อักขระศิลป์มรณะศิลา : จารึกมลายูอักษรยาวีบนเครื่องหมายปักหลุมฝังศพ ที่หมู่บ้านชาวมาเลย์ซิงฆอรา
“…ไม้แลสัน หรือ หัวเเม่สัน หลักหินปักหลุมฝังศพคนมาเลย์ ( มลายู หรือคนเเขก ) ที่กุโบร์เมืองสงขลาเก่า ( ในเอกสารใช้ว่า old Senggora- คงหมายถึงเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงฝั่ง ตำบลหัวเขา ) ผู้เขียนสันนิษฐานว่าหินปักหลุมฝังศพชิ้นนี้น่าจะอยู่ในกุโบร์ (สุสานฝังศพ) ของชาวมลายูซิงฆอราที่ใดสักเเห่งในเขตตำบลหัวเขาหรือตำบลสทิ้งหม้อ – ท่าเสา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เนื่องจากทั้งสองพื้นที่นี้มีหมู่บ้านคนมลายูซิงฆอราหรือคนเเขกอยู่อย่างหนาแน่นหลายหมู่บ้าน…”
____________________________________________________________
ภาพหินปักหลุมฝังศพนี้ผู้เขียนนำมาจากบันทึกการเดินทางของ Mr. Nelson Annadale นักมานุุษยวิทยาชาวสกอตแลนด์ ที่เดินทางมาสำรวจและศึกษาวิถีชีวิตผู้คนในทางด้านมานุษยวิทยา ตลอดจนเก็บตัวอย่างพืชและสัตว์นานาชนิด ศึกษา ในบริเวณตั้งแต่เมืองเประ รัฐหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซียในปัจจุบัน และในพื้นที่ของ ปตานี (สามจังหวัดชายเเดนใต้) สงขลา -พัทลุง (ลุ่มทะเลสาบสงขลา) ในเขตประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. 1901-1902 พิมพ์อยู่ในหนังสือ “…Fasciculi Malayenses anthropological and zoological results of an expedition to perak and the siamese malay states,1901 – 1902…”[๑]
หินปักหลุมฝังศพชิ้นนี้มีการสลักลวดลายอย่างสวยงามแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนของวงกลม แบ่งออกเป็นสองชั้น วงนอกมีลวดลายคลายใบไม้หรือดอกไม้ วงในปรากฎจารึกข้อความ #ภาษามลายูอักษรยาวี คือ บรรทัดแรก มีข้อความว่า “…اين قوبور…” บรรทัดสอง มีข้อความว่า “…توأدم…” ถอดเป็นอักษรรูมีได้ว่า “…Ini Kubur Tok adam…” มีความหมายว่า “…นี้สุสานโต๊ะอาดัม…”
คำว่า #โต๊ะ เป็นคำมลายูกร่อนมาจากคำว่า #ดาโต๊ะ วัฒนธรรมการใช้คำว่าโต๊ะนั้นพบว่าคนเเขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ใช้ในหลายกรณี อาทิเช่น ๑.ใช้เป็นคำเรียกนำหน้าชื่อผู้สูงอายุ ๒.ใช้เป็นคำเรียกนำหน้าชื่อตำแหน่งทางศาสนา เช่น โต๊ะอีหม่าม,โต๊ะกาเต็บ, ๓. ใช้เป็นคำเรียกหมายถึง ตา ,ยาย ปู่,ย่า เช่น ต๊ะ หรือ โต๊ะ นำหน้าคำว่าชาย หมายถึง ตา,ปู่ ,โต๊ะนำหน้าคำว่า หญิง หมายถึง ยาย,ย่า ฯลฯ
จากตัวอย่างจารีต-วัฒนธรรมการใช้คำว่า #โต๊ะ ของคนมลายูซิงฆอรา(เเขกลุ่มทะเลสาบสงขลา)ที่ยกมานำเสนอในข้างต้น จึงสันนิษฐานได้ว่า #โต๊ะอาดัม อาจจะหมายถึงบุคคลที่เสียชีวิตในวัยชรา ลูกหลานซึ่งเป็นผู้ทำจารึกขึ้นมาจึงใช้คำเรียกที่ใช้เรียกในชีวิตประจำวันมาจารึกนำชื่อของท่าน โต๊ะ ซึ่งนำชื่ออาดัม จึงหมายถึง ตาหรือปู่ อาดัม นั่นเอง
