หลายอาทิตย์ก่อนระหว่างขับรถจากวัดจำปาใช้ถนนลัดเข้าพุมเรียง ก็ผ่านหลากลางหนเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ด้วยเวลาตกยามโพล้เพล้ ฟ้าใกล้มืด จึงขับรถเลยไปเพราะกลัวผี แต่หมายตาไว้ว่าจะกลับมาอีกรอบหนึ่ง เพราะเห็นมุงกระเบื้องเกาะยอ ที่เดี๋ยวนี้หาได้น้อยในไชยา ได้จังหวะเหมาะจังกลับมาใหม่เพื่อรังวัดขนาด และสำรวจดีเทลเชิงช่างต่าง ๆ อย่างละเอียด ก็ได้แหล่งข้อมูลดี คือคุณลุงในรูป (สงวนนาม) ซึ่งเป็นผู้ดูแลหลาแห่งนี้มาแต่แรก
ศาลานี้เชื่อกันว่าเดิมเป็น ศาลาตั้งศพ ตั้งศพแม่ทรัพย์ ธิดาเจ้าเมือง เติมตั้งอยู่ที่พุมเรียง ใกล้ ๆ กับที่ฝังศพตระกูลศรียาภัยเดี๋ยวนี้ พอหมดภาระใช้งานก็ทิ้งร้างอยู่ รุ่นพ่อของลุงได้ช่วยกันยกย้ายมายังตำบลทุ่งอยู่บนถนนเส้นเดียวกันนี้ แต่กระเถิบไปทางพุมเรียงก่อนถึงศาลาเก้าห้อง ตั้งเป็นหลากลางหนอยู่ตรงนั้นได้พักใหญ่ก็ทรุดโทรมลง ลุงจึงขอแรงคนได้ 70 คน ช่วยกันหามมาตั้งอยู่ ณ ที่ปัจจุบันนี้ เสาของศาลาของเดิมทำจากไม้เคี่ยม เมื่อยกมาเสาชำรุด พอดีในที่ที่ย้ายศาลามาตั้งมีต้นแคป่าที่จะต้องโค่นเพื่อตัดถนนคอนกรีตพอดี จึงได้ไม้แคป่ามาเป็นเสาแทนเสาไม้เคี่ยมเดิม
โครงสร้างรับพื้นได้แก่คาน ตง และโครงสร้างหลังคาทั้งหมด เป็นของเดิมใช้ไม้ตำเสา มีข้อสังเกตสองประการคือ โครงสร้างรับพื้นของยกพื้นชั้นที่ 2 นั้นเสริมตงถี่มากกว่าพื้นชั้นล่าง แสดงว่าทำเผื่อรับน้ำหนักมาก ช่วยเสริมเรื่องเล่าที่ว่าเป็นศาลาตั้งศพ เพราะพื้นชั้นที่ 2 จะต้องรับน้ำหนักติดที่เป็นเวลานาน โครงสร้างหลังคาใช้ไม้ตำเสา ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม่ยืดหยุ่น เนื่องจากขณะนี้ยังเก็บข้อมูลวัสดุก่อสร้างในไชยาได้ไม่มากนัก แต่ก็เป็นข้อน่าสังเกตว่าการเลือกใช้วัสดุของช่าง ดูจะสัมพันธ์กับทรงหลังคารอบ ๆ อ่าวบ้านดอนที่ค่อนข้างแข็ง ไม่บดปลายชายคาให้แอ่นอย่างที่พบตั้งแต่นครลงไปถึงลุ่มทะเลสาบ ซึ่งนิยมใช้ไม้เช่นไม้ตะเคียน หรือไม้ที่มีเนื้ออ่อนกว่ากับโครงสร้างหลังคา
ศาลาหลังนี้ไม่ได้มีการเข้าสลักที่ซับซ้อนนัก ปรากฏการใช้ตะปู ซึ่งทำจากไม้ไผ่ตงยึดบริเวณเสากับโครงสร้างหลังคา เนื่องจากเสาเป็นของมารุ่นหลัง ของเดิมอาจไม่ได้ใช้ตะปูไม้ แต่ยึดกันด้วยลิ่ม สลัก เดือย ทั้งหมด แบบจำลองสามมิติได้เดิมช่วยชายคาใต้จั่วด้านหน้าและหลัง ซึ่งเคยมีอยู่แต่ถูกรื้อออกไปคราวที่ยกย้ายมายังตำแหน่งปัจจุบัน
ศาลาแม่ทรัพย์ เป็นหนึ่งในอาคารจำนวนนับหลังได้ ที่ยังมุงด้วยกระเบื้องสงขลา แม้ว่าตัวกระเบื้องจะหนาถึงประมาณ 6 – 7 มิล หนากว่ากระเบื้องจากเตาเกาะเยอะที่เคยเก็บตัวอย่างมากจากในเกาะยอ และทางฝั่งระโนด แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมาจากเตาอื่นรอบ ๆ ทะเลสาบเช่นเตาท่านางหอม ที่กระเบื้องจะหนากว่าเตาเกาะยอเล็กน้อย
ในท่ามกลางช่วงเวลาที่มรดกงานช่างท้องถิ่นรอบ ๆ อ่าวบ้านดอนทะยอยสูญหายลงไปเรื่อย ๆ การที่ศาลาแม่ทรัพย์ยังคงยืนหยัดอยู่ ด้วยรูปทรงดั้งเดิม วัสดุที่แทบไม่เปลี่ยนไปจากเดิม แม้ว่าจะเป็นศาลาที่ไม่ได้มีเทคนิกซับซ้อนนัก ทว่าเก็บรักษาคุณค่าในหลาย ๆ มิติ ทั้งในแง่สถาปัตยกรรม สังคมเอาไว้ได้อย่างน่าชม และระลึกถึงจิตวิญญาณของผู้ที่ร่วมกันรักษาศาลาหลังนี้จากอดีตมาจนถึงปัจจุบันครับ
ขอขอบคุณ : คุณนิติภูมิ ชื่นพิศาล ผู้ช่วยเก็บข้อมูลภาคสนาม
เผยแพร่ครั้งเเรกใน - https://web.facebook.com/photo/?fbid=10206890504139839&set=gm.817014291806982