สืบเนื่องจากเพจคลังพุทธศาสนา ลงภาพบางส่วนจากเอกสารโบราณว่าด้วยการผูกพัทธสีมา ตามลิงค์นี้ https://www.facebook.com/buddhisttreasure/posts/2002194809974036
ในเมืองนครได้สำรวจพบหนังสือบุดว่าด้วยการผูกพัทธสีมาที่มีลักษณะเนื้อหาและภาพประกอบคล้ายคลึงกันกับเอกสารโบราณตามโพสต์ข้างต้นแล้ว 3 เล่ม เป็นบุดตำราสีมาวินิจฉัยของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช 1 เล่ม เป็นบุดตำราสีมาวินิจฉัยของวัดจันทาราม 2 เล่ม (ดูลิงค์ประกอบด้านล่าง) จากคุณลักษณะของตำราสีมาวินิจฉัยสกุลช่างนคร (หรือสกุลช่างภาคใต้) ซึ่งมีการลำดับเรื่อง และการเขียนภาพประกอบที่ต่างไปจากตำราว่าด้วยการผูกพัทธสีมาของทางภาคกลาง อีสาน และล้านนานี้ เป็นไปได้ว่าตำราว่าด้วยการผูกพัทธสีมาทีี่อยู่ที่เยอรมันดังกล่าว อาจเป็นของที่ไปจากภาคใต้ หรือไปจากนครศรีธรรมราช
จึงได้ทำการพลิกดูภาพอื่น ๆ ในเล่มจากตัวฐานข้อมูล (ดูลิงค์เอกสารฉบับเต็มด้านล่าง) พบรายละเอียดที่ยืนยันได้ว่าเป็นเอกสารโบราณที่ไปจากภาคใต้เพิ่มเติม 2 ประเด็นคือ
ปรากฏข้อความอักษรขอมไทยที่ใต้ภาพประกอบสุดท้ายของหน้าต้นว่า “สีมาวินิจเฉ้ยย สีมาวินิจฉัยจบบริบูรเทานิแล ทานเจาพระคุนกาแก้วไฑสางใวในสาสนานิพพานปัจจโยโหติอนาคเตกาเล ฯ”
แสดงให้เห็นว่าตำราเล่มนี้เรียกว่า ตำราสีมาวินิจฉัย เป็นชื่อเรียกเดียวกับตำราสีมาวินิจฉัยที่พบแล้วที่เมืองนครจำนวน 3 เล่ม และเป็นของพระครูกาแก้ว ซึ่งเป็นสมณศักดิ์เจ้าคณะเมือง ซึ่งมีใช้ในเมืองไชยา นครศรีธรรมราช และพัทลุง สมัยโบราณ ปรากฏข้อความคัดแทรกของคนในสมัยหลังซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในเล่มว่า “หนังสือท่านผู้รักษาเมืองไชยามาถึงขุนภักดี หลวงพรหมเสนา”
แสดงให้เห็นว่าตำราเล่มนี้เป็นของภาคใต้แน่ แต่จะเป็นของพระครูกาแก้วเมืองไชยาหรือไม่ อาจวินิจฉัยให้ชัดเจนได้ยาก เนื่องจากราชทินนามขุนภักดี และหลวงพรหมเสนา นั้นก็มีใช้อยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชเช่นกัน อาจเป็นหนังสือราชการระหว่างเมืองก็ได้ ทั้งยังเป็นการคัดแทรกเข้ามาในสมัยหลังอีกด้วย
—————————
สีมาวินิจฉัยฉบับพระครูกาเดิมวัดจันทาราม
https://www.facebook.com/watchan.thawang/posts/209844067879801
สีมาวินิจฉัยฉบับใหญ่ของวัดจันทาราม
https://www.facebook.com/watchan.thawang/posts/251165373747670
สีมาวินิจฉัยฉบับพระครูกาแก้ว หอสมุดรัฐบาวาเรีย เยอรมันนี
https://daten.digitale-sammlungen.de/…/images/index.html
เผยแพร่ครั้งเเรกใน - https://web.facebook.com/nakornlibrary/posts/pfbid02LDgjCFnb2uRBs35Dz1z2jYs64cprKyEucbMv5ZWvembLm9zxKPWWHYemNwwLqpbvl