อย่างไรก็ดี อาเนาะ ปันตัย (นามแฝง) ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ คำที่นำหน้า อาดัม อาจจะไม่ใช่คำว่า “โต๊ะ” แต่คือคำว่า “ตน” เพราะจากการสังเกตจารึกบนแลสัน การเขียน ตัว waw (و) เทียบกับภาษาไทย คือสระโอ หรือ อู ที่อ่านว่า โต๊ะ มีรูปต่างจากตัว waw ที่เขียนคำว่า กูโบร์ ซึ่งเขียนชัดกว่า และตรงตามการเขียนที่ถูกต้องกว่า จากรูปอักษร waw ในคำว่า โต๊ะ จึงเป็นไปได้เช่นกันที่จะเป็นตัวอักษร Nun (ن) ทั้งนี้คำว่า ตน เป็นคำที่ใช้นำหน้าชื่อเพื่อบ่งบอกสถานะความเป็นชนชั้นเจ้าในวัฒนธรรมมลายู หากเป็นไปตามข้อสันนิษฐาน “ตนอาดัม” ผู้ที่ทอดร่างอยู่ในหลุมฝังศพหลุมนี้จึงเป็นชนชั้นเจ้ามลายูในพื้นที่เขตเมืองเก่าของเมืองมลายูซิงกอรา(สงขลา)
ส่วนบนเป็นที่น่าสังเกตมีลักษณะเหมือนหน้ากาลในวัฒนธรรมไทย Kalaในภาษามลายูกลางหรือที่ภาษามลายูถิ่นปตานีเรียกว่า “บอตอกาลอ”
“…ฉลุไม้เป็นรูป หน้ากาล หรือ Kala ส่วนจั่วของมิมบัร(ธรรมมาสน์) ของมัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าะหม๊ะ หรือสุเหร่าใหญ่ในบ้าน บ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ปัจจุบันใช้งานอยู่ที่มัสยิดนูรุลยันนะฮ์ บ้านท่าสะอ้าน ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา คนละฟากทะเลกับบ้านหัวเขา…”
เกล็ดความรู้ คำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพชาวซิงฆอราหรือคนเเขกแห่งลุ่มทะเลสาบสงขลา
สำหรับเนื้อหาในส่วนนี้ผู้เขียนนำมาจากบทความของผู้เขียนเรื่อง คำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพคนเเขกแห่งลุ่มทะเลสาบสงขลา ตีพิมพ์อยู่ในวารสารเมืองโบราณ ฉบับวิมายปุระ – พิมาย ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒ เมษายน – มิถุนายน ๒๕๖๔[๒]
ในลุ่มทะเลสาบสงขลามีการใช้คำเรียกเครื่องหมายบนหลุมฝังศพที่พบใช้มากที่สุดคือคือคำว่า “ไม้เเลสัน” หรือ “เเลสัน” ทั้งยังใช้ในกลุ่มคนสงขลา (ชาวซิงฆอรา) พลัดถิ่นที่บ้านสงขลา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นชาวสงขลาที่ถูกเทครัวในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ.๒๒๒๓ สันนิษฐานว่า ไม้เเลสันหรือเเลสัน น่าจะเป็นคำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพที่พัฒนาขึ้นในลุ่มทะเลสาบสงขลา (มลายูสงขลา) เนื่องจากไม่พบการใช้คำนี้ในภาษามลายูถิ่นอื่น ภาษามลายูปตานีใช้คำว่า “แนเเซ” (หรือบางแห่งออกเสียงเป็น นีเเซ ) ภาษามลายูเคดะห์ (Kedah) ที่บ้านป่ากัน ตำบลท่าประดู่ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาใช้คำว่า “แนซะ” ส่วนภาษามลายูกลางใช้คำว่า “นีซาน” (นีซาน) โดยคำว่า เเลสัน สันนิษฐานว่าคงมีรากมาจากคำว่า “นีซาน” ( Nisan ) ในภาษามลายูกลาง แต่มีการกลายเสียง น เป็นเสียง ล เช่นมีตัวอย่างในคำอื่น ๆ อาทิ นิกะห์ (เเต่งงาน) เพี้ยนเป็น “ลิกะฮ์” ทั้งนี้มีข้อสังเกตุการใช้คำว่าเเลสัน นั้น บ่อยครั้งจะถูกใช้ในรูปคำประสมว่า ไม้แลสัน ซึ่งเป็นการเรียกตามวัสดุที่นำมาใช้ แต่ในบางพื้นที่พบว่าใช้กับวัสดุที่เป็นปูนซีเมนต์
