตาลหรือขนมเพซำหราน้ำผึ้ง (ซ้าย) ขนมลาซับ ฝีมือน้าตาทั้งสองขนม
น้าตาได้ให้ข้อมูลวิธีการทำ “ขนมลาซับ” ไว้ดังนี้
๑.นำแผนขนมลาซึ่งเป็นเเผ่นกลมขนาดใหญ่ ตัดแบ่งให้เป็นรูปทรงครึ่งวงกลม แล้วพับทบให้เป็นสี่เหลี่ยม จากนั้นตัดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ตามใจชอบ
๒.นำน้ำตาลมาตั้งไฟ เติมน้ำเล็กน้อยตั้งให้ละลายจนน้ำเดือดขึ้นฟอง เมื่อฟองน้ำตาลเปลี่ยนจากฟองใหญ่เป็นฟองเล็ก ๆ จึงนำขนมลาที่ตัดเป็นชิ้นไว้จุ่มลงไปในกะทะ ซึ่งน้าตาเรียกการทำเเบบนี้ว่า “การซับ”
๓.นำขนมที่ผ่านการจุ่มน้ำตาลหรือซับน้ำตาลเรียบร้อยแล้วใส่ในถาดตั้งผึ่งไว้ในที่ร่ม ประมาณหนึ่งชั่วโมงเพื่อให้น้ำตาลแห้ง
๔.เก็บใส่หม้อปิดฝาให้มิดชิด เพียงแค่นี้ก็ได้ “ขนมลาซับ” ไว้รับประทานแล้ว
หม้อใส่ขนมลาซับที่บ้านน้าตา
ขนมทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนเสบียงสำหรับเก็บไว้กิน เนื่องจากหลังเสร็จสิ้นการทำบุญเดือนสิบภาคใต้จะเข้าสู่ฤดูฝน หากมีฝนตกหนักพื้นที่ของบ้านเขาในก็มักจะมีน้ำท่วม ขนมเหล่านี้จะถูกนำมากินในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ทวดส้มอิ่มและน้าตายังให้ข้อมูลอีกว่า ที่วัดก็จะมีการนำขนมบุญเดือนสิบมาทำแบบนี้เช่นกันเพราะเสร็จจากงานบุญเดือนสิบแล้ว วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ เป็นงานบุญลากพระ และเป็นช่วงงานบุญกฐิน ขนมเหล่านี้ทางวัดก็จะนำมาแจกให้กับชาวบ้านที่มาช่วยงานหรือมาทำบุญได้กินกัน อีกทั้งเครื่องปรุงที่ชาวบ้าน “ดับหฺมฺรับ” มานั้นก็จะถูกเก็บไว้เป็นอย่างดี โดยแบ่งใส่ภาชนะแยกแต่ละชนิดไว้ และใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารในงานบุญกฐินของวัดด้วยเช่นกัน
สรุป
“บุญเดือนสิบ” เป็นการทำบุญใหญ่ประจำปีที่นอกจากคนเป็นทำเพื่ออุทิศผลบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ แต่สำหรับที่บ้านเขาในแห่งนี้ยังสะท้อนความสัมพันธุ์ระหว่างคนเป็นกับคนเป็นในหมู่บ้านด้วยเช่นกัน โดยพบว่าวิถีปฏิบัติของหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงไว้ซึ่งคติชนความเชื่อ ผ่านอาหาร ขนม สิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในงานบุญ เมื่อทำบุญเสร็จทำให้เกิดการคิดค้น รังสรรค์ขนมชนิดใหม่ขึ้นมา ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมสำหรับใช้กักตุนไว้กินในฤดูกาลฝนตกหรืออาจเกิดน้ำท่วมที่กำลังจะมาถึง และสำหรับเครื่องปรุงต่าง ๆ เป็นเสมือนวัตถุดิบที่ทางวัดได้ตระเตรียมไว้ใช้สำหรับงานบุญกฐินที่ทำกันหลังจากออกพรรษา
อ้างอิง
[1] “ขนมเดือนสิบ.” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 613-619. ฉบับออนไลน์ : https://db.sac.or.th/thailand-cultural-encyclopedia/detail.php?id=17856
[2] อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องขนมลาเช็ดได้ในบทความเรื่อง “ขนมลาลอยมันได้ในบทความเรื่อง1 ปีมีครั้ง: ขนมลาเช็ด คุณยายประจิต บ้านโตนดด้วน ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา” สืบค้นได้ใน : https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/view/265927
[3] อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน : https://recipes.timesofindia.com/…/athir…/rs60055377.cms
[4] อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องขนมเกียบ ได้ในบทความเรื่อง ขนมคอเป็ด (แป็ด คือ เป็ด) ; เจาะลึกที่มาและสูตรการทำ ขนมคอเป็ด ขนมเลื่องชื่อแห่งลุ่มทะเลสาบสงขลาที่พบได้ในวัฒนธรรมคนเเขก ไทย จีน สืบค้นได้ใน : https://readthecloud.co/kanom-khor-ped/…
.
[5] ผู้เขียนสำรวจพบว่าที่บ้านคลองกั่ว ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ในงานบุญกุโบร์หรือนูหรีกุโบร์ ซึ่งเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศผลบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับจะมีคติการทำขนมลูกนูเช่นเดียวกัน แต่ขนมลูกนูของมุสลิมบ้านคลองกั่วเป็นขนมต้ม ทำจากแป้งข้าวเหนียวใส่ไส้น้ำตาลแว่น ต้มสุกแล้วนำมาคลุกกับมะพร้าวทึนทึก ซึ่งขนมชนิดนี้หลายพื้นที่ในภาคใต้จะเรียกว่า ขนมโค