วิหารวัดจำปา ต.ทุ่ง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี – มรดกสถาปัตยกรรมอยุธยาชิ้นเอกของภาคใต้

    วิหารไม้สมัยอยุธยาตอนปลาย อันสง่างามด้วยรูปทรง โครงสร้าง การประดับตกแต่งส่วนหน้าบันด้วยกนกก้านขดอย่างมีชั้นเชิง วิหารหลังนี้ผ่านการเวลามานาน จากรุ่งเรืองสู่โรยรา และกลับฟื้นคืนความงดงามอีกครั้งในปัจจุบันนี้ ภาพของวิหารหลังนี้ทั้งเก่าและใหม่สามารถหาชมได้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ตแล้ว คิดอย่างจึงจะละส่วนนั้นไว้ และจะขอนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับลักษณะดั้งเดิม ย้อนกลับไปยุคแรกสุดของวิหารนี้ในสมัยอยุธยากันครับ

    (ภาพที่น่าจะเป็นของวิหารวัดจำปาสมัยแรก ก่อนจะเติมชายคาตับที่สาม และแก้ท้ายวิหารให้ยื่นออกไปอีก 1 ห้อง)

    เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าวิหารวัดจำปาเคยเป็นวิหารโถง กล่าวคือ ไม่มีฝาผนัง เป็นวิหารเปิดโล่งโดยรอบ เนื่องจากภาพถ่ายเก่าทั้งหมดที่พอมีอยู่ของวิหารหลังนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น ทว่าการบูรณะในปัจจุบันได้เติมฝาปะกนไม้เข้าไป ทำให้จากวิหารโถงกลายเป็นวิหารทึบ ที่มีฝาไม้ปิดรอบด้าน การต่อเติมนี้ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกต ตลอดจนคำวิจารย์ในแง่ลบต่อกรมศิลปากรหลายประการ ว่าได้ทำให้สภาพของวิหารโถง อันเป็นลักษณะเด่นของวิหารภาคใต้ได้เสียไป แต่จากการศึกษาหลักฐานหลาย ๆ ด้าน มีหลักฐาน 3 ประการที่ให้ข้อมูลกับเราว่าวิหารหลังนี้ควรจะเคยมีผนัง (ฝา) แม้ว่าจะไม่ใช่ฝาปะกนอย่างในปัจจุบันก็ตาม

    ประการแรก คือ วิหารหลังนี้มีประตู และเนื่องจากศิลปกรรมบนบานประตูมีลักษณะที่สามารถประมาณอายุเก่าไปได้ถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย อายุบานประตูจึงร่วมสมัยกับตัววิหารเอง สะท้อนว่าน่าจะเป็นของที่ทำคู่ตัวกันมาแต่แรก

    ประการที่สอง เมื่อ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จมายังวิหารนี้ในปีร.ศ. 121 (พ.ศ.2445) ทรงบันทึกว่าวิหารหลังนี้มี “ฝาลูกกรงทำด้วยไม้”

    ประการที่สาม จากการตรวจสอบภาพถ่ายเก่าที่ถ่ายโดยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศในปี พ.ศ. 2467 ยังพบรอยเจาะช่องสำหรับเสียบโครงสร้างฝาลูกกรงที่เสา ในระดับประมาณ 50 – 65 เซนติเมตร เมื่อเทียบตัวอย่างกับอาคารไม้ที่มีฝาเป็นลูกกรงแล้วจะพบว่า

    การทำฝาลูกกรงในทุก ๆ ที่นั้นจะมีการแบ่งช่วงของฝาเป็น 2 ช่วง คือช่วงระดับพอดีไหล่หรือระดับสายตาของผู้อยู่ภายในอาคารเมื่ออยู่ในอิริยาบทนั่ง ในระดับนี้อาจใช้ทั้งแบบกั้นทึบ หรือใช้ลูกกรงที่มีขนาดใหญ่ กั้นถี่ ๆ ช่วงเหนือขึ้นไปจึงจะใช้ซี่ลูกกรงเล็กลง และกั้นห่างกัน

    โปรดดูตัวอย่างวิหาร และอาคารที่มีฝาลูกกรงในภาคใต้ – โบสถ์เขาตก วัดชะแล้ , ศาลาของวัดท้ายยอ อย่างไรก็ตาม ฝาลูกกรงนี้ได้พังลง หรือถูกรื้อทิ้งไปคราวใดคราวหนึ่งในระหว่างปี พ.ศ. 2445 – 2467 เมื่อสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ ซึ่งน่าจะเป็นนักวิชาการกลุ่มแรกเข้าไปทำการบันทึกภาพจึงไม่ปรากฏว่ามีผนังอยู่แล้ว และภาพถ่ายของนักวิชาการไทยในรุ่นหลังจากนั้น เช่น โดยฐานข้อมูลเมืองโบราณ ราวปี 2500 จึงบันทึกภาพของวิหารโถงสภาพทรุดโทรม และค่อย ๆ ประกอบสร้างความเข้าใจว่าวิหารหลังนี้เป็นวิหารโถงโดยรอบทิศทางเรื่อยมา

    อย่างไรก็ตาม รอยบากที่เสาสำหรับเสียบโครงสร้างรับลูกกรุง ยังคงอยู่บนเสารอบนอกอย่างแน่นอน คิดอย่างคิดว่าเมื่อกรมศิลปากรเข้ามาทำการบูรณะวิหารหลังนี้ในยุคแรก ย่อมน่าจะต้องสังเกตเห็น และน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้ดูแลการบูรณะเลือกที่จะทำฝาติดรอบวิหารนี้อีกครั้ง (แม้ว่าจะไม่ทราบเหตุผลของการตัดสินใจทำฝาปะกน แทนที่จะทำฝาลูกกรงดังเดิม) ทางเลือกเช่นนี้ได้นำมาซึ่งข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสูญเสียสถานะภาพการเป็นวิหารโถง ของวิหารไม้วัดจำปาตลอดหลายสิบปีมานี้

    ภาพบานประตูเก่าของวิหารหลวงวัดจำปา ถ่ายโดย Suzanne Karpelès เมื่อปี พ.ศ. 2467 จากฐานข้อมูลภาพถ่ายของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ

.

ดู – https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10205073482635437&set=g.148487171993034&type=1&theater

.

ภาพบานประตูสภาพปัจจุบันที่ใช้ในโมเดล – http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=patisonii…

ใส่ความเห็น