“…ไม้เเลสัน หลักหินสำหรับปักที่หลุมฝังศพชาวมุสลิม ในกุโบร์เมืองสงขลาเก่า (ในเอกสารใช้ว่า old Senggora- คงหมายถึงเมืองสงขลาฝั่งหัวเขา สิงหนคร) สำหรับผู้หญิงจะมีลักษณะเป็นแผ่นแบน สำหรับผู้ชายเป็นหลักทรงกระบอก (ที่มา: NELSON ANNANDALE and HERBERT C. ROBINSON. 1904. Fasciculi Malayenses: Anthropological and Zoological Results of an Expedition to Perak and the Siamese Malay States, 1901-1902)…”
ทั้งนี้คนเเขกบ้านหัวเขา (บ้านนอก นกท่อง ในบ้าน หัวเลน ),บ้านเลนอก,บ้านเขาแดง ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นหมู่บ้านที่สืบทอดผู้คนมาจากยุคสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ดังปรากฎภาพบ้านเรือนอยู่ในแผนที่เมืองสงขลาของเดอลาร์มาร์ พ.ศ.๒๒๓๐ วาดขึ้นหลังสงขลาหัวเขาแดงแพ้อยุธยาเพียง หกปี ในแผนที่ฉบับนี้วาดบ้านเรือนที่ชุมชนบ้านหัวเขาไว้ จะใช้คำว่า “หัวเเม่สัน” ผู้เขียนสันนิษฐานว่า กร่อนมาจากคำว่า หัวเป็นคำภาษาไทย ผสมกับคำว่าเเม่สันที่กร่อนมาจากคำว่า แลสัน นั่นเอง
จากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนซึ่งได้สัมภาษณ์คุณซีตีอามีเนาะ อำพันธุ์นิยม ปัจจุบันท่านอายุ ๕๐ ปี ที่บ้านศาลาหุมหรือหลาหุม หมู่ ๑ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา อันเป็นชุมชนที่อยู่ติดกับสุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ (โต๊ะหุม) หรือเรียกได้ว่าเป็นชุมชนที่ใกล้ที่สุดกับสุสานของสุลต่านใช้คำว่า “ไม้เเลสัน” เดิมบ้านหลาหุมอยู่ห่างตำแหน่งนี้ไปประมาณ ๗๐๐ เมตร เนื่องจากพื้นที่ตั้งชุมชนหลาหุมเดิมมีการเวรคืนที่ดินสำหรับสร้างท่าเรือน้ำลึกจึงทำให้ชุมชนบ้านหลาหุมทั้งเเขกเเละไทยย้ายชุมชนมาตั้งตำแหน่งปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘ หรือประมาณ ๑๗ ปีที่เเล้ว
“…ภาพถ่ายวะมี่ หรือ คุณซีตีอามีเนาะ อำพันธุ์นิยม ปัจจุบันท่านอายุ ๕๐ ปี ที่บ้านศาลาหุมหรือหลาหุม หมู่ ๑ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ถ่ายภาพโดยผู้เขียนเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕…”
ตาหนา ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “ตานอ” ในภาษามลายูปตานี เพียงเเต่ออกเสียงต่างกัน คำนี้ในภาษามลายูกลางคือ “ตันดา” (Tanda) พบว่ามีการใช้ในรูปคำนามมีความหมายว่าเครื่องหมาย สัญลักษณ์ที่ปักบนหลุมฝังศพ และใช้ในรูปคำกริยา หมายถึงการทำเครื่องหมาย การทำสัญลักษณ์ จากการเก็บข้อมูลพบว่าคำนี้ปรากฎใช้ในบริเวณพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาที่ได้รับอิทธิพลภาษามลายูเคดะห์ หรือภาษามลายูสตูล เช่น เเถบเทือกเขาบรรทัดซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลภาษามลายูเคดะห์หรือมลายูสตูลเข้มข้น แทบไม่พบการใช้คำว่า “เเลสัน” เลยหรือที่พบก็เป็นหมู่บ้านที่คนเเขกนิเวศชายทะเล (โหบ้เล) อพยบเข้าไปอยู่ ส่วนในลุ่มทะเลสาบสงขลาที่ใกล้กับชายทะเล (โหบ้เล) มีการใช้คำว่า “ตาหนา” แต่นิยมใช้ในรูปคำกิริยา ( เครื่องหมาย ) ทั้งนี้ผู้เขียนพบว่าที่สุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ (โต๊ะหุม) มีสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพแผ่นหนึ่งทำด้วยหินตะกอนสีเทา จารึกข้อความภาษามลายู อักษรยาวีว่า
نيله تنا عبد الر حيم อีนีละ ตาหนา อับดุลเราะฮีม
( นี่คือตาหนาของอับดุลเราะฮีม )[๓]
อาจจะนับเป็นกรณีพิเศษที่ไม่พบโดยทั่วไป
ทั้งนี้พบว่าในพื้นที่ของปตานีมุสลิมที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาเเม่เรียกตัวเองว่าคนเเขกเช่นที่บ้านลำหยัง บ้านใหญ่หรือบ้านควนลังงา ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีจะใช้คำว่า “ตานา” เป็นที่น่าสังเกตุว่าถึงเเม้อยู่ท่ามกลางมุสลิมกลุ่มใหญ่ คือ ออเเฤนายูเป็นมุสลิมหรือมุสลิมที่ใช้ภาษามลายูถิ่นปตานีเป็นภาษาเเม่กลับไม่ใช่คำว่า ตานอ เหมือนคนนายูแต่อย่างใด (ขอบคุณข้อมูลจากคุณชาฮีรอน สาอิ มุสลิมคนเเขกบ้านลำหยัง เพื่อนผู้เขียนที่เรียกสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี)
สรุป
หินปักหลุมฝังศพที่มีจารึกมลายูในหมู่บ้านชาวมาเลย์ใกล้เมืองเก่าซิงฆอรา (สงขลาหัวเขาแดง) ตามบันทึกของชาวต่างชาติในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังที่ยกมานำเสนอนี้ ปัจจุบันยังคงเป็นปริศนาว่า หินหลักนี้อยู่ที่ใดในชุมชนไหน ยังคงอยู่ในพื้นที่หรือถูกนำออกนอกพื้นที่ไปแล้วหรือไม่จำเป็นต้องสืบค้นกันต่อไป
สำหรับคำเรียกเครื่องหมายบนหลุมฝังศพพบว่ามุสลิมกลุ่มต่างที่อยู่รายรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาทั้ง ปตานี สตูล นคร ต่างก็มีคำเรียกตามสำเนียงมลายูของตน อีกทั้งเส้นเขตเเดนของจังหวัดอันเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐก็ไม่สามารถนำมาอธิบายเหมารวมการใช้คำเรียกด้วยการเเบ่งตามเขตเเดนจังหวัดได้เพราะคำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพนั้นมีลักษณะการใช้ตามบริบทเชื้อสาย รากเง้า ของคนแต่ละกลุ่ม คนกลุ่มเดียวถึงเเม้อยู่คนละพื้นที่ มีระยะทางห่างกันกลับใช้คำเดียวกัน ในขณะเดียวกันคนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันเเต่เป็นคนคนละกลุ่มกลับใช้คำที่ต่างกันอย่างชัดเจน
หากบทความนี้จะยังคุณความดีประการใด ขออุทิศให้กับบรรพชนคนเเขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลานับเเต่การสถาปนาเมืองสงขลาขึ้นที่หัวเขาแดง ที่ได้ทิ้งมรดกทางวัมนธรรมสืบเนื่องจากจนถึงทุกวันนี้
ที่มา [๑] : NELSON ANNANDALE and HERBERT C. ROBINSON. 1904. Fasciculi Malayenses: Anthropological and Zoological Results of an Expedition to Perak and the Siamese Malay States, 1901-1902)
[๒] : สามารถ สาเร็ม.คำเรียกสัยลักษณ์บนหลุมฝังศพคนเเขกแห่งลุ่มทะเลสาบสงขลา.วารสารเมืองโบราณ ( วิมายบุปะ – พิมาย ).ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒ เมษายน – มิถุนายน ๒๕๖๔
[๓] : ข้อความจารึกของหินปักหลุมฝังศพหลักนี้ที่ตีพิมพ์อยู่ในบทความเรื่องคำเรียกสัยลักษณ์บนหลุมฝังศพคนเเขกแห่งลุ่มทะเลสาบสงขลา.วารสารเมืองโบราณ ( วิมายบุปะ – พิมาย ) มีความคาดเคลื่อนของตัวอักษรมลายูอยู่ ซึ่งได้แก้ไขให้ถูกต้องตามบทความชิ้นนี้
ขอบขอบคุณ
๑ : คุณสุรเชษฐ์ แก้วสกุล นักวิชาการอิสระ
๒ : คุณเจริญพงศ์ พรหมศพ นักวิชาการอิสระ
๓ : อาจารย์ ดร.เอกลักษณ์ รัตนโชต
๔ : คุณธีรเทพย์ จิตต์หลัง
๕ : คุณยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ
๖ : คุณชาฮีรอน สาอิ
๗ : คุณ อาเนาะ ปันตัย (นามแฝง)
๙ : อาจารย์โรฮานี ปูเต๊ะ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
๑๐ : คุณมูซีร่า หลีอาดั้ม
ภาคผนวกภาพ
“…ผู้เขียนสามารถ สาเร็ม ถ่ายภาพคู่กับวะอี หรือคุณยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ ชาวซิงกอราที่บ้านหัวเขา ประธานชุมชนบ้านนอก เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕ จากลงพื้นที่ภาคสนามสำรวจบ้านหลาหุมด้วยกัน…”
“…พี่เอหรือคุณเจริญพงษ์ พรหมศร พี่ชายที่น่ารักเจ้าของผลงานหนังสือซิงกอรา สิงหนคร เรื่องราวชุมชนในขุนเขา บนเมือง – แหลมสน – หัวเขา – สทิ้งหม้อ ถ่ายเมื่อครั้งผู้เขียนไปสำรวจบ้านหลาหุมครั้งเเรกเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๖๔ ถ่ายภาพคู่กับวะมี่…”
“…น้องอนัส หรือคุณธีรเทพย์ จิตต์หลัง ลูกหลานชาวมลายูสตูล(เคดะห์) ถ่ายภาพคู่กับหินปักหลุมฝังศพที่มีจารึกภาษามลายูเคดะห์หรือสตูลคือคำว่า ตาหนา อันเป็นคำที่ใช้กันในกลุ่มมุสลิมมลายูสตูล และมุสลิมแหลงใต้ในจังหวัดสตูลและตอนในของลุ่มทะเลสาบสงขขลาทั้งในเขตจังหวัดสงขลาเเละพัทลุง อีกทั้งเป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในบริบทของมุสลิมตลอดคาบสมุทรฝั่งทะเลอันดามัน ถ่ายภาพโดยผู้เขียนเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕…”
“…ผู้เขียนถ่ายภาพคู่กับป้ายสถานที่ละหมาด(บาลาย)ของบ้านหลาหุม ม.๑ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งเป็นชุมชนคนมุสลิมที่อยู่ใกล้สุสานสุล่านสุลัยมาน ชาห์ มากที่สุด ทั้งนี้ชื่อของสถานที่ละหมาดของบ้านหลาหุมนั้นถือว่ามีนัยยะที่สะท้อนถึงความพูกพันธุ์ของผู้คนในวัฒนธรรมซิงฆอราที่มีต่อโต๊ะหุมได้เป็นอย่างดี เพราะ “สุลต่านกอเร๊าะมัต” ข้อความภาษาอาหรับประโยคนี้มีความหมายว่า สุลต่านศักดิ์สิทธิ์